งานกำจัดผักตบชวาขวางทางน้ำ ภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดจริงหรือ ?
วันนี้เป็นวันสุดท้ายในโครงการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช เพื่อเปิดทางน้ำไหลตามคูคลองต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยภายใต้โครงการนี้มีคูคลองที่ได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาไปแล้วทั้งสิ้น 1,161 แห่ง และมีจำนวนผักตบชวาที่กำจัดได้โดยประมาณ 502,260 ตัน
จุดสุดท้ายของการกำจัดผักตบชวาในวันนี้ คือบริเวณประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ (ใต้) ถนนคู้บอน เขตคลองสามวา โดยมีเจ้าหน้าที่ของ กทม. และทหารจากหลายหน่วยเข้าร่วม
ผักตบชวาจัดเป็นพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่ระบาดรุกราน จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำในประเทศไทยอย่างมาก โดยในเวลาเพียง 1 เดือน ผักตบชวาเพียง 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาอย่างไม่สิ้นสุด
ประเทศไทยนั้นเริ่มมีการกำจัดผักตบชวามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีการออกพระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 มารองรับ ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือในการกำจัด เช่น นำไปผลิตเป็นของใช้ อาหารสัตว์ หรือปุ๋ย แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะผักตบชวาที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วได้
งานกำจัดผักตบชวาจะต้องเป็นภารกิจที่ทำกันไปอย่างไม่สิ้นสุดจริงหรือ ? คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาผักตบชวาใหม่ ๆ อย่างไร มาแลกเปลี่ยนกันได้ค่ะ




แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.