Posted: 28 Jul 2017 11:49 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชไท)

กรมชลฯ แจง 'กัดเซาะสันเขื่อน' 20 เมตร ยันอ่างเก็บน้ำสกลนครไม่ได้แตก ด้าน ศรีสุวรรณ จรรยา ร้องกรมชลประทาน : หยุดบิดเบือน จี้ประยุทธ์ปลดอธิบดีกรมชลฯ และ รมว.เกษตรฯ ออกไปเสีย

29 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ว่า ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องกรมชลประทาน : หยุดบิดเบือนข้อมูลข่าวสารกรณีเขื่อนห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนครแตกพัง และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติควรปลดอธิบดีกรมชลประทาน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกไปเสีย

แถลงการณ์ ระบุว่า กรณีที่มีพายุ “เซินกา(Sonca)” พาดผ่านพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือในหลายๆ จังหวัดเป็นเหตุให้เกิดพายุและฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในขณะนี้นั้น แต่ปรากฏว่าในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะพื้นที่เขื่อนห้วยทราย มีการปล่อยปละละเลยให้มีการกักเก็บและสะสมปริมาณน้ำในเขื่อนไว้เป็นปริมาณมากกว่า 3.05 ล้านลูกบาศ์กเมตร เกินกว่าปริมาตรความจุของเขื่อนจะรองรับได้เพียง 2.66 ล้านลูกบาศ์กเมตร ทำให้เกินน้ำล้นคันเขื่อนจนเป็นเหตุให้สันเขื่อนแตกยาวมากกว่า 20 เมตร ทำให้เกิดน้ำทะลักกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู้ด้านท้ายของเขื่อนไปท่วมพื้นที่ ต.ขมิ้น ต.พังขว้าง ซึ่งมีบ้านเรือน เทือกสวน ไร่นา รถยนต์ของชาวบ้านและพื้นที่ทางการเกษตรจมอยู่ในน้ำ ก่อให้เกิดความเสียหายหลายร้อยหลายพันล้านบาทจนยากที่จะประเมินได้ในปัจจุบัน

แต่ทว่ากรณีที่เกิดขึ้นกรมชลประทานกลับออกมาชี้แจงบิดเบือนข้อมูลข่าวสารผ่านเอกสารเผยแพร่ของกรมฯว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “การกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตรยาว 20 เมตร” เท่านั้นและยังอ้างอีกว่า “ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดใดที่แตกร้าวทุกอ่างยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี” การให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนดังกล่าวเป็นกลวิธีสร้างการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของกรมชลประทานที่ควรชี้แจงแถลงไขข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ประชาชนทราบตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 76 ให้การคุ้มครองไว้ ซึ่งยังผลให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนเกิดการชล่าใจจนไม่สามารถป้องกันแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมอย่างฉับพลันได้

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอเรียกร้องมายัง ฯพณฯนายกรัฐมนตรีและหรือหัวหน้า คสช. ได้โปรดระงับปัญหาเสียแต่ต้นโดยการสั่งปลด “อธิบดีกรมชลประทาน” และ “รมว.กระทรวงเกษตรฯ” ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ออกไปเสียจากตำแหน่งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งบุคคลที่มีความพร้อมมีความสามารถและไม่มีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชนมาทำหน้าที่แทนเสียโดยพลัน จึงจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่รัฐบาลได้ ทั้งนี้ขอเสนอให้เขื่อนทุกเขื่อน(อ่างเก็บน้ำ)ของกรมชลประทานทุกแห่ง จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง ละจัดทำแผนรองรับความเสี่ยง และมีการวางระบบการแจ้งข้อมูลสถานการณ์ของน้ำหรืออุทกวิทยาให้ประชาชนท้ายเขื่อนทราบในทุกช่องทาง เพื่อที่ประชาชนจะได้เตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที และอย่างได้ใช้อำนาจรัฐและเครื่องมือสื่อสารของรัฐบิดเบือนข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนอีกต่อไปเลยด้วย
กรมชลฯ แจง 'กัดเซาะสันเขื่อน' 20 เมตร ยันอ่างเก็บน้ำสกลนครไม่ได้แตก
ขณะที่ข่าวจากกรมชลฯ วานี้ (28 ก.ค.60) ระบุว่า ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า ฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินกา ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่วานนี้ (27 ก.ค.) วัดปริมาณฝนสูงสุดในเขต อ.เมืองสกลนคร ได้มากถึง 130 มิลลิเมตร ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (28 ก.ค. 60) รวมปริมาณฝนตกสะสมมากถึง 245 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น และอ่างเก็บน้ำภูเพ็ก สรุปได้ดังนี้


อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ ความจุเก็บกักสูงสุด 2.43 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีความจุมากกว่าระดับเก็บกัก ร้อยละ 107 ระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 0.20 เมตร เหลืออีก 0.10 เมตร น้ำจะไหลข้ามทำนบดิน เร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มระดับน้ำลดลง ยังไม่มีส่งผลกระทบต่อตัวทำนบดินของอ่างฯ แต่อย่างใด

อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ความจุเก็บกักสูงสุด 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4.53 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 108 ของความจุเก็บกัก ระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 1 เมตร เหลืออีกประมาณ 0.50 เมตร น้ำจะต่ำกว่าระดับสันเขื่อน ได้เร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯอย่างต่อเนื่อง ตัวทำนบดินยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ความจุเก็บกักสูงสุด 2.66 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างฯลดลงเหลือ 1.33 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากก่อนหน้านี้มีน้ำล้นทำนบดิน และกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร ทำให้มีน้ำไหลออกจากอ่างฯลงสู่ด้านท้าย ไปรวมกับปริมาณน้ำในลำนำธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯและถนนบางส่วน กรมชลประทาน ได้เร่งตรวจสอบความเสียหาย พร้อมหาแนวทางซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว

อ่างเก็บน้ำภูเพ็ก ความจุเก็บกักสูงสุด 3.0 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯมากถึง 2.91 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และทำนบดินยังไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้

อนึ่ง เส้นทางการไหลของน้ำในเขตเมืองสกลนคร เกือบทั้งหมดจะไหลไปรวมลงสู่หนองหาร และระบายออกทางลำน้ำก่ำเพียงลำน้ำเดียว ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง แต่เนื่องจากลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุของลำน้ำแล้ว ทำให้การระบายน้ำจากหนองหาร ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดการท่วมขัง ในเบื้องต้น กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 จุด ที่บ่อบำบัดน้ำเสีย จ.สกลนครและหนองสนม เพื่อเร่งระบายน้ำ หากไม่มีปริมาณน้ำมาเพิ่มเติมคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

กรณีที่มีข่าวลือเรื่องของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ที่อยู่ใกล้กับพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์แตกแล้ว นั้น กรมชลประทานขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ที่มีเต็มอ่างฯนั้น ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดที่แตกร้าว ทุกอ่างฯยังมีควมมั่นคงแข็งแรงดี

สำหรับการแก้ปัญหาในเบื้องต้น กรมชลประทาน ได้ระดมเจ้าหน้าที่และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพื้นที่ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างเร่งด่วนแล้ว ทั้งนี้ กรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมกับประสานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้

อนึ่ง นิพนธ์ มังกรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสกลนคร สำนักชลประทานที่ 5 เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งเป็นอ่างเก็บนำขนาดกลาง ความจุอ่างที่ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตร แบกรับน้ำเกินขนาด ส่งผลให้มีน้ำล้นทำนบดิน และพังทลายกินลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร มีน้ำไหลออกทันทีกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียงคือ ต.ขมิ้น ต.พังขว้าง โดยพื้นที่ดังกล่าว เป็นบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร

นอกจากนี้ กระแสน้ำได้กัดคอสะพานบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 (สกลนคร-อุดรธานี) ขาดไป 1 สะพาน เบื้องต้น เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กำลังเร่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่จะต้องประเมินจากสถานการณ์อีกครั้ง ว่าจะใช้วิธีนำถุงทรายมาวาแทนทำนบดินชั่วคราว หรือนำรถแบคโฮเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.