Posted: 27 Jul 2017 07:19 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับเนื้อหาให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ และไม่มีการเซ็ตซีโร่

27 ก.ค. 2560 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยพลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งหมด 63 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไขคำส่วนของคำปรารภและอีก 12 มาตรา พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาในการสรรหาตามมาตรา 18 วรรค 6 ที่กำหนดไว้ 90 วัน รวมถึงการกำหนดไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ารับการอบรมในหลักสูตรหรือโครงการใดๆ ในมาตรา 21 และการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 8 ว่า ควรกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งขอแปรญัตติในมาตรา 13 พร้อมสงวนคำแปรญัตติ โดยกล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ในการดำเนินการสรรหาใหม่ ไม่ควรให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้ ได้รับการสรรหาใหม่ได้ ซึ่งตนเองมีความเห็นต่างจึงขอแปรญัตติเพื่อเพิ่มข้อความเข้าไปว่า ผู้ที่เคยไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ไม่ว่าจะในครั้งใดก็ตาม ไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการสรรหาใหม่ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีมลทิน และเป็นผู้ที่ใสสะอาดจริงๆ

โดยธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า การเข้ารับการสรรหาใหม่ ไม่ควรไปตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งอื่น แต่ควรกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งล่าสุดเท่านั้น เพราะการไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภานั้น มีหลายสาเหตุ

ด้านพลเรือเอกธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ขอแปรญัตติในมาตรา 39เพื่อขอให้เพิ่มข้อความในการจัดทำรายงานประจำปีของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ควรทำตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ พร้อมเผยแพร่ให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ด้วย พร้อมขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใดคนหนึ่งต้องมาแถลงรายงานประจำปีต่อรัฐสภาด้วยตนเองเท่านั้น โดยไม่ให้ส่งผู้แทนมามาแถลงรายงานประจำปีแทน

สำหรับการพิจารณาในหมวดที่ 4 เรื่องบทกำหนดโทษ มาตรา 56 มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอแปรญัตติหลายคน อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร กล้านรงค์ จันทิก มองว่าประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552โดยขอแปรญัตติให้เพิ่มข้อความว่า “หรือพ้นจากตำแหน่ง” เข้ามาด้วย ขณะที่ สมชาย แสวงการ แปรญัตติให้เพิ่มข้อความที่ระบุให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9มาตรา 10และมาตรา 18 (1) (2) พร้อมให้เหตุผลว่า องค์กรอิสระแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ควรใช้รูปแบบเหมือนกันทุกองค์กร แต่ควรดูความเหมาะสม และอำนาจหน้าที่ที่ได้รับตามรัฐธรรมนูญ

ด้านธนาวัฒน์ ยอมรับว่าการกำหนดคุณสมบัติผู้ตรวจการแผ่นดินในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเกณฑ์ที่สูงขึ้น แต่ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด พร้อมให้เหตุผลว่า การกำหนดคุณสมบัติ รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ที่มีความเคร่งครัด เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เกิดปัญหาร้องเรียนจากบุคคลอื่นกรณีขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติและที่มา

อย่างไรก็ตาม ประธานได้สั่งให้พักประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้หารือเกี่ยวกับการปรับแก้ถ้อยคำให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกันระหว่างเนื้อหาในมาตรา 56 มาตรา 57 และมาตรา 58 กรณีการคงอยู่และการพ้นจากตำแหน่งของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยได้ข้อสรุปว่า ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่งได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผนดิน พ.ศ. 2552 และตามที่มาตรา 18 ระบุไว้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แก้ไขในร่างมาตรา 56 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.