ประชาชนกังวล พ.ร.บ. แร่ ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ประชาชนจาก 6 จังหวัดที่มีการขออาญาบัตรเหมืองแร่ทองคำ แสดงความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.......ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลัวผลกระทบด้านที่ทำกิน และสุขภาพ นักวิชาการยืนยันพบตัวอย่างประชาชนในพื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดพิจิตร มีค่าแมงกานีสในเลือดสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ....... ที่นำเสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ วาระแรก คือเห็นชอบในหลักการไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 2 คือ การแปรญัตติเพื่อปรับแก้เนื้อหา โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีการปรับเนื้อหาของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เดิม ในหลายหมวด โดยวันนี้ประชาชนประมาณ 180 คน จากจังหวัด สระบุรี ลพบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร และหนองบัวลำภู ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยระบุว่ามีประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิในที่ดิน ซึ่งในร่างพ.ร.บ. แร่ ฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ ตัดสิทธิของประชาชนในพื้นที่ในการร่วมพิจารณาให้สัมปทานบัตรเหมืองแร่ จากเดิมที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ. ฉบับเก่า
“พ.ร.บ.ฯ คือสัญญาประชาคมระหว่างรัฐกับประชาชน สินแร่ในประเทศไทยต้องเป็นของแผ่นดินและคนไทย พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่รัฐเป็นผู้บริหารจัดการแร่ร่วมกับผู้ประกอบการ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา สรุปแล้วประชาชนเข้าไม่ถึง” นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ ประชาชนจากจ.ลพบุรีกล่าว และว่าในปีที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ที่มีการขอออกประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ได้ไปร้องเรียนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ยังเดินหน้าต่อไป
นางวันเพ็ญกล่าวด้วยว่า กังวลเรื่องของสิทธิที่ดิน เพราะหลายพื้นที่ประชาชนอาศัยอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งแนวทางการให้สัมปทานเหมืองแร่ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ อาจจะเปิดให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิได้
ดร.สมิทธิ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นคณะทำงานห้าฝ่ายเพื่อรับฟังและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเหมืองทอง จ. พิจิตร ระบุว่า ที่ผ่านมาคณะทำงาน 5 ฝ่ายนั้นประกอบด้วยฝ่ายประชาชน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการเหมืองทองคำ ใน จ.พิจิตร ข้าราชการในพื้นที่ นักวิชาการ และทหาร ได้ดำเนินการตรวจสอบค่าโลหะหนักในเลือดของประชาชนที่อยู่บริเวณรอบเหมืองทองคำ พบว่า ประชาชนจำนวน 1,004 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 300 คน ที่สมัครใจเข้ารับการตรวจค่าโลหะหนักในเลือดนั้น มีค่าแมงกานีสสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์ จากที่ไม่ควรเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และเด็กมีค่าแมงกานีส สูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บป่วยนั้นขึ้นกับความแข็งแรงของแต่ละคน บางคนอาจจะเจ็บป่วยและบางคนอาจจะไม่เป็นอะไร ทั้งนี้ก็ขึ้นกับระยะการสะสมของสารโลหะหนักในเลือดด้วย
เมื่อปี 2552 กรมทรัพยากรธรณี ได้สำรวจพบแหล่งแร่ทองคำถึง 76 แห่ง หนักประมาณ 700 ตันโดยคาดว่าจะมีมูลค่าทั้งหมด หนึ่งล้านล้านบาท


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.