Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว


‘ณัฐวุฒิ’ หวังอนาคต ‘ใครก็ตามที่มีอำนาจ ต้องไม่ใช้อาวุธปราบปรามปชช.’

สัมภาษณ์ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ถึงแนวทางการต่อสู้ตามกลไกกฎหมาย หลังศาลยกฟ้อง ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 60 ขณะที่ญาติเหยื่อสลายการชุมนุมปี 53 ยังรอความยุติธรรมและการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

https://news.voicetv.co.th/thailand/531493.html

แกนนำ นปช. ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่ายและจะไม่บรรลุผลได้โดยเร็ว แต่ต้องใช้ความอดทนรักษาแนวทางที่ทุกคนทุกฝ่ายยอมรับได้ เชื่อจะบรรลุเป้าหมายในที่สุด เทียบประสบการณ์หลายประเทศ การเข่นฆ่าปราบปรามประชาชนไม่ใช่เรื่องลบเลือนหายไปกับกาลเวลา

หวังหลักประกันในอนาคต หากมีความขัดแย้งทางการเมือง ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นคณะใดฝ่ายใด ต้องไม่ใช้อาวุธปราบปรามประชาชน ส่วนการเยียวยาไม่สามารถลบเลือนความจริงและการสูญเสียได้ ขณะที่ความยุติธรรมยังเป็นสิ่งซึ่งสังคมจำเป็นต้องได้รับร่วมกัน

-นปช. คาดหวังอย่างไรในการเดินหน้าต่อสู้ตามกลไกกฎหมาย คดีสลายชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 แม้มีการยกฟ้อง ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 60


ขณะนี้เราได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อที่จะให้อัยการสูงสุดได้ดำเนินการตามข้อผูกพัน ในคำพิพากษาศาลฎีกา ที่จะส่งทั้งคำพิพากษาและสำนวนฟ้องไปยัง ป.ป.ช. ซึ่งล่าสุดก็ทราบว่าทางสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือถึงทั้ง ป.ป.ช. และ ดีเอสไอแล้ว ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปก็อยู่ที่การใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ว่าจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่หรือไม่

ซึ่งผมก็ได้ประกาศต่อสื่อมวลชนไปแล้วว่า ในห้วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ นปช. ก็จะยุติการเคลื่อนไหวติดตามเรื่องนี้ และเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว ถึงสถานการณ์ที่เหมาะสม หาก ป.ป.ช.ยังคงเพิกเฉยไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ก็จะไปติดตามเรื่องนี้กับ ป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่ง

-เตรียมการทุกช่องทางรวมถึงการรวบรวมรายชื่อประชาชน

ทุกขั้นตอนที่ได้แถลงเอาไว้ก็ยังอยู่ในแนวทางการดำเนินการ เพียงแต่ว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น การรวบรวมรายชื่อประชาชน ก็คงจะทำในช่วงที่สภามาจากการเลือกตั้ง การรวบรวมรายชื่อ ก็เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เมื่อเห็นว่า ป.ป.ช. ใช้ดุลยพินิจโดยไม่สุจริต ก็สามารถจะเข้าชื่อประชาชน ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นรายชื่อที่มีสิทธิเลือกตั้ง ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ยื่นต่อประธานศาลฎีกาในการตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ

แน่นอนที่สุดเราไม่ได้คาดหวังกับสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คงต้องพิสูจน์กันว่า เมื่อประชาชนเรียกร้องขอความเป็นธรรมและขอความจริงจากเหตุการณ์ความสูญเสีย ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะใช้ดุลยพินิจอย่างไร

-หวังว่าการต่อสู้นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนอย่างไรทางประวัติศาสตร์

ผมอธิบายมาตลอด เราไม่ได้คิดว่าจะเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อเคลื่อนไหวในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็นที่ 2 มันไม่ได้เกิดจากความแค้นเคืองหรืออาฆาตพยาบาทต่อใครที่เผชิญหน้ากันในสถานการณ์นั้น แต่เราต้องการความยุติธรรม เราต้องการให้สังคมไทยปรากฏข้อเท็จจริงว่า คดีที่คนมือเปล่าเสียชีวิตเป็นร้อยกลางเมืองหลวง มันต้องไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในชั้นศาล

ถึงที่สุดถ้าหากมีคำพิพากษาว่าใครเป็นคนผิดหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ และหลังจากคำพิพากษา ผมต้องการให้เกิดสิ่งที่ทั้งสังคมรับรู้ร่วมกัน ว่า ใครก็ตามที่มีอำนาจ ไม่สามารถจะใช้กำลังใช้อาวุธกับประชาชนได้อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้ จะเป็นผลผลิตหลังจากกระบวนการยุติธรรม ได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมาครบทุกขั้นตอน

-ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุสลายชุมนุมปี 53 สะท้อนความคิดเห็นว่าเงินเยียวยาช่วยการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องการข้อเท็จจริงและความยุติธรรม


การเยียวยาไม่สามารถจะลบเลือนความจริง หรือความสูญเสียนั้นได้ การเยียวยาไม่ได้หมายความว่าเป็นการหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับคนที่เขาบาดเจ็บล้มตาย แต่การเยียวยาเป็นเพียงการบรรเทาบาดแผลของผู้สูญเสีย เพื่อที่จะให้มีความรู้สึกว่าสังคมหรือกลไกรัฐ ไม่ได้ทอดทิ้งหรือเหยียบย่ำ

ความจริงและการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องนี้ต่างหาก เป็นสิ่งซึ่งสังคมจำเป็นที่จะต้องได้รับร่วมกัน เพราะอย่างที่ผมบอก ถ้าหากว่า เราไม่ได้ทำเรื่องนี้ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด มันจะไม่มีหลักประกันเลยว่า ต่อไปในอนาคตหากมีความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายผู้มีอำนาจจะเป็นคณะไหนก็ตาม จะไม่ใช้กำลังใช้อาวุธใช้กระสุนจริงกับประชาชนอีก นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังจากการเคลื่อนไหวและต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้

ญาติผู้เสียชีวิต มีสิทธิโดยชอบ ที่จะทวงถามข้อเท็จจริงและความยุติธรรม และกฎหมาย เปิดพื้นที่ให้เป็นโจทก์ หรือ ผู้เสียหายอยู่แล้ว ดังนั้น ส่วนที่ญาติของผู้เสียชีวิตจะดำเนินการขับเคลื่อนอย่างไรตามข้อกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ทำได้

ในส่วนของ นปช. เนื่องจากพวกผมเป็นแกนนำในการชุมนุม ณ เหตุการณ์นั้น พวกผมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ สิ่งที่พวกเราทำ ทุกอย่างก็เป็นไปตามกลไกของกฎหมายเช่นเดียวกัน

แต่เราจะไปสั่งการ หรือไปกำหนดแนวทางให้กับญาติผู้เสียหาย ผมก็เห็นว่าเราไม่มีอำนาจ หรือไม่มีสิทธิที่จะไปทำในลักษณะดังกล่าว เป็นแต่เพียงว่า ความที่เป็นผู้ร่วมชะตากรรม เจ็บปวดร่วมกัน สูญเสียร่วมมกัน หากจะมีการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนหรือให้กำลังใจกันและกัน ผมก็ว่า อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ว่าญาติผู้เสียชีวิตจะเคลื่อนไหวหรือไม่ หรือถ้าจะเคลื่อนไหว จะเคลื่อนไหวอย่างไรผมว่าเป็นสิทธิ์

อยากจะฝากข้อคิดไว้นิดเดียวว่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของตัวบทกฎหมาย แม้ว่าเราอาจจะมีความกังวลใจกับความตรงไปตรงมาของกระบวนการยุติธรรมบางขั้นตอนก็ตาม แต่ถ้าเดินไปตามแนวทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด สังคมก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและก็จะไม่บรรลุผลได้โดยเร็ว แต่ว่ามันจะบรรลุผลได้ในที่สุด ด้วยความมุ่งมั่นอดทน และการรักษาแนวทางที่ทุกคนทุกฝ่ายยอมรับได้

ผมศึกษาเหตุการณ์ความสูญเสียของประชาชน จากอำนาจรัฐในหลายๆ ประเทศ เขาต้องใช้ระยะเวลามากกว่าเราที่ยืนอยู่ในวันนี้มาก เขาต้องใช้ความเจ็บปวด ความอดทน ความเสียสละและความมุ่งมั่นมากมาย แต่ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ แล้วสังคมนั้นๆ ก็เกิดบทเรียน เกิดข้อสรุปว่า การเข่นฆ่าหรือปราบปรามประชาชน ไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วถูกลบเลือนหายไปกับกาลเวลา เพราะฉะนั้น ในวันที่เราบอกว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ความยุติธรรม หรือทวงถามความจริงเรื่องนี้ ก็เป็นความจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม เรียนรู้จากเหตุการณ์ในหลายๆ ประเทศ เพื่อทำให้เรามีพลังในการเดินไปข้างหน้ามากขึ้นครับ


-ยุคนี้เป็นอีกยุคที่ทหารมีบทบาททางการเมืองเช่นเดียวกับในอดีต ในฐานะประชาชนจะอยู่อย่างมีความหวังได้อย่างไร

ผมคิดว่ามนุษย์ไม่ควรเลิกหวังในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะว่าในหลายๆ สังคมที่เขาผ่านสถานการณ์เสมือนไร้ความหวัง วันหนึ่งเขาก็เดินไปสู่จุดที่สมหวังได้

ดังนั้นการเรียกร้องหาสิทธิเสรีภาพหรือความเสมอภาคเท่าเทียม การเรียกร้องหลักการประชาธิปไตยอันเป็นสากล ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไม่มีกรอบเวลามาจำกัด ไม่ได้หมายความว่าเรียกร้องภายใน 5 ปีนี้ ถ้าไม่สำเร็จ ข้อเรียกร้องนี้เป็นอันหมดอายุ ภายใน 10 ปี ข้อเรียกร้องนี้เป็นอันเกษียณ ไม่ใช่...

มีการเรียกร้อง มีการต่อสู้ มีการส่งทอดกันได้รุ่นต่อรุ่น ตราบที่มันยังต้องทำร่วมกันอยู่ ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์ทางอำนาจของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าเรามั่นใจว่า ในหลักที่เป็นสากลอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องหมดกำลังใจ

ถ้าเห็นว่ามันยากลำบาก ถ้าเห็นว่ามันเจ็บปวดแสนสาหัส ก็เพียงแต่ว่า ได้มองไปหาคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน คนที่กำลังต่อสู้อยู่เหมือนๆ กัน ผมก็คิดว่าพลังมันส่งทอดได้เหมือนๆ กันในเรื่องเหล่านี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.