Posted: 27 Jul 2017 08:30 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชไท)

เมื่อมองย้อนดูรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ถูกประเมินว่าขาดความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจตามครรลองประชาธิปไตยและไร้ทักษะด้านการบริหารประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ กระทั่งถูกทำให้เป็นตัวตลกจากพฤติกรรมและวาจาของหัวหน้ารัฐบาลอยู่เนือง ๆ แต่สามารถกุมอำนาจบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเป็นเวลาย่างเข้าปีที่ 4 สามารถผลักดันนโยบายและออกกฎหมายค้านสายตามหาชนจำนวนมากได้ น่าคิดว่าทำไมรัฐบาลที่ถูกประเมินศักยภาพต่ำเช่นนี้สามารถมาอยู่ ณ จุดนี้ได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการประเมินรัฐบาลนี้ด้วยท่าทีดังกล่าวอาจมีมุมอับบางประการที่นำไปสู่ผลการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

หากพิจารณาว่าการแก้ไขดัดแปลงรัฐเป็นไปเพื่อตอบสนองประโยชน์ของชนชั้นแล้วกระบวนการกำหนดนโยบายและตรากฏหมายก็ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลดำเนินการตามลำพัง สิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กระทำอยู่จึงเป็นเรื่องที่พ้นไปจากคณะรัฐมนตรี และ คสช. รัฐบาลนี้มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวและดำเนินการเป็นเอกเทศ หากแต่มีกระบวนการผลิตข้อเสนอ ขานรับ สนับสนุนและปกป้องทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายวิชาการ ตุลาการ ธุรกิจ NGOs และประชาชนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลางในเมืองที่มีความเห็นว่าการรักษาโครงสร้างอำนาจแบบดั้งเดิมโดยเฉพาะก่อนการขยายตัวของประชาธิปไตยไปถึงคนรากหญ้าในปี 2544 นั้นเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดในสายตาพวกเขา พูดสั้น ๆ คือฝ่ายขวาของไทยคือที่ตั้ง รากฐาน กำลังและเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้

คำถามคือฝ่ายขวาของไทยมีพลังเพียงใด?

หากนับฝ่ายขวาเป็นกลุ่มต้านการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่เพื่อคงความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่ไม่เท่าเทียมเอาไว้ การที่ประชาธิปไตยในไทยใช้เวลาเกือบศตวรรษนับจากก่อกำเนิดแต่ไม่สามารถลงหลักเติบโตได้ในประเทศไทยย่อมเป็นดัชนีบ่งชี้พลังของฝ่ายขวาไทยประการหนึ่ง

พลังของฝ่ายขวาไทยส่งผลอย่างมากต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในไทย ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยของไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ แม้บางช่วงมีความก้าวหน้าก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ตามหลังการลุกฮือของมวลชนสู้เผด็จการ-รัฐบาลทหารเช่นในปี 2516 ที่จบลงด้วยการกลับมากุมอำนาจของฝ่ายขวาผ่านการรัฐประหารและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มิต้องพูดถึงการกวาดล้างกลุ่มนักศึกษา-ประชาชนหัวก้าวหน้าผู้เรียกร้องสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นอันเป็นอุดมการณ์พื้นฐานของประชาธิปไตยทั่วประเทศในพุทธทศวรรษที่ 2510

แม้ในขณะกระแสประชาธิปไตยขึ้นสูงภายหลังปี 2535 ที่ทหารกลับเข้ากรมกองและประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ในปี 2540 จนมีการประเมินว่าประเทศไทยน่าจะมีประชาธิปไตยตั้งมั่นและปลอดการรัฐประหารได้อย่างถาวร ทว่าเพียงรอบเวลาไม่ถึงทศวรรษกลับมีรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง ในปี 2549 และ 2557

เป็นข้อเท็จจริงว่าปัญหาของประชาธิปไตยนั้นมีอยู่และเมื่อประชาธิปไตยเปิดช่องโหว่ฝ่ายขวามักฉวยจังหวะเวลานั้นต้านรั้งหน่วงดึงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชนชั้นให้ถอยกลับไปยังจุดที่ตนเองยึดกุมความได้เปรียบเพื่อคุมทิศทางกำหนดชะตากรรมประเทศ

หากเชื่อว่าโลกหมุนไปในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ และระบอบประชาธิปไตยนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงของโลก สิ่งที่น่าสงสัยคือทำไมฝ่ายขวาจึงดูคล้ายกับไม่อ่อนแรงลงโดยง่าย

จะตอบข้อสังสัยดังกล่าวคงต้องย้อนคิดถึงการกำเนิดของฝ่ายขวา ความเป็นฝ่ายขวานั้นก็เช่นเดียวกับความเป็นฝ่ายประชาธิปไตยคือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยเกิดตามธรรมชาติของของทุนนิยมจะไล่รุกปลุกสังคมให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องปลดปล่อยพลังการผลิตและพลังการบริโภคเพื่อเป้าหมายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของทุนคือการเคลื่อนที่ขยายตัวของมันเอง ฝ่ายขวาเองก็มีธรรมชาติของกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องเรียกร้อง ต่อสู้และรักษาตำแหน่งในสังคมที่ได้เปรียบของตนเอาไว้

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีรักษาสถานะทางอำนาจเดิมของฝ่ายขวาในรัฐทุนนิยมมีทั้งการยอมรับการขยายวงเปิดรับกลุ่มผลประโยชน์ใหม่จากชนชั้นอื่นหรือประจันหน้าท้าทายต่อสู้กับชนชั้นใหม่จนแตกหัก และไม่ว่าจะเลือกวิธีการใดและผลของการต่อสู้ต่อรองจะเป็นเช่นใด ผลลัพธ์สุดท้ายคือมักมีการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนอำนาจระหว่างชนชั้นต่าง ๆ

วัฏจักรเช่นนี้ดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งถึงจุดที่ “ประชาธิปไตย” ได้ขยายตัวครอบคลุมไปถึงคนหมู่มากในสังคม-คนชั้นกลาง ที่เปลี่ยนจากผู้ท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิมไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจใหม่และรับภาระกิจปกป้องโครงสร้างดังกล่าวมาเป็นของตนด้วย กล่าวคือเมื่อประชาธิปไตยขยายตัวมาถึงจุดจุดหนึ่งฝ่ายขวาจะเปลี่ยนจากพลังเชิงคุณภาพไปสู่พลังเชิงประมาณด้วย

ลองคิดถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องปักปันเส้นเขตแดนอำนาจใหม่ของไทยก็จะเห็นภาพดังกล่าว จากทหารข้าราชการหัวก้าวหน้าผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ไปสู่ทหารข้าราชการอนุรักษ์นิยมที่เพียรพยายามรักษาโครงสร้างอำนาจ จากประชาชนผู้เรียกร้องการเปิดกว้างทางการเมืองไปสู่ประชาชนผู้ผลักดันการจำกัดขอบเขตการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ผู้ท้าทายหัวก้าวหน้าได้สมทบส่วนเป็นพันธมิตรกับฝ่ายตรงข้าม

กระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตยโดยตัวมันเองจึงเป็นปัจจัยที่ท้าทายฝ่ายขวาพร้อมกันกับเป็นปัจจัยสร้างขบวนการฝ่ายขวามวลชน (ในอนาคต) ขึ้นมาสมทบกับชนชั้นนำเดิมเป็นรุ่น ๆ ไป

ดังนั้นในระบอบประชาธิปไตยที่ง่อนแง่นจากการที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมตกอยู่ภายใต้อำนาจนำของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย รัฐบาลสมรรถนะต่ำหรือ “รัฐราชการ” ที่ด้อยประสิทธิภาพจึงมิใช่ปัจจัยชี้ขาดการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลหนึ่ง ๆ ปัจจัยชี้ขาดที่แท้จริงคือตัวเครือข่ายฝ่ายขวาที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นต่างหาก

เมื่อสมรรถนะและประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมิใช่ฐานหลักในการครองอำนาจบริหารของรัฐบาล เป้าหมายนโยบายของรัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุประสงค์ของนโยบายหนึ่ง ๆ แต่เป็นเป้าหมายร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับเหล่าเครือข่ายผู้สนับสนุน

การประเมินสมรรถนะและประสิทธิภาพของรัฐบาลที่มุ่งดูความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าและความสำเร็จของนโยบายต่าง ๆ จึงเป็นการประเมินผิดประเด็น ด้วยเหตุที่ว่าโดยเนื้อแท้แล้วรัฐบาลตัวแทนฝ่ายขวามิได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนามากเท่ากับการรักษาอำนาจ เพราะนี่เป็นทั้งเหตุและผลของการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลตัวแทนฝ่ายขวา นโยบายการพัฒนาต่าง ๆ ที่ผลิตออกมานั้นจะมีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลในเชิงการพัฒนาหรือไม่เป็นเรื่องรองจากผลของนโยบายเหล่านั้นในด้านการรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิม

ไม่ต้องพูดถึงว่าหากการพัฒนาในวงกว้างจะนำมาซึ่งเงื่อนไขที่ต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมให้เท่าเทียมกันมากขึ้นและต้องเปิดกว้างทางการเมืองให้ชนชั้นต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว (aka ประชาธิปไตย) สิ่งนั้นย่อมผิดไปจากวัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาในระดับประสานงา

นี่เป็นเหตุผลที่พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลจึงขยันผลิตและดำเนินนโยบายที่ถูกประเมินว่าน่าขันสวนกระแสโลกและดูท่าว่าจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะถูกทักท้วงจากสังคมเช่นไรเพราะรัฐบาลจำเป็นต้องประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อการอยู่ในอำนาจของรัฐบาล ผลที่ได้จึงเป็นแนวนโยบายและการปฏิบัติงานที่ลักลั่นผิดฝาผิดตัวชวนหัวร่อเย้ยหยัน แต่ให้ผลสัมฤทธิ์สมประสงค์ของฝ่ายขวาคือทำให้รัฐบาลอยู่ได้นานพอที่จะสานโครงการรักษาโครงสร้างอำนาจจนเสร็จสิ้น

ทั้งหมดนี้มิได้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่เป็นจริงได้เพราะเครือข่ายโยงใยอย่างกว้างขวาง การเจรจาต่อรองหรือต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการจึงมิใช่ปฏิบัติการต่อรัฐบาลเพียงลำพังแต่เป็นการท้าทายต่อเครือข่ายพลังฝ่ายขวาของไทยที่มีทั้งพลัง กำลัง อำนาจนำ จำนวนและทำงานสอดประสานเป็นปึกแผ่นต่อเนื่องมาอย่างน้อย 85 ปี

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.