Posted: 29 Jul 2017 08:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน หัวหน้ากองข่าว มทบ.23 พยานผู้กล่าวหา ‘ไผ่’ และ ‘ดาวดิน’ ให้การเป็นพยานโจทก์ระบุดาวดินช่วยชาวบ้านน่าชื่นชม แต่คัดค้าน รปห. ผิดกฎหมาย ต้องถูกปรับทัศนคติ หลังดื้อดึงไม่ยอมถูกปรับทัศนคติจึงส่งดำเนินคดี


ภาพ จตุภัทร์ ชูป้าย รวมกับเพื่อนกลุ่มดาวดิน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58

29 ก.ค.2560 จากเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่ามา ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น ได้นัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่’ กรณีตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป หมายเลขคดีดำที่ 61/2559 ซึ่งโจทก์นัดพยานไว้ 2 ปาก คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้กล่าวหา และ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ชุดจับกุมในวันเกิดเหตุ

คดีนี้สืบเนื่องมาจากจตุภัทร์ พร้อมเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มดาวดิน รวม 7 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จับกุมขณะชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 และตั้งข้อหา ชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 โดยทั้ง 7 คน ให้การปฏิเสธ และประกันตัวไปในชั้นสอบสวน ต่อมา แสดงการอารยะขัดขืนโดยไม่เข้ารายงานตัวตามที่พนักงานสอบสวนนัด หลังจากนั้น ขณะจตุภัทร์ได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดภูเขียวในคดีแจกเอกสารประชามติ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.59 ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่นได้นำหมายจับในคดีนี้ ลงวันที่ 13 มิ.ย.58 ไปจับกุมจตุภัทร์ที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ นำตัวส่งอัยการศาล มทบ.23 และอัยการส่งฟ้องศาลในเวลา 20.30 น. ของวันเดียวกัน จตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 23 ส.ค.59 โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 10,000 บาท

สำหรับการสืบพยานในครั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน กระบวนการพิจารณาด้วยว่า พ.อ.สุรศักดิ์ เข้าเบิกความต่อศาล จนถึงเวลา 15.00 น. ศาลจึงเลื่อนการนำ ร.อ.อภินันท์ เข้าตอบคำถามค้านทนายจำเลย หลังจากเบิกความไว้ในนัดก่อนเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ไปเป็นวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 13.30 น

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้รายงาน คำเบิกความพยานโจทก์ โดยสรุป ไว้ดังนี้


พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 พยานรับราชการอยู่ มทบ.23 ตำแหน่ง หัวหน้ากองข่าว นอกจากนี้ พยานยังปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ขอนแก่น ด้านการข่าว พยานเป็นผู้กล่าวหานายจตุภัทร์ พร้อมกับพวกอีก 6 คน ในข้อหาขัดคำสั่งของ คสช. ชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่คนอื่น ๆ หลบหนี มีนายจตุภัทร์คนเดียวเป็นจำเลยในคดีนี้

ก่อนเกิดเหตุ พยานทราบจากเฟซบุ๊กของกลุ่มดาวดินว่า มีการเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวเพื่อคัดค้านรัฐประหาร และก่อนเกิดเหตุ 1 วัน เจ้าหน้าที่พบนักศึกษา 2 คน แจกใบปลิวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เพื่อเชิญชวนคนทั่วไปให้มาร่วมกิจกรรม จึงได้ได้ติดตามเฝ้าระวังความเคลื่อนไหว

ในวันเกิดเหตุ พยาน รวมทั้งสารวัตรทหาร (สห.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เฝ้าระวังอยู่บริเวณรอบ ๆ อนุสาวรีย์ฯ พบจำเลยกับพวกรวม 7 คน เดินทางมาที่เกิดเหตุ และชูป้ายผ้าคัดค้านรัฐประหาร ตำรวจจึงได้เข้าแจ้งว่า เป็นการกระทำผิด ให้ยุติการกระทำ แต่จำเลยกับพวกไม่ยุติ สห. และตำรวจจึงได้เชิญตัวไปค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) เพื่อปรับทัศนคติ และเข้าสู่กระบวนการอบรม จำเลยกับพวกมีการขัดขืนดื้อดึง และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว พยานจึงได้ส่งตัวให้ สภ.เมืองขอนแก่น ดำเนินคดี

เอกสารหลักฐานในคดีที่พยานได้ลงลายมือชื่อ ได้แก่ ทำบันทึกการจับกุม, บัญชีของกลาง และภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ต่อมา พยานได้นำหลักฐานส่งพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อประกอบสำนวนคดี ได้แก่ บันทึกข้อตกลง และแผ่น CD บันทึกภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พ.ย.57 และจำเลยกับพวกได้ไปชู 3 นิ้ว ไม่เอารัฐประหาร เป็นข้อตกลงระหว่างจำเลย กองกำลังฯ และผู้ปกครองนักศึกษา 5 ท่าน ว่านักศึกษาทั้ง 5 จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมี ผบ.มทบ.23 และ ผวจ.ขอนแก่น เข้าร่วมพูดคุย และลงชื่อเป็นพยาน

พฤติการณ์การชุมนุมของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าให้ถูกต้องจะต้องขออนุญาตจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ขอนแก่น ก่อน ถ้าได้รับอนุญาตจึงจะจัดได้ แต่จำเลยและพวกไม่ได้ปฏิบัติ

จากนั้นทนายจำเลยได้ถามค้าน ซึ่ง พ.อ.สุรศักดิ์ ได้ตอบคำถามว่า หลังจำเลยกับพวกได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชู 3 นิ้ว ต่อหน้าหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 57 พนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกประวัติของจำเลย โดยระบุในช่อง อาวุธ/ยานหาพนะ ว่า “ชู 3 นิ้ว” นั้น ไม่ได้หมายความว่า ชู 3 นิ้ว คืออาวุธ แต่หมายถึง การชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ส่วนสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น พยานไม่ทราบว่า หมายถึง เสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ หรือไม่ และหากหมายถึง เสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ จริง พยานก็ไม่ทราบว่า จำเลยจะสามารถแสดงออกว่าต้องการ 3 สิ่งนั้นได้หรือไม่

พยานทราบว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รวมตัวกันทำกิจกรรมทางสังคม ในทางการข่าวก็มีปรากฏว่า กลุ่มดาวดินไปทำกิจกรรมช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ซึ่งพยานเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี น่าชื่นชม

พยานจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก่อนที่พยานจะเข้ารับตำแหน่ง พยานเคยกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่า จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และจะรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพยานเห็นว่า การรักษาระบอบประชาธิปไตยฯ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่พยานไม่ขอตอบว่า การที่จำเลยคัดค้านรัฐประหารเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และหลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 57 พยานได้ทำตามที่พยานได้ให้คำปฏิญาณไว้หรือไม่ พยานยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาอย่างถูกต้อง

ประชาธิปไตยกับเผด็จการที่มาจากการรัฐประหาร อย่างไหนดีกว่ากันนั้น พยานไม่ขอตอบ ถ้าจำเลยเห็นว่า ประชาธิปไตยดีกว่า ก็มีสิทธิแสดงออกในทางที่ถูกต้อง

การชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐประหาร จะถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 5/57 ที่ให้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 สิ้นสุดลง และให้ ครม.ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฎหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร และการแต่งตั้งคณะบุคคลเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ รวมทั้งไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยกับการกระทำทั้ง 4 อย่างดังกล่าวมาหรือไม่ หากจำเลยเห็นว่า การกระทำทั้งหมดนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยมีสิทธิแสดงออกได้ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ถ้ากฎหมายออกมาห้ามประชาชนกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือถ้ากฏหมายไม่ถูกต้อง พยานไม่ขอตอบว่า พยานจะปฏิบัติตามหรือไม่

ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ 1 วัน ที่พยานเบิกความว่า มีประชาชน 2 คน มาแจกใบปลิวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ไม่ปรากฏชื่อ-นามสกุล และพยานก็ไม่ได้เห็นข้อความในใบปลิว และที่พยานเบิกความว่า มีการโพสต์เฟซบุ๊คเชิญชวน พยานก็ไม่ได้ยื่นให้พนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐาน

การจัดกิจกรรมที่เป็นเหตุในคดีนี้ มีการส่งหนังสือเวียนในกองกำลังฯ ว่ามีการประสานแล้วว่าจะทำกิจกรรม แต่ไม่ได้ขออนุญาต และไม่ปรากฏว่ามีการส่งกำลังไปจับนักศึกษาก่อนที่จะมาทำกิจกรรม เมื่อพยานได้รับข่าวว่าจะมีการทำกิจกรรม พยานก็ได้รับคำสั่งให้ไปเฝ้าระวัง

พยานไม่ได้ร่วมจับกุม เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ด้านนอก หัวหน้าชุดจับกุม คือ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร (ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23) ซึ่งพยานเห็นขณะ ร.อ.อภินันท์ เข้าเชิญตัวจำเลยว่า เข้าเชิญโดยละมุนละม่อม โดยอ้าง ม.44 ด้วย แต่ไม่เห็นว่ามีการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ตาม ม.44 จะเป็นการแสดงตัวโดยการแต่งเครื่องแบบ

โดยทั่วไปการเชิญไปปรับทัศนคติ จะเชิญเฉพาะคนที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น หากเชิญไปแล้วยินยอมปรับทัศนคติ ก็จะไม่ดำเนินคดี แต่ถ้าไม่ยอมปรับก็จะส่งดำเนินคดี ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ที่ถูกเชิญว่า ไม่ไปก็ได้ กรณีในคดีนี้ เจ้าหน้าที่บังคับให้จำเลยกับพวกไปปรับทัศนคติ เนื่องจากไม่ยอมไปดีๆ

ที่พยานเบิกความว่า ในการจับกุมนักศึกษามีการต่อสู้ขัดขืนนั้น ปรากฏตามภาพเคลื่อนไหวในแผ่นซีดี ส่วนในภาพเหตุการณ์ไม่ปรากฏภาพที่เป็นการดื้อดึงขัดขืนในระหว่างการจับกุม และที่บันทึกจับกุมไม่ระบุว่า นักศึกษามีการต่อสู้ขัดขืน เพราะทหารเห็นแก่ความเป็นนักศึกษาของจำเลยและพวก จึงพยายามลงให้เป็นความผิดน้อยที่สุด

กระบวนการเชิญบุคคลไปปรับทัศนคตินั้น จะเป็นกระบวนการทางกระบวนพิจารณาความอาญาหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ พยานทราบเพียงว่า คนที่ถูกเชิญไปคือคนที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งพยานเห็นว่า ความคิดคัดค้านรัฐประหารผิดกฎหมาย และความคิดสนับสนุนรัฐประหารถูกกฎหมาย ข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” ในป้ายที่จำเลยชูในขณะทำกิจกรรม พยานเห็นว่า ผิดกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้น แต่พยานไม่ขอตอบว่า ผิดกฎหมายใด

เหตุที่พยานแจ้งความดำเนินคดีจำเลย เพราะจำเลยยืนยันว่า ไม่ได้กระทำความผิด และไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ ซึ่งผู้บังคับบัญชาของพยาน สั่งการไว้ว่า ถ้ายอมรับเข้าปรับทัศนคติ แล้วตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ อีก ก็จะไม่ดำเนินคดี เหมือนเมื่อครั้งที่จำเลยไปชู 3 นิ้ว ต่อหน้า หัวหน้า คสช. แม้ในครั้งนั้นจำเลยยืนยันว่าจะใช้สิทธิคัดค้านรัฐประหารต่อไปอีก แต่ ผบ.มทบ.23 และผวจ.ขอนแก่น ได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของจำเลยแล้ว ผู้ปกครองยอมรับว่า จะทำความเข้าใจกับจำเลยต่อไป

การทำข้อตกลงห้ามบุคคลแสดงออกทางการเมืองเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นหรือไม่นั้น พยานขอตอบว่า ขัดต่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น

หลังทนายจำเลยถามค้านเสร็จ พยานได้ตอบคำถามที่อัยการทหารถามติงว่า เหตุที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้น ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบที่มีบุคคลเคลื่อนไหว ทำให้ประชาชนบางส่วนเดือดร้อน เมื่อ คสช.ยึดอำนาจแล้ว นอกจากกฎหมายที่ใช้บังคับตามปกติแล้ว ได้มีการออกประกาศ/คำสั่ง คสช. โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่สามารถใช้บังคับได้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย

ข้อตกลงซึ่งห้ามจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งพยานตอบทนายจำเลยว่า ผิดกฎหมายในขณะนั้น พยานหมายความว่า พฤติกรรมที่จำเลยทำในขณะนั้น ซึ่งขัดกับข้อตกลง เป็นการทำผิดกฎหมาย ส่วนข้อตกลงดังกล่าวนั้นเป็นข้อตกลงที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากเป็นการสร้างความรับรู้ เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.