Posted: 15 Oct 2017 10:59 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ใบตองแห้ง

13 ตุลารำลึกวันเสด็จสู่สวรรคาลัย 14 ตุลารำลึกวันเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งได้พึ่งพระบารมีคลี่คลายวิกฤต เช่นเดียวกับอีก 19 ปีต่อมา ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

สมัยนั้นไม่มีมาตรา 7 แต่ไม่จำเป็น เพราะเป็นไปตามระบอบ ตามธรรมชาติสังคม เมื่อประเทศเกิดวิกฤต รัฐบาลทหารปราบปรามประชาชน ผู้คนลุกฮือ กลไกรัฐทุกอย่างแทบแหลกลาญ อธิบายในเชิงระบอบคือ องค์ประมุขย่อมมีอำนาจแก้วิกฤต อธิบายในทางสังคมคือ มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ปวงชนเคารพรักเทิดทูน กระทั่งทรงมีพระบารมีคลี่คลายได้

เพียงแต่ทั้งสองเหตุการณ์มีความเหมือนกันคือ เป็นฉันทามติของประชาชน ที่ต้องการขับไล่รัฐบาลทหาร (หรือสืบทอดอำนาจทหาร) ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมืองที่คลี่คลายได้ด้วยวิถีประชาธิปไตย

มาย้อนคิดดู ห้วงเวลาที่สังคมไทยมีฉันทามติ ช่างสั้น น่าใจหาย หลัง 14 ตุลา ไม่นานก็แตกแยกเป็นซ้ายขวาจนเกิด 6 ตุลา หลังพฤษภา 35 ก็เกิด “เทพมาร” หลังชูธงเขียวรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ฮือต้านระบอบทักษิณ แตกเป็นเสี่ยงจน วันนี้ก็ยังหาฉันทามติไม่เจอ แม้แต่ฉันทามติตื้นๆ เรื่องประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

ฉะนั้นไม่ต้องห่วง สังคมไทยไม่เกิด 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 อีกหรอก แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่มีฉันทามติไปอีกนาน ด้านหนึ่งเพราะสังคมสับสนจนถอยหลัง แต่อีกด้านหนึ่งก็เพราะโลกปัจจุบันซับซ้อนขึ้น ไม่สามารถตอบ ก. ข.ได้ง่ายๆ

ฉันทามติสมัย 14 ตุลาง่ายกว่านี้ หลังอยู่ใต้ระบอบทหาร 16 ปี สังคมไทยไม่ว่าพ่อค้า นายทุน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา หรือแม้แต่ทหารด้วยกันเอง ก็บอกว่าพอกันที โดยรวมศูนย์ไปที่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

แต่เพราะเหตุนั้น พลังที่ทำให้เกิด 14 ตุลาจึงหลากหลายจนสับสน มีตั้งแต่สุดขวาไปสุดซ้าย แม้แต่ในขบวนการนักศึกษาก็มีตั้งแต่เสรีนิยม ชาตินิยม ศีลธรรมนิยม สังคมนิยม อิทธิพล พคท. (ซึ่งต่อมากลายเป็นกระแสหลักจากแรงผลักฝ่ายขวา)

ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าคนเดือนตุลาที่เคยไล่เผด็จการ ถึงวันนี้ก็สับสนทางจิต เดี๋ยวก็ไล่รัฐบาลเลือกตั้งประชานิยม เดี๋ยวก็ว่ารัฐบาลทหารไม่สนใจคนจน

ความเปลี่ยนแปลงของโลกใน 44 ปีที่ผ่านมาก็สลับซับซ้อน ทั้งปัญหาสังคม และวิถีชีวิตคน ซึ่งความมีเสรีภาพทำให้ชีวิตมีทางเลือกมากขึ้น มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยสนใจการเมือง สังคม แต่จะโทษคนรุ่นใหม่เสียทีเดียวไม่ได้ เพราะแม้แต่คนมีอุดมคติ ก็ยังหาสังคมอุดมการณ์ไม่เจอ

โลกยุค 14 ตุลาเป็นยุคอุดมคตินะครับ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายซ้าย แต่มีทั้งเสรีนิยม อนุรักษนิยม อุดมการณ์หลากหลาย โลกตะวันตกสมัยนั้นเป็นยุคแสวงหา ฮิปปี้ ต่อต้านสงครามเวียดนาม เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ผิว ชาติพันธุ์ ในละตินอเมริกาก็เป็นยุคเช กูวารา อุดมการณ์แรงกล้าต่างๆ ปะทะกันจนทำให้เกิด 14 ตุลา 6 ตุลา

นักศึกษาเดือนตุลามักเล่าว่าชอบอ่านกำลังภายใน ใฝ่ฝันเรื่องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่แปลกหรอก คนยุคนั้นไม่ว่าข้างไหนก็โตมากับนิยายคุณธรรม หนังคาวบอย ประวัติบุคคลสำคัญ ฯลฯ โลกยุคนั้นไม่มีหนังสือ “พ่อรวยสอนลูกรวย” นอกจากขายไม่ได้ยังโดนโห่

นั่นคือโลกที่เปลี่ยนไป ในทศวรรษ 1980-1990 หลังอุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย อุดมการณ์ขวาสุดโต่งก็เสื่อมคลาย โลกย่างสู่เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ การค้าเสรีมาพร้อมเสรีประชาธิปไตย ทุนนิยมโลกาภิวัตน์กวาดไปทั่ว โดยไม่มีอุดมคติอะไรต่อต้านได้ คนส่วนใหญ่พึงพอใจ เพราะมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัว แต่คนอีกส่วนไม่พอใจเพราะยิ่งเหลื่อมล้ำ กระนั้น พวกมีอุดมการณ์ต้านระบบก็มักถลำไปสุดโต่ง กลายเป็นผู้ก่อการร้าย ขวาจัดซ้ายจัด ชาตินิยม หรือพาลไม่เอา “ประชาธิปไตยทุนนิยม”

ความสับสนของโลกทำให้เกิด Brexit ทรัมป์ชนะ ฝ่ายขวายุโรปได้คะแนนเสียงเพิ่ม สำมะหาอะไรกับเมืองไทย ซึ่งเข้าสู่เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่โดยไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ก็ยิ่งสับสนไปใหญ่ แถมสังคมไทยชอบอะไรที่ง่าย เอาผลประโยชน์เฉพาะหน้าไว้ก่อน สามารถอยู่กับทุนนิยมบริโภคโดยไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย ระบอบอะไรก็ได้ขอแค่ทำมาหากิน (แต่แปลกดีพอบอกจะเลือกตั้ง หุ้นกลับพุ่ง)

มองไปข้างหน้า โลกคงยังสับสนอีกระยะ เช่นเดียวกับสังคมไทยยังไม่สามารถหาฉันทามติ แม้แน่ละ โลกสมัยนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ขัดแย้งกัน แต่ก็ต้องมีฉันทามติของการอยู่ร่วมกัน

14 ตุลาผ่านมา 44 ปี คนยุคนั้นใกล้ “เข้านอน” หมดแล้ว คนรุ่นต่อไปก็คงเล่าขานกันเป็น “นิยายปรัมปรา” เพราะเหตุการณ์แบบนั้นคงไม่เกิดอีก อุดมการณ์แบบยุคนั้นคงไม่มีอีก แต่โลกที่เปลี่ยนไปก็ต้องตอบอดีตได้ว่าปรับเปลี่ยนในทางก้าวหน้าหรือบางอย่างกลับถอยหลังกว่า



ที่มา: khaosod.co.th

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.