อ่านการเมืองไทย 25 ปีพฤษภาทมิฬถึง 3 ปีรัฐประหาร: จาตุรนต์ ฉายแสง

Posted: 22 May 2017 12:18 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)

‘ประชาไท’ สนทนากับ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ค้นหาเรื่องราว บาดแผล ความผิดพลาด และบทเรียนที่เขาสรุปออกมา ผ่านห้วงเวลา 2 ทศวรรษครึ่งเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และวาระครบรอบ 3 ปีของสังคมไทยใต้กระบอกปืน


25 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หลังจากประชาชนจำนวนมากลุกฮือขึ้นขับไล่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ลงจากอำนาจ เกิดการปฏิรูปการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ความเชื่อ ณ เวลานั้น การรัฐประหารถึงเวลาสาบสูญจากการเมืองไทยแล้ว เข้าสู่ยุคของการสร้างประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพ

แต่ประวัติศาสตร์การเมืองมักยอกย้อนและตลบตะแลง ชนชั้นกลางผู้เป็นกำลังหลักในการขับไล่ รสช. เหวี่ยงกลับมาสนับสนุนรัฐประหา สังคมไทยเดินมาสู่ยุคเผด็จการอีกครั้ง ทั้งยังเป็นยุคเผด็จการที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี ชนิดที่ รสช. และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. ก็ยังทำไม่ได้

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ‘ประชาไท’ สนทนากับ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ค้นหาเรื่องราว บาดแผล ความผิดพลาด และบทเรียนที่เขาสรุปออกมา ผ่านห้วงเวลา 2 ทศวรรษครึ่งเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และวาระครบรอบ 3 ปีของสังคมไทยใต้กระบอกปืน

..............

หลังกลับจากอเมริกาในเดือนพฤษภาคม 2529 จาตุรนต์ ฉายแสง ก็ได้เป็นผู้แทนราษฎรสมัยแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เขามีบทบาทในฐานะนักการเมืองที่อยู่ในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบผ่านมาถึงยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งผลักดันเศรษฐกิจของประเทศผ่านนโยบายสำคัญอย่างการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า มุมมองของเขา สิ่งนี้คือความไม่คุ้นเคย

“แต่การที่ชนชั้นนำโดยเฉพาะผู้มีอำนาจทางทหารที่คุ้นเคยกับระบบเดิมรู้สึกขัดกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ประจวบกับเกิดมีความเอกภาพและความเข้มแข็งทางทหารของ จปร.5 ทำให้เกิดการ รัฐประหาร ด้วยข้ออ้างเรื่อง คอร์รัปชั่น บุฟเฟต์ คาร์บิเนต เรื่องลอบปลงพระชนม์ ลอบสังหารผู้นำ แต่หลังจากนั้น เราจะพบว่าเรื่องที่เป็นข้ออ้างทั้งหลายไม่มีอะไรจับต้องได้เป็นเรื่องเป็นราว เช่น มีการอายัดทรัพย์สินของนักการเมืองหลายคนต่อมาก็โมฆะทั้งหมด เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ส่วนกรณีลอบปลงพระชนม์หรือหมิ่นพระบรมราชานุภาพก็ไม่ปรากฎว่าดำเนินคดีกับใครได้

“รสช.ที่มีกำลังหลัก คือ จปร.5 มีความเข้มแข็งเป็นเอกภาพจริง แต่ก็เข้มแข็งและมีเอกภาพจนน่ากลัว ทำให้รุ่นอื่น ส่วนอื่น ถูกกันออกจากอำนาจ โดยเฉพาะในกองทัพ ยิ่งภายนอกกองทัพ จปร.5 ยิ่งแปลกแยกจากส่วนอื่น ไม่ผสมกลมกลืนกับชนชั้นนำที่มีพลังทางสังคม ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงภาคประชาสังคมด้วยที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน”

เมื่อรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าชะงักงัน ผนวกกับความไม่พอใจจากกรณี ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ชนชั้นกลางจึงลุกขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการขับไล่กองทัพกลับเข้ากรมกองและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง


“ในความเห็นผม (นิรโทษกรรมสุดซอย) เป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและรัฐสภาที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มันสะท้อนกระบวนการตัดสินใจที่ผิดและบกพร่อง คือหลายฝ่ายไม่มีส่วนร่วม และการตัดสินใจอย่างนั้นไม่สอดคล้องกับความคิดของคนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรสรุปเป็นบทเรียน"

“ตอนนั้นผมเป็น ส.ส. อยู่และวันรุ่งขึ้นก็ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและแสดงความคิดเห็นเป็นระยะในนามส่วนตัว เพราะพรรคการเมืองยังไม่มีบทบาท ทำอะไรไม่ค่อยได้ มีเสวนาบ้างก็ไปร่วม ตอนนั้นผมเป็นโฆษกพรรคความหวังใหม่ซึ่งตัดสินใจร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างนั้นเริ่มมีการชุมนุม ผมทำหน้าที่เป็นโฆษกเวที เป็นผู้ดำเนินรายการ จัดคิว เวลามีเวทีของภาคประชาชนหรือภาคการเมืองผสมกันก็ขึ้นปราศรัยตามจุดต่างๆ หน้าสภาบ้าง สนามหลวงบ้าง ในระหว่างนั้นมีการประชุมกันเข้มข้น ผมทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาและประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่มีการประชุมเรื่อยๆ และมีการแถลงข่าว

“ช่วงวันที่มีการล้อมปราบผมอยู่ใน กทม. ขึ้นเวทีบ้างและร่วมประชุมอยู่กับพรรคการเมืองข้างเวทีบ้าง นอกสถานที่บ้าง ในวันที่จับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผมร่วมชุมนุมอยู่จนถึงเช้ามืด จากนั้นจึงกลับไปพักผ่อน ก่อนหน้านั้นชุมนุมและปราศรัยที่สนามหลวง ถนนราชดำเนิน ตอนเช้ามืดปราศรัยบนหลังคารถแถวสะพานผ่านฟ้า ระหว่างนั้น วันท้ายๆ จำได้ว่ามีเรื่องพยายามเปิดสภา จึงมีการประสานเพื่อจะยื่นหนังสือต่อประธานสภาในขณะนั้น ตอนนั้นมาจากต่างจังหวัดต้องนั่งมอเตอร์ไซค์จากดอนเมือง เพื่อให้ทันร่วมยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนในขณะนั้น เพื่อขอเปิดสภาแก้วิกฤต แต่สุดท้ายก็ไม่มีการเปิดสภา แล้วก็มีร่วมแถลงข่าว วันสุดท้าย เท่าที่จำได้คืออยู่ในที่ที่ส่งแฟ็กซ์ได้และติดตามสถานการณ์และสื่อสารกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ด้วยการส่งแฟ็กซ์ แต่ละฝ่ายเช็คสถานการณ์กัน มันเริ่มเปลี่ยนดุลกำลัง จนตอนเย็นๆ ก็รู้แล้วว่า รสช. อยู่ไม่ได้แล้ว”

ขึ้นๆ ลงๆ บนเส้นทางการเมือง

“ตอนผมเริ่มเป็นนักการเมืองผมอายุ 30 นอกจากปราศรัยสั้นๆ แล้วก็ร้องเพลงด้วย เพลงประจำตัวที่ชอบร้องในตอนนั้นคือเพลงสามสิบยังแจ๋วของ ยอดรัก สลักใจ เวลาปราศรัยก็จะบอกว่า ผมอายุยังน้อย ถ้าเปรียบกับการรับราชการก็สามารถทำงานไปได้อีกสามสิบปีถึงจะเกษียณ ถ้าเป็นนักการเมืองก็จะรับใช้ประชาชนได้อีกนาน ตอนนี้ผ่านมา 31 ปี มาคิดดูพบว่า เวลาที่ทำหน้าที่นักการเมืองรับใช้ประชาชนจริงๆ ไม่แน่ว่าจะถึงครึ่ง ทั้งที่เราไม่ได้เปลี่ยนอาชีพเลย รัฐประหารของ รสช. ปีกว่าก็ไม่มีเลือกตั้ง มา คมช. ปีกว่า สองรายการนี้เกือบสามปี ยุบพรรคเพิกถอนสิทธิ์อีกห้าปี กลับมาก็ไม่ตรงกับการเลือกตั้ง แล้วก็เป็นรัฐมนตรีได้ปีเศษๆ จากปี 49 ถึง 60 เวลา 11 ปี ทำหน้าที่นักการเมืองได้ปีหนึ่ง หายไป 9 ปี บวกรัฐประหารอีก 3 ปี เป็น 13-14 ปี เป็นความลุ่มๆ ดอนๆ ของการเมือง”

จาตุรนต์บอกว่า ชีวิตเขาขึ้นลงพร้อมกับการเมือง ไม่เคยสวนทาง พอเกิดการรัฐประหารแต่ละครั้ง เขาก็ไม่มีตำแหน่งหน้าที่อะไร แต่สิ่งที่เขารู้สึกกระทบกระเทือนมากที่สุดคือกรณีการถูกเพิกถอนสิทธิ

“เพราะเป็นการถูกเพิกถอนไปทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด เป็นเรื่องขององค์กร พรรคการเมืองถูกยุบ สุดท้าย จากการพิจารณาคดีทั้งหมดก็ไม่ปรากฏว่ามีใครในพรรคกระทำความผิด แต่พรรคถูกยุบ แล้วกรรมการบริหารพรรคก็ถูกเพิกถอนสิทธิไป โดยการออกกฎหมายย้อนหลัง การออกกติกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพื่อต้องการใช้ตัดสิทธินักการเมืองเข้าสู่อำนาจ จะไปดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ แต่พอเราถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมันเหมือนเป็นประชาชนชั้นสอง เหมือนไม่ใช่ประชาชนของประเทศนี้ พูดไปแล้วการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ 5 ปี จริงๆ แล้วรัฐประหารแต่ละครั้งก็ทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง และก็ทำให้ประชาชนแต่ละคนไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง ในแง่นักการเมืองที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง จากปี 2549 มาถึงปัจจุบัน ก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเกือบจะตลอด”

ความผิดพลาด


ถามว่า บนเส้นทางลุ่มๆ ดอนๆ ของชีวิตนักการเมือง เขาได้ทบทวนความผิดพลาดและสรุปบทเรียนอย่างไร ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ ที่ถูกใช้เป็นชนวนนำไปสู่รัฐประหารคือความผิดพลาดครั้งหนึ่ง

“ในความเห็นผมเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและรัฐสภาที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มันสะท้อนกระบวนการตัดสินใจที่ผิดและบกพร่อง คือหลายฝ่ายไม่มีส่วนร่วม และการตัดสินใจอย่างนั้นไม่สอดคล้องกับความคิดของคนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรสรุปเป็นบทเรียน แต่ก็น่าเสียดายที่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือพลังประชาธิปไตยนอกสภาสรุปเรื่องนี้กันน้อยไป อาจจะมองข้ามความสำคัญของการสรุปหรือไม่อยากสรุปเพราะกลัวว่าจะขัดใจกัน แต่ผมถือว่าผมพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.บ.สุดซอย ผมสนับสนุนร่างที่นิรโทษเฉพาะประชาชน และเมื่อมีสุดซอย ผมก็เคยวิจารณ์ เคยไปขอโทษประชาชนบนเวทีเสื้อแดงมาแล้ว ให้ผมพูด ผมก็พูดอย่างเดิม เพราะผมเห็นว่าเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงตามมาต่อกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ”

จาตุรนต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของรัฐบาลก็ไม่ทำให้การรัฐประหารเกิดความชอบธรรมแต่ประการใด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงแต่อาศัยเป็นจังหวะและข้ออ้างเท่านั้น ซึ่งรัฐประหาร 2557 สำหรับเขาคือความต่อเนื่องจากรัฐประหาร 2549 และการที่ต้องรัฐประหารก็เพราะชนชั้นนำผู้เคยมีอำนาจไม่คุ้นเคยและไม่ยอมรับกระบวนการพัฒนาทางการเมืองที่เกิดกระบวนการที่ประชาชนกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองผ่านระบบพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และระบบรัฐสภา

“เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าถามผมว่ามีมั้ย ผมจะตอบว่ามี ถ้าตอบว่าไม่มีคงไม่ได้ แต่มีมากแค่ไหน สิ่งที่เกิดมาในช่วงสิบกว่าปีมานี้ทำลายโอกาสที่จะมีการพิสูจน์ด้วยกระบวนการที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมว่ามีการทุจริตมากน้อยเพียงใด ถ้าจะพูดว่ามีมากแน่ๆ ก็พูดไม่ได้เหมือนกัน เพราะ กระบวนการในการตรวจสอบ หาคนผิดมาลงโทษถูกทำลายและแทรกแซงในสมัยมี คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) เป็นต้นมา ช่วงหลังมีการถอดถอนโดยสภาที่มาจากการแต่งตั้ง โดยใช้รัฐธรรมนูญที่ยกเลิกไปแล้ว ถอดถอนคนที่ออกจากตำแหน่งไปแล้ว”



ความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย

“ปัญหาที่สำคัญมากที่สุดของประเทศคือ การไม่เป็นประชาธิปไตย พูดเหมือนธรรมดา ใครเห็นก็น่าจะรู้ แต่พูดในบริบทความหมายของชีวิตที่ผมเกี่ยวข้องมาสามสิบปี ทำให้เห็นว่าเรื่องความไม่เป็น ประชาธิปไตยหรือปัญหาประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะผมเริ่มเป็นนักการเมืองในช่วงตั้งแต่ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ตอนนั้นอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่หัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายก เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตย พอมีพรรคการเมือง นักการเมืองมาเป็นนายก เป็น รัฐบาล กำลังมีบรรยากาศของการแข่งขันทางนโยบาย นำเสนอนโยบาย ระดมนักวิชาการ ผลิตนโยบายออกมา มันทำให้การเมืองมีสีสัน มีความหวังมากขึ้น แต่พอมาเจอการยึดอำนาจ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ก็ถอยหลังอีก”

จาตุรนต์เล่าความหลังให้ฟังว่า ก่อนการยึดอำนาจของ รสช. ที่ปรึกษาของพลเอกชาติชายพูดกับเขาว่า เป็นไปไม่ได้แล้วสำหรับประเทศไทยในขณะนั้น แต่เขากลับเห็นต่าง เพราะไม่มีทฤษฎีใดบอกว่าประเทศไทยจะไม่กลับสู่ระบอบเผด็จการอีก และเขาก็เป็นฝ่ายถูก

“เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก มีการพยายามแก้ปัญหาทางการเมืองสำคัญๆ ตามประสบการณ์ของหลายฝ่ายในสังคมไทย ออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีผู้นำที่เข้มแข็งมีภูมิต้านทางจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อำนาจต่อรองของกลุ่มนักการเมืองน้อยลงเมื่อเทียบกับ ส.ส. ใน รัฐบาล จากอันนั้นนำไปสู่การเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากขึ้น รัฐธรรมนูญปี 2540 สนับสนุนให้เลือกพรรคการเมือง มีระบบบัญชีรายชื่อเป็นครั้งแรก ขณะที่ประเทศกำลังต้องการนโยบายและการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการประจวบเหมาะกันของปัจจัยหลายอย่างในการพัฒนาการทางการเมืองไปอีกขั้นหนึ่ง พรรคการเมืองต้องฟังความเห็น รวบรวมปัญหา หาทางแก้ปัญหา นำเสนอนโยบายและให้ประชาชนไปเลือกพรรคการเมืองจากนโยบายและเลือกผู้นำหรือนายกเป็นครั้งแรกและมีผลมากต่อการบริหารของประเทศ

“ผมจำได้ดีว่าในช่วงปี 2540-2544 พูดกันว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว เราไม่พูดกันว่าจะต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยอย่างไร แต่พูดกันว่าเราจะใช้เสรีภาพให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร คนที่ร่วมในรัฐบาลก็คิดว่าเราจะบริหารประเทศให้ดีได้อย่างไรเมื่อได้รับเลือกจากประชาชน คนที่อยู่ในภาคประชาชน ภาคประชาสังคมจะใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร”

จาตุรนต์เองก็ออกไปทางคล้อยตาม อย่างน้อยเขาก็รู้สึกเช่นนั้นอยู่สี่ห้าปี กระทั่งช่วงปี 2547-2548 เขาก็เริ่มเห็นสัญญาณความไม่พอใจรัฐบาล เกิดความเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นมิตรและไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การรัฐประหาร จากปี 2549 ถึงปัจจุบัน เขาสรุปว่า การที่ประเทศไทยอาจถูกดึงกลับไปสู่การปกครองแบบเผด็จการยังเป็นปัญหาใหญ่มาก และเราไม่ได้หลุดพ้นจากปัญหานี้เลย

ความเหวี่ยงไหวของชนชั้นกลาง-บทเรียนของพรรคการเมือง

ปี 2535 ชนชั้นกลางลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่ทหารออกจากการเมือง ปี 2549 และ 2557 ชนชั้นกลางเรียกร้องทหารและผลักไสประชาธิปไตย เป็นอาการเหวี่ยงชนิดสุดขั้วที่ยังคงสร้างข้อกังขากับผู้สนใจการเมือง จาตุรนต์มองว่าชนชั้นกลางไทยมีความโน้มเอียงที่แอบอิงกับชนชั้นนำในสังคมอยู่แล้ว ประเด็นที่เขาให้ความสนใจมากกว่ากลับอยู่ที่ว่า แล้วพรรคการเมืองจะทบทวนและสรุปบทเรียนการเหวี่ยงไหวของชนชั้นกลางอย่างไร

“พรรคการเมืองที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายควรสรุปบทเรียนกรณีชนชั้นกลางคือ ในช่วงหลัง บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่แข่งกันเข้มข้นผ่านนโยบาย ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยไทยรักไทยแล้วต่างกัน สมัยนั้นมีการรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ แล้วสังเคราะห์เป็นนโยบาย นโยบายไทยรักไทยดูแลคนหลายระดับไม่ได้ทิ้งระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ประชานิยมอย่างที่มีการโจมตีกัน มันเป็นนโยบายที่ไม่ใช่การเอาเงินแผ่นดินไปถลุง เงินที่ไปใช้จ่ายกองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร ทำให้เกิดผลผลิตขึ้น

“แต่ตอนหลังอาจมีการคิดนโยบายโดยไม่มีกระบวนการรับฟังหลายฝ่ายและขาดการสังเคราะห์ให้ดีเท่าเมื่อก่อน อาจด้วยสภาพทางการเมืองที่มีการชุมนุมต่อต้าน นักการเมือง พรรคการเมืองไม่มีอันทำงาน บุคคลากรก็ต่างไปจากเดิม การแข่งขันกันในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งก็นำไปสู่นโยบายประเภทที่คนชั้นกลางหรือคนในเมืองมีความรู้สึกว่า เมื่อทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน คนชนบท คนยากจน เกษตรกรมีเสียงมากกว่าก็จะกำหนดนโยบายรัฐบาลได้มากกว่า กลายเป็นเอาภาษีของชนชั้นกลางคนในเมืองไปใช้สำหรับเกษตรกรหรือคนจนมากเกินไป อันนี้เป็นบทเรียนที่ต้องสรุปและต้องหาทางป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้น

“ไม่จำเป็นเลยที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองที่คิดจะแก้ปัญหาในประเทศจะต้องทุ่มเทงบประมาณทั้งหลายไปเฉพาะคนรากหญ้าหรือคนยากจน แน่นอนที่ต้องให้ความสำคัญกับคนยากคนจนที่เดือดร้อนมากกว่า แต่ขณะเดียวกันถ้าการส่งออกไปไม่ได้ การลงทุนขนาดใหญ่ไม่มี ก็มีผลกระทบ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องดูหลายระดับ มีความจำเป็นอะไรที่จะมีนโยบาย แล้วทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่และคนชั้นกลางรู้สึกว่าตนเองถูกทิ้งหรือเสียเปรียบ”

ไม่ปฏิรูปกองทัพ ความผิดพลาดของฝ่ายประชาธิปไตย?


เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 คือชัยชนะของฝ่ายประชาชนและพลังประชาธิปไตย แต่ก็มีข้อสังเกตว่าหลังเหตุการณ์ทั้งสองครั้งไม่มีการกล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพ แม้แต่การปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่มีการแตะต้องกองทัพในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองเลย และนี่คือความผิดพลาดของฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ จาตุรนต์อธิบายว่า

“มันไม่ได้เป็นโจทย์ร่วม ไม่ได้เป็นประเด็นถึงขั้นที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะคิดไปถึง ด้วยหลายเหตุผล หลายสภาพการณ์ ช่วง 14 ตุลาถึง 6 ตุลา มันเป็นช่วงที่ได้ประชาธิปไตยมาในลักษณะที่ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น ขบวนการนักศึกษาประชาชนก็ใช้สิทธิเสรีภาพกันเต็มที่ แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในอำนาจรัฐ พรรคการเมือง นักการเมือง ซึ่งถือว่าละเว้นมานาน เคยมีการเลือกตั้งช่วงสั้นๆ ปี 2512-2514 เท่านั้น ก็กลับมาใช้เวทีรัฐสภากัน”


"ก็เลยต้องยึดอำนาจอีกรอบและเขียนกติกาใหม่ กติกาคราวนี้นอกจากเตรียมไว้จัดการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ยังสร้างกติกาที่ต้องการให้เกิดรัฐบาลที่มาจากคนนอก คือออกประตูไหนก็ได้ จัดการได้หมด แต่คำถามอยู่ที่ว่าพลังประชาธิปไตย พลังของผู้ออกเสียง พลังของพรรคการเมือง จะอยู่ในสภาพที่ยังชักเย่อต่อไปหรือไม่ ต้องดูกันต่อ หรือว่าจะถูกดึงจนล้มระเนนระนาด”

จากนั้นสายลมการเมืองในประเทศก็พัดพาไปในแนวทางการจับอาวุธขึ้นสู้ของนักศึกษาฝ่ายซ้าย เนื่องเพราะถูกบีบคั้นจากฝ่ายขวา เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สังคมไทยก็เคลื่อนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบต่อเนื่องเกือบสิบปี ทำให้พรรคการเมืองและพลังฝ่ายประชาธิปไตยพัฒนาอย่างเชื่องช้า อ่อนแอเกินกว่าจะคิดเรื่องปฏิรูปกองทัพ

“ช่วงหลังพฤษภาใหม่ๆ มีการเข้าไปจัดการกองทัพอยู่บ้าง แต่เป็นการจัดบุคลากรส่วนหัวๆ เมื่อรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจาก รสช. ล้มลง รัฐบาลต่อมาก็เข้าไปจัดการ เปลี่ยนตัวบุคคลอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ต้องเกิดตามสภาพ ไม่ได้เป็นโจทย์ถึงขนาดที่รัฐบาลต่อมาจะคิดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ พอมาการปฏิรูปการเมือง 2540 มีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรภาคประชาชน พลังประชาธิปไตยนอกสภา พรรคการเมืองบางส่วนร่วมกันปฏิรูปการเมือง มีทั้งโจทย์ร่วมกันและต่างกัน แต่โดยรวมๆ คือการพยายามจะให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ไม่ต้องอยู่ในสภาพที่บริหารไม่ได้ แต่ก็ต้องการระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ในแง่ทิศทางการพัฒนาประชาธิปไตยก็มองไปในลักษณะนี้ และนี่คือประชาธิปไตยแล้วในความหมายของการปฏิรูปการเมืองขณะนั้น

“อย่างที่ผมพูดก่อนหน้านี้ว่า ช่วงนั้นและหลังจากนั้นการพูดถึงปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศหรือความเสี่ยงที่จะถูกดึงกลับไปเป็นการปกครองแบบเผด็จการอาจจะเป็นเรื่องที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในกระแสการปฏิรูปไม่คิดว่าจะกลับมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็โยงไปถึงว่า มันก็ไม่มีโจทย์ที่จะคิดเรื่องปฏิรูปกองทัพ หลายช่วงบทบาทของผู้นำกองทัพก็น้อยลง บางช่วงงบประมาณทหารน้อยลง ไปเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แล้วโจทย์ทางการเมืองก็อยู่ในลักษณะที่ต่อเนื่องจากการปฏิรูปการเมืองหรือดึงกลับ ชักเย่อกันไปมา

“จะพูดว่าเป็นความผิดพลาดมั้ย ผมคิดว่าจะเป็นก็ได้ แต่เวลาพูดถึงความผิดพลาด มันต้องมีว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ แต่นี่มันเป็นเหมือนผลโดยรวมๆ ของพัฒนาการที่หลายฝ่ายคิดว่าก้าวข้ามสภาพปัญหาของประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ มันยังไม่ได้ก้าวข้าม จะเรียกว่าวัฒนธรรม ค่านิยมของระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยังฝังรากลึกในชนชั้นนำหลายส่วน และความคิดเรื่องเสรีประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเชื่อต่อระบบรัฐสภาก็ยังไม่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง มันเหมือนเชื้อโรคอะไรสักอย่างที่ฝังตัวอยู่ พอมีเงื่อนไข มันก็เติบโตขึ้นมาอีก”

ทำไม คสช. จึงอยู่ได้นาน-การสร้างความกลัว

“ทำไม คสช. จึงอยู่ได้นาน มันเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความกลัวและรู้สึกจำเป็น ไม่มีทางออกอื่น นอกจากการให้ผู้มีอำนาจทางกำลังอาวุธมาปกครองประเทศด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ความกลัวที่ว่าคือความกลัวต่อภาวะความไม่สงบ ความวุ่นวาย สภาพที่ไม่มีการรักษากฎหมาย วุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น แล้วก็ต่อมาด้วยสภาพที่คนมองหรือเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ผู้ที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้คือผู้นำกองทัพและต้องปกครองด้วยการมีอำนาจพิเศษ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเท่านั้น

“เมื่อบวกกับระบบกลไกอีกหลายอย่างที่ถูกสร้าง ถูกพัฒนา เพื่อจัดการกับสังคม กับการเมือง บวกกับการวางแผนอย่างเป็นระบบแยบยลในการรักษาอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไป ก็ทำให้ระบบที่ต่อเนื่องจากการยึดอำนาจปี 2557 อยู่ได้นานเป็นพิเศษ ในการรัฐประหารปี 2535 และปี 2549 ไม่มีสภาพความกลัวต่อความไม่สงบ ความวุ่นวาย ไม่ได้ถูกเตรียมการและสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบเหมือนครั้งนี้


“พัฒนาการอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญคือการพัฒนาไปสู่ความเป็นพรรคขนาดใหญ่ และแข่งกันระหว่างสองพรรค มันเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วทำให้คล้ายกับการเมืองในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ แต่เมื่อมันพัฒนาเร็ว มันอาจจะกลายเป็นความกลัว บางช่วงมันใหญ่เกินไป มี 377 เสียง มันมากเกินพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพียงพรรคเดียว น่ากลัวต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย น่ากลัวกับพรรคการเมืองด้วยกันที่รู้สึกว่าจะต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านไปอีกนาน

“อีกอย่างคือการเมืองแบบนี้เมื่อบวกกับเรื่องอื่นๆ แล้ว มันนำไปสู่การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แบ่งขั้วแบ่งฝ่ายในลักษณะการชักเย่อที่ยืดเยื้อ การที่การเมืองอยู่ในลักษณะนี้เป็นคำอธิบายอีกส่วนหนึ่งของคำถามที่ว่า ทำไมรัฐประหารรอบนี้จึงอยู่นาน ซึ่งถ้าพูดในแง่นั้น ความจริงรัฐประหารรอบนี้เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี 2549 ที่มีการชักเย่ออย่างยืดเยื้อของพลังที่อิงกับระบบพรรคการเมือง ผู้เลือกตั้ง และประชาชนที่ใช้สิทธิใช้เสียงนอกสภา กับส่วนที่ไม่เชื่อระบบการเลือกตั้ง ไม่เชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง

“ปี 2549 กำลังมันก้ำกึ่ง ยึดอำนาจแล้ว เขียนกติกาแล้ว ต้องการสร้างระบบการปกครองที่กำหนดได้หมด แต่กำหนดไม่ได้เพราะว่าคนออกเสียงลงคะแนนไม่ยอม เขาก็ต้องไปใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญมาจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จัดการไปแล้ว มีเลือกตั้งอีก ประชาชนก็ยังไม่ยอม แถมมีพลังนอกสภาเกิดขึ้นด้วย ก็เลยต้องยึดอำนาจอีกรอบและเขียนกติกาใหม่ กติกาคราวนี้นอกจากเตรียมไว้จัดการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ยังสร้างกติกาที่ต้องการให้เกิดรัฐบาลที่มาจากคนนอก คือออกประตูไหนก็ได้ จัดการได้หมด แต่คำถามอยู่ที่ว่าพลังประชาธิปไตย พลังของผู้ออกเสียง พลังของพรรคการเมือง จะอยู่ในสภาพที่ยังชักเย่อต่อไปหรือไม่ ต้องดูกันต่อ หรือว่าจะถูกดึงจนล้มระเนนระนาด”

รัฐธรรมนูญ 2560 ระเบิดเวลา

แล้วอนาคตข้างหน้าของประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะเป็นอย่างไร จาตุรนต์อธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้เราอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของประเทศได้ มีแนวโน้มที่จะมีรัฐบาลจากคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือต่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อาจจะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะถูกกลไกในรัฐธรรมนูญล็อกเอาไว้

“เราก็กำลังเดินไปสู่สภาพที่รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และยังต้องทำงานภายใต้กรอบของนโยบายแห่งรัฐ แผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำลังทำกันอย่างขะมักเขม้น แต่เป็นการทำโดยไม่มีวิสัยทัศน์ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เต็มไปด้วยปัญหาและความยุ่งเหยิง แนวโน้มคือจะนำไปสู่ประเทศที่ล้าหลัง ปรับตัวยาก เพราะแผนปฏิรูปก็ดี ยุทธศาสตร์ชาติก็ดี สิ่งเหล่านี้มันล้าหลังและแก้ไขยาก รวมทั้งรัฐธรรมนูญเองก็แก้ไขยาก ในขณะที่โลกเปลี่ยนเร็วมาก

“ในระยะใกล้ๆ คงจะยังไม่เกิดความรุนแรง แต่ความขัดแย้งเดิมในสังคมไทยที่ยังไม่ได้แก้ มันจะสะสมเป็นความขัดแย้งใหม่ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายต่างๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การออกกฎหมาย ออกกติกาต่างๆ ผ่าน สนช. ผ่านคำสั่ง คสช. สิ่งเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แต่สังคมไทยก็เบื่อหน่าย หวาดกลัว ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงและความวุ่นวาย โอกาสที่พลังของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ที่เคยเคลื่อนไหวมาแล้ว เคยมีบทบาทมาแล้ว จะกลับมามีบทบาทมากๆ จนเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งบานปลายน่าจะยังไม่เกิดขึ้นได้เร็ว

“แต่เมื่อมีการสะสมปัญหา ความขัดแย้งเก่าไม่แก้ ความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นมากมาย มันเหมือนเป็นระเบิดเวลา มีกับระเบิดเต็มไปหมด สังคมก็กำลังเดินไปอยู่ความขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ได้โดยกระบวนการที่อยู่ในตัวระบบเอง เช่น จะแก้คำสั่ง คสช. ที่ส่งผลเสียต่อประชาชนต้องไปแก้กฎหมาย ซึ่งพรรคการเมือง สภาผู้แทนก็แก้ให้ไม่ได้ จะแก้รัฐธรรมนูญ แก้ยุทธศาสตร์ชาติ ก็แก้ไม่ได้ มันก็รอวันระเบิด เพียงแต่มันอาจเป็นเรื่องของผู้ที่เจอกับปัญหาในอนาคต จะเป็นใคร จะเกิดขึ้นอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผมไม่สามารถจินตนาการไปได้ รู้แต่ว่าแนวโน้มไม่ดีเลย”

หรือจะเป็นโศกนาฏกรรมของประเทศไทย?

และภายใต้ข้อจำกัดนี้ นักการเมืองและพรรคการเมืองจะยิ่งต้องพัฒนาตนเองขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่สังคม

“ในส่วนของความเป็นนักการเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง ผมคิดว่าพรรคการเมืองต้องพยายามสร้างหรือพัฒนาตัวเองให้เป็นทางเลือกของประชาชน ให้ประชาชนได้เห็นว่าระบบรัฐสภาซึ่งมีพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญสามารถแก้ปัญหาประเทศได้ เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทีนี้ มันยากที่ต้องทำภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎกติกาต่างๆ ไม่เปิดโอกาสให้ทำ เช่น มีนโยบายก็อาจจะแถลงในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ เลือกตั้งมาแล้วก็อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล หรือเป็นรัฐบาลก็นำนโยบายไปปฏิบัติไม่ได้

“แต่พรรคการเมืองก็ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่สามารถสร้างนโยบายที่จะแก้ปัญหาประเทศได้และประชาชนยอมรับ แล้วก็นำเสนอต่อสังคม ในระหว่างเลือกตั้งอาจจะเสนอได้จำกัดก็เสนอในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง ในระหว่างเป็นรัฐบาลทำได้ไม่มากก็ต้องบอกว่าอะไรที่อยากจะทำ แต่ทำไม่ได้ หมายความว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ที่รัฐบาลที่มาจากประชาชนสามารถทำอะไรได้มากกว่า แล้วพรรคการเมืองจะทำอะไร ก็คือให้ประชาชนได้เข้าปัญหาของความไม่เป็นประชาธิปไตยและเห็นว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาจะดีอย่างไร ไม่ใช่ดีเฉพาะในเชิงหลักการ นักการเมืองและพรรคการเมืองก็จะยากตรงนี้ แต่ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปได้ว่า ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างนี้จะอยู่ไปอีกนาน ถึงประชาชนไม่พอใจ เห็นปัญหา ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ผมคิดว่าพรรคการเมืองต้องก้าวไปถึงตรงจุดนี้ ถ้าจะเป็นฝ่ายค้านก็เป็นฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลที่ดี ขณะเดียวกันก็เสนอทางเลือก”

ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาตุรนต์กล่าวว่า พรรคการเมืองต้องชูประเด็นนี้ เพียงแต่ช่วงเวลานี้อาจยังไม่เหมาะและจะกลับกลายเป็นถูกต่อต้าน อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วสถานการณ์จะเดินไปสู่จุดที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“จากประวัติความเป็นมาของการเมืองไทย มันก็จะเดินไปสู่จุดที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกโดยผู้นำกองทัพรุ่นต่อๆ ไป แต่การชูประเด็นแก้รัฐธรรมนูญคงไม่เกิดขึ้นเร็ว และถ้าชูขึ้นเร็วก็อาจไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของผู้คน และจะไม่เป็นที่ยอมรับและไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ แต่ต่อไปข้างหน้าคนจะไปสู่จุดที่เห็นร่วมกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคนก็ยังไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหา อันนั้นก็เป็นโศกนาฏกรรมของประเทศไทย”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.