30 มี.ค. 2559 เวลา 9.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนได้นำเสนอปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคอีสาน ในเวที 'กสม.พบประชาชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ' ณ โรงแรมโฆษะ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วันนี้เป็นวันสุดท้าย (28-30 มี.ค. 2559) โดยมีเจ้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบ เข้าสังเกตการณ์กว่า 10 คน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนรู้สึกกังวลต่อการพูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิ
ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. ในช่วงของการถ่ายรูปร่วมกันระหว่างกรรมการสิทธิมนุษยชน ชาวบ้านได้ชู้ป้ายซึ่งมีข้อความเขียนด้วยลายมือ อาทิ “คัดค้าน พ.ร.บ.น้ำ” “หยุดแผนแม่บทป่าไม้” “หยุดตัดยางพาราชาวบ้าน” “หยุดกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน” ทำให้ถูกกรรมการสิทธิ์ฯ บางคนขอไม่ให้ชูป้าย ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนยืนยันจะแสดงสิทธิในการแสดงออกอย่างสันติ จึงตกลงให้ถ่ายภาพที่มีป้ายแสดงความคิดของชาวบ้านได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจบการถ่ายภาพขบวนการอีสานใหม่ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ละเมิดสิทธิ์ในภาคอีสานและนักศึกษานักกิจกรรมในภาคอีสาน ได้ขออ่านแถลงการณ์ข้อเสนอ "ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน" ต่อนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ประธาน กสม.ปฏิเสธที่จะรับฟังและเดินจากไปพร้อมๆ กับ กสม.คนอื่นๆ ในระหว่างที่ตัวแทนขบวนการอีสานใหม่อ่านแถลงการณ์ โดยอ้างว่าต้องรีบกลับ ขณะที่ตัวแทนขบวนการอีสานใหม่อ่านแถลงการณ์จนจบ
แถลงการณ์อีสานใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์อีสานใหม่
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสานมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังการรัฐประหาร เนื่องจากรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ออกคำสั่ง ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ตามแผนแม่บทป่าไม้ จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้บังคับไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ทำกินโดยไม่มีการจัดสรรที่อยู่ให้ใหม่ ทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน นอกจากนั้นยังออกคำสั่ง ฉบับที่ 3, 4 และ 9/2559 ยกเว้นกฎหมายผังเมือง สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายพลังงาน ทั้งเรื่องปิโตรเลียม และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เปิดช่องให้ดำเนินโครงการกว่า 70 โครงการ เช่น เขื่อน การคมนาคม ฯลฯ โดยไม่ต้องรอผลการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งการเดินหน้า พระราชบัญญัติแร่ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม มุ่งรวมศูนย์อำนาจให้กับหน่วยงานของรัฐ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายพิเศษทั้งจากกฎอัยการศึก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คำสั่งหัวหน้าคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ การใช้อำนาจเรียกตัวชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิไปปรับทัศนคติ รวมทั้ง การข่มขู่คุกคาม จากเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสันติ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน เป็นการกระทำละเมิดสิทธิ ลิดรอนเสรีภาพ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในขณะที่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ ได้ขยายตัวและมีความรุนแรงมากขึ้น กลไกการคุ้มครองสิทธิในประเทศไทยกลับไม่สามารถคุ้มครองสิทธิประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งยิ่งเป็นการทำลายผืนดิน แหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชน พวกเรา “ขบวนการอีสานใหม่” จึงมีข้อเสนอต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ ต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนี้
1. มีความเห็นไปยังรัฐบาลให้ยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รวมทั้ง คำสั่ง 64/2557 และ 66/2557 ตามแผนแม่บทป่าไม้ คำสั่งคสช.ฉบับที่ 3, 4 และ 9/2559 พระราชบัญญัติแร่ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
2. ขอให้เร่งดำเนินตรวจสอบข้อร้องเรียนของประชาชนที่ยืนต่อคณะกรรมการสิทธิ และขอให้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน
ประกาศ ณ วันที่ 30 มี.ค. 59
ขบวนการอีสานใหม่
ขบวนการอีสานใหม่
source :- http://www.citizenthaipbs.net/node/8193#.VvuL04mkw3k.facebook
แสดงความคิดเห็น