สายสัมพันธ์ตุรกี-สหรัฐฯ กำลังร้าวลึก แต่ตัดกันไม่ขาด
โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของบีบีซี มองความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันว่า ทั้งสองฝ่ายกำลังตกอยู่ในห้วงความร้านฉานที่รุนแรง แบบที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกี ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของนาโต้ที่เหนียวแน่นที่สุดชาติหนึ่ง ก็ทำให้ทั้งสองไม่สามารถแตกหักกันไปได้เช่นกัน
การที่ประธานาธิบดีเรเจป ทายิบ แอร์โดอันของตุรกี เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ เชื่อว่ามีจุดมุ่งหมายส่วนหนึ่งเพื่อสมานรอยร้าวในความสัมพันธ์ไม่ให้แตกหักเสียหายยิ่งไปกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา นายแอร์โดอันได้วิพากษ์วิจารณ์แสดงความไม่พอใจต่อสหรัฐฯอย่างเปิดเผยผ่านสื่อหลายครั้ง เช่นเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ได้ประณามที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนนักรบชาวเคิร์ดในซีเรีย โดยว่าการที่สหรัฐฯไร้ความสามารถในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง ได้ทำให้พื้นที่ความขัดแย้งกลายเป็น “ทะเลเลือด”
ด้านประธานาธิบดีโอบามานั้น แม้จะไม่ได้แสดงความเห็นที่มีต่อตัวประธานาธิบดีตุรกีออกมาโดยตรง แต่งานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาเรื่องนโยบายต่างประเทศของ เจฟฟรี โกลด์เบิร์ก แห่งเว็บไซต์ ดิ แอตแลนติก ระบุถึงคำให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีโอบามาว่า เขาเคยมองประธานาธิบดีแอร์โดอันเป็นผู้นำมุสลิมสายกลาง ซึ่งสามารถจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกได้ แต่ตอนนี้ประธานาธิบดีโอบามามองว่า ผู้นำตุรกีล้มเหลวและเป็นเผด็จการ ทั้งไม่ยอมใช้กองทัพที่มีกำลังมหาศาลของตนสร้างเสถียรภาพในซีเรีย
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและตุรกีนั้นมีอยู่หลายเรื่อง นอกจากเรื่องการเมืองภายในของตุรกีแล้ว เรื่องสำคัญที่ทั้งสองบาดหมางกัน คือบทบาทของกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในการต่อสู้กับกลุ่มที่เรียกตนเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งสหรัฐให้การสนับสนุนอยู่ เนื่องจากชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดนั้นมีขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนอยู่ในตุรกี ทำให้ตุรกีไม่สบายใจนักที่กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียกลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับไอเอสที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะชัยชนะดังกล่าวยิ่งช่วยหนุนส่งให้อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนมีพลังยิ่งขึ้น
แม้ท่าทีภายนอกของตุรกีจะสนับสนุนกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรีย และต้องการถอดถอนผู้นำซีเรียจากอำนาจเพื่อให้สงครามยุติลง แต่เป้าหมายสำคัญเบื้องต้นของตุรกีคือมุ่งลดผลกระทบจากการก่อการร้ายข้ามแดนและการทะลักเข้ามาของผู้อพยพชาวซีเรีย ทำให้บางครั้งนโยบายของตุรกีในเรื่องซีเรียขัดแย้งกับสหรัฐฯ อย่างช่วยไม่ได้ สหรัฐฯซึ่งมีเป้าหมายมุ่งการปราบปรามไอเอสเป็นสำคัญ บางครั้งจึงปฏิเสธข้อเสนอด้านความปลอดภัยเฉพาะหน้าของตุรกี เช่นเรื่องการจัดตั้งเขตปลอดภัยในใจกลางซีเรีย ซึ่งสหรัฐฯเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์และจะทำให้ฝ่ายกองกำลังรัฐบาลซีเรียได้เปรียบ
สหรัฐฯและชาติพันธมิตรตะวันตกยังมองว่า ตุรกีเริ่มหวาดระแวงและขาดความยับยั้งชั่งใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น เช่นในกรณีที่ยิงเครื่องบินรบรัสเซียซึ่งล้ำน่านฟ้าตก ทำให้ตุรกีต้องเปิดความขัดแย้งหลายแนวพร้อมกันรอบตัว ทั้งกับสหรัฐฯ รัสเซีย หรือแม้แต่กับอิสราเอลซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก่อน ในเวลานี้ตุรกีจึงจำเป็นต้องยกเครื่องปรับนโยบายการต่างประเทศใหม่โดยเร่งด่วน เนื่องจากเริ่มถอยห่างไปไกลจากนโยบาย “ไร้ปัญหา” (Zero problems) กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เคยประกาศเอาไว้ออกไปทุกที


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.