รายงานทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือฉบับล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจเกาหลีเหนือกำลังขยายตัว แต่ประชาชนกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งที่ปกคลุมคาบสมุทรเกาหลีอยู่ในขณะนี้

ข้อมูลที่ขัดแย้งกันดังกล่าว ยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของประเทศที่โดดเดี่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ธนาคารแห่งชาติเกาหลีใต้ เปิดเผยรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเติบโต 3.9% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี แม้กรุงเปียงยางกำลังเผชิญมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากประชาคมโลก อันเป็นผลมาจากการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้

เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจไม่น้อยให้กับนักวิเคราะห์ เนื่องจากรายได้สำคัญของเกาหลีเหนือนั้นมาจากการส่งออกถ่านหินและแร่ธาตุต่างๆ ให้แก่จีน แต่ปีนี้จีนนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือลดลง 54% เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้มีมาตรการลงโทษที่รุนแรงขึ้นต่อเกาหลีเหนือ

ในขณะเดียวกัน การส่งออกของจีนไปยังเกาหลีเหนือได้เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยเฉพาะสินค้าโทรศัพท์มือถือจากจีนที่ส่งไปยังเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นถึง 90%

ถึงกระนั้น ปริมาณการค้าและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของเกาหลีเหนือ มิได้หมายความว่าประชาชนจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะมีรายงานหลายชิ้นที่ระบุว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะตกอยู่กับชนชั้นผู้นำของเกาหลีเหนือไม่กี่ครอบครัว ซึ่งล้วนมีชีวิตที่หรูหราสุขสบาย รวมทั้ง อาหารแพงๆ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ และเสื้อผ้ายี่ห้อดัง

คุณ โก เมียง-ฮุน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเกาหลีเหนือ จากสถาบันศึกษาด้านนโยบาย Asan ในกรุงโซล กล่าวว่า เกาหลีเหนือคือประเทศที่มีความแตกต่างด้านสังคมและเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

และรายงานของ Recorded Future เปิดเผยว่า บรรดาครอบครัวของผู้นำรัฐบาลกรุงเปียงยาง ยังมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีบัญชี Facebook ส่วนตัว และสามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไซต์อย่าง Amazon หรือ Alibaba ได้ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือโลกภายนอกได้

รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ส่วนใหญ่ของประชากรเกาหลีเหนือ 25 ล้านคน ถูกจัดเป็นคนยากจน ขณะที่ปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร และเด็กขาดสารอาหาร ยังคงกระจายไปทั่วประเทศ โดยเกาหลีเหนือถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 98 จาก 118 ประเทศ ในดัชนีผู้หิวโหยประจำปี ค.ศ. 2016

ขณะเดียวกัน องค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ หรือ FAO เตือนว่า ปีนี้เกาหลีเหนืออาจประสบภาวะแห้งแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 16 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนอาหารรุนแรงยิ่งขึ้น

FAO เรียกร้องให้ประชาคมโลกยื่นมือเข้าช่วยเหลือบรรดาเกษตรกรและคนยากจนในเกาหลีเหนือทันที เพื่อป้องกันวิกฤติการณ์ด้านอาหารเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี ค.ศ. 2012 และ 2014

อย่างไรก็ตาม การส่งความช่วยเหลือให้กับประเทศที่ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และจรวดขีปนาวุธนั้น อาจเป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกของหลายประเทศ

คุณ โก เมียง-ฮุน จากสถาบัน Asan ชี้ว่า ในความเป็นจริง ผู้นำคิม จอง อึน สามารถดึงเงินราว 300 ล้านดอลลาร์ ออกมาจากโครงการพัฒนานิวเคลียร์ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนอาหารได้ แต่เขาเลือกไม่ทำเช่นนั้น เพราะรู้ดีว่าจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างชาติในเรื่องนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังเกิดความกังวลด้วยว่า เจ้าหน้าที่กรุงเปียงยางอาจนำความช่วยเหลือด้านอาหารที่ได้รับ ไปขายต่อในตลาดมืดหรือส่งออกต่อไปยังจีน เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทอดหนึ่งก็เป็นได้เช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Brian Padden รายงานจากกรุงโซล / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

source ;- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=066993858706217878

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.