ภาพจาก Banrasdr Photo

จี้ กต. ขอโทษกรณีติง 18 MAY มอบรางวัลให้ไผ่ ดาวดิน ชี้เป็นการกระทำที่ผิดมารยาทการทูต


Posted: 16 May 2017 03:55 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)

ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวแทนพ่อและแม่ 'ไผ่ ดาวดิน' ยื่นหนังสื่อเรียกร้อง รมว.กระทรวงต่างประเทศ ทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการต่อกรณีท้วงติงการให้รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2560 เนื่องจากเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ได้รับความเสื่อมเสีย

16 พ.ค. 2560 เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นตัวแทนบิดามารดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2560 โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยร่วมยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง อันสืบเนื่องจากจดหมายจากทูตไทยประจำสาธารณรัฐเกาหลี ถึงประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ที่มีลักษณะท้วงติงว่า จตุภัทร์ไม่สมควรได้รับรางวัล เนื่องจากทำผิดกฎหมายไทยและผิดเงื่อนไขการประกันตัว

ทั้งนี้ในหนังสือดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการออกจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการต่อนายจตุภัทร์ และทำการแก้ไขข้อเท็จ ผ่านการออกจดหมายอธิบายความฉบับใหม่ไปถึงปรานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก หาไม่แล้วทางครอบครัวผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายจตุภัทร์ มีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมี ณุกุณ สีห์โสภณ ผอ.กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรับหนังสือ รายละเอียดในจดหมายฉบับเต็มมีดังนี้


วันที่ 10 พ.ค. 2560

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เรื่อง ขอให้ทำจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการ และชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซลต่อประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก

อ้างถึงจดหมายของเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงโซลถึงประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ลงวันที่ 2 พ.ค. 2560

กระผมและภรรยา ในฐานะบิดามารดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา มีความผิดหวังและทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับทราบถึงข้อความในจดหมายของท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ที่มีถึงประธานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ซึ่งเป็นองค์กรผู้มอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี ค.ศ. 2017 ให้กับนายจตุภัทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุตรชายของเรา ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และถูกปฏิเสธสิทธิประกันตัวมาแล้วถึง 9 ครั้ง

เราขอเรียนให้ท่านทราบว่าข้อความในจดหมายมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายแรง และทำให้นายจตุภัทร์เสียชื่อเสียง อีกทั้งอาจถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากความเข้าใจผิด โดยรายละเอียกจากการบิดเบือนและข้อความที่ถือว่าเอกอัครราชทูตได้จงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญมีดังนี้

-การอ้างว่านายจตุภัทร์ได้กระทำความผิดตามกฎหมายไทยแล้ว ทั้งที่ศาลยังไม่ได้มีการพิจารณาคดี ตามรัฐธรรมนูญไทย และกติกาสิทธิมนุษยชนสากล ผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบที่ยังไม่มีคำตัดสินของศาลเป็นที่สุด

-การอ้างว่านายจตุภัทร์ได้มีการกระทำความผิดซ้ำซึ่งถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขในการประกันตัว ทั้งนี้นายจตุภัทร์ไม่เคยมีการกระทำความผิดซ้ำ และการกระทำที่ถูกนำมาใช้กล่าวหา(ว่านายจตุภัทร์โพสต์เฟซบุ๊กเย้ยหยันอำนาจรัฐ) เพื่อเพิกถอนสิทธิประกันตัวก็ไม่เคยมีอยู่ในเงื่อนไขการประกันตัว

นอกเหนือจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับนายจตุภัทร์ดังที่กล่าวมา เนื้อหาส่วนอื่นในจดหมายก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่ามีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาทิ การที่กล่าวว่าไทยเห็นคุณค่า และสนับสนุนเสรีภาพทางการแสดงออกและการชุมนุม ทั้งที่ยังปิดกั้นสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นสิทธิที่จำเลยพึงมีตามรัฐธรรมนูญ, กฎหมายไทยและหลักสากล แต่นายจตุภัทร์ มิได้รับสิทธินั้นโดยเหตุผลที่มิได้สัดส่วน มีการห้ามชุมนุมเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังคงมีการดำเนินคดีรวมถึงข่มขู่ คุกคามนักศึกษาและประชาชนผู้คิดเห็นต่างจากรัฐเป็นจำนวนมาก จนองค์การสหประชาชาติได้มีแถลงการณ์แสดงความห่วงใย ทั้งเรื่องเสรีภาพบนการแสดงออก และสิทธิการประกันตัวบ่อยครั้งในระยะเวลาอันใกล้ที่ผ่านมา

การมีจดหมายที่เนื้อหาไปในทำนองทักท้วงการมอบรางวัลสำคัญโดยองค์การที่มีบทบาทส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับโลกให้แก่นายจตุภัทร์ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการผิดมารยาททางการทูต โดยเฉพาะเมื่อบริบทของเรื่องนี้ตั้งอยู่บนฐานความจริงที่ว่า “มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก” เป็นองค์กรที่เคยมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคลสำคัญของโลกที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ นางอองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า ชานานา กัสเมา อดีตประธานาธิบดีของติมอร์ตะวันออก นายสมบัด สมพอน ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ประเทศลาวที่ถูกบังคับสูญหาย และกลุ่มรณรงค์การเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม ประเทศมาเลเซีย สำหรับผู้ได้รับรางวัลชาวไทยคนแรกได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคณะปัจจุบัน

การที่นายจตุภัทร์ได้รับเลือกให้เป็นผู้ได้รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนในปีนี้ จึงถือเป็นเกียรติประวัติ ไม่เพียงแต่ต่อวงศ์ตระกูล แต่ต่อประเทศชาติด้วย มิควรที่จะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ ทั้งของตัวนายจตุภัทร์เองจากผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมา หรือความน่าเชื่อถือขององคืกรผู้มอบรางวัล ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อันควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติตามมาตรฐานทางการทูตจากรัฐบาลไทย

เราจึงใคร่ขจอให้ท่านได้โปรดมีคำสั่งให่เอกอัครราชทูต ได้มีคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขข้อเท็จ ผ่านการออกจดหมายอธิบายความฉบับใหม่ไปถึงปรานมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก หาไม่แล้วทางครอบครัวผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายจตุภัทร์ มีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย กับทุกผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของนายจตุภัทร์ รวมทั้งอาจจำเป็นที่จะต้องมีหนังสือชี้แจงไปยังต่างประเทศ หรือหน่วยงานระดับสากลต่างๆ เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนตามที่ท่านเอกอัครราชทูตได้กระทำการดังกล่าว อันส่งผลร้ายต่อนายจตุภัทร์ต่อไป






ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานด้วยว่า บิดา มารดา และน้องสาว ของไผ่ ดาวดิน ได้เดินทางถึงประเทศสาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้) และได้เข้าร่วมงานพฤษภารำลึก โดยได้รับการต้อนรับจากผู้จัด ผู้ว่าฯแห่งกวางจู รวมทั้งองค์การด้านสิทธิมนุษยนชนต่างๆ เป็นอย่างดี โดยการมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 18 พ.ค. นี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.