คุยกับ บ.ก.หนังสือ 'หลัง รอย ยิ้ม' : ฐิตินบ โกมลนิมิ

Posted: 27 Jul 2017 03:43 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

บรรณาธิการหนังสือย้ำการเขียน คือ การต่อสู้ทางการเมือง แจงการเขียนเล่าเรื่องทำหน้าที่เยียวยาผู้เล่าโดยปริยาย นักเขียนสะท้อนการเขียนเป็นสิ่งไม่ง่ายหากเรากลัว เราจะไปข้างหน้าได้อย่างไร


หน้าปกหนังสือ “หลังรอยยิ้ม เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้” (ที่มาภาพ เพจ "หลัง รอย ยิ้ม" ถ่ายโดย "Piyasak Ausap")

หนังสือ “หลังรอยยิ้ม เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้” คือ หนังสือเล่มที่สองต่อจากหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นหนังสือที่รวบรวมเนื้อหาจากการเขียนและเล่าเรื่องโดยสามัญชนที่สูญเสียจากเหตุสงครามรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี และจากกลุ่มผู้ต้องคดีความมั่นคงรวมทั้งหมด 22 ชีวิต 20 เรื่อง พวกเขาเป็นคนร่างและเขียนเองทั้งหมดเพื่อ “สื่อสารตรง” กับสาธารณะถึงเรื่องราวในพื้นที่


ฐิตินบ โกมลนิมิ (คนกลาง)

ฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้มีประสบการณ์การทำงานสื่อมาอย่างยาวนานและคลุกคลีกับประเด็นจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี มานับทศวรรษ เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเป็นสะพานเชื่อม ผู้ถูกกระทำกับสาธารณะ อย่างมีนัยสำคัญ ประสบการณ์ เธอทำงานอย่างไร และมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร
การเขียนเพื่อการต่อสู้ คือ การเขียนการเมืองเพื่อสันติภาพ

ฐิตินบเชื่อว่า การทำหนังสือเป็นช่องทางสะท้อนความรู้สึกของคนและสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างดี แต่ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ก็คือ “มันเป็นการเขียนเพื่อการต่อสู้”

นอกจากนี้มันยังเป็น “การเขียนการเมือง” ด้วย เพราะหากความหวังอยู่ที่กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ หัวใจของมันก็คือ การแสวงหาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง ทุกคนจึงใช้แนวทางการเมืองเพื่อบอกทั้งสองฝ่ายว่า “ความรุนแรงทำให้เกิดอะไรบ้าง” เป็นการเชิญชวนให้ทุกคนมาใช้แนวทางทางการเมืองผ่านการเขียนเล่าเรื่องออกมา โดยที่ไม่ต้องจับอาวุธ

“การเขียนจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราน่าจะคุยและรับฟังกันได้ มันคือหน้าที่ของหนังสือเล่มนี้” ฐิตินบ กล่าว

ความต่างของ 2 เล่ม : เสียงของความหวัง กับ หลังรอยยิ้ม

บรรณาธิการเล่าให้ฟังว่า หนังสือ “เสียงของความหวัง” ผู้เขียนจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด 19 คน ในเล่มนี้ชี้เห็นถึงประวัติศาสตร์สามัญชนระยะใกล้ว่าภายใต้ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 มันเกิดอะไรบ้าง และมากกว่านั้น มันเป็นประวัติศาสตร์กึ่งการเยียวยาที่ทำให้เห็นพัฒนาการความเจ็บปวดของผู้คนและทำให้เราค้นพบประเด็นผู้ต้องคดีความมั่นคงและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รายวัน หรือลูกชายเขาเป็นคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย แต่สังคมไม่ได้มีการพูดถึงพวกเขาเลย นี่คือปมที่เล่มแรกทิ้งเอาไว้

ส่วนเล่มที่สองคือหลังรอยยิ้มฯ นั้นทำให้กว้างขึ้น เสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงผู้หญิงกลุ่มเดียว แต่รวมถึงเสียงจากเด็กกำพร้า เสียงของผู้ชายที่สูญเสีย และเสียงจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอีกด้วย

สำหรับนักเขียนที่ผ่านคดีความมั่นคง แม้จะหลุดคดีและข้อกล่าวหาต่างๆ แล้ว หลายคนยังไม่หลุดจาก “แบล็คลิสต์” ของฝ่ายความมั่นคงที่มักแวะเวียนไปเยี่ยมบ้าน บางครั้งหากเกิดเหตุในหมู่บ้าน พวกเขาจะกลายเป็นคนลำดับต้นๆ ที่จะถูกปิดล้อม ตรวจค้นบ้านประหนึ่งว่า “เรื่องจะไม่มีวันจบ”

“เล่มสองโจทย์มันมากขึ้น เราต้องการพูดถึงคนไปสู่ชุมชน ซึ่งคนไม่ได้รับผลกระทบฝ่ายเดียว แต่มันทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบไปด้วย เราคาดหวังว่าเรื่องเล่าจากมุมมอง “คนใน” จะช่วยเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้แง่มุมใหม่ต่อสถานการณ์ความรุนแรงไปสู่การสนทนาสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพลิกฟื้นชีวิตและชุมชนในพื้นที่ได้” ฐิตินบ กล่าว

การเขียนเล่าเรื่องทำหน้าที่เยียวยาผู้เล่าโดยปริยาย

สิ่งที่น่าสนใจและต่างออกไปจากหนังสือเล่มอื่นๆ คือ กระบวนการเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ตั้งต้นที่ “การเขียน” หากแต่ตั้งต้นที่ “กระบวนการสานเสวนา” จนทำให้เหล่านักเขียนผู้เต็มไปด้วยบาดแผลไว้เนื้อเชื่อใจ กล้าที่จะเล่าเรื่องราวของพวกเขาออกมา แล้วหนังสือจึงเป็นตัวรองรับกระบวนการทั้งหมด

ฐิตินบอธิบายว่า กระบวนการทำงานจึงถูกออกแบบด้วยความละเอียดอ่อน ตั้งแต่การคัดเลือกคนเพื่อเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง โดยแบ่งผู้เล่าเรื่องเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน และกลุ่มอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคง โดยทั้งสองกลุ่มนี้จะคละกันระหว่างชาย-หญิง เด็ก-ผู้ใหญ่ คนพุทธ-คนมุสลิม รวม 22 คน เพื่อให้มีความหลากหลายของมุมมอง

“เราแยกกันอบรมการเขียน ครั้งละ 2 วัน จากนั้นก็ให้เวลาทุกคนกลับบ้านไปอยู่กับตัวเองเพื่อทบทวนชีวิตก่อนลงมือเขียนจริง โดยมีกลุ่มพี่เลี้ยงจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ คอยช่วยประคับประคองระหว่างทาง ทั้งติดตามความคืบหน้า และเป็นเพื่อนรับฟังไปด้วย กระบวนการเขียนเรื่องเล่าจึงทำหน้าที่เยียวยาผู้เล่าเรื่องไปโดยปริยาย” ฐิตินบเล่า


ฐิตินบ โกมลนิมิ 
เครื่องมือ “ประวัติชีวิต” ทำให้นักเขียนสามารถนึกย้อนเหตุการณ์ชีวิตที่แสนขม 10 ปีให้หลัง

วิทยากรกระบวนการนำเครื่องมือ “ประวัติชีวิต” ที่แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นชีวิตของผู้เล่าเรื่องและครอบครัว ชั้นของชุมชน และชั้นของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี

โดยมีโจทย์ว่า “ลองย้อนช่วงเวลากลับไปในอดีตอย่างน้อย 10 ปี หรือมากกว่านั้น แล้วค้นหาเหตุการณ์สำคัญในชีวิต หรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต โดยให้เชื่อมโยงกันระหว่าง 3 ชั้นดังกล่าว ?”

ผู้เขียนแต่ละคนก็เริ่มตั้งสติดึงแต่ละเหตุการณ์ของแต่ละคนออกมาไล่เรียงตามช่วงเวลาอย่างเป็นลำดับ เขียนใส่กระดาษโน้ตชิ้นเล็กๆ ปะติปะต่อชิ้นส่วนของความทรงจำขึ้นมาอีกครั้ง ค่อยๆนึกถึงช่วงเวลานั้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราหรือครอบครัว หรือสัมพันธ์ชุมชนอย่างไร หรือช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์สำคัญอะไรในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

ช่วงนั้นเราสังเกตได้ว่า ทุกคนจะเขียนเรื่องราวของตนเองได้น้อย แต่จะให้ความสำคัญกับครอบครัวและชุมชนมากกว่า ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะคนเราไม่ค่อยถูกฝึกให้คิดย้อนกลับมาทบทวนเรื่องราวของตนเองเท่าใดนัก แต่ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงจะเล่าได้ว่าช่วงเวลาใดที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของตน

เมื่อคนไม่เคยเขียนเรียนรัดเพื่อเล่าเรื่อง

ในการอบรมการเขียนวิทยากรกระบวนการจะสอนให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “องค์ประกอบของเรื่องเล่า” นั่นคือ โครงเรื่อง หัวใจของเรื่องที่อยากบอกเล่า ความมีเหตุผลของผู้เล่าเรื่อง ฉากที่ผู้เล่าเรื่องปรากฏตัวทั้งที่เป็นสถานที่และฉากทางสังคม โดยพยายามย้ำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า “หัวใจของเรื่องที่อยากเล่าคืออะไร” เพื่อที่ว่าไม่ว่าจะมีกี่ฉากที่ตัดทอนประสบการณ์ชีวิตลงมาแล้วก็ขอให้ทุกฉากนั้นไปสนับสนุนหัวใจของเรื่องที่อยากเล่า

จากนั้นจึงขอให้แต่ละคนลองฝึกเขียนเปิดฉาก เปิดตัวละครขึ้นมาอย่างน้อยคนละหนึ่งย่อหน้าและสลับกันอ่านให้เพื่อนฟัง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเล่าสิ่งที่อยากเล่า ก่อนจะกลายเป็นต้นฉบับส่งให้กอง บก.ภายหลัง

ยกตัวอย่างโต๊ะอีหม่าม (ผู้นำมุสลิม) ท่านหนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า “อิบนูดาวูด” ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์การยืนหยัดสู้กับมายาคติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เคยเห็นท่านเป็นแนวร่วมขบวนการคิดต่างจากรัฐจนกลายเป็นผู้ต้องคดีความมั่นคง ติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

“เรื่องของโต๊ะอิหม่ามท่านโหดมากถึงไม่ได้ถูกจับเข้ากรงเหมือนคนอื่น แต่ถูกพาไปออกนอกพื้นที่ ตอนหลังก็ถูกลอบยิง ท่านทำทุกอย่างไม่หนีไปไหนจนพ้นพันธการแห่งความอธรรม ท้ายที่สุดก็ผันตัวเองเป็นนักพัฒนาชุมชน ท่านใช้ความกล้าในการเล่าเรื่องของตน หลายคนที่พบเกี่ยวกับคดีความมั่นคงในพื้นที่จะได้รับการช่วยเหลือทางคดีก็จริง แต่พวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยาในลักษณะการมีคนรับฟังในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา”

บก.เล่าว่าการเริ่มต้นแชร์เรื่องราวของโต๊ะอิหม่ามท่านนี้ทำให้ผู้ชายอีกหลายคนที่ไม่คุ้นชินกับการล้อมวงเล่าประสบการณ์ตัวเองได้ผ่อนคลายและเริ่มลำดับเรื่องราวของตัวเองได้บ้าง

“เดินไต่ความสูงชันของขุนเขายังไม่เหนื่อยหนักเท่ากับการสูญเสียคนที่เรารักเหมือนใบไม้ร่วง ทิ้งให้ตายอย่างเดียวดาย” เป็นการเปิดฉากของป้าเลี่ยม ใจบุญ เรื่องเล่าของเธอมีชื่อว่า “ยังยิ้ม”

ฐิตินบเล่าว่า เธอประทับใจกับเรื่องราวของนักเขียนมือใหม่ หลายคนใช้ประโยคเดียวเอาอยู่หมัด แม้เป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกตรงๆ ของคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อน หรือเป็นเพียงคำพูดง่ายๆ ที่ตรงไปตรงมา หรือเป็นเรื่องของช่างเย็บผ้าฉากที่พาลูกไปเยี่ยมพ่อที่เรือนจำแล้วต้องตากฝน

“ตอนอบรมอยู่ก็แอบร้องไห้กับการเปิดฉากของแต่ละคนที่มันเก็บอยู่ในความรู้สึกลึกลงไปในจิตใจพวกเขา” ฐิตินบเล่า

เธอยกตัวอย่าง การเปิดฉากของ บูรง ปูเตะ นามปากกาผู้เขียนเรื่อง “ผมอดทน นี่คือบททดสอบ” เปิดฉากว่า “ผมอยากสะท้อนความรู้สึกที่หนักอึ้ง จะได้ไม่ต้องแบกรับอีกต่อไป” และอีกหนึ่งนามปากกา คือ อัล-กะฮฺฟี เปิดฉากว่า “ผมคงเล่าให้ทุกคนรู้ทุกเรื่องได้อย่างเต็มใจ”


ภาพโดย Parichart Phinyosri
การเขียนเป็นสิ่งไม่ง่าย ถ้าเรากลัว เราก็ไม่รู้จะไปข้างหน้าอย่างไร

รุสนานี เจะเลาะ นักเขียนซึ่งเป็นแม่ที่สูญเสียลูกชายสะท้อนความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นนักเขียน เธอเขียนได้หลายหน้าในร่างแรกๆ เหมือนได้ระบายความอัดอั้นออกมา แล้วพี่เลี้ยงก็จะคอยช่วยทอนเรื่องราวให้สั้นลงจนเหลือหัวใจของเรื่องเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ ทำให้รู้ว่าการเขียนเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ถ้าเรามัวแต่กลัว เราก็ไม่รู้จะไปข้างหน้าอย่างไร “

รุสนานี เขียนเปิดเรื่องว่า “ทันทีที่เด็กชายคนหนึ่งก้าวเข้ามาในห้องที่ฉันนั่งอยู่ก่อนใจสั่นไหวอย่างบอกไม่ถูก สายตาสะกดมองเด็กคนนั้นอย่างไม่ละสายตา เด็กคนนี้เป็นใครกัน ?”

รุสนานี มองเด็กชายคนหนึ่ง ทำให้คิดถึงลูกชายที่จากไปหลังสิ้นเสียงระเบิด เพราะเมื่อหลายปีก่อน เมื่อวันพฤหัสบดที่ 21 มีนาคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. “มามี้ มามี้ อาเดะหิวข้าว” หลังเที่ยงของวันนั้นเราสองคนไปหาซื้อของกินกัน “ตูม”

เสียงที่ได้ยินไม่ดังมากนัก ช่วงแรกยังยืนแบบงงๆ สงสัยทีอะไรเกิดขึ้น เมื่อรู้สึกตัวมากขึ้น ฉันตกใจหันไปเพื่อจะเรียกหาลูกอยู่ที่ไหน ก็เห็นเพียงคนขายไอศกรีมล้มลงและคลานเข้าไปในร้าน แต่กลับเห็นลูกล้มลงนอนนิ่งอยู่กับพื้น ฉันพยายามจะเข้าไปหาลูกแต่ก้าวขาไม่ได้ พอก้มดูที่ขาตัวเองก็เห็นเลือดไหลและมีเศษเนื้อเหวอะหวะ ความเจ็บปวดแล่นเข้าหัวใจทันที ล้มทั้งยืนลงกับพื้น ฉันพยายามไขว่คว้าร่างของลูกน้อยที่จมอยู่ในกองเลือด ค่อยๆ ขยับตัวไปหาลูกให้ใกล้มากที่สุดเพื่อที่จะกอดลูก ลูกลืมตามองฉันนิดหนึ่งแล้วหลับไป ใบหน้าอมยิ้ม

การเขียนที่เต็มไปด้วยความหวั่นไหว-ความกังวล

ฐิตินบ เล่าต่อถึงกระบวนการของกองบรรณาธิการหลังจากการอบรมการเขียนเสร็จสิ้นว่า พี่เลี้ยงจะคอยติดตาม ประคับประคองและลงพื้นที่เยี่ยมเยียนนักเขียนถึงบ้านเพื่อเก็บตกเรื่องราวนำมาปะติดปะต่อให้เรื่องสมบูรณ์ที่สุด การลงพื้นที่คือการสร้างความรู้สึกเชื่อใจและดูแลกันและกัน เป็นการให้ความใส่ใจในความอ่อนไหวกับทุกประสบการณ์ชีวิต

นอกจากความยากที่ต้องพยายามปะติปะต่อเรียบเรียงเรื่องเล่าให้มีความน่าสนใจ ยังมีความกังวลหลายสิ่งสำหรับเธอ หนึ่งในนั้นคือ การหลีกเลี่ยงการเขียนบางอย่างที่อาจกระทบผู้มีอำนาจ หรือการไม่เขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความอ่อนไหวในพื้นที่ความขัดแย้งด้วย

เช่นกรณีผู้ต้องคดีความมั่นคงที่ต้องเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในชั้นศาล ผู้เขียนก็ไม่สบายใจที่จะระบายออกมาทั้งหมด เขาอึดอัดใจกลัวว่าจะกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม และอาจถูกเชื่อมโยงต่างๆ นานาจนทำให้ตัวเองต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง

“นักเขียนหลายคนต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากที่จะเล่าเรื่องของตัวเอง เพราะเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องที่อยากให้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย แต่เมื่อจำเป็นต้องเปิดแผลออกมาเยียวยา ออกมาเพื่อทำงานทางความคิดกับสังคม เขายอมกัดฟันเล่าและเขียนบันทึกด้วยหยาดน้ำตา”

“แต่ละเคสจะทยอยส่งมาให้กองบรรณาธิการ ส่วนใหญ่สิบกว่าหน้า เป็นสิ่งที่เขาเขียนเองมาทั้งหมดเพื่อระบายความทุกข์ที่เก็บมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราในฐานะคนอ่าน ในฐานะบรรณาธิการ จะต้องเป็นคนรับฟัง คนจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีต้องการคนรับฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งตัวเองก็ถือว่าทำหน้าที่นั้นแทนสาธารณะ”
บก.หนังสือกล่าว

“เราจะค่อยๆ ถามพวกเขาว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง โอเคไหม ดีขึ้นไหม แล้วจาก 10 หน้า ประเด็นที่อยากสื่อสารคืออะไร หัวใจของเรื่องคืออะไร ซึ่งเขาก็จะไปลดทอนของเขาเอง โดยเราจะไม่บอกเลยว่าต้องตัดส่วนไหน กระบวนการนี้พวกเขาจะจัดการเองหมด”

ตัวอย่างงานเขียนของโต๊ะอีหม่ามชื่อเรื่องว่า “กว่าวันนั้นจะมาถึง กว่าวันหนึ่งจะผ่านไป”

“เอ๊ยดดด..ปัง ปัง ปัง !” เสียงเบรกรถยนต์พร้อมเสียงล้อบดอัดกับถนนอย่างแรง วินาทีเดียวกันนั้น เสียงคำรามแห่งมัจจุราชก็ดังขึ้นอย่างกังวาน ผมพลันกระโจนลุกขึ้นจากจุดตะแคงรถมอเตอร์ไซต์วิ่งหลบเข้าไปในบ้านใกล้จุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็วพร้อมความรู้สึกร้อนวาบที่แผ่นหลัง

“ตูโลงๆๆ โต๊ะอีแมกือนอบือเด (ช่วยด้วยๆ โต๊ะอีหม่ามถูกยิง)” เสียงร้องซ้ำๆ ของกะนิและกะแว สองหญิงบ้านข้างเคียงที่ท้ายหมู่บ้านตะโกนร้องขอความช่วยเหลืออย่างโกลาหล

เมื่อวิ่งออกมาหน้าบ้านเห็นบุรุษงามยืนจังก้าอยู่ท้ายรถกะบะพร้อมอาวุธปืนยาวในมือ กำลังสับลูกเลื่อนขึ้นกระสุนเข้ารังเพลิง หวังซ้ำเป้าหมายอีกระลอก แต่ช้าไปแล้วเมื่อผมวิ่งเข้าไปหลบในบ้านอย่างรวดเร็วด้วยสัญชาติญาณเอาตัวรอดและการนำพาแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ

และอีกหนึ่งชิ้นงานของนักเขียน 2 พี่น้องตระกูล โตะมะ ที่สูญเสียพ่อไปต่อหน้าตาโดยใช้ชื่อเรื่องว่า “โกรธคนที่ยิงพ่อไหม ?”

ณ ถนนเลียบทางรถไฟหัวสะพานดำ เปลี่ยวไม่มีแสงไฟส่องสว่าง แต่เป็นเส้นทางเดียวที่ครอบครัวเราต้องใช้เพื่อเข้าออกหมู่บ้านบาโด ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ภาพอดีตติดตาติดใจเสมอ พ่อนอนจมกองเลือด กระสุนเก้านัดยิงตั้งแต่สมองจนถึงลำตัว ฉันค่อยๆ ประคองศรีพ่อที่หมดลมหายใจแล้ววางบนตัก สี่ชั่วโมงเต็มที่ต้องอยู่ในสภาพนั้น ไร้ซึ่งผู้คน เพื่อรอรถกู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือ
2 ปี กับการเดินทางร่วมกันระหว่างนักเขียนกับทีมกองบรรณาธิการ

ฐิตินบ เล่าปิดท้ายว่า “ใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ปีสำหรับกระบวนการทำหนังสือเล่มนี้ ต้นฉบับเรื่องเล่าถูกร่างส่งอ่านไปมาระหว่างเจ้าของเรื่องกับกองบรรณาธิการ ในที่สุดจำนวนเรื่องเล่าทั้งหมด 20 ชิ้น จากนักเขียน 22 คนก็เสร็จสิ้น สะท้อนถึงการเดินทางร่วมกัน โดยพบว่าความสูญเสียของแต่ละคนนั้นต่างกันแต่สามารถเชื่อมต่อความรู้สึกกันได้ พวกเขาต่างต่อสู้กับการตึกตรองชีวิตด้านใน และถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อสะท้อนพื้นที่การต่อรองกับความหวั่นไหวและความกังวลของตนเองออกมา” ฐิตินบ กล่าว





แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.