กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
‘ประชาไท’ ชวนมองกฎหมายเก็บค่าน้ำและเมล็ดพันธุ์ผ่านแว่นของเศรษฐศาสตร์ เมื่อนโยบายที่ดีคือการเพิ่มทางเลือกเกษตรกร แล้วเรื่องนี้เพิ่มหรือตัดทางเลือก
จากกรณีเก็บค่าน้ำสำหรับการทำเกษตรไล่มาจนถึงการแก้ไข พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์ ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทเอกชน เนื่องจากมีเนื้อหา เช่น ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อหรือการขยายอายุสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น
เมื่อประชาชนถูกยึดกุมอาหารผ่านการยึดเมล็ดพันธุ์ , 18 ต.ค. 60
พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชทำไมต้องเป็นฉบับใหม่?: เสียงจากนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ , 20 ต.ค. 60
ทั้งสองกรณีร้อนถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงปะปนไปกับอารมณ์ความเชื่ออยู่ในที เกี่ยวกับเกษตรกรและชาวนากับความเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
‘ประชาไท’ ชวนถอยออกมาหนึ่งก้าว มองกลับเข้าไปด้วยแว่นของเศรษฐศาสตร์ เพราะทั้งเรื่องน้ำและเมล็ดพันธุ์ก็มีมิติเรื่องประสิทธิภาพแฝงอยู่ ไม่ว่าจะในแง่การใช้ทรัพยากรหรือการแข่งขันของบริษัทเอกชนที่จะพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากแรงจูงใจด้านสิทธิบัตรที่เพิ่มขึ้น
คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทั้งสองประเด็นตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดตั้งแต่ต้น เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชวนหาคำตอบ
เครื่องมือทางนโยบายต้องสร้างทางเลือก ไม่ใช่ตัดทางเลือก
เดชรัตไม่ได้เริ่มต้นจากการระบุว่า นโยบายทั้งสองดีหรือไม่ดี มันออกจะเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยรัดกุม เพราะเครื่องมือทางนโยบายหรือเศรษฐศาสตร์ อย่างในกรณีการเก็บค่าน้ำ ไม่ใช่สิ่งที่ถูก-ผิดโดยตัวมันเอง เดชรัตชวนให้ถอยกลับไปพิจารณา ‘ทางเลือก’
“ถ้าเราพูดแบบกว้างที่สุดคือทำอย่างไรให้เกษตรกรมีทางเลือก ทำอย่างให้เกษตรกรเลือกทางเลือกที่น่าจะดี โดยที่เรามีฐานความคิดว่ามีเรื่องบางเรื่องที่ดีต่อพี่น้องเกษตรกร แต่พี่น้องเกษตรกรไม่เลือกเพราะอะไร ถ้าอย่างนั้นเราทำแบบนี้ดีหรือไม่ เขาจะได้เลือกสิ่งที่เขาควรเลือกมากขึ้น ไม่ได้บังคับ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จูงใจให้เขาเลือกสิ่งที่ควรจะเป็นหรือก้าวข้ามอุปสรรคที่ทำให้เขาไม่สามารถเลือกสิ่งที่ควรจะเป็น คือเขาอาจจะรู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เขาควรเลือก แต่มันมีอุปสรรค ติดกับดัก เราก็ไปแก้กับดักตรงนั้น
“ถ้าคิดภายใต้กรอบนี้ก็ต้องถือว่า วิธีการที่รัฐบาลทำเรื่องการเก็บภาษีน้ำ ไม่ใช่ตัวภาษีน้ำ แต่วิธีที่รัฐบาลพูดหรือเสนอออกมา มันเป็นวิธีการที่ตรงข้ามกับกรอบที่ผมมีโดยสิ้นเชิง กรอบที่ผมมีเริ่มต้นจากทางเลือกก่อน ตัวผมเองก็ไม่ได้ปฏิเสธการเก็บภาษีน้ำ แต่โจทย์ของมันคือคุณจะให้เขาเลือกอะไร แล้วคุณก็ไปเก็บภาษีน้ำเพื่อให้เขาเลือกสิ่งนั้น”
สรุปได้ว่า ต้องเริ่มต้นจากโจทย์ว่า รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรทำอะไร แล้วมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะช่วยให้เกษตรกรทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีเพิ่มขึ้นและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ อย่างไร
โจทย์ข้อนี้อยู่ในความคิดของรัฐหรือไม่ เดชรัตคิดว่า ไม่ หรือหากมีอยู่ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาเลย แต่กลับสื่อสารออกมาในแง่การใช้น้ำที่สิ้นเปลืองหรือความเป็นธรรมในการใช้น้ำสำหรับทุกฝ่าย เขายกตัวอย่างรูปธรรมว่า สมมติเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานมีความจำเป็นต้องมีบ่อเก็บน้ำ ปัญหาคือเกษตรกรไม่มีเงิน คำถามคือถ้าเก็บภาษีน้ำแล้วเกษตรกรจะมีเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ อาจจะมีเพิ่มขึ้น ถ้ากฎหมายกำหนดให้มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน แต่ถ้าเงินจากภาษีน้ำที่รัฐบาลกำหนดไหลเข้ากระเป๋าใหญ่ของรัฐบาล อุปสรรคที่เกษตรกรเผชิญก็จะไม่ได้รับแก้ไขเหมือนเดิม
“การตั้งโจทย์เรื่องภาษีน้ำ ส่วนตัวผม คิดว่าเป็นวิธีการตั้งโจทย์ที่ไม่ดีเลย คือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดพลาด ย้ำครับว่าไม่ใช่การเก็บภาษีน้ำไม่ดีเลย แต่วิธีการตั้งโจทย์ของรัฐบาลเป็นการตั้งโจทย์แบบเหมาโหลและไม่มีทางเลือก
“ในกรณีเมล็ดพันธุ์ก็เช่นเดียวกัน เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า คุณอาจพูดว่าจะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ดีขึ้น แล้วทางเลือกของเกษตรกรคืออะไร ทางเลือกคือการซื้อ ใช่หรือเปล่า อย่างกรณีข้าวโพด เราตอบได้หรือเปล่าว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากการที่มีเลือกจากบริษัทเอกชนที่พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมาเนิ่นนาน
“ก่อนหน้านี้เราใช้พันธุ์ที่รัฐพัฒนา เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บไว้ได้ แต่เอกชนมาทำเป็นพันธุ์ลูกผสมแข่งกัน เราอธิบายว่าอย่างไรที่ว่าเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือไม่ใช่ แต่เท่าที่ผมเห็น ผมไม่ได้รู้สึกว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น เราควรจะสรุปบทเรียนข้าวโพดให้ตรงไปตรงมาว่ามันโอเคหรือไม่ ถ้าโอเค เราจะได้นำผลสรุปนี้มาขยายต่อ เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่มันไม่มีผลการศึกษาที่จะยืนยัน”
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
เดชรัตให้ข้อมูลว่า ต้นทุนการปลูกข้าวมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ไม่สามารถใช้ตัวเลขเดียวได้ อย่างไรก็ตาม หากกล่าวโดยทั่วไป ปัจจุบัน ต้นทุนการปลูกข้าวตกประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ สมมติไร่หนึ่งใช้น้ำ 1,600 ลูกบาศก์เมตร ชาวนาต้องเสียค่าน้ำประมาณ 800 บาท ถ้ามีรายได้จากการขายข้าว 6,000 บาทต่อไร่เมื่อบวกค่าน้ำเข้าไป กำไรที่เคยได้จะลดลงประมาณร้อยละ 40 หมายความว่ากำไร 2,000 บาทต่อไร่จะลดเหลือ 1,200 บาทต่อไร่หลังจากหักค่าน้ำ
ขณะที่ต้นทุนเมล็ดพันธุ์บอกไม่ได้ว่า พืชแต่ละชนิดมีต้นทุนเท่าใด แต่เดชรัตยกตัวอย่างข้าวโพดว่า อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของต้นทุนทั้งหมด
“ถ้ากฎหมายสองฉบับนี้ผ่าน ต้นทุนของเกษตรกรจะขึ้นเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ผมไม่ได้เอาเกณฑ์นี้เป็นตัวตั้งในการพูดว่าเรื่องไหนดีหรือไม่ดี ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นคุ้มกับประสิทธิภาพหรือทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ผมก็โอเค โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ต้องพูด เพราะตัวเลขที่รัฐบาลให้มาเป็นตัวเลขที่อาจจะไม่ค่อยละเอียดอ่อนเท่าไหร่ ชาวนามีกำไร 2,000 จะเก็บไป 800 เป็นการพูดที่ไม่คำนึงถึงความอ่อนไหวของคนฟัง ไม่ใช่ตัวหลักการ แต่วิธีคิดและวิธีการนำเสนอมันไม่ละเอียดอ่อนในเชิงของผู้ได้รับผลกระทบ
“ส่วนกรณีเมล็ดพันธุ์ เราคาดเดาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการผูกมัดเรื่องเมล็ดพันธุ์ อาจเลยไปถึงการผูกมัดเรื่องการใช้ปุ๋ยและการใช้ยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งตอนนี้เมล็ดพันธุ์หลายตัวก็เป็นลักษณะนี้แล้ว ฉะนั้น แนวคิดความคิดนี้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ยังไม่มีการตรวจสอบ”
ประสิทธิภาพ?
ส่วนหลังจากนี้ เราสนทนากันด้วยมิติด้านประสิทธิภาพและแนวโน้มภาคเกษตรในอนาคตโดยเชื่อมโยงกับนโยบายทั้งสอง
เมื่อถามถึงในแง่ประสิทธิภาพ การออกกฎหมายลักษณะนี้จะไม่ช่วยสร้างปัจจัยให้เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันหรือ? เดชรัตตอบว่า
“การตั้งโจทย์เรื่องภาษีน้ำ ส่วนตัวผม คิดว่าเป็นวิธีการตั้งโจทย์ที่ไม่ดีเลย คือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดพลาด ย้ำครับว่าไม่ใช่การเก็บภาษีน้ำไม่ดีเลย แต่วิธีการตั้งโจทย์ของรัฐบาลเป็นการตั้งโจทย์แบบเหมาโหลและไม่มีทางเลือก"
“ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลคิด ไม่ได้เอาโจทย์เรื่องประสิทธิภาพเป็นตัวตั้ง อาศัยแค่ความเชื่อ ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการบอกว่าเมื่อเกษตรกรจ่ายค่าน้ำ แล้วจะไปลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะมันมี 3 ทางเลือก หนึ่งคือปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ สอง ยิ่งไม่มีเงินเข้าไปอีกแล้วก็ออกไปจากระบบ ซึ่งบางคนไม่แคร์ แต่ผมแคร์ ออกก็ได้ แต่ต้องออกอย่างมีทางเลือก สาม-เขาก็ยังไม่ออกหรอก แต่ก็ทนอยู่ ทนจ่ายค่าน้ำต่อไป เรื่องนี้ไม่มีการพิสูจน์ว่าทำแล้วประสิทธิภาพจะดีขึ้น ผมจะเชื่อก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ สมมติว่ารัฐบาลจะทำจริงๆ แล้วไม่แคร์การพิสูจน์ ก็ยังมีการพิสูจน์หลังจากออกนโยบายมาแล้ว ว่าเก็บค่าน้ำแล้ว ประสิทธิภาพการใช้น้ำจะดีขึ้นอย่างไร อะไรคือเกณฑ์ที่รัฐบาลจะใช้ในการวัด ส่วนในกรณีเมล็ดพันธุ์ควรจะตอบได้แล้ว เพราะผ่านมา 20 ปีแล้ว สุดท้ายเราก็มานั่งเถียงกันจากความเชื่อ”
ส่วนในกรณีของเมล็ดพันธุ์ เดชรัตยกตัวอย่างข้าวโพด
“กรณีข้าวโพดเรามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่เกษตรกรที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทำไมไม่เปรียบเทียบกับมันสำปะหลังที่สามารถเก็บท่อนมันไว้ปลูกต่อได้ เกษตรกรจึงมีทางเลือกที่จะเก็บไว้ปลูกต่อหรือจะซื้อก็ได้ แล้วผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นกระจายตัวดีกว่าข้าวโพดที่เกษตรกรต้องไปซื้อทุกรอบหรือไม่ ซึ่งสามารถวิจัยได้เลย เพราะทั้งสองอย่างเราทำมา 20 ปีแล้ว ซึ่งเราอาจพบว่า ข้าวโพดอาจได้ประโยชน์ต่อเกษตรกรน้อยกว่าการทำแบบมันสำปะหลังก็ได้ แล้วถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา ต่อไปเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บท่อนมันไว้ปลูกต่อได้”
เดชรัตย้ำว่า ไม่มีคำว่าประสิทธิภาพอยู่ในความพยายามจะออกกฎหมาย มีแต่ความเชื่อที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เขากล่าวย้ำโดยกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของการสนทนาว่า รัฐบาลควรพิจารณาว่าอะไรคือเครื่องมือไปสู่ประสิทธิภาพ เหตุใดเครื่องมือนั้นไม่ถูกใช้ แล้วจึงหานโยบายทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
“ผมจะคิดแบบ Micro to Macro ผมต้องมองการตัดสินใจของคนแต่ละคนให้เห็นก่อน เพื่อให้เห็นว่ากรอบใหญ่ที่เราจะทำภายใต้ พ.ร.บ.น้ำ คืออะไร แต่รัฐบาลใช้แมคโครตัดสินใจ เก็บเงินแล้วทุกคนก็ต้องปรับตัว จริงๆ แล้วไมโครทำยังไง เขาอธิบายไม่ได้ สำหรับผมไม่เห็นตัวเลขไหนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ที่เป็นการพิสูจน์ นอกจากคุยกันในเรื่องความเชื่อ ผมจึงค่อนข้างซีเรียสว่า ประสิทธิภาพที่เราพูดถึงไม่ใช่สิ่งที่คนที่พยายามทำสองเรื่องนี้อธิบายอย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ เดชรัตชี้ให้เห็นว่า บางทีคำว่าประสิทธิภาพอาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงปริมาณ
“ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าประสิทธิภาพคือคำตอบของภาคเกษตร สมมติเรายกตัวอย่างประสิทธิภาพการผลิตข้าวขึ้นมาได้ ผมว่าราคาข้าวเราคงตกอีกเยอะ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพจึงอาจไม่ได้แปลว่าผลิตมากขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มี แต่ถ้าบอกว่าจะทำให้คุณภาพดีขึ้น มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจะช่วยให้เกษตรกรดีขึ้น
“แต่เมล็ดพันธุ์ที่พัฒนา ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์มากนักในเรื่องคุณภาพ ส่วนใหญ่จะตอบโจทย์ในเชิงปริมาณมากกว่า ผมคิดว่าเมล็ดพันธุ์ที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะข้าวจะเห็นชัด มันจะตอบโจทย์เราในเรื่องคุณภาพมากกว่า แต่เราอาจมองว่าไม่ใช่ตัวหลัก ยังมองว่าให้ผลผลิตต่อไร่น้อยนิดเดียว ตอนนี้ซัพพลายข้าวเราเกิน มันอาจเป็นโจทย์ในเชิงประสิทธิภาพได้ ถ้าเราสามารถตอบได้ว่าเรามีแผนอย่างไรที่จะทำให้การปลูกข้าวน้อยลง เรื่องมันเกี่ยวโยงกันหมด จะพูดแยกส่วนเฉพาะประสิทธิภาพไม่ได้
“เรื่องเมล็ดพันธุ์ ถ้าถามว่าผมยอมรับเรื่องสิทธิบัตรหรือเปล่า ยอมรับการที่เกษตรกรต้องซื้อหรือไม่ ผมยอมรับได้ แต่ยอมรับบนฐานที่ผู้เล่นบางคนเข้ามาแทรกแซงในตลาด เช่น รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัย หรือใครที่เข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอ หมายความว่ามีผลิตภัณฑ์เข้ามาสู้กับภาคเอกชน เพื่อเป็นทางเลือก ไม่ได้หมายความว่าต้องสู้ให้เอกชนล้มหายตายจาก แต่สู้เพื่อไม่ให้มีแต่เอกชนเท่านั้นที่ผูกขาด”
จากรายย่อยสู่รายใหญ่
มีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องว่า แนวโน้มในอนาคตการทำเกษตรกรรมจะปรับเปลี่ยนจากรายย่อยไปสู่การทำเกษตรกรรมบนพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งจะให้ผลตอบแทนและมีประสิทธิภาพมากกว่า จำนวนเกษตรกรจะลดลง ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตอื่น แล้วเกษตรกรที่ยังอยู่ก็จะมีรายได้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากตัวหารในภาคการเกษตรลดลง นี่คือแนวคิดกระแสหลักที่ดำรงอยู่
เรามองได้หรือไม่ว่า การเก็บค่าน้ำและการแก้กฎหมายเมล็ดพันธุ์ก็เพื่อตอบรับกับแนวโน้มดังกล่าวในอนาคต เดชรัตอธิบายว่า
“เราต้องพูดก่อนว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ เกษตรจะเป็นรายใหญ่มั้ย ก็ต้องตอบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเกษตรกรรายใหญ่มีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะควบคุมความเสี่ยง มันเกิดขึ้นแล้วในกรณีของไก่ หมู แต่จะไม่เกิดขึ้นในกรณีที่เขาไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้อย่างในกรณีของข้าว ของพืชไร่ เขาก็จะปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยทำต่อไป โดยข้อเท็จจริงจะมีเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้นที่จะเป็นรายใหญ่จริงๆ มันจะไล่ไปตามความสามารถที่จะเอาเงินไปลงทุนและควบคุมไม่ให้ตนเองไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยลงมากๆ
“สำหรับผม ผมคิดว่าแนวโน้มนี้ไม่จริง ยกตัวอย่างข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผมไม่เชื่อว่าจริง ในระยะ 20 ปีนี้ผมไม่เชื่อว่ารายใหญ่จะเข้ามา บวกด้วยปัจจัยอีกข้อคือที่ดินของเรามีราคาแพง ถึงเป็นรายใหญ่ก็ไม่สามารถซื้อที่ดินเป็นหมื่นไร่แสนไร่ได้ง่ายๆ
“ประเด็นที่ว่าจำนวนเกษตรกรน้อยลง ส่วนแบ่งจะมากขึ้น ผมไม่ติดใจ แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งมันก็เกิดขึ้น เกษตรกรก็ลดลง แต่ก่อนมี 60-70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็เหลือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น คนที่เชื่อก็ยังเชื่อว่าต้องลงอีก แต่ผมไม่เชื่อว่าจะลง ไม่ใช่ว่าภาคเกษตรดี แต่ภาคอื่นไม่รับ ตัวเลขการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะมันมาสู่อุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่แล้ว ไม่ใช่แบบเดิม ตัวเลขของภาคบริการก็รับเพิ่มขึ้นบ้างภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่น้อย อย่างเวลาพูดถึงภาคการท่องเที่ยว มันก็มีความสวิง ปัจจุบันจ้างงานอยู่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั้งหมด แล้วจะรับเกษตรกรที่ลดลงได้หรือไม่
“ผมจะดีใจมากถ้ามีใครยืนยันว่า มีใครสามารถรับคนในภาคเกษตรได้ ไม่ได้ดีใจที่ออกจากภาคเกษตร แต่ดีใจที่มีทางเลือก”
ประเด็นที่เดชรัตกังวลคือเขาไม่แน่ใจว่าเกษตรกรจะมีทางเลือกดังว่า แต่อาจจะย้อนกลับกัน คือคนบางส่วนต้องออกจากภาคอุตสาหกรรมและบริการมาสู่ภาคเกษตร ส่วนหนึ่งเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เขาย้ำว่าไม่ได้ค้าน ถ้าเกษตรกรเหลือน้อยลง เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริง
“ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การที่เกษตรกรเหลือน้อยลงและย้ายไปอยู่ภาคอื่น การย้ายไปอยู่ภาคอื่นให้ดีขึ้นได้ เขาไม่ควรจะย้ายโดยไม่มีทางเลือก เขาต้องมีทางเลือก แต่ไปทางนั้นเพราะมันดีกว่า การต่อรองของเขาจะดีกว่า ผมจึงเห็นว่า ใครก็ตามที่สนับสนุนให้เกษตรย้ายไปภาคอุตสาหกรรม ผมไม่ได้ค้าน แต่เขาควรไปในลักษณะที่มีทางเลือกเสมอ การบีบให้ไปโดยไม่มีทางเลือกคือการทำให้เขาหมดอำนาจต่อรองในเซ็คเตอร์ใหม่ที่เขากำลังจะไป”
เดชรัตมีทัศนะว่า กฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำหรือเมล็ดพันธุ์ สุดท้ายแล้วจะเป็นการตัดตัวเลือกของเกษตรกรลง
การคิดนโยบายหรือออกกฎหมายต้องวางอยู่หลักการที่จะเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร ไม่ใช่ตัดทางเลือก
แสดงความคิดเห็น