ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ออกประกาศให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกประเภท ต้องลบข้อมูลออกหลังได้รับหนังสือการร้องเรียน โดยแบ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ต้องลบออกภายใน 7 วัน ความผิดตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง และความผิดตามมาตรา 14 (4) ต้องลบออกภายใน 7 วัน
อ่านทั้งฉบับได้ที่ เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา
28 ก.ค. 2560 จากเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) วิเคราะห์ว่า นอกจากประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ดังกล่าวแล้ว ยังมีประกาศเรื่องอื่นๆ อีก รวม 5 ฉบับ หลังจากเคยเปิดรับฟังความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้
iLaw ระบุว่า ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ฉบับนี้ จะมีผลกระทบต่อเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ ประกาศฉบับนี้ ถูกแก้ไขเพิ่มเติมจากร่าง ฉบับที่ใช้รับฟังความคิดเห็นอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) การกำหนดระยะเวลาในการลบและระงับให้แพร่ตามประเภทความผิดมาตรา 14 และ 2) เพิ่มช่องทางให้ผู้ให้บริการโต้แย้งให้เลิกลบข้อมูลได้ ถ้าหากเจ้าของข้อมูลเห็นว่าไม่ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนการแจ้งเตือน (notice and takedown)
เจ้าของเว็บต้องจัดทำแบบฟอร์ม สำหรับการแจ้งเตือน
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องจัดทำหนังสือแจ้งเตือน (take down notice) เป็นลายลักษณ์อักษรโดยจะจัดทำในรูปแบบใดๆ ก็ได้ แต่จะต้องระบุข้อมูลดังต่อไปนี้
1) ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือตัวแทน
2) แบบฟอร์มร้องเรียน (compliant form) เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้แบบฟอร์มดังกล่าวในการร้องเรียน ซึ่งแบบฟอร์มจะต้องระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- รายละเอียด ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ของผู้ร้องเรียน และลายมือชื่อของผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจแทน
- รายละเอียดการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- ที่อยู่ในการติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น อีเมล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์หรือแฟกซ์ หรืออื่นๆ
- รายละเอียดของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการหรือบุคคลอื่น
- คำรับรองว่าข้อความที่ร้องเรียนเป็นความจริง
วิธีการแจ้งให้ลบข้อมูลโดยผู้ใช้งานทั่วไป
ถ้าผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตพบเห็นว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตดำเนินการ ดังนี้
- ลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือบุคคลอื่น พร้อมกับยื่นเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำผิดตามมาตรา 14 และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- กรอกแบบฟอร์มร้องเรียน พร้อแนบสำเนาใบแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเอกสารหลักฐานอื่นๆ ส่งให้ผู้ให้บริการ
วิธีการระงับหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์
หลังจากที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับแบบฟอร์มร้องเรียน และเอกกสารที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการดังนี้
- ลบหรือแก้ไขไม่ให้ข้อความผิดกฎหมายนั้นแพร่หลายต่อไปโดยทันที
- จัดทำสำเนาข้อร้องเรียน และรายละเอียดข้อร้องเรียนส่งให้กับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือคนที่เกี่ยวข้อง
การระงับการแพร่หลายของข้อมูลให้ทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ต้องไม่เกินระยะเวลาที่ระบุดังต่อไปนี้
1) ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือน ตามมาตรา 14 (1) ต้องระงับภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน
2) ความผิดฐานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องดำเนินการภาย 24 ชั่วโมง
3) ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามก ตามมาตรา 14 (4) ต้องดำเนินการภายใน 3 วัน
การโต้แย้ง
เจ้าของข้อมูลที่ถูกลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์สามารถโต้แย้งให้ยกเลิกการระงับหรือแพร่หลายข้อมูลโดยมีขั้นตอนเช่นเดียวกัน ดังนี้
- ลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้องแจ้งรายละเอียดของข้อมูลที่ถูกระงับ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ความเสียหายที่เกิดกับตนเอง พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว และเอกสารที่แสดงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายอย่างไร
- แจ้งรายละเอียดต่างๆ ต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไม่มีแบบฟอร์ม) พร้อมยื่นเอกสารที่ลงบันทึกประจำวัน และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับการโต้แย้งแล้ว ผู้ให้อาจบริการยกเลิกหรือระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลที่ได้รับแจ้ง "ตามความเหมาะสม" ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ข้อเสนอแนะสำคัญในเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ถูกใช้ในการปรับแก้
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเคยจัดรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศทั้ง 5 ฉบับ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้มาปรับแก้ไขในร่างประกาศ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอหลายข้อที่สำคัญก็ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาหรือปรับแก้ก่อนบังคับใช้ร่างประกาศ เช่น
1) เรื่องกระบวนการพิสูจน์ว่าข้อความใดเป็นความผิดตามกฎหมายที่มีคนแจ้งมาจริงหรือไม่ และยังเป็นการผลักภาระให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องเป็นผู้พิจารณาเองเช่นเดิม
2) ในกรณีที่เนื้อหาที่กระทำความผิดไม่ได้อยู่ในขอบเขตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยที่จะดำเนินการลบ เช่น กรณีของเฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะต้องดำเนินการอย่างไร ถึงจะไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 15
3) ความขัดกันระหว่างกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประกาศของกระทรวง เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขระบุว่าให้ผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลในระบบเอาไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ประกาศฉบับนี้กลับกำหนดระยะเวลาในการลบหรือต้องลบให้เร็วที่สุดตั้งแต่รับแจ้ง
4)จากเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ได้มีการเสนอระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลบข้อมูล คือ ภายใน 20 วัน ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของประชาไท
5) พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการอาจใช้ช่องทางนี้ในการแจ้งลบข้อมูลที่ไม่พึงปรารถนา โดยไม่ต้องดำเนินการขอคำสั่งศาล เพื่อปิดกั้นการเข้าถึง ด้วยขั้นตอนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกต่อไป
นอกจากประกาศฉบับนี้ไม่ได้นำข้อเสนอแนะที่สำคัญที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาปรับแก้แล้ว ประเด็นที่สำคัญสำหรับประกาศฉบับนี้ คือ การกำหนดระยะเวลาในการลบหรือระงับ แบ่งแยกตามความผิดแต่ละประเภทนั้นมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดมาตรา 14 (2) และ (3) ที่ให้ดำเนินการลบหรือระงับภายใน 24 ชั่วโมง โดยที่ยังไม่มีกระบวนการพิสูจน์ข้อมูลเป็นความผิดหรือไม่นั้น อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในระดับบุคคลหรือ กลั่นแกล้งคู่แข่งทางการค้าบนโลกออนไลน์ได้
และถ้าหากเกิดกรณีที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับการแจ้งให้ลบ แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่เห็นหนังสือดังกล่าว หรือหนังสือแจ้งมาถึงในวันหยุด ผู้ให้บริการจะต้องรับผิดตามมาตรา 15 หรือไม่
เรื่องการนับระยะเวลาตามประกาศนั้นควรจะต้องเป็นการนับระยะเวลาตามวันทำงานจันทร์-ศุกร์หรือไม่ เพราะในต่างประเทศการนับเวลาในการลบหรือระงับข้อความนั้นนับตามวันทำการ (business day) ไม่นับรวมวันหยุด เช่น กฎหมาย DMCA ของสหรัฐอเมริกา และระยะเวลาในการลบหรือระงับนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 วัน แต่ต้องไม่เกิน 14 วันทำการ
แสดงความคิดเห็น