เชียงใหม่เมืองน่าเที่ยว-เศรษฐกิจดี-วิถีชีวิตแบบชุมชน แต่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงตลอดหลายปี พบชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าหญิง คาดผิดหวังในตนเองและเศรษฐกิจเป็นตัวเร่ง นักวิชาการชี้มีความคาดหวังด้านวัฒนธรรมสูง-จิตแพทย์แนะช่วยกันสังเกตกลุ่มเสี่ยง ที่มาภาพประกอบ: Manop (CC BY 2.0)
จากการจัดอันดับเมืองน่าเที่ยวแห่งปี 2559 หรือรางวัล The World’s Best Cities 2016 ของนิตยสาร Travel+Leisure เป็นที่น่ายินดีของประเทศไทยที่ จ.เชียงใหม่ ได้คะแนนเป็นอันดับสอง (91.25 คะแนน) รองจากเมือง Charleston, South Carolina (91.66 คะแนน) ห่างกันเพียง 0.41 คะแนน เท่านั้น นอกจากจะเป็นเมืองที่น่าเที่ยวติดอันดับโลกแล้ว ในการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ของเว็บไซต์ Digital Nomad จ.เชียงใหม่ ยังเป็นเมืองน่าอยู่อันดับสองของโลก รองจากกรุงเทพมหานคร (ข้อมูลล่าสุด 13 มิถุนายน 2560) อีกด้วย
แม้จะเป็นจังหวัดที่น่าอยู่และน่าเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว แต่สถิติการฆ่าตัวตายกลับพุ่งสูงอยู่ในอันดับ 1-5 ของประเทศไทยต่อเนื่องกว่า 10 ปี สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ฝ่ายงานสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการรายงานตามพื้นที่ปี 2559 อัตราการฆ่าตัวตายของ จ.เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่สอง (13.33) รองจากจังหวัดพะเยา (22.00) โดยหน่วยคิดเป็นครั้งต่อ 100,000 ประชากร
สถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตาย
จากข้อมูลการฆ่าตัวตายใน จ.เชียงใหม่ ปี 2559 พบว่าเพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง กลุ่มประชากรที่มีการฆ่าตัวตายสูง คือ รับจ้าง ว่างงาน และเกษตรกร กลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายสูงสุดคือ กลุ่มคนวัยทำงาน 26-60 ปี สาเหตุที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายคือ เจ็บป่วยโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง สุรายาเสพติด ขัดแย้งคนใกล้ชิด วิธีที่ใช้ฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ผูกคอ กินสารกำจัดวัชพืช ยิงตัวตาย อำเภอ ที่มีจำนวนคนฆ่าตัวตายสูงคือ อำเภอฝาง อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด
สภาพสังคม-เศรษฐกิจเชียงใหม่
ข้อมูลจากกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดสำนักงาน จ.เชียงใหม (ข้อมูล ณ ม.ค. 2560) ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จ.เชียงใหม่ ปี 2558 มีมูลค่า 194,893 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GPP per capita) ในปี 2558 เท่ากับ 112,874 บาท (ข้อมูล ณ ส.ค.2559) แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 10.12 ภาคเกษตรร้อยละ 22.14 และภาคบริการร้อยละ 67.83 นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2557 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของ จ.เชียงใหม่ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 128,503 บาทต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือต่อจาก จ.ลำพูน ที่ 185,499 บาทต่อปี และ จ.กำแพงเพชร ที่ 144,268 บาทต่อปี ค่าเฉลี่ยของภาคเหนืออยู่ที่ 100,088 บาทต่อปี ส่วนค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 195,995 บาทต่อปี
ข้อมูลจากสำนักงานแรงงาน จ.เชียงใหม่ รายงานว่าประชากรและกำลังแรงงาน จ.เชียงใหม่ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,458,844 คน ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 1,034,891 คน ผู้มีงานทำจำนวน 1,021,225 คน และผู้ว่างงาน จำนวน 11,907 คน ด้านการมีงานทำ ผู้มีงานทำในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 206,247 คน หรือร้อยละ 25.15 และทำงานในนอกภาคเกษตรกรรม ผู้มีงานทำมีจำนวน 760,977 คน หรือร้อยละ 74.52 ของผู้มีงานทำจังหวัดเชียงใหม่ โดยประเภทการทำงานด้านเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการประมง มีจำนวนมากที่สุด ร้อยละ 25.24 หรือจำนวน 257,795 คน รองลงมาคือกิจกรรมการขายส่ง การขายปลีก ร้อยละ 24.55 จำนวน 186,823 คน และผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 250,199 คนหรือร้อยละ 24.50 ของจำนวนประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป
นักวิชาการสะท้อนมุมมองเชิงสังคม
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า สิ่งที่สามารถมองได้จากสถิติ การฆ่าตัวตายในพื้นที่ จ.เชียงใหม่-ลำพูนที่สูงติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ก็คือการสูญเสียอัตลักษณ์ของผู้คนภายใต้เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
จากสถิติจะพบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากกว่าผู้หญิงซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชายในภาคเหนือ กล่าวคือ ผู้ชายในภาคเหนือถูกคาดหวังทางวัฒนธรรมให้เป็นผู้นำชื่อเสียงเกียรติยศเข้าสู่บ้าน ในขณะที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ทางด้านเศรษฐกิจ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการ ขยายตัวของอุตสาหกรรมกลับต้องการแรงงานผู้หญิงมากกว่าแรงงานผู้ชาย และทำให้ผู้หญิงมีโอกาสออกสู่พื้นที่ภายนอกมากขึ้น จนกล่าวได้ว่าผู้หญิงประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย
อาจารย์อรรถจักร์ ระบุว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรองรับแรงงานผู้หญิงได้ ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นและสามารถที่จะสร้างทางเดินชีวิตได้ก้าวหน้ามากกว่าผู้ชายโดยรวม การสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้ก่อให้เกิดการสูญเสียความหมายของตัวตน ยิ่งถ้าหาก ว่าผู้ชายไม่สามารถพิสูจน์ความหมายของตัวตนในพื้นที่สาธารณะได้ ก็ยิ่งมีความตึงเครียดมากขึ้น และการสูญเสียความหมายของตัวตนทำให้ผู้ชายรู้สึกถึงความไม่สามารถ ความไร้ศักยภาพในการที่จะอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตัดสินใจที่จะจบชีวิต
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายในเขตภูมิวัฒนธรรมอื่น เช่น เขตวัฒนธรรมใต้หรืออีสาน ความคาดหวังต่อผู้ชายมีแตกต่างกันไป กล่าวคือ ตัวตนของผู้ชายในภาคใต้หรือภาคอีสานจะสัมพันธ์อยู่กับการสร้างเครือข่าย แต่ในขณะที่วัฒนธรรมตัวตนผู้ชายในภาคเหนือกลับมีลักษณะเน้นความสำเร็จของปัจเจกชน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชายในภาคเหนือที่ไม่สามารถประสบผลสำเร็จในชีวิตส่วนตัว และสูญเสียความหมาย ตัวตน จึงเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองมากกว่าที่จะเลือกไปเผชิญชีวิตร่วมกับเพื่อน
นอกจากนี้ อาจารย์อรรถจักร์ยังกล่าวถึงกรณีการฆ่าตัวตายของผู้หญิง ซึ่งโดยมากแล้วไม่ประสบความสำเร็จว่ามักจะเป็นการตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับผู้ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือสามี อันสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถาบันครอบครัว และเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ความเปราะบางของครอบครัว ในแต่ละภูมิภาคนั้นแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป
ขณะที่ อ.ณพล หงสกุลวสุ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองถึงประเด็นการฆ่าตัวตายว่า เกิดจากความคาดหวังหรือเป้าหมายของแต่ละคนต่างกัน วิธีการจักการกับปัญหาและความสามารถในการรับมือกับแรงกดดันต่างกัน จากสถิติการฆ่าตัวตาย จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ ความหนาแน่นของประชากรสูง จึงมีโอกาสที่จะมีจำนวนคนฆ่าตัวตายมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ เมื่อเทียบเป็นจำนวนคน เศรษฐกิจเชียงใหม่เติบโตตามฤดูกาลท่องเที่ยว เน้นงานภาคการบริการและการท่องเที่ยวเป็นหลัก มีงานหลากหลาย ทำให้แรงงานเข้ามาหางานในตัวเมืองเพิ่มมากขึ้น แรงงานมีความชำนาญเฉพาะด้าน เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือปรับตัวลดลงในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว อัตราการจ้างงานลดลง แรงงานบางส่วนเมื่อกลับสู่ภูมิลำเนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม ก็ไม่สามารถทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพเชิงภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเลี้ยงชีพได้ เพราะไม่มีความรู้และขาดประสบการณ์ แต่ด้วยค่าครองชีพของจังหวัดเชียงใหม่ไม่สูงมาก ทำให้แม้ว่าจะมีรายได้น้อยก็ยังสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ เศรษฐกิจของเชียงใหม่จึงไม่ได้บีบคั้นคนให้ดิ้นรนมากนัก ดังนั้นเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งหนึ่งให้ปัจจัยหลักในการตัดสินใจฆ่าตัวตายทำงานเร็วขึ้น
‘เกาหลีใต้’ ตัวอย่างประเทศ ‘เศรษฐกิจเฟื่อง’ แต่ ‘อัตราฆ่าตัวตายพุ่ง’
เว็บไซต์ Worldatlas เผยแพร่อัตราการฆ่าตัวตายของโลกปี 2558 และยกตัวอย่างการฆ่าตัวตายในประเทศเกาหลีใต้ไว้เป็นกรณีศึกษา ‘เกาหลีใต้ : เศรษฐกิจเฟื่องฟูพร้อมอัตราค่าตัวตายพุ่ง’
ปี 2015 มีรายงานจากเกาหลีใต้ว่ามีอัตราการฆ่าตัวตาย 21.4 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยเกาหลีใต้มองว่าการฆ่าตัวตายไม่เพียงแต่เป็นปัญหาที่รุนแรงเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายเป็นวงกว้างอีกด้วย โดยมีอัตราสูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศ OECD (องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา)
การฆ่าตัวตายถือเป็นเรื่องพบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับอัตราความยากจนสูงที่พบในกลุ่มประชากรสูงอายุเช่นกัน (ประชากรสูงอายุครึ่งหนึ่งของเกาหลีใต้อยู่ใต้เส้นความยากจน)
ว่ากันว่าผู้สูงอายุหลายรายอาจฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตนเป็นภาระของครอบครัว ในเกาหลีใต้ ประชากรเขตชนบทมีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าเขตเมือง มีรายงานว่าเขตคังวอนในตอนบนของประเทศมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้ชายสูงเป็นสองเท่าของผู้หญิง แม้ว่าอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในผู้หญิงจะสูงกว่าก็ตาม บุคคลมีชื่อเสียงชาวเกาหลีใต้หลายราย รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโรมูฮยุน และนักแสดงสาวชื่อดัง ลีอุนจู ก็จบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายเช่นกัน
มิติทางสังคมและจิตวิทยา
จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตด้วยปัญหาการฆ่าตัวตายราว 1.53 ล้านคน นอกจากนี้ยังประเมินว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึงปีละ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 3,000 รายต่อวัน ขณะที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในประเทศเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 4,000 รายต่อปี และพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จอีก 50,000 รายต่อปี โดยทั้งสองกลุ่มมักจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง ซึ่งเกิดจากรรมพันธุ์หรือปัญหาอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง
รายงานวิจัยด้านสาธารณสุขของ ชรัช พรอำนวยลาภ ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายและประสิทธิผลของการให้บริการสุขภาพจิตแก่ผู้พยายามฆ่าตัวตาย พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จ มักมีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคจิตเวชและเบาหวาน คนในครอบครัวเคยพยายามฆ่าตัวตาย รวมถึงมีผู้ป่วยจิตเวชในครอบครัว โดยรายงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอว่าการลดอัตราการฆ่าตัวตายนั้นควรเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และลดความขัดแย้งในครอบครับให้ได้มากที่สุด
งานวิจัยประสบการณ์ทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาในการทำงานกับผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตาย ของ วฤณ ปฐมวิชัยวัฒน์ พบว่า การพยายามทำตามความคาดหวังของคนรอบข้าง เป็นปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกเหมือนตนเองต้องแบกรับความผิดชอบต่างๆมากมาย รู้สึกว่าตนเองเป็นที่คาดหวังของคนรอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิด จนทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า กดดัน และไม่สามารถจัดการกับภาระต่างๆหรืออดทนต่อการเป็นที่คาดหวังของบุคคลอื่นๆได้อีกต่อไป นำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ บั่นทอนความภาคภูมิใจในตนเอง และอาจเรียกว่าเป็น ความรู้สึกผิด เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดหวังในตนเอง มีมุมมองการรับรู้ต่อตนเองว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญต้องรับผิดชอบต่อผู้อื่นอย่างมาก หรือเป็นที่คาดหวังจากคนรอบข้าง ซึ่งในความเป็นจริงความรู้สึกดังกล่าวอาจเป็นเพียงความคิดของผู้คิดฆ่าตัวตายเพียงฝ่ายเดียว เมื่อรู้สึกว่าตนเองละเลยต่อความรับผิดชอบหรือตนเองกระทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิดหวัง กลายเป็นความรู้สึกผิดย้อนกลับมาที่ตนเอง ตำหนิ และเห็นว่าตนเองกลายเป็นบุคคลที่ไร้คุณค่าสำหรับผู้อื่น
ด้าน อ.ดร.เสรี ใหม่จันทร์ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการสังเกตกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันพยายามฆ่าตัวตายว่า สามารถสังเกตได้จากผู้มีพฤติกรรมการหมกมุ่นกับเรื่องความตายในงานศิลปะ พูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 3 เดือน จัดการเรื่องราวชีวิตเพื่อหมดภาระและความผูกพัน เพิ่งสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิต เลี่ยงการพบปะผู้คน ประสบอุบัติเหตุบ่อยหรือบ่นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ดื่มเหล้าจัดหรือติดยา อารมณ์และนิสัยเปลี่ยน เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า บ่นถึงความกังวลใจ
วิธีการจัดการกับสภาวะจิตใจและสิ่งแวดล้อมที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย ได้แก่ คิดเชิงบวก เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมนานเกินไป หากิจกรรมยามว่าง หากพบเหตุการณ์คนรอบข้างพยายามฆ่าตัวตาย ให้พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างตรงไปตรงมา ตั้งคำถามเพื่อให้เปิดเผยอารมณ์ ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิ มีคนอยู่เป็นเพื่อน พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษา
สอดคล้องกับงานวิจัยของโครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน พบว่า กลุ่มผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายควรได้รับความช่วยเหลือเรื่องการสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในครอบครัว และได้รับความรู้เรื่องการจัดการปัญหาที่เหมาะสม และเปิดช่องทางการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ให้สถานีอนามัยและโรงพยาบาล นอกจากนี้สถานที่ทำงานก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศทางสังคม ซึ่งเป็นสภาพทางจิตวิทยาสังคมในการทำงาน (Psychosocial Working Condition) เหล่านี้ จะเห็นได้ว่าปัญหาการพยายามฆ่าตัวตายไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมในวงกว้างอีกด้วย
*ณัฐริยา โสสีทา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แสดงความคิดเห็น