Posted: 27 Jul 2017 04:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ต่อสู้มานานหลายปี จนรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ผ่านกฎหมายห้ามทำเหมืองแร่เหล็ก ล่าสุดมีการสรุปบทเรียนว่าบรรษัทต่างชาติที่พยายามเข้าไปขุดแร่และสร้างมลภาวะในเอลซัลวาดอร์ใช้วิธีการทั้งจูงใจและลงโทษ เพื่อทำให้ชุมชนแตกแยกหรือทำให้นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย ขณะที่ฝ่ายต้านเหมืองนอกจากการรวมตัวอย่างเข้มแข็งแล้ว ยังใช้การหารือเพื่อทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น


การประท้วงการทำเหมืองของบรรษัท "Canadian Pacific Rim Mining" ที่เอลซัลวาดอร์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/ejatlas.org)

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมากลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมต่อต้านการทำเหมืองแร่ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญจากการต่อสู้ คือการทำให้ประเทศเอลซัลวาดอร์ประกาศแบนการทำเหมืองแร่เหล็กภายในประเทศของตนได้และนับเป็นประเทศแรกที่ประกาศเช่นนี้ ซึ่งสื่อขององค์กร "เดโมเครซีเซนเตอร์" ระบุว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจไม่อาจชนะได้เสมอไป ชาวเอลซัลวาดอร์สามารถเอาชนะแผนการของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่พยายามขยายโครงการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนได้

เดโมเครซีเซนเตอร์นำเสนอบทเรียนและบทวิเคราะห์การต่อสู้ในเรื่องนี้ของชาวเอลซัลวาดอร์ ที่มองว่าเป็นชัยชนะของประชาชนหลังจากที่ ส.ส. ออกกฎหมายห้ามทำเหมืองเพียงแค่ 6 เดือน หลังจากที่ศาลธนาคารโลกตัดสินเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทเหมืองแร่ของแคนาดา

เดโมเครซีเซนเตอร์ทำการศึกษาและวิเคราะห์บทเรียนในครั้งนี้จากการสัมภาษณ์องค์กรเคลื่อนไหวเคลื่อนไหวหลายกลุ่มในเอลซัลวาดอร์ รวมถึงองค์กรศึกษานโยบายในสหรัฐฯ และองค์กรจับตามองเหมืองแร่แคนาดา ทั้งในเรื่องยุทธวิธีของกลุ่มบรรษัทเหมืองและวิธีการต่อสู้ของพวกเขาในการปกป้องผืนน้ำและสิ่งแวดล้อมจากโครงการของบรรษัทแสวงหาผลกำไรได้



ข้อมูลเรื่องการทำเหมืองแร่ในเอลซัลวาดอร์


ในทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเอลซัลวาดอร์ไม่ได้เป็นประเทศที่ทำเหมืองแร่เป็นหลัก มีการทำเหมืองแร่อยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่จะเป็นการทำเหมืองแร่ในสเกลเล็กๆ ระดับพื้นบ้าน มีเหมืองแร่ะดับบรรษัทไม่มากนักแต่ก็ทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทางน้ำ

เดิมทีการสู้รบภายในของเอลซัลวาดอร์ทำให้บรรษัทเหมืองแร่ต่างชาติไม่เข้ามาทำเหมือง แต่ต่อมาหลังมีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพก็มีบรรษัทเหมืองของแคนาดาชื่อแปซิฟิกริมเข้ามาในปี 2545 พวกเขาต้องการทำเหมืองในพื้นที่ที่เรียกว่า "เอล โดราโด" แถบพื้นที่คาบานาสของแม่น้ำเล็มปา ประชาชนในพื้นที่เริ่มต่อต้านเหมืองโดยการรวมตัวกันเป็น "สภาโต๊ะกลมเพื่อการต่อต้านเหมืองแร่เหล็กในเอลซัลวาดอร์" ในปี 2548 ซึ่งเน้นการปกป้องผืนน้ำจากผลกระทบของเหมือง โดยทรัพยากรน้ำของเอลซัลวาดอร์อย่างน้อยร้อยละ 90 ปนเปื้อนมลภาวะไปแล้ว เอลซัลวาดอร์ยังเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะโลกร้อนด้วย



วิธีการของบรรษัทเหมืองแร่

ถึงแม้จะมีการต่อต้านจากประชาชนแต่บรรษัทเหมืองแร่เองก็มียุทธวิธีการต่อสู้ของตัวเองเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือวิธีการที่เรียกว่าการ "จูงใจ" โดยทั้งวิธีการให้รางวัลและการลงโทษผสมผสานกัน บรรษัทเหมืองแร่แปซิฟิกริมที่ถูกโอเชียนนาโกลด์ บรรษัทของแคนาดา-ออสเตรเลีย เข้าซื้อกิจการในปี 2556 ใช้วิธีการตั้งองค์กรดำเนินกิจกรรมการกุศลเพื่อพยายามชนะใจชุมชน พวกเขาทำเช่นนี้ไปพร้อมๆ กับวิธีการเก่าแก่อย่างการล็อบบี้เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากระบบการเมือง

อีกวิธีหนึ่งที่พวกเขาใช้เป็นวิธีการเชิง "บีบบังคับ" มากกว่า พวกเขาพยายามทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน และทำให้นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทำงานโดยเสี่ยงภัยมากขึ้น รวมถึงมีการฟ้องร้องรัฐบาลเอลซัลวาดอร์หลังจากที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ปฏิเสธไม่ให้ใบอนุญาตทำเหมืองแร่เอลโดราโด

บรรษัทนี้จัดตั้งกองทุนมูลนิธิที่เรียกว่า 'มูลนิธิเอลโดราโด' ขึ้น โดยทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างภาพให้ตัวเองดูเหมือนเป็นผู้เอื้อประโยชน์ต่อ "การพัฒนา" รวมถึงเป็นผู้บริจาคในการสนับสนุนทีมฟุตบอล งานเทศกาล ต่างๆ เพื่อทำตัวใกล้ชิดกับชุมชน

แต่เจน มัวร์ จากองค์กรจับตามองเหมืองแร่แคนาดาก็บอกว่าบรรษัทพูดอย่างหนึ่งกับชาวบ้านแต่พูดอีกอย่างหนึ่งกับคนถือหุ้น นอกจากนี้ยังทำให้สมาชิกในชุมชนหรือครอบครัวบาดหมางกันเพราะมีคนบางส่วนได้รับผลประโยชน์จากบรรษัทส่วนบางคนก็ต่อต้านการทำเหมืองแร่อย่างหนัก

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าบรรษัทเหมืองแร่จะบอกว่าพวกเขาเข้าไปสร้างงานให้กับคนในพื้นที่แต่กเป็นงานที่มีสภาพย่ำแย่มากที่สุดในนั้น ทำให้เป็นการให้ความหวังแบบผิดๆ กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้โอเชียนนาโกล์ดยังพยายามกว้านซื้อพื้นที่ในสื่อต่างๆ อย่างหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนทางการเมืองและทางสังคมด้วย

เรื่องนี้ทำให้สภาโต๊ะกลมประณามพฤติกรรมของบรรษัทให้สาธารณชนได้รับรู้ รวมถึงเรื่องที่บรรษัทโอเชียนนาโกล์ดไม่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมตามกฎหมายแต่กลับพยายามใช้วิธีการชักจูงให้ผู้คนกลับมาเห็นด้วยกับการฟื้นฟูโครงการเหมืองของพวกเขาอีกครั้ง

ในแง่ของการล็อบบี้บรรษัทเหมืองพยายามเข้าหานายกเทศมนตรีที่สนับสนุนการทำเหมืองแร่โดยไม่ผ่านกระบวนการอนุญาตจากฝ่ายบริหารทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคที่ส่วนใหญ่มักจะต่อต้านการทำเหมืองแร่เลย จากบันทึกของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังระบุอีกว่าบรรษัทเหมืองแร่นี้เคยพยายามเรียกร้องให้ทางการแก้ไขกฎหมายการทำเหมืองแร่และถึงขั้นร่างกฎหมายของตัวเองขึ้นมาและพยายามขอให้ผ่านร่างในสภาแต่ไม่สำเร็จ แต่ก็ยังทำตัวน่าอายด้วยการคงอยู่ในประเทศเอลซัลวาดอร์เพื่อรอให้สายลมทางการเมืองเปลี่ยนทิศมาเข้าทางตัวเอง



ด้านมืดของบรรษัทเหมือง

อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีความขัดแย้งเรื่องการทำเหมือง มีนักกิจกรมเพื่อสิ่งแวดล้อม 5 รายถูกสังหารในช่วงปี 2552 ถึง 2554 หนึ่งในนั้นเป็นหญิงท้องแก่อายุครรภ์ 8 เดือน ทำให้ทางสหประชาชาติและหลายองค์กรออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อประณามแปซิฟิกริม ที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มโต๊ะกลมต่อต้านการทำเหมืองแร่เหล็กตั้งสมมุติฐานว่าการสังหารและการสูญหายของนักกิจกรรมเหล่านี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะพวกเขาทำงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม



การใช้อำนาจจากต่างประเทศชี้ขาดข้อพิพาท


บรรษัทยังใช้วิธีที่ให้ต่างชาติใช้อำนาจอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อขัดแย้ง โดยแปซิฟิกริมใช้วิธีการฟ้องร้องรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ต่อศาลศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อยุติข้อพิพาทการลงทุน (ICSID) ของธนาคารโลกในเรื่องที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ไม่อนุญาตให้พวกเขาทำเหมือง อีกทั้งยังใช้วิธีเปลี่ยนสถานที่จดทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิคุ้มครองจากสนธิสัญญาการค้าระหว่างสหรัฐฯ โดมินิกัน และอเมริกากลาง แต่ว่า ICSID ก็ทำคดีนี้โดยใช้ฐานการพิจารณาเป็นกฎหมายการลงทุนของประเทศเอลซัลวาดอร์เอง นอกจากนี้เอลซัลวาดอร์ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการลงทุนในอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุแบบนี้อีก

ถึงที่สุดแล้ว ICSID ก็ตัดสินให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ไม่มีความผิดและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายใดๆ จากการที่พวกเขาไม่อนุญาตให้มีการทำเหมือง นอกจากนี้ยังให้บรรษัทเหมืองต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคดีให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์เป็นเงิน 8 ล้านดอลลาร์ด้วย อย่างไรก็ตามการพยายามฟ้องร้องของบรรษัทแปซิฟิกริมก็แสดงให้เห็นถึงการพยายามเรียกใช้อำนาจชี้ขาดข้อขัดแย้งจากต่างประเทศมาเป็นเครื่องมือ รวมถึงใช้ยุทธวิธีเคลื่อนย้ายไปยังจุดอื่นเพื่อให้ข้อกฎหมายในพื้นที่นั้นๆ เข้าข้างพวกเขามากกว่า

แต่คำตัดสินของ ICSID ก็กลายเป็นข่าวระดับโลกส่งผลทางบวกให้กับผู้ที่ต่อสู้กับเหมืองอย่างสภาโต๊ะกลมไปด้วย

เดโมเครซีเซนเตอร์ระบุว่าหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จคือการริเริ่มจัดขบวนคนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ มีโครงการที่ส่งเสริมในทางบวกและปรับตัวกับบรรยากาศทางการเมืองในสมัยนั้น



เดินเกมก่อนล่วงหน้าบรรษัท

กลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ใช้วิธีการจัดขบวนและมีปฏิบัติการก่อน พวกเขาให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากเหมืองแร่จากประสบการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จากที่เอลซัลวาดอร์เองก็มีประวัติศาสตร์การถูกคุกคามจากเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มาก่อน พวกเขายังเรียนรู้จากในฮอนดูรัสที่ช่วงปลายคริสตทศวรรษที่ 90 เหมืองแร่ซานมาร์ตินทำให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และในบางแห่งก็สร้างมลภาวะทางน้ำ

เปโดร คาเบซาส จากสมาคมเพื่อการพัฒนาแห่งเอลซัลวาดอร์ (CRIPDES) กล่าวว่าสาเหตุที่กลุ่มบรรษัทที่เข้ามาสำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ไม่ได้รับใบอนุญาตเพราะการต่อต้านอย่างแข็งขันจากหลายชุมชนในเองซัลวาดอร์ล่วงหน้าพวกเขา และในเวลาต่อมากลุ่มต่อต้านเหมืองแร่เหล่านี้ก็เล็งเห็นว่าพวกเขามีความจำเป็นต้องรวมตัวเป็นขบวนการต้านเหมืองแร่ระดับชาติขึ้น



หารือกับประชาชนทั่วไป

เดโมเครซีเซนเตอร์ระบุว่าการปรึกษาหารือกับประชาชนทั่วไปเป็นวิธีที่นักเคลื่อนไหวในลาตินอเมริกาใช้กันเป็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยตรงในประเด็นที่ส่งผลกระทบกับผู้คนเหล่านั้น ในเอลซัลวาดอร์เองก็มีระบบที่ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนร้อยละ 40 ในท้องถิ่นเรียกร้องให้มีการอภิปรายหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพวกเขาเจ้าหน้าที่ทางการในท้องถิ่นนั้นๆ ก็ต้องดำเนินการให้มีการอภิปราย

ในการต่อสู้เพื่อให้มีการแบนเหมืองแร่โดยถาวรนั้น การจะไปเคลื่อนไหวกับรัฐบาลระดับชาติที่มีความผันผวนทางการเมืองคงทำไม่ได้มาก จึงมีการเน้นทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่นแต่มีการเคลื่อนไหวร่วมกันระดับชาติ จนเกิดการสั่งแบนเหมืองไปในแต่ละเทศบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาเบซาสมองว่าการหารือร่วมกับชุมชนก็เป็นกระบวนการทางการเมืองในตัวมันเอง การมีส่วนร่วมของรัฐบาลท้องถิ่นส่งผลถึงการแบนในระดับชาติด้วย จึงถือเป็นการใช้ "เครื่องมือประชาธิปไตย" ในการช่วยเคลื่อนไหวปกป้องอธิปไตยของเอลซัลวาดอร์



มีพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงสำคัญ


กลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ในเอลซัลวาดอร์ยังได้ร่วมมือกับองค์กรศาสนาคริสต์ร่วมออกสโลแกนในทำนองว่า "น้ำคือชีวิต เหมืองคือความตาย" นอกจากนี้ยังมีองค์กรทางสังคมอื่นๆ เข้าร่วมการเดินขบวนในวันที่ 9 มี.ค. 2560 ซึ่งมีผู้คนนับหมื่นนับพันเข้าร่วม เป็นวันสำคัญแห่งการเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายแบนการทำเหมือง องค์กรศาสนาคริสต์ยังช่วยให้มีคนลงนามต่อต้านเหมืองเพิ่มขึ้นจนเป็น 30.000 รายชื่อด้วยคาเบซาสบอกว่าทุกกลุ่มภาคส่วนทางการเมืองและภาคส่วนทางสังคมต่างก็มีส่วนร่วมจนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สภายอมผ่านร่างได้สำเร็จ



ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

ฝ่ายต่อต้านเหมืองแร่มีจุดยืนที่ชัดเจนแต่แรกแล้วคือการต่อต้านเหมืองแร่โดยสิ้นเชิงจึงทำให้มีการรวมตัวขับเคลื่อนร่วมกันกับพันธมิตรในต่างประเทศและองค์กรในประเทศได้ จากจุดยืนนี้เองทำให้พวกเขาต้องส่งสารออกไปอย่างชัดเจนว่า "แหล่งน้ำสำคัญกว่าทองคำ"

กลุ่มต่อต้านเหมืองร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศทำการศึกษาวิจัยจนสามารถแก้ไขมายาคติหรือความเข้าใจผิดที่บรรษัทเหมืองสร้างเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างเรื่องการสร้างงาน การลงทุึนจากต่างชาติ หรือ "การทำเหมืองอย่างมีความรับผิดชอบ" ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้มีคนมีวัตถุประสงค์เดียวกันทั้งหมดเพราะคนในชุมชนบางส่วนก็ยังมีคนเชื่อมายาคติจากบรรษัทอยู่ บรรรษัทก็พยายามปรับภาพลักษณ์ตัวเองด้วยการส่งเสริม "เหมืองแร่ที่มีความรับผิดชอบ" หรือ "เหมืองแร่สีเขียว" อยู่เช่นกัน แต่การยืนยันจุดยืนต้านเหมืองของกลุ่มนักเคลื่อนไหวก็ทำให้เกิดการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากไว้ได้



การสนับสนุนจากกลุ่มต่างชาติผู้มีหัวอกเดียวกัน


มีกลุ่มองค์กรต่างชาติหลายจำพวกเข้าไปในเอลซัลวาดอร์มานานแล้วนับตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองรวมถึงกลุ่มต่อต้านเหมือนแร่และกลุ่มส่งเสริมสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรน้ำด้วย พวกเขาร่วมมือกับองค์กรต้านเหมืองอื่นๆ ในอเมริกากลาง อีกสาเหตุหนึ่งที่พวกเขาได้รับการสนับสนุนคือการที่ประเทศเอลซัลวาดอร์มีทรัพยากรน้ำอยู่มาก เป็นแหล่งน้้ำสำคัญที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำอื่นๆ จึงมีคนคิดว่าควรมีการแบนการทำเหมืองในภูมิภาคเหล่านี้ รวมถึงมีการพูดถึงสนธิสัญญาการจัดการน้ำในระดับภูมิภาค

เจน มัวร์ กล่าวว่าการได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองเป็นกุญแจสำคัญ ไม่ว่าจะจากชาวฮอนดูรัสหรือชาวกัวเตมาลา หรือแม้กระทั่งจากอีกภูมิภาคหนึ่งอย่างฟิลิปปินส์ การแลกเปลี่ยนนี้ช่วยให้มีข้อมูลโต้ตอบมายาคติและการโกหกของบรรษัทได้



บทเรียนสำหรับทั่วโลก


วิดาลินา โมราเลส จากสมาคมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ADES) กล่าวว่าชัยชนะของชาวต้านเหมืองในเอลซัลวาดอร์ถือเป็นชัยชนะของ "คนตัวเล็กๆ ผู้ล้มยักษ์" เป็นบนเรียนสำหรับชาวโลกว่าในขณะที่ชุมชนในเอลซัลวาดอร์เผชิญกับยุทธศาสตร์การพยายามแทรกแซงของบรรษัทข้ามชาติ พวกเขาก็ใช้พลังไปกับการต่อสู้โดยแสวงหาความร่วมมือทั้งจากในระดับชาติและระดับนานาชาติ

โดยที่คาเบซาสบอกว่าถึงแม้จะควรฉลองชัยชนะแต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะบรรษัทเหมืองเหล่านี้จะไม่ยอมเลิกล้มง่ายๆ และอาจจะใช้วิธีการที่รุนแรง

ถึงแม้ในลาตินอเมริกาจะเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับคนที่ทำงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จากที่มีคนทำงานสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเสียชีวิตอย่างปริศนาโดยไม่ได้รับการไขคดี และไม่มีระบบกลไกการตรวจสอบให้กับชุมชนที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบทเรียนว่าในสภาพเช่นนี้พวกเขาพอจะทำอะไรได้บ้าง ในการเพิ่มความเข้มแข็งให้การเคลื่อนไหวทั้งในลาตินอเมริกาและทั่วโลก



เรียบเรียงจาก

The Anti-Mining Struggle in El Salvador – Corporate Strategies and Community Resistance, The Democracy Center, 07-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.