เกษตรกรยุคใหม่อาจจะต้องพึ่งเทคโนโลยีปัญญาเทียม
นักวิจัยไมโครซอฟท์พัฒนาระบบไฮเทคเเก่เกษตรกรรายย่อยเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงโลกโดยไม่ทำลายสิ่งเเวดล้อม
ราเนีย จันดรา เคยใช้เวลา 4 เดือนต่อปีในฟาร์มของครอบครัวในอินเดีย ปัจจุบัน เขาเป็นหัวหน้านักวิจัยที่บริษัทไมโครซอฟท์
จันดราต้องการปรับปรุงการทำการเกษตรขนาดเล็กให้รับมือกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษนี้ นั่นก็คือการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกโดยไม่ทำลายสิ่งเเวดล้อม ซึ่งต้องเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้นต่อพื้นที่การเกษตรหนึ่งตารางเมตร เเละเพื่อทำให้ได้เช่นนี้ ชาวนาจำเป็นต้องมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับพืชที่ปลูกทุกตารางเมตร
จันดรากล่าวว่า เมื่อชาวนามีข้อมูลเกี่ยวกับพืชที่ปลูกทุกจุด ก็สามารถระบุได้ว่าต้องจัดการอย่างไรกับปัญหาที่พบ อาทิ ต้องรดน้ำมากน้อยเเค่ไหน ควรรดน้ำเฉพาะในจุดที่พืชต้องการเท่านั้น ควรฉีดยาฆ่าเเมลงหรือใส่ปุ๋ยที่จุดใดบ้าง
ปัจจุบัน อุปกรณ์ไฮเทคที่มีราคาเเพงช่วยปรับปรุงการเกษตรเเบบเเม่นยำในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่กันอยู่เเล้ว แต่จันดราต้องการใช้เทคโนโลยีทันสมัยนี้ในการช่วยลดต้นทุนลงมาผ่านอุปกรณ์ไฮเทคที่มีระบบเชื่อมโยงเข้ากับอินเตอร์เน็ท
ระบบนี้เริ่มต้นที่การติดตั้งตัวเซ็นเซอร์วัดคุณภาพดินที่ราคาไม่เเพงในไม่กี่จุดทั่วพื้นที่เพาะปลูก ตัวเซ็นเซอร์เหล่านี้เชื่อมโยงเข้ากับอินเตอร์เน็ทได้ เเม้แต่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ผ่านทางช่องโทรทัศน์ที่ไม่ได้ใช้งาน เเล้วติดตั้งระบบถ่ายภาพทางอากาศ โดยไม่จำเป็นต้องใช้โดรน เเค่ติดโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนติดกับอุปกรณ์ยึดเเล้วผูกเข้ากับลูกโป่งก็ใช้ได้ โดยให้ลูกโป่งลอยอยู่สูงจากพื้นที่ระดับ 100 หรือ 150 ฟุต แล้วนำลูกโป่งเดินตระเวณไปทั่วพื้นที่เพาะปลูก
หลังจากนั้น ระบบคอมพิวเตอร์จะทำการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศที่ได้กับข้อมูลที่ได้รับจากตัวเซ็นเซอร์ เเล้วร่างแผนที่ที่มีรายละเอียดระบุว่าดินตรงจุดไหนมีความเป็นกรดสูงมากเกินไป หรือจุดใดต้องรดน้ำเพิ่มเติม
ในขณะนี้ ระบบการเกษตรเเบบเเม่นยำสำหรับพื้นที่เพาะปลูกขนาดย่อมกำลังได้รับการทดสอบในสหรัฐฯ และในอินเดีย
จันดราหวังว่าจะช่วยลดราคาของระบบนี้ลงมาที่ไม่เกินหนึ่งร้อยดอลลาร์สหรัฐฯ และเขาบอกว่าเเม้เเต่อดีตเพื่อนบ้านในอินเดียของเขาก็สามารถใช้งานระบบนี้ได้
เขากล่าวว่าอยากจะกลับไปอินเดียเพื่อช่วยเกษตรกรปรับปรุงการเกษตรให้ดินมีคุณภาพ เลือกปลูกพืชถูกต้องตามลักษณะของดิน วิธีทำการเกษตรที่เหมาะสมและช่วยปรับปรุงปริมาณผลผลิต
บรรดาบริษัทเทคโนโลยี เช่น ไมโครซอฟท์ กูเกิ้ล และแอมะซอน ต่างเชื่อว่าภาคการเกษตรกรรมจะเป็นจุดต่อไปที่จะมีการปฏิวัติทางดิจิตอล
source :- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=066993857503916978
แสดงความคิดเห็น