ความหลากหลาย และคณะรัฐศาสตร์

Posted: 27 Jul 2017 09:01 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชไท)

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ตามอ่านบทความ “ความเฉื่อยชา” “ความใจแคบ” และบทความล่าสุด “ข้อสังเกต” ข้าพเจ้าก็ได้เกิดความคิดหลายๆอย่างเช่นกัน จึงขอร่วมวงสนทนาด้วยสักเล็กน้อย และต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าความคิดของข้าพเจ้าค่อนข้างเห็นตรงกับผู้เขียนบทความ “ความใจแคบ” บทสนทนาของข้าพเจ้านี้ ก็คงมีรูปออกมาสนับสนุนความคิดของเขา และตอบโต้ความคิดของ “ความเฉื่อยชา” และ “ข้อสังเกต” ในระดับหนึ่ง (หลังจากเขียนบทความนี้จบ ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ “เพื่อนต่างคณะ” และ “ก้าวแรก” จึงก่อกล่าวถึงบทความเหล่านั้นเพิ่มเติมด้วย)

ประเด็นหลักของบทความนี้มีอยู่ว่า มนุษย์ สังคม และศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ มีความหลากหลายอันนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์อันหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ศาสตร์นี้ไม่สามารถมีความตายตัวได้ เราควรมองสังคม และการเปลี่ยนแปลงสังคมว่าต้องจัดการกับความหลากหลายที่เราอาจมองไม่เห็นเสียด้วยซ้ำ เราสามารถกำหนดจุดยืนของตนเองที่ชัดเจนแน่วแน่ได้ ดังที่ผู้เขียน “ข้อสังเกต” ได้กล่าว แต่นั่นมิได้เป็นเหตุผลในการกำหนดว่า “เพราะฉันมีความชัดเจนแบบนี้ได้ คนอื่นก็ต้องมีความชัดเจนในรูปแบบที่ฉันจะพอใจได้เหมือนกัน” แต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น ความหลากหลายดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ “คณะรัฐศาสตร์” ผูกขาดได้ด้วยซ้ำ ในเมื่อสังคมเป็นสิ่งที่คนทุกคนเป็นส่วนร่วม การถกประเด็นโดยการตั้งสมมติฐานว่า “เพราะเรียนรัฐศาสตร์ เราจึง...” เป็นสิ่งที่ดูถูกผู้อื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งคงเป็นเหตุผลหลักที่บทความ “เพื่อนต่างคณะ” ถูกเขียนขึ้นมา ซึ่งข้าพเจ้าชอบสิ่งที่บทความนั้นกล่าวถึงแทบทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า “คณะรัฐศาสตร์ ทำอะไรได้ในแง่ของสายงาน (career path)” ซึ่งจะเป็นสิ่งตัดสินศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมในลำดับต่อไป ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าจะสามารถหาคำตอบในประเด็นนี้ได้บ้างในบทความนี้เช่นกัน

แต่ก่อนอื่น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าผู้เขียน “ข้อสังเกต” นั้นเข้าใจผิดในประเด็นของอัตวิสัย (Subjectivity) และภววิสัย (Objectivity) ไป ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่าภววิสัยมีอยู่จริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าการเชื่อว่าตนเองมิได้ทำในสิ่งที่เป็นอัตวิสัย หรือถ้าใช้คำพูดของผู้เขียน “ความใจแคบ” คือ การมองแบบมีอคติ แล้วจะนำไปสู่ผลเช่นใด ความมั่นใจที่ว่าตนเองได้เข้าไปสู่ความจริงที่ปราศจากอคติ ความรู้สึกส่วนตัว อาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่การประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ดังเช่นที่ฮิลลารี่ คลินตันพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯต่อโดนัลด์ ทรัมพ์ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าเกิดจากการที่ทีมเลือกตั้งพรรค Democrat มีความมั่นใจเกินไป และมิได้พัฒนาโมเดลการพยากรณ์ผลไปมองฐานเสียงในแถบ Rust Beltที่โดนัลด์ ทรัมพ์มุ่งหาเสียงอยู่

นอกจากนั้น ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าการที่ชีเชควิเคราะห์ความรุนแรงเป็น Subjective Violence, Objective Violence และ Symbolic Violence นั้นเป็นการพิสูจน์ได้อย่างไรว่าโลกนี้อาจมีสิ่งที่เป็น “ภววิสัย” อยู่ เพราะสิ่งที่ชีเชควิเคราะห์เป็นการแยกธรรมชาติของความรุนแรงที่เกิดจากปัจเจกออกจากความรุนแรงที่เกิดจากเป้าหมายของระบบ เช่นระบบทุนนิยม อาจมีนายทุนที่เป็นคนที่ “ดี” ในแง่ของปัจเจก แต่ยังเป็นผู้ก่อความรุนแรงในเชิงระบบ ซึ่งแตกต่างจากการมองเรื่องของ “อคติ” ในฐานะตัวแปรของความจริงไปมาก หรือถึงแม้ว่าชีเชคจะมองเรื่องของความรุนแรงแบบที่มีอคติมาเป็นตัวแปร ข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าการที่สิ่งที่เป็น “อัตวิสัย” และ “ภววิสัย” อย่างแน่แท้ในบริบทของการวิเคราะห์ความรุนแรง จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าความเป็นภววิสัย “อาจมีอยู่จริง” ได้

ที่ข้าพเจ้าพูดเรื่องนี้เป็นเพราะว่า ในบทความ “ความเฉื่อยชา” และ “ข้อสังเกต” นั้น ข้าพเจ้าสัมผัสได้ว่าผู้เขียนต่างรู้สึกว่า “ความเฉื่อยชา” ที่ตนเองสังเกตเห็นในหมู่คนรอบข้าง “ประสิทธิผล” ที่เป็นผลลัพธ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และ “ความกล้าหาญทางศีลธรรม (Moral Courage)” ที่ตนเองปกป้อง เป็นสิ่งที่เป็นจริงแน่แท้ และนักรัฐศาสตร์ทุกหมู่เหล่าพึงมี ผู้ที่ไม่เข้าถึง มิได้เป็นนักรัฐศาสตร์ตัวจริง

ซึ่งนำข้าพเจ้าเข้าสู่เรื่องที่สองที่ข้าพเจ้าต้องการสนทนาในบทความนี้ ได้แก่ประเด็นด้านการนิยาม “ความเฉื่อยชา” และ “ประสิทธิผล” ผู้เขียนทั้งสองกล่าวถึงบ่อยครั้ง

ในด้านของ “ความเฉื่อยชา” นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาเช่นกัน เพื่อนร่วมคณะหลายคนมิได้ “สนใจเรื่องการเมือง” เท่าข้าพเจ้า มิได้มีความกระตือรือร้นที่จะวางแผนชีวิตอนาคตให้มีความเกี่ยวข้องกับสายวิชา และมิได้แสดงความ “อิน” กับประเด็นการเมืองเท่าใดนัก

แต่การที่คนรอบข้างของข้าพเจ้ามีพฤติกรรมเช่นนั้น หมายความว่าพวกเขา “เฉื่อยชา” กว่าข้าพเจ้าจริงหรือ? แน่นอนข้าพเจ้าอาจประเมินพวกเขาผิดไปได้ เพราะข้าพเจ้าก็ไม่สามารถอ่านใจคนอื่นได้อยู่แล้ว หรือในบางแง่ ข้าพเจ้าอาจมีความ “เฉื่อยชา” กว่าพวกเขาด้วยซ้ำ เพราะหลายคนก็ไปรับราชการไม่ว่าจะเป็นปลัด หรือจะเป็นทูต ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นที่น่าสนใจว่า การเรียนรัฐศาสตร์ต้องนำไปสู่การมี “อาชีพ” ที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา (ทั้งๆที่การเข้ากระทรวงต่างประเทศ ก็มิได้ “ตรงสาย” ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขนาดนั้น) หรือไม่ จึงจะถือว่ามีความกระตือรือร้นจริง หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผู้เขียนทั้งสองกล่าวเป็นนัยนั้น เพื่อนข้าพเจ้าบางคนก็ไปร่วมเดินขบวนกับกปปส. ซึ่งแน่นอนว่าข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย แต่หากวัดความ “ไม่เฉื่อยชา” นั้น พวกเขาต้องเป็นคนที่มีความ “อิน” และกระตือรือร้นกว่าข้าพเจ้าเป็นแน่แท้

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงประสบการณ์ข้าพเจ้า ซึ่งอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนทั้งสองรู้สึก สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการถามมิใช่ว่า “อะไรคือความเฉื่อยชา” แต่คือคำถามที่ว่า “ต้องทำอย่างไรให้ไม่เฉื่อยชา” เสียมากกว่า สมมุติว่ามีเพื่อนร่วมคณะของผู้เขียนเดินมาถามในวันพรุ่งนี้ว่า “เราไม่อยากเฉื่อยชาแล้ว เราต้องทำตัวยังไงให้เป็นคนที่มีความตื่นตัวทางสังคม” นั้น ท่านผู้เขียนทั้งสอง จะสามารถให้คำตอบได้หรือไม่ ว่าการ “พยายามเปลี่ยนสังคมโดยมีความกล้าหาญทางศีลธรรม” นั้น ต้องทำอย่างไรในชีวิตจริง หากข้าพเจ้าเป็นคนที่ครุ่นคิดเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองแทบทุกวัน พยายามตามอ่านข่าวเพื่อให้ทันสถานการณ์ แต่มิได้ “ทำ” อะไรเป็นรูปธรรมในแง่ของการเคลื่อนไหว มิได้ไปร่วมเดินขบวน มิได้ไปร่วมเสวนา ฯลฯ ท่านจะมองว่าข้าพเจ้าเป็นคนที่เฉื่อยชาหรือไม่? คำถามนี้พ่วงอยู่กับความเข้าใจของข้าพเจ้าที่มีต่อคำว่า “วิธีการ” ของผู้เขียนทั้งสองเช่นกัน เพราะหลังจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านงานที่ดูเหมือนจะมีจุดยืนใกล้เคียงกันสามบทความ ข้าพเจ้าก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีว่า “ฝ่ายซ้ายใหม่” ที่มี “Moral Courage” นั้นจะทำตัวอย่างไร มีกลยุทธ์เช่นใดที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม และสามารถชักจูงคนอื่นๆมาร่วมขบวนการได้

ซึ่งนำเราเข้าสู่คีย์เวิร์ดคำที่สอง นั่นคือ “ประสิทธิผล” ซึ่งผู้เขียน “ข้อสังเกต” ได้กล่าวถึงสองประเด็นหลัก นั่นคือ “เราไม่ควรให้ข้อจำกัด (เช่นเศรษฐกิจ) มากำหนดวิธีการของเรา เพราะมันอาจเป็นวิธีการที่จะไม่นำไปสู่ความสำเร็จ/ประสิทธิผลได้” และ “การยอมรับความแตกต่างอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงประสิทธิผลได้” ซึ่งข้าพเจ้าขอถกเถียงดังต่อไปนี้

ในเรื่องของข้อจำกัดนั้น ถ้าคนเราทุกคนสามารถมองข้ามมันได้ สิ่งเหล่านั้นคงไม่ถูกมองว่าเป็น “ข้อจำกัด” ไปแล้ว แน่นอนว่าระบบทุนนิยม ระบบการทำงานเป็นเวลา โครงสร้างบริษัท วัฒนธรรมองค์กร สิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อบดบังวิธีการที่จะนำไปสู่การปลดปล่อย (ซึ่งเป็นแบบไหน ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ เพราะข้าพเจ้ามองไม่เห็นถึง “ประสิทธิผล” ที่ผู้เขียนกล่าวอ้างถึง) โดยการลดเวลา ลดพลังงาน ลดความสมานฉันท์ในหมู่แรงงานและชนชั้นกลางจริง แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าคนทุกคนจะ มี Moral Courage ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตามแต่ หรือ “มีต้นทุนทางชีวิต” พอที่จะตัดสินใจออกมาจัดตั้งเครือข่ายแรงงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผู้เขียนบทความ “ข้อสังเกต” มองว่าเป็นเรื่อง “อย่างน้อยๆ” (ในชีวิตจริง เรื่องพวกนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ไม่ใช่อะไรที่เป็น “อย่างน้อยๆ”)

ในทางประวัติศาสตร์ อาจมีช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยมีความมั่นคง โดยมีกลุ่มเคลื่อนไหวจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหว และปัจจุบันอาจเป็นช่วงเวลาที่เผด็จการเข้มแข็ง โดยมีกลุ่มคน “เฉื่อยชา” จำนวนมาก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการเกิดขึ้นพร้อมกัน (correlation) และมิได้เป็นเหตุเป็นผล (causality) แต่อย่างใด หากผู้เขียนต้องการพิสูจน์ว่าวิธีการเคลื่อนไหวทางสังคมจะนำไปสู่ประสิทธิผลที่ดีได้ ก็ต้องแสดงให้ผู้อ่านอย่างข้าพเจ้าเห็นถึงกระบวนการที่เป็นเหตุและผลที่ชัดเจนได้

ซึ่งนำมาสู่ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องของ “ประสิทธิผลและความหลากหลาย” ที่ผู้เขียนทั้งสองมองว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กลับกัน การมองเห็นคุณค่าในความหลากหลายนี้นี่แหละ อาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในภายภาคหน้าได้

เพื่อนร่วมคณะของท่านอาจไม่มีความ “เข้มข้น” เท่าพวกท่านก็จริง แต่นั่นมิได้หมายความว่าพวกเขามิได้ซึมซับอะไรไปเลยจากการเรียนวิชาต่างๆที่พูดถึงเรื่องของอำนาจ อยุติธรรม การกดขี่ ปัญหาสงคราม หรืออะไรต่อมิอะไรที่นิสิตสิงห์ดำทุกคนจะต้องเจอในช่วงชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าพวกเขาจะมีจุดยืนทางการเมืองเช่นใด บุคลากรที่คณะรัฐศาสตร์บ่มเพาะขึ้นมาคือประชาชนที่พร้อมรับฟังความเห็นต่างโดยที่ไม่ต้องถึงขั้นเกลียดกัน บางคนอาจแสดงออกมากกว่า บางคนอาจนิ่งเฉย แต่การเปลี่ยนแปลงในทัศนคติที่เกิดขึ้น จะเป็นสิ่งกำหนดความคิดที่มีต่อสถานการณ์รอบข้าง ข่าวที่ได้อ่าน ความพร้อมในการตั้งคำถาม ปฏิสัมพันธ์ที่พวกเขาจะมีต่อไปในอนาคต ในที่ทำงาน ในวงเพื่อนเก่า หรือในวงใดๆก็ตาม

ตรงนี้อาจเป็น “จุดเด่น” ของคณะรัฐศาสตร์ก็เป็นได้ ในแง่ที่ว่า คณะนี้สามารถผลิตบุคคลที่มีความเปิดกว้าง และความสนใจ/เข้าใจในปัญหาสังคมบางชุดมากกว่าคณะอื่นๆ ซึ่งมิใช่เพราะเหตุผลทางความ “กล้าหาญ” ที่วิเศษวิโสอะไร แต่เป็นเพราะคณะนี้ใช้เวลา 4 ปีคลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็ย่อมต้องมีความพร้อม ความรู้ และวัฒนธรรมในการสนทนาอย่างเปิดเผย มากกว่าคณะอื่นที่ใช้เวลา 4 ปี (หรือมากกว่านั้น แล้วแต่คณะ) เรียนในเรื่องอื่นๆที่เฉพาะเจาะจงอย่างแตกต่างกันไป และสิ่งที่ได้ไปนี้มิใช่สิ่งที่กำหนดสายงานว่า “คุณจะเป็นผู้ก้าวไปเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยวิธีการ A, B, C…” แต่เป็นเสมือนชุดอุปกรณ์ที่คุณพกพาติดตัวอยู่ และอาจหยิบมาใช้งานทั้งโดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจ ข้าพเจ้าในฐานะเด็กรัฐศาสตร์ สามารถเรียนรู้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพจากเพื่อนคณะแพทย์ ความรู้เกี่ยวกับระบบ deep learning ของ Google AI จากเพื่อนคณะวิศวะ และอีกหลายๆอย่าง ในขณะเดียวกัน คนรอบข้างข้าพเจ้าก็สามารถคุ้นเคยกับเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง หรือเข้าใจวัฒนธรรมในการพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้จากข้าพเจ้าเช่นกัน นี่อาจเป็นคำตอบกับผู้เขียน “เพื่อนต่างคณะ” ได้ว่า ทำไมเราถึงต้องสนใจเพื่อนร่วมคณะรัฐศาสตร์ และทำความเข้าใจกับสิ่งที่คณะนี้มอบให้กับนิสิตผู้เรียนจบคณะนี้ไป ทำไมความหลากหลายใน “สไตล์” เป็นสิ่งที่ดี และจะนำไปสู่คุณประโยชน์บางอย่างได้

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมิได้เกิดจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องบางสิ่ง การปฏิรูปกองทัพ การเปลี่ยนนโยบายกระจายรายได้ การเปลี่ยนระบบการศึกษา การเปลี่ยนจุดยืนในเวทีโลก หรืออะไรก็แล้วแต่เพียงอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดจากการที่ส่วนต่างๆของสังคมสามารถเปลี่ยนไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นโดยการออกแบบ (by design) หรือโดยความบังเอิญ (by coincidence) ก็ตาม การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่นั่นมิได้เป็น “ประสิทธิผล” ที่สูงสุดแต่อย่างใด เพราะการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบาย เชิงสถาบันสังคมการเมือง หรือเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องจะไม่ยั่งยืนเป็นแน่แท้ หากไม่มี “สังคม” ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เราไม่สามารถมองได้หรือ ว่าความ “เฉื่อยชา” ในวันนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆในวันหน้า ที่เราอาจยังมองไม่เห็นในตอนนี้

ข้าพเจ้าขอทิ้งท้ายด้วยสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกเมื่อข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษา เมื่อเข้ามาเรียนในคณะนี้แล้ว ข้าพเจ้าจำได้ว่าอาจารย์ได้ยิงคำถามมาว่า “รัฐศาสตร์คืออะไร” ซึ่งถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าก็ตอบไม่ได้อยู่ดี และความตอบไม่ได้นี่แหละ ที่อาจเป็น “แก่น” ของรัฐศาสตร์สำหรับข้าพเจ้า

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้อดทนอ่านบทความนี้จนจบ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้สนทนากันแบบเห็นหน้ากันในโอกาสหน้า

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.