Posted: 01 Oct 2017 08:41 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คุยกับแกนนำคนงานภาคอิเล็กทรอนิกส์ และย่านสระบุรี ระบุเศรษฐกิจคนงานแย่ลง 'OT' ความหวังในยุคค่าแรงไม่พอ ก็เริ่มหดหาย การใช้จ่ายลด กระทบเป็นวงจร ย้ำคนงานไม่ใช่ตัวลำพัง แต่มีภาระครอบครัว และข้อเสนอรายได้ที่ควรจะเป็น


(ซ้าย) ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง และรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ขวา) มณีรัตน์ อาจวิชัย ประธานสหภาพแรงงานโซนี่ประเทศไทย

1 ต.ค. 2560 จากกรณีที่รัฐบาลทหารประกาศว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศในปัจจุบันด้านเศรษฐกิจ ล่าสุดตามหลักการ ตามวิชาการ หรือตามหลักเศรษฐศาสตร์ หลายอย่างปรับตัวดีขึ้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรในหลายหมวดปรับเพิ่มขึ้น นั้น

อย่างไรก็ตามยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือเห็นแย้งทั้งเชิงสนับสนุนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นและในทางตรงกันข้ามว่าไม่ฟื้นตัว ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้สอบถามผู้นำแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 2 ราย คือ มณีรัตน์ อาจวิชัย ประธานสหภาพแรงงานโซนี่ประเทศไทย และ ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง และรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของคนงานในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้ 

OT เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงคนงาน แต่กำลังหด

ประธานสหภาพแรงงานโซนี่ฯ กล่าวถึงภาวะทางการเงินของคนงานในช่วงนี้ว่า ขาด ไม่สะพัดเหมือนกับช่วงก่อนหน้า งานดรอปลง OT (การจ้างงานล่วงเวลา) ก็น้อยลง การใช้จ่ายจึงประหยัดขึ้น และอาจไม่มีสิ่งของพิเศษที่ต้องใช้จ่าย เนื่องจากไม่มี OT

“ถ้ามี OT ทุกคนจะผ่อนโน้นนี่นั่น เพราะยังมีความสามารถในการจ่ายอยู่” มณีรัตน์ กล่าว พร้อมระบุถึงสำหรับสาเหตุที่ OT ว่า ส่วนหนึ่งเป็นช่วงของฤดูกาลด้วย อย่างในบริษัทที่ตนทำงานก็จะมีช่วงฤดูกาลที่พีคมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก เช่น ช่วง ม.ค.-เม.ย. จะแจ้งมาว่าช่วงเวลานี้จะมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก ทุกคนก็จะเตรียมตัวทำ OT จะเป็นแบบนี้เกือบทุกปี ส่วนช่วง ต.ค.-พ.ย.งานจะเริ่มลดลงแล้ว บริษัทจะแจ้งไว้ คนงานก็จะเตรียมตัว เช่น มีพักร้อนหรือมีธุรอะไร ก็ลาในช่วงนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบปีนี้กับปีก่อนหน้า ประธานสหภาพแรงงานโซนี่ฯ กล่าวว่า ปีนี้งานจะน้อยลง ปีก่อนๆ งานจะพีคมาก มี OT ทุกวัน ไม่ได้หยุด ขณะที่ปีนี้ก็จะมีหยุดบ้าง หรือบางช่วงไม่ได้ทำ OT เป็นเดือนเลยก็มี OT นั้น ต่อคนเต็มที่อยู่ที่ 48 ชั่วโมงต่อเดือน แต่ละเดือนวันละ 2 ชั่วโมง หรือบางคนที่ไม่ค่อยมีก็จะได้ประมาณ 10 – 16 ชั่วโมงต่อเดือน เหตุที่ OT มีความสำคัญมาก เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอ ดังนั้นส่วนมากคนงานจะมาพึ่ง OT และเป็นปัจจัยแรกๆ ที่คนงานตัดสินใจสมัครเข้าทำงาน

"OT เป็นตัวสำคัญที่คนงานจะตัดสินใจลงทุนหรือใช้จ่ายกับสินค้าก้อนใหญ่หรือสินค้าสำหรับอนาคตด้วย" มณีรัตน์ กล่าว พร้อมยืนยันด้วยว่ารายได้ปีก่อนๆ จะดีกว่าปีนี้ จึงต้องรักษาตัวเอง ต้องไม่ก่อหนี้สินเพิ่มหรือเกินตัว

สำหรับหนี้ครัวเรือนนั้น ประธานสหภาพแรงงานโซนี่ฯ กล่าวว่า มองเห็นได้ชัดว่าหนี้ของคนงานสูงขึ้น และหลายคนคนยอมที่จะออกจากงาน หากเป็นหนี้สถาบันทางการเงิน แล้วไม่มีความสามารถในการจ่าย หรือมี OT ไม่เพียงพอที่จะเป็นรายจ่าย การออกจากงานและหนี้ก็จะส่งผลต่อภาระในทางคดีตามมาด้วย

เช่นเดียวกับ ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ ซึ่่งอยู่ในโรงงานผลิดสิ้นค้าสุขภัณฑ์ กล่าวว่า ช่วงปี่ที่ผ่านมานั้น รายรับลดลงอยู่แล้ว ที่จริงคนงานอยู่ได้เพราะ OT การที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจโตนั้นไม่เป็นความจริง หากมามองในเศรษฐกิจของประชาชนที่อยู่ในชุมชนหรือโรงงานมันไม่ได้ดีขึ้น วันนี้ต้องยอมรับว่านายจ้างก็ขายของไม่ได้ ยอดสินค้าก็ตก ทำให้ OT ไม่มี ดังนั้นคนงานจะได้เพียงค่าจ้างเท่านั้น และส่วนมากได้แบบรายวัน ซึ่งต่อเดือนก็ไม่ถึง 30 วัน เพราะต้องหักวันเสาร์อาทิตย์ออก จึงไม่ถึง 9,000 บาทต่อเดือน เมื่อต้องอยู่สภาพแบบนี้ ท้ายที่สุดคนงานก็มีหนี้ อีกทั้งคนงานต้องดูแลพ่อแม่และลูกอีก หากเงินไม่เพียงพอก็ต้องไปกู้หนี้นอกระบบบ้าง หากมีสหกรณ์ก็กู้สหกรณ์ หรือไม่มีทั้ง 2 อย่างก็ต้องพึ่งบัตรเครดิต จากคนงานในโรงงานที่ตนอยู่ มีสหกรณ์อยู่ด้วย คนงานที่จะเข้ามารีไฟแนนซ์พอครบรอบเขาก็จะมาแล้ว นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายเขาไม่เพียงพอ บวกกับ OT ก็ไม่มี มีเพียงค่าจ้างที่ไม่เพียงพอจึงก่อให้เกิดหนี้สิน

สำหรับปรากฎการณ์ที่ OT ลดลงไปนั้น ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ กล่าวว่า เกิดขึ้นช่วงระยะเวลา 2-3 ปีมานี้ ด้านหนึ่งเป็นเพราะนายจ้างปรับกระบวนการผลิต เช่น รับงานไปทำข้างนอก จ้างคนรับงานไปทำที่บ้าน และคิดเป็นชิ้น จึงไม่ต้องรับผิดชอบทั้งค่าน้ำค่าไฟหรือค่า OT มาจ่ายตามกฎหมาย อีกปัจจัยที่ OT ลดลงมาจากยอดขายที่หดลง พิจารณาจากโรงงานที่ตนอยู่ ผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้สินค้าจีนเข้ามาและกลายมาเป็นคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า ส่งผลให้นายจ้างพยายามลดต้นทุนเพื่อแข่งกับสินค้าเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมทุนใหญ่ แต่ละเลยทุนเล็ก หรือ SMEs
คนงานมีภาระครอบครัว และรายได้ที่ควรจะเป็น

ค่าแรงที่ควรจะเป็นต่อคนงานที่จะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดีนั้น ประธานสหภาพแรงงานโซนี่ฯ กล่าวว่า เริ่มจากดูก่อนว่าแต่ละวันมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เริ่มต้นที่ค่ากินนั้น ทุกวัน 3 มื้อ อยู่ที่ 80 บาทต่อคนต่อวัน ตัวเลขนี้จะไม่แพงมากเนื่องจากบริษัทมีสวัสดิการข้าวให้คนงาน ส่วนกับข้าวก็จะต้องซื้อเอง นอกจากนี้จะมีค่าใช้จ่ายกับคนในครอบครัว ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ โดยเฉลี่ยค่าเช่าบ้านอยู่ที่ 2,500 บาท ต่อคนต่อเดือน จึงคิดว่า 25,000 บาท ต่อเดือน จะเป็นตัวเลขที่ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปัจจุบัน

ประธานสหภาพแรงงานโซนี่ฯ กล่าวด้วยว่า คนงานแต่ละคนต้องเลี้ยงครอบครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของลูก รวมทั้งคนอื่นๆ ในครอบครัว ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางในกรณีที่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่ติดถนนที่มีรถรับส่งผ่านโดยตรง ทุกคนเมื่อทำงานเริ่มซื้อรถและบ้าน เพราะฉะนั้นรายจ่ายพวกนี้จะเป็นตัวหลักเลย เพราะเงินที่จะต้องผ่อนจะมาทุกเดือน สำหรับคนงานในโซนี่หรืออิเล็คทรอนิคนั้น จะอายุตั้งแต่ 20 กว่าถึง 40 ปี ซึ่งเริ่มเจ็บป่วยและมีปัญหาของร่างกายด้วย แล้วค่าใช้จ่ายก็จะตามมาด้วย ส่วนมากนิยมไปคลินิก เนื่องจากเร็วกว่าโรงพยาบาล ซึ่งบางที่ใช้เวลานานเป็นวัน

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเรื่องค่าแรงที่ควรจะเป็นควรอยู่ที่ 700 บาทต่อวันนั้น ธนพร ในฐานรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานฯ ระบุว่ามาจากฐานที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานฯ เคยสำรวจเมื่อปี 54 ว่าค่าจ้างที่จะอยู่ได้พร้อมครอบครัว อยู่ที่ 560 กว่าบาท แต่ 6 ปีที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเราจึงคิดว่าปัจจุบันควรอยู่ที่ 700 บาท ที่จะทำให้คนงานจะสามารถดูแลครอบครัว ดูแลลูก ดูแลอย่างอื่นโดยไม่ต้องเป็นหนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็เคยพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประชาชนต้องมีรายด้ปีละ 4.5 แสนบาทที่จะอยู่ แต่คนงานได้ไม่ถึงแสนเลยต่อปี

ธนพร กล่าวด้วยว่า เวลาเราบอกว่าคุณภาพของคนงานมันจะดีขึ้น คุณภาพคนงาน ก็ต้องมองเศรษฐกิจภายในด้วย ถ้าคนงานมีอำนาจในการซื้อ เศรษฐกิจภายในประเทศก็หมุนเวียน ในชุมชนที่ตนอยู่ตามที่สังเกต เช่น ตลาดนัดซึ่งเป็นสถานที่ประจำที่คนงานไปบริโภคอยู่นั้น จะเห็นว่าคนเริ่มขายของไม่ได้ คนงานไม่มีเงิน เริ่มเลือกไม่ซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น กินเท่าที่จำเป็น เสื้อผ้าอะไรก็ขายไม่ได้ มันก็จะเป็นผลพวง เมื่อเสื้อผ้าขายได้ โรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าก็ขายไม่ได้ คนงานก็ตกงาน จึงเป็นวงจร หากคนงานตกงานคนทำห้องพักก็ได้รับผลกระทบ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.