รวมผลงานการใช้อำนาจม.44 ออกคำสั่งกว่า 60 ฉบับ ถอดยศ"ทักษิณ"หนึ่งในตัวอย่างการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
***************************************
รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ที่ประกาศใช้โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีอยู่มาตราหนึ่งซึ่งถูกครหาถึงความเป็นเผด็จการและการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไว้ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือ มาตรา 44
.
มาตรา 44 มีหลักการว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็น ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้
.
ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมานาน หลายฝ่ายต่างจับตาว่าอำนาจล้นฟ้าตามมาตรา 44 จะถูกนำออกมาใช้เมื่อไร และอย่างไร จนกระทั่งก่อนสิ้นปี 2557 เราก็ได้เห็นคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับแรกออกมา และเมื่อเดือนเมษายน 2558 คสช.ตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึก และใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 มาให้แทน และหลังจากนั้น มาตรา 44 ก็กลายเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ ที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เป็นฐานอำนาจออกคำสั่งนานัปการ
.
จากคำสั่งหลายฉบับที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 มีทั้งการโยกย้ายข้าราชการ เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ไม่แต่งตั้งกรรมการกสทช. และการออกมาตรการหรือนโยบาย เพื่อการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ปรับปรุงการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย แก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา ตั้งกรรมการสรรหาป.ป.ช. ฯลฯ
.
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44
.
****เดือนธันวาคม 2557***
.
25 ธันวาคม 2557 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 เปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
.
จากเดิมที่ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 85/2557 ให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและใช้วิธีสรรหาบุคคลแทน แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่1/2557 กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพ้นจากตําแหน่ง เนื่องจากครบวาระ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
.
กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งเพราะสาเหตุอื่นนอกจากครบวาระ ให้สภาท้องถิ่นคงจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ โดยไม่ต้องทำการคัดเลือกสมาชิกแทนตําแหน่งที่ว่าง ยกเว้นสมาชิกเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557
.
ทั้งนี้ ไม่ให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองแห่งที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
.
***เดือนเมษายน 2558***
.
ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําที่บ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
.
สาระสำคัญ คือ ให้มีเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. โดยให้มีอำนาจสอบสวน อำนาจจับกุม และเรียกบุคคลมารายงานตัว
.
8 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2558 เกี่ยวกับมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น ป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติอุทยานแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะกีดขวางทางจราจร
.
10 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2558 แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยเป็นการแก้ไขความหมายของคำว่า “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่ระบุเพียงแค่ข้าราชการทหาร ซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่5/2558 ให้หมายความรวมถึง ทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพรานด้วย
.
16 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 6/2558 เกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 6 ตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
.
ในวันเดียวกัน ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2558 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจการบริหารงานขององค์กรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพ
.
23 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2558 ให้ พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี สิ้นสุดการทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาจากการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
.
24 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 8/2558 ให้ กสทช. ไม่ต้องดําเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลใดดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลง หลังจากที่ สนช. มีมติไม่รับรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ตามที่มีการสรรหาและคัดเลือกมา 4 คน แล้วคัดเลือกให้เหลือ 1 คน จึงขอให้ ครม. เป็นผู้พิจารณาแทน ต่อมา ครม. เห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่ ครม. จะเลือกบุคคลอื่นใดนอกเหนือจากบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่ได้สรรหามาดำรงตำแหน่งแทน
.
29 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (ศปมผ.) เป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการ ศปมผ. เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรปถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
.
***เดือนพฤษภาคม 2558***
.
1 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 11/2558 เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
.
สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ คำสั่งให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง และไม่ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือ คสช. จะสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
.
นอกจากนี้ ยังกำหนดโทษให้ผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคา ที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผู้บัญชาการทหารบก หรือแม่ทัพภาค มีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากฯ
.
และในวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ยังออกคำสั่งหัวหน้าคสช. (เฉพาะ) ที่ 1/2558 โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 11/2558 แต่งตั้ง พลตรี อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้เป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
.
8 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 12/2558 ให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อให้ครบกำหนดวาระพร้อมกับกรรมการอีก 4 คน
.
ในวันเดียวกัน หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2558 เรื่อง การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับประธานศาลปกครองสูงสุดก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขาดตำแหน่งกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา โดยการเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหารให้กรรมการสรรหามีที่มาจากอํานาจทั้งสามฝ่าย โดยให้รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการสรรหาด้วย
.
15 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญคือ สั่งพักงานข้าราชการจำนวน 45 คน ซึ่งมีมูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
.
ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ที่ดินตกเป็นที่ราชพัสดุ และให้มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ
.
***เดือนมิถุนายน 2558***
.
22 มิถุนายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 18/2558 เรื่อง การให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้ปฏิบัติการแทน ในกรรมการชุดต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ และสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจเท่ากับผู้ซึ่งตนแทน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งองค์ประกอบและองค์ประชุมเป็นไปโดยเรียบร้อย
.
25 มิถุนายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 19/2558 เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น โดยมีสาระสำคัญคือ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการรวม 60 ตำแหน่ง รวมทั้งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายยกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
.
***เดือนกรกฎาคม 2558***
.
15 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 20/2558 เรื่อง ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ และให้กรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ครบวาระแล้ว พ้นจากตําแหน่ง ระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา
.
21 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 21/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยโยกย้ายตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
.
22 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ
.
โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามการรวมกลุ่มกันในพฤติการณ์ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถ บิดามารดาต้องอบรมสั่งสอนไม่ให้บุตรร่วมกลุ่มกันเพื่อแข่งรถ หากพบเด็กและเยาวชนทำผิดให้เรียกบิดามารดามารับทราบ และหากมีการกระทำผิดซ้ำ บิดามารดามีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาท ห้ามการแต่งรถในลักษณะที่จะนำไปสู่การแข่งรถ ฯลฯ
.
24 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ให้ทหารเข้ามาช่วยเหลืองานได้เมื่อกระทรวงยุติธรรมร้องขอ และให้ทหารมีอำนาจเข้าไปในเคหสถาน ตรวจค้นยานพาหนะ และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกินสามวัน
.
***เดือนสิงหาคม 2558***
.
5 สิงหาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้งดการจดทะเบียนเรือตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมายประกาศกําหนด ห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภท เช่น อวนรุน โพงพาง อวนล้อม ฯลฯ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดเครื่องมือและเรือที่ผิดกฎหมายได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับหนึ่งแสนถึงห้ามแสนบาท
.
10 สิงหาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 25/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2558 ในส่วนของ วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายของกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม คือ ให้รัฐสามารถนำเงินกองทุน มาใช้ในการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้
.
***เดือนกันยายน 2558***
.
5 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 26/2558 ให้ถอดยศ พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ เนื่องจากมีความผิดตามคำพิพากษา และความผิดอื่นอีกหลายฐาน
.
11 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 27/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (Command Center for Resolving Civil Aviation Issues : CRCA) หรือ ศบปพ. เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับ หัวหน้า คสช. โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการ
.
โดยโครงสร้างการปฏิบัติงาน คือ ให้มีคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน เพื่อกําหนดนโยบาย แนวทางในการจัดทําแผนปฏิบัติการ และให้ความเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงและพัฒนาการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งสั่งการ กํากับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ปัญหาการบินพลเรือน
.
นอกจากนี้ ยังกำหนดว่า คณะกรรมการ ศบปพ. และเจ้าหน้าที่ ศบปพ. ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่ โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครองเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ตามคําสั่งนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
.
16 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 28/2558 เรื่อง ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยมีคําสั่งให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป จนกว่าประธานกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่
.
ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 29/2558 เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการดําเนินการเพื่อสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ เนื่องจากกรรมการตรวจเงินแผ่นดินขอลาออกจากการดํารงตําแหน่ง ทําให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเหลืออยู่ไม่ถึงจํานวนตามที่กฎหมายกําหนด เป็นเหตุให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ดังนั้นเพื่อให้ทำงานต่อไปได้ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีจำนวนอย่างน้อย 5 คน และถ้าเกิดกรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีน้อยกว่า 5 คน ก็ให้ผู้ว่าฯ สตง. ทำงานแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคำสั่งนี้เป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานของ คตง.
.
21 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 31/2558 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ กนกทิพย์ รชตะนันทน์ พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้ดํารงตําแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง และหน้าที่อื่นๆ และให้สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงาน ก.พ. สํานักงบประมาณสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเกี่ยวกับตําแหน่ง อัตราเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการดังกล่าว
.
ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 32/2558 เรื่อง การแต่งตั้งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สาระสำคัญคือ ให้สาลินี วังตาล ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยให้มีวาระอยู่ในตําแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และหากเห็นว่ามีความจําเป็น ก็อาจเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งให้ขยายระยะเวลาการดํารงตําแหน่งได้ตามความเหมาะสมแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือจะให้พ้นจากตําแหน่งก็ได้ และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลง ก็ให้ผู้อำนวยการ สสว.ที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งนี้พ้นจากตำแหน่งด้วย
.
***เดือนตุลาคม 2558***
.
5 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 34/2558 เรื่อง การอำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ คือวางมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการเตรียมการอื่น ๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีการลงประชามติ การจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษาจำนวนไม่เกิน 9 คน โดยคำนึงถึงผู้ที่เคยเป็นกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2550 และปี 2557 นอกจากนี้ให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแต่ละคนมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงาน
.
6 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 36/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้คำสั่งเรื่องการเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการดำเนินการเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป จากเดิมที่ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
.
15 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 37/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีสาระสำคัญ คือให้กำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ จเร พันธุ์เปรื่อง เข้ารับหน้าที่ในตําแหน่งดังกล่าว โดยให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้นัฑ ผาสุข เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน
.
18 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 38/2558 เรื่อง เรื่องแก้ไขเพิ่มเตbมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือให้ยกเลิกการกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยให้ถือว่า นัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบต่อการใดๆ ที่ นัฑ ได้กระทำลงไปในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
.
30 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 เรื่อง เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยมีสาระสำคัญคือ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คสช. นายกฯ ครม.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ให้ดําเนินการบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม
.
ในกรณีที่บุคคลข้างต้นดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
.
***เดือนพฤศจิกายน 2558***
.
5 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว มีสาระสำคัญคือ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวมทั้งให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายไว้ก่อน แล้วตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน ได้แก่ ตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
.
นอกจากนี้ ยังงดการบังคับใช้กฎหมายในบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวมถึงให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ้นจากตำแหน่ง
.
11 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 41/2558 เรื่อง การอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการให้แก่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในด้านจัดงบประมาณ สถานที่ เจ้าหน้าที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก สปท. ตามที่ประธาน สปท. ได้แจ้งไว้
.
ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 42/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทะเบียนเรือใหม่ให้สอดคล้องกับความจริง โดยให้ถอนทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมงออกจาการทะเบียนเรือ จำนวน 8,024 ลำ และควบคุมการออกอาชญาบัตรให้ใช้เครื่องมือทำการประมงเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ
.
25 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 43/2558 เรื่อง โอนสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นของสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ โดยให้สํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ที่จากเดิมอยู่ภายใต้สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีไปอยู่ใต้สํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำโดยรวมของประเทศ
.
***เดือนธันวาคม 2558***
.
4 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้ชัดเจน อีกทั้งยังให้อำนาจ ผบ.ตร. ในการพิจารณาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคนถัดไปและเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. พิจารณาแล้วจึงให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าแต่งตั้ง ส่วนตำแหน่งที่รองลงมาให้ ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วจึงให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าแต่งตั้ง
.
นอกจากนี้ ในกรณี ผบ.ตร.เห็นว่าการใช้อำนาจในการแต่งตั้งของ ผบช.ไม่เป็นธรรม หรือมีกรณีไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด หรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่ง หรือเห็นว่าหากดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือมีเหตุพิเศษตามที่ ก.ตร. กำหนด ให้ ผบ.ตร.มีอำนาจสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตได้ตามควรแก่กรณี
.
9 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 45/2558 เรื่อง การเลือกประธาน ป.ป.ช. ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากหมดวาระแต่ถูกต่ออายุตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2558 และให้สํานักงาน ป.ป.ช. จัดให้มีการประชุมระหว่างบุคคลผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดํารงตําแหน่งกรรมการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติร่วมกับกรรมการที่ยังคงอยู่ในวาระการดํารงตําแหน่ง แล้วแจ้งผลให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ
.
30 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 46/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การรวมกลุ่มในลักษณะที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ต้องรับโทษว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกหรือ ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร โดยประมาทหรือมีปริมาณแอลกฮอล์เกินกำหนดเป็นเหตุให้มีอื่นบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถยึดใบขับขี่ไม่เกินสามวัน นำยานพาหนะมาเก็บไว้ชั่วคราวไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ควบคุมตัวบุคคลเพื่ออบรมความประพฤติไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
.
ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 47/2558 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สาระสำคัญคือ แต่งตั้ง ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แทน เทวินทร์ วงศ์วานิช ที่ได้ลาออกไป
.
31 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 48/2558 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) สาระสำคัญคือ เปลี่ยนแปลงกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) โดยให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง 4 คน เช่น สมภพ มานะรังสรรค์, ศิริชัย เลิศศิริมิตร และแต่งตั้งบุคคลแทน 4 คน เช่น กอบศักดิ์ ภูตระกูล, พันเอกเจียรนัย วงศ์สอาด
.
***เดือนมกราคม 2559***
.
5 มกราคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 สาระสำคัญคือออกคำสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการพลเรือน ผู้บริหารและข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรรมการสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวม 59 คน ซึ่งอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่
.
18 มกราคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 2/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นการชั่วคราว คำสั่งฉบับนี้เปิดทางให้คณะกรรมการฯ ที่เหลืออยู่สามารถทำงานต่อไปได้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกคำสั่งให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. จำนวน 7 ราย พ้นหน้าที่ จนทำให้องค์ประกอบคณะกรรมการฯไม่ครบ และไม่สามารถประชุมได้
.
โดยสาระสำคัญคือ 1.ให้ดําเนินการสรรหาและแต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งในคณะกรรมการกองทุน สสส. ที่ว่างลง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2.ในระหว่างการดําเนินการตามข้อ 1 ให้ถือว่าคณะกรรมการ สสส. ประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่และปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ชํานาญ พิเชษฐพันธ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 เป็นการชั่วคราว 3.ให้คณะกรรมการตามข้อ 2 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
.
20 มกราคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เจตนารมณ์ของคำสั่งฉบับนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่เนื่องจากข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมืองและข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารยังไม่สอดคล้องและเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้นเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดตั้งและบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว
.
คำสั่งฉบับนี้จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุน โดยการลดข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมอาจมีหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามกฎหมายผังเมืองหรือกฎหมายควบคุมอาคารที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและทำให้ไม่สามารถตั้งโรงงานบางประเภทได้ คำสั่งฉบับนี้จะนำไปสู่การออกกฎกระทรวงผังเมืองรวมและข้อกำหนดการควบคุมอาคารฉบับใหม่ที่เอื้อต่อนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและบรรยากาศการลงทุน
.
ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท เหตุผลของคำสั่งฉบับนี้ เพื่อระงับและแก้ไขข้อขัดข้องทางกฎหมายบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องความมั่นคงในการจัดหาพลังงานของประเทศไทย และปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการปัญหาขยะล้นเมือง และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
.
คำสั่งฉบับนี้จึงเป็นการลดข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงานและการจัดการขยะของเสียสิ่งปฏิกูล ซึ่งเดิมอาจมีหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามกฎกระทรวงฯ ผังเมืองรวมที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดนั้นๆ (หรืออยู่ในร่างผังเมืองรวมที่กำลังจะประกาศบังคับใช้) ทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถอนุมัติอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม (1)-(8) ในพื้นที่ที่ต้องการได้ เช่น พื้นที่เขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้า เป็นต้น
.
ดังนั้นคำสั่งฉบับนี้จะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการตาม (1)-(8) ได้โดยไม่ต้องพิจารณาข้อห้ามตามกฎหมายผังเมือง ซึ่งเป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ที่สำคัญอีกต่อไป (แต่ยังคงต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโครงการและเงื่อนไขการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมายอื่นๆด้วย)
.
***กุมภาพันธ์ 2559***
.
1 กุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ คำสั่งฉบับนี้ คือการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ โดยคำสั่งได้กำหนดการประเมินและผู้รับการประเมินผลไว้ ซึ่งเน้นที่ส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง ประเภทข้าราชการพลเรือนบริหารระดับสูงเป็นหลัก นอกจากนี้ยังให้ ก.พ.ร.กำหนดอัตราข้าราชการเป็นกรณีพิเศษ 50 อัตรา เพื่อรองรับการโยกย้ายหรือกรณีมีความผิดและถูกตรวจสอบ
.
5 กุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 6/2559 เรื่อง การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ โดยให้บรรดาการคัดเลือก หรือการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547, ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดําเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จนถึงวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
.
หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 7/2559 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งของข้าราชการตํารวจซึ่งมีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวน โดยให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน และให้ยกเลิกเงินตำแหน่งพนักงานสอบสวน และโอนตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้กำกับการ (นิติกร) รองผู้บังคับการ (นิติกร) ในตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญประมาณ 700 คน ตัดโอนไปตำแหน่งใหม่ที่ยังไม่ได้ตั้งขึ้น ตัดเงินประจำตำแหน่ง
.
12 กุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 8/2559 เรื่อง การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวกับการโอนอำนาจการกำกับดูแแล โรงเรียนอาชีวศึกษาของเอกชน ที่อยู่ใต้กำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ
.
7 มีนาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 9/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยเพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
.
"ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้"
.
21 มีนาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงฯ ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด และวางแผนเกี่ยวกับหารบริหารงานบุคลากร พิจารณาจัดสรรงบประมาณ แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา/เขตพื้นที่การศึกษา/ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ในส่วนภูมิภาคหรือจังหวัด
.
นอกจากนี้ให้ยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา โดยให้โอนอำนาจหน้าที่ไปเป็นของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนี้ มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภทภายในจังหวัด และให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ อกศจ. ด้วย
.
ในวันเดียวกันมีคำสั่ง คสช. ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ให้มีศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค เพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงฯ ในระดับพื้นที่ กำหนดยุทธศาสตร์ สนับสนุนการพัฒนาจังหวัด ประสานการบริหารงานระหว่างราชการส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค
.
คำสั่งดังกล่าวยังให้โอนอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เฉพาะงานที่เกี่ยวกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด
.
ที่มา เว็บไซต์ ilaw


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.