ไทยติดโผ 17 ประเทศผู้รับรางวัลการจัดการกัมมันตรังสีในการประชุมนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ
รัฐบาลไทยเข้าร่วมการประชุมความมั่นคงนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ พร้อมรับรางวัลการจัดการกัมมันตรังสีร่วมกับอีก 16 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ กฟผ.เผยแผนพลังงานไทยในทศวรรษหน้าต้องมีความหลากหลาย แต่ไม่เน้นพลังงานนิวเคลียร์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันดีซีระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย.
การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อการวางแนวทางป้องกัน ควบคุม และตรวจสอบการสะสมหรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก รวมถึงการบริหารจัดการวัสดุนิวเคลียร์และกากกัมมันตรังสีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ป้องกันการโจรกรรมและอุบัติเหตุซึ่งอาจเกิดจากการใช้วัสดุนิวเคลียร์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยมีผู้นำรัฐบาลจาก 52 ประเทศทั่วโลก หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศที่รับผิดชอบด้านนิวเคลียร์ ผู้แทนสหภาพยุโรป และหน่วยงานตำรวจสากลอินเตอร์โพล เข้าร่วมการประชุมด้วย
แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ ทั้งด้านการแพทย์และอนามัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และการวิจัย โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 17 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards ระหว่างการประชุมความมั่นคงนิวเคลียร์ครั้งนี้ ในฐานะประเทศที่มีบทบาทอย่างเข้มข้นระดับโลกในการกำจัดและไม่ให้มีสารกัมมันตรังสีในประเทศ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้ขึ้นรับรางวัลดังกล่าว รวมถึงตัวแทนฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย
ด้าน น.ส.วิริยา แก้วพันธุ์ วิศวกรระดับ 5 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้เสนอรายงานภาพจำลองอนาคตพลังงานไทยในทศวรรษหน้า ระหว่างการประชุมเชิงวิชาการนานาชาติ โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ย้ำว่าประเทศไทยยังไม่มีแผนพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะเห็นผลกระทบรุนแรงที่เกิดจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ กรณีเตาปฏิกรณ์ปรมาณูรั่วไหลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น หลังเกิดเแผ่นดินไหวและสึนามิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ทำให้ กฟผ.ชะลอโครงการด้านนิวเคลียร์ต่างๆ ให้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูลเท่านั้น
ขณะเดียวกัน นโยบายด้านพลังงานของ กฟผ. ปี 2558-2563 มุ่งเน้นที่การใช้พลังงานที่หลากหลาย ลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มีความพร้อมด้านการพัฒนาพลังงานถ่านหินมากที่สุด ทั้งแหล่งทรัพยากรและเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ต่างกับพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่มีปัจจัยยึดโยงกับสภาพอากาศซึ่งไม่อาจควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แสดงความคิดเห็น