Posted: 15 Oct 2017 11:26 PM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความรู้เกี่ยวกับโรฮิงญาของผมทั้งคลุมเครือ และกะพร่องกะแพร่งเสียจนไม่อาจพูดถึงเขาได้เลย รู้อย่างเดียวว่า โศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ใหญ่ขนาดนี้ ไม่น่าจะเงียบหายไปเฉยๆ ได้ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างสงครามทั้งเย็นหรือร้อน ไม่ได้เกิดท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่อื่นใดในโลก สองอย่างนี้อาจบดบังโศกนาฏกรรมใหญ่ๆ ของมนุษย์อย่างที่เคยบดบังมาแล้วหลายหน ด้วยเหตุดังนั้น ฉากของโศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงตกอยู่ในลานบ้านของพม่าโดยตรง พม่าไม่อาจปิดบ้านได้อย่างแต่ก่อน ด้วยเหตุดังนั้น ท่าทีเฉยชาไม่ไยดีของพม่าคงไม่ช่วยให้รัฐบาลพลเรือนพม่ารอดตัวไปได้ในโลกภายนอก

ผมเข้าใจดีว่า รัฐบาลพลเรือนพม่ากำลังไต่ลวดเพื่อรักษาประชาธิปไตยให้รอด จึงหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่จะทำให้กองทัพกลับเข้ามายึดอำนาจอีก แต่ในการไต่ลวด อันตรายย่อมมีทั้งสองด้าน ปราศจากแรงหนุนอย่างแข็งขันของต่างชาติ กองทัพก็ยิ่งมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน และอาจยึดอำนาจได้โดยไม่ต้องเกรงนานาชาติลงทัณฑ์เหมือนกัน

ชะตากรรมอันเลวร้ายที่ชาวโรฮิงญาประสบอยู่ ทำให้ผมอดคิดถึงชาวมุสลิมในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ไปแล้วไม่ได้ ไม่เฉพาะแต่ในพม่า แต่มุสลิมในสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม ล้วนประสบกับการถูกหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเลือกปฏิบัติ และการแสดงความรังเกียจอย่างไร้อารยะในเกือบทุกสังคม

รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

ผมได้ยินคนไทยมักพูดถึงความรุนแรงที่เกิดในสามจังหวัดภาคใต้ ว่ามาจากความแตกต่างทางศาสนา ยิ่งหากเป็นเสียงจากรัฐไทยแล้ว ยิ่งเน้นเรื่องนี้มากและพยายามโฆษณาว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนา ได้รับความเคารพอย่างสมบูรณ์ในประเทศไทย ทั้งในทางกฎหมายและการปฏิบัติ

ผมไม่ทราบหรอกว่า ผู้พูดเชื่อสิ่งที่ตัวพูดหรือไม่ ผมอยากเตือนแต่เพียงว่า ศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์มีรากอันเดียวกัน ทั้งคัมภีร์และบัญญัติทางศาสนาก็ละม้ายกันมาก เหตุใดชาวคริสต์จึงไม่ถูกรังเกียจหรือกลั่นแกล้งในสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์เหมือนมุสลิม นอกจากนี้ เกือบทั้งโลก (ยกเว้นยุโรปในบางกรณี) ชาวมุสลิมและคนศาสนาอื่นเคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข ไม่เฉพาะแต่ในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในอินเดีย, ในจีน, หรือในบางชุมชนของแอฟริกาด้วย แม้แต่ชาวยุโรปเอง ที่รบก็รบกันไป แต่ก็มีพ่อค้ายุโรปเดินเรือไปค้าขายกับชาวมุสลิมในตะวันออกกลางเป็นปรกติ

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากสรุปในเบื้องต้นว่า อคติที่ชาวโลกมีต่อมุสลิมเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามเย็นนี้เอง (ในระหว่างสงครามเย็น อเมริกัน-อังกฤษ-ฝรั่งเศส อาจไม่ชอบนัสเซอร์แห่งอียิปต์, กัดดาฟีแห่งลิเบีย, ฯลฯ แต่ที่ไม่ชอบก็เพราะนโยบายของเขา ไม่เกี่ยวกับที่เขาเป็นมุสลิมแต่อย่างใด)

ผมจึงเชื่อว่า อคติที่คนจำนวนมากในปัจจุบันมีต่อมุสลิมนั้น ไม่ได้มาจากหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลาม ผมคิดว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ในโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก มีแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาต่างออกไปจากเดิม

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ที่เราแปล religion ว่าศาสนานั้น เป็นการเอาศัพท์บาลีมาใช้ให้ผิดความหมายไป เพราะ “สาสนา” ในภาษาบาลีแปลว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น คำว่า “พระศาสนา” ที่คนไทยโบราณใช้แปลว่า Buddhism (Theravadin School) จะเรียกคำสอนของพระเยซู หรือพระมะหะหมัดว่า “ศาสนา” ไม่ได้ แม้แต่จะเรียกพุทธศาสนามหายานหรือวัชรยานว่าศาสนาก็ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ

ไม่แต่เฉพาะภาษาไทยนะครับ ภาษาทั้งโลกไม่มีคำที่จะแปล religion ตามความหมายปัจจุบันได้ทั้งนั้น รวมทั้งภาษาฝรั่งเองด้วย คำละตินที่ฝรั่งเศสและอังกฤษแปลงมาใช้นี้แต่เดิมแปลว่าข้อผูกมัดหรือข้อบังคับควบคุมของพระเจ้า และผมเข้าใจว่าพระเจ้าองค์นั้นต้องชื่อพระยะโฮวาห์ด้วย จะมีชื่ออื่น เช่น อัลเลาะห์หรือวิษณุหรืออมิตาภะไม่ได้

คำ RELIGION ในความหมายที่ใช้ในปัจจุบันเพิ่งเกิดขึ้น เมื่อชาวยุโรปแยกส่วนที่เป็นความเชื่อ, พิธีกรรม และการจัดองค์กรสงฆ์ออกไปจากวิถีชีวิตและการจัดองค์กรของฆราวาส ก่อนหน้านี้ แม่มดหมอผีของยุโรปไม่ได้นับถือ “ศาสนา” ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นชาวคริสต์ที่ย่อหย่อน หรือเป็นสาวกซาตานที่ต่อต้านพระคริสต์ พวกเขาอยู่นอก “ชุมชน”, นอกสังคม, หรือนอกโลกของความเป็นมนุษย์ ต้องเอาเขากลับเข้ามา หรือเผาเขาทิ้งเสียเท่านั้น

และโลกที่จะนำแม่มดหมอผีกลับเข้ามานั้น ไม่ใช่เพียงความเชื่ออย่างเดียว แต่รวมถึงวิถีชีวิตของคริสเตียน พิธีกรรมที่ชาวคริสต์ปฏิบัติ รวมถึงเข้ามาอยู่ในองค์กรทางสังคมที่เป็นของชาวคริสต์ด้วย เช่น แต่งงานกันเบื้องหน้าพระเจ้า มีลูกก็ต้องรับศีลล้างบาป (ซึ่งส่วนหนึ่งคือการลงทะเบียนสมาชิกใหม่ไว้กับโบสถ์ ซึ่งเป็นองค์กรทางสังคมที่จำเป็น) เหมือนเป็นชาวพุทธไทยที่ไม่รู้จักวันศีลวันโกน ไม่ฟังเทศน์มหาชาติ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดองค์กรทางสังคมด้วย) แม้เชื่อพระนิพพานเหมือนกัน ก็กลายเป็นคนนอกรีตหรืออาจเป็นผีปอบ ไม่มีที่อยู่ในชุมชนมนุษย์อีกต่อไป

กลับไปดูคัมภีร์ศาสนาต่างๆ นับตั้งแต่ทัลมุด (TALMUD) ของยิว และ “ศาสตร์” ต่างๆ ของพราหมณ์ลงมาถึงพระไตรปิฎก, ไบเบิล, กุรอ่าน ฯลฯ ก็จะพบว่า ล้วนไม่ได้แยกลัทธิความเชื่อออกไปจากวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของศาสนิก ระบบปกครอง ไปจนถึงสถาปัตยกรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ (ซึ่งปัจจุบันถูกแยกออกไปเป็นวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิชาที่อ้างหน้าตายว่าไม่เกี่ยวอะไรกับความเชื่อทั้งสิ้น)

ความคิดว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับโลกนี้โลกหน้า, ศีลธรรมทางศาสนา, พิธีกรรม ฯลฯ ที่แยกออกไปจากวิถีชีวิตปรกติ และเรียกว่าศาสนา เป็นความคิดใหม่ที่เกิดในยุโรปตะวันตกก่อน ฝรั่งเรียกว่า secularism หมายความว่าแยกเอาส่วนใหญ่ของวิถีชีวิตเข้ามาอยู่ในฆราวาสวิสัย ไม่เฉพาะแต่การบริหารรัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงการกินการนอนการเรียนและการงานของแต่ละคนด้วย ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจแต่ละคน จะไปบังคับกันไม่ได้

สังเกตด้วยนะครับว่า ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีหาความรู้และเข้าใจความรู้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง และเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เชื่อและให้ความสำคัญแก่ปัจเจกบุคคลอีกอย่างหนึ่ง และด้วยเหตุดังนั้น ผู้คนในโลกที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์มาอย่างเดียวกับชาวยุโรปตะวันตก จึงไม่อาจมองโลกจากมุมของฆราวาสวิสัยได้เหมือนพวกเขา อะไรที่ถูก secularized หรือทำให้อยู่ในฆราวาสวิสัย เช่น การศึกษาแผนใหม่ซึ่งคนอื่นๆ ในโลกรับเอาแบบอย่างของฝรั่งไปใช้ ก็ไม่เป็นฆราวาสวิสัยได้เท่ากับการศึกษาในโลกตะวันตก (เช่น การสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนไทย เป็นต้น)

(อาจยกเว้นประเทศที่เป็นหรือเคยเป็นคอมมิวนิสต์กระมัง เพราะลัทธิมาร์กซ์ช่วยขจัดมุมมองทางศาสนาออกไปจากความรู้ความเข้าใจโลก แรงกว่าวิทยาศาสตร์เสียอีก แต่ผมก็ไม่แน่ใจครับว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ จะมีประสิทธิภาพถึงขนาดนั้นจริง)

แม้กระนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกขยายเข้าครอบงำเอเชีย ก็ทำให้ทุกศาสนาในสังคมเอเชียอาศัยฐานทางศาสนาของตนในการปรับตัว ด้วยจุดมุ่งหมายให้เกิดความเข้มแข็งในด้านต่างๆ ทั้งการทหาร, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม ทัดเทียมกับสังคมตะวันตก

ขอให้สังเกตด้วยว่า ทำไมต้องอาศัยฐานทางศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น เหตุผลไม่ใช่เพราะคนเอเชียเคร่งศาสนามากกว่าคนยุโรป แต่เพราะอย่างที่พูดมาแต่ต้นแล้วว่า ศาสนากับทุกด้านของวิถีชีวิตแยกออกจากกันไม่ได้ (เหมือนกับที่สังคมยุโรปก็เคยเป็นก่อนความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในศตวรรษที่ 17-18) ฉะนั้น ไม่ว่าจะปรับอะไรก็ไม่พ้นพ้องพานกับศาสนาไปทุกที

และด้วยเหตุดังนั้นฮินดู, อิสลาม, พุทธ และขงจื๊อจึงถูกปรับเปลี่ยนด้วยอิทธิพลวิทยาศาสตร์และปัจเจกชนนิยมในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้างทั้งสิ้น หมายความว่าศาสนาถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตปรกติของคนเอเชีย แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตอยู่ในแดนฆราวาสวิสัยเต็มที่เท่าฝรั่ง มีความลักลั่นในวิธีคิด บางครั้งก็เห็นศาสนาเป็นเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัว บางครั้งก็ไม่ยอมให้เป็นส่วนตัวขนาดนั้น

อันที่จริง กว่าศาสนาในยุโรปจะถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตฆราวาสได้ขนาดนั้น ก็ต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษ ดังนั้น จึงจะคาดหวังให้คนเอเชียปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาให้เหมือนยุโรปได้ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะศาสนาในสังคมโบราณทั้งหลายสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตหลายอย่าง (มากกว่าแค่ตายแล้วไปไหน) ยกตัวอย่างในยุโรป หากไม่มีรัฐสมัยใหม่เข้ามาทำสำมะโนครัวแทนวัด ซึ่งเคยเป็นผู้จดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนแต่งงาน ฯลฯ มาก่อน จะเอาตัวเลขอะไรไปเก็บภาษี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอาศัยวัดเป็นคนทำให้บางส่วน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กว่าที่ยุโรปจะสามารถแยกศาสนาออกไปจากส่วนใหญ่ของชีวิตได้ ก็ต้องมีสถาบันทางการเมือง, สังคม และเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง ที่อาจเข้ามาทำหน้าที่แทนศาสนา สถาบันใหม่ๆ เหล่านี้ยังไม่เกิดในเอเชีย นอกจากผิวสีของนายที่เปลี่ยนเป็นขาวเท่านั้น

ในอินเดีย ระบบวรรณะไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและแรงงานในชุมชนด้วย จู่ๆ จะให้เลิกระบบวรรณะโดยไม่ได้สร้างตลาดงานที่เปิดกว้างแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คงมีคนอดตายเป็นล้าน ส่วนบ้านของเศรษฐีที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์หรือกษัตริย์คงเหม็นขี้น่าดู เพราะไม่มีจัณฑาลเลี้ยงหมาไว้ทำความสะอาดบริเวณที่จัดไว้ให้ขี้ของหมู่บ้าน เพราะครอบครัวจัณฑาลไม่ได้รับแบ่งข้าวจากคนอื่นในหมู่บ้านอีก จึงอดตายไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว นอกจากนายเปลี่ยนสีผิวแล้ว สังคมและเศรษฐกิจเอเชียก็เปลี่ยนไปด้วย ถึงไม่ได้สมาทานลัทธิปัจเจกชนนิยมเต็มที่ แต่ผู้คนก็หลุดออกจากพันธนาการของประเพณี, ครอบครัวและตระกูล, วัด และชุมชนมากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้สมัยใหม่ที่วางอยู่บนรากฐานการเข้าใจโลกแบบวิทยาศาสตร์ เพื่ออาจทำมาหากินในเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ ศาสนาตามความหมายสมัยใหม่ คือเป็นอีก “ห้อง” หนึ่งของชีวิตที่อาจแยกออกเป็นหลายห้องได้เท่านั้น จึงกลายเป็นความเข้าใจของชาวเอเชียไปด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น “ศาสนา” ในความเข้าใจของคนสมัยใหม่ในเอเชีย จึงหดแคบลงเหลือแต่เพียงแก่นแท้ของคำสอนทางอภิปรัชญา ไม่รวมพิธีกรรม, นักบวช, อิทธิปาฏิหาริย์, อารมณ์ความรู้สึกหรือแรงศรัทธา, ผีสางนางไม้, ฯลฯ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ เพราะสิ่งเหล่านั้นคือสะพานที่เชื่อม “ศาสนา” เข้ากับวิถีชีวิตส่วนอื่นๆ ของคนในสังคมโบราณ (เช่น เณรพลายแก้วได้เมียเพราะขึ้นเทศน์มหาชาติ) เมื่อศาสนาไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงถึงชีวิตส่วนอื่นแล้ว บริวารวัตถุของศาสนาเหล่านั้นก็หมดหน้าที่ไปด้วย

ทั้งหมดนี้ นำเรามาสู่ข้อสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งคือ ในบรรดาศาสนาของเอเชียทั้งหมด (ไม่เว้นแม้แต่ศาสนาผี) ต่างก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพียงส่วนเดียวหรือห้องเดียวในชีวิตของผู้คน ยกเว้นแต่ศาสนาอิสลาม



ดังที่กล่าวแล้วว่า มุสลิมเคยอยู่ร่วมกับคนศาสนาอื่น หรือคนศาสนาอื่นเคยอยู่ร่วมกับมุสลิม มาด้วยความสงบสุขเกือบตลอดประวัติศาสตร์ แต่พอถึงศตวรรษที่ 20 มุสลิมกับคนในศาสนาอื่นกลับอยู่ร่วมกันได้ยากขึ้น บางครั้งถึงกับฆ่าฟันกันล้มตายเป็นหลายแสน จนต้องพากันอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ร่วมศาสนากับตน

หนึ่งในคำอธิบายที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็คือ ความแตกแยกอย่างรุนแรงเช่นนี้เป็นผลมาจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่งแน่ เพราะความบาดหมางอย่างรุนแรงเช่นนี้พบได้ในอาณานิคมหลายแห่ง นับตั้งแต่อิสราเอล-ปาเลสไตน์ในตะวันออกกลางถึงอินเดีย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ก็พบได้ในดินแดนที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมโดยตรงของตะวันตกด้วย

ผมพบว่าความบาดหมางที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากนโยบายของจักรวรรดินิยมโดยตรงนี้น่าสนใจ และขอพูดถึงบางกรณี

มุสลิมในแคว้นซินเกียงของจีนหรือที่เราเรียกว่าชาวอุยกูร์เป็นตัวอย่างหนึ่ง อันที่จริงจีนมีอิทธิพลครอบงำแคว้นนี้มานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยมีผลอะไรนัก เพราะไม่มีการอพยพใหญ่ของจีนฮั่นเข้ามาตั้งภูมิลำเนาจำนวนมากในซินเกียง รัฐบาลคอมมิวนิสต์เองต่างหากที่สนับสนุนให้ชาวฮั่นอพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่ในซินเกียง จนบัดนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของแคว้นไปแทนชาวอุยกูร์แล้ว

การเปลี่ยนทางเศรษฐกิจเข้าสู่เศรษฐกิจตลาด ทำให้การแย่งชิงทรัพยากรเป็นไปอย่างเข้มข้นระหว่างคนสองชาติพันธุ์ ทั้งทรัพยากรใหม่ที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจตลาด และทรัพยากรที่มีอยู่เดิมแต่ถูกเปลี่ยนวิธีการใช้ประโยชน์

ความขัดแย้งด้านทรัพยากรถูกแปรให้ออกมาในรูปของความขัดแย้งด้านศาสนาและชาติพันธุ์ เพราะศาสนาและชาติพันธุ์เป็นอาวุธทางอัตลักษณ์อันเดียวที่ชนส่วนน้อยซึ่งกำลังสูญเสียสิทธิที่เคยมีมาแต่เดิมใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ได้ดี นี่ไม่ได้พูดเฉพาะเมืองจีนแห่งเดียว เมืองไทยก็ใช่ และฟิลิปปินส์ก็ใช่

เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับคนในศาสนาอื่นหลายกรณี ไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนา อย่างน้อยก็ไม่เกี่ยวโดยตรง แต่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ซึ่งกระทบต่อทุกฝ่ายมากน้อยต่างกัน

อีกเหตุหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้มุสลิมกับคนศาสนาอื่นอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ยาก ก็คือการสร้างเส้นพรมแดนทางศาสนาให้ชัดขึ้น

ศาสนาในโลกตะวันออกไม่มีพรมแดนที่ชัดเจนนัก มุสลิมในอินเดียซึ่งที่จริงคือคนที่เคยเป็นฮินดูมาก่อน แต่มาเปลี่ยนศาสนาภายหลัง อาจไม่รู้สึกเลยว่าตัวเปลี่ยน “ศาสนา” เพราะแม้ในศาสนาฮินดูเอง ก็มีความแตกต่างเหลื่อมกันระหว่างฮินดูที่นับถือพระศิวะ, พระวิษณุ, พระคเณศ, ฯลฯ ไปจนถึงหนุมาน หรือแม้แต่ทศกัณฐ์ แม้แต่ถือพุทธก็ยังจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ศาสนา” เดียวกัน ดังนั้น การเข้ารีตนับถืออิสลาม ก็เป็นเพียงแต่มีพิธีกรรมและวิถีชีวิตบางอย่างที่แตกต่างจากลัทธิอื่นๆ ในอินเดียเท่านั้น การไม่กินหมู ไม่ทำให้มุสลิมแตกต่างจากฮินดู ซึ่งมีตั้งแต่เป็นมังสวิรัติ หรืออย่างน้อยก็ไม่กินสัตว์ใหญ่

มุสลิมในอินเดียยังใช้ระบบวรรณะเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของตน เช่น เป็นมุสลิมด้วยกัน แต่ไม่มีวันแต่งงานข้ามวรรณะกันเป็นอันขาด

ผมคิดว่าการเปลี่ยน “ศาสนา” ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ก็น่าจะเหมือนกัน คือกระทบต่อชีวิตของประชาชนไม่สู้จะมากนัก วัฒนธรรมด้านจิตวิญญาณของชวาก็ยังอยู่กับมุสลิมชวาสืบมาจนทุกวันนี้ เพียงแต่การเข้าถึงสุญญตากลายมาเป็นเข้าถึงพระเจ้าแทนเท่านั้น

นักศึกษาตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ต่างหากที่เห็นว่าการเปลี่ยนศาสนาในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปรู้สึกแต่ว่าตัวลื่นไหลไปสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ

ในภาคใต้ของไทยไปจนถึงตอนเหนือของมาเลเซีย การผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมระหว่างมุสลิมและพุทธ กลายเป็นลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมของคนแถบนั้น ชาวพุทธรับเอาประเพณีและคำมลายูมาใช้โดยไม่รู้สึกผิดแปลกอะไร เช่นเดียวกับชาวมุสลิมมลายูก็รับเอาทั้งประเพณีและคำไทยไปใช้โดยไม่รู้สึกอะไรเหมือนกัน

แต่การลื่นไหลในพื้นที่ซึ่งถูกเรียกในภายหลังว่า “ศาสนา” นี้ มาสิ้นสุดลงเมื่อมิชชันนารีฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์เพิ่มมากขึ้น เพราะมิชชันนารีนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในยุโรปมาเผยแพร่ปลูกฝังคนตะวันออก ทั้งคนที่ยอมเปลี่ยนเป็นคริสเตียน และคนอื่นๆ โดยทั่วไปด้วย นั่นคือจำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งความเชื่อของตนเองกับของผู้อื่นให้ชัด เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มที่เป็นคาทอลิก กับกลุ่มที่ประท้วงต่อต้านคาทอลิก สองกลุ่มนี้นับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน ยึดถือคัมภีร์เล่มเดียวกัน ซ้ำยังรับเอาพิธีกรรมเก่าหลายอย่างมาปฏิบัติเหมือนกันอีกด้วย แตกต่างกันที่ “นักบวช” เท่านั้น จึงจำเป็นต้องขีดเส้นความเชื่อของตนให้ชัดว่าแค่ไหนเป็นคาทอลิก แค่ไหนไม่ใช่

คนในโลกตะวันออกไม่รู้จะขีดเส้นอย่างนี้ไปทำไม แต่เมื่อศาสนาที่มีเส้นพรมแดนแบบคริสต์เผยแผ่ในเอเชีย ย่อมเกิดเส้นพรมแดนระหว่างศาสนาพื้นเมืองกับศาสนาคริสต์ขึ้นโดยปริยาย และเพื่อจะปกป้องตนเองมิให้ถูกคริสเตียนครอบงำ นักปราชญ์ของศาสนาพื้นเมืองทั้งหลายก็ต้องพัฒนาเส้นพรมแดนในศาสนาของตัวขึ้นด้วย พื้นที่ความเชื่อทางศาสนาที่คนเคยลื่นไหลได้อย่างเสรี ก็เริ่มชนกับเส้นพรมแดนนี้ เริ่มมองเห็นว่ามีคนอยู่อีกฟากหนึ่ง และเริ่มเหม็นขี้หน้าของคนอีกฟากหนึ่งด้วยความไม่ไว้วางใจ

ในขณะที่ศาสนากลายเป็นก้อน ที่ไม่อาจกลืนเข้าหากันได้อย่างในอดีต นักปราชญ์ของศาสนาต่างๆ ในเอเชีย ก็พยายามรื้อฟื้นคำสอนของศาสดาขึ้นใหม่ให้มีพลังที่จะเผชิญกับคริสต์ศาสนา อันที่จริงหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นักปราชญ์เอเชียทำอย่างนี้ตลอดมาก่อนหน้าที่มิชชันนารีจะเผยแผ่ศาสนาคริสต์อย่างกว้างขวางด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ที่จะดำรงอยู่สืบเนื่องมาเป็นพันๆ ปีถึงปัจจุบันได้ ก็เพราะมีนักปราชญ์คอยตีความคำสอนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ

แต่การรื้อฟื้นศาสนาในเอเชียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาจแตกต่างจากการกระทำอย่างเดียวกันในอดีต ตรงที่ว่า ต่างก็อาศัยกรอบโครงของการตีความที่มีในศาสนาของตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน นักปราชญ์ฮินดูพบว่าเทคโนโลยีที่มีฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์นั้น มีมาแล้วตั้งแต่ในคัมภีร์พระเวท เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผู้แต่งกิจจานุกิจบอกว่ากำเนิดโลกในคติของพระพุทธศาสนา ตรงกับวิทยาศาสตร์เสียยิ่งกว่าทฤษฎีพระเจ้าสร้างโลกของคริสเตียนเสียอีก ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหลายก็เป็นเพียงอุบายในการสื่อคำสอนให้ง่ายสำหรับสามัญชนเท่านั้น คำสอนของขงจื๊อถูกนักปราชญ์จีน, เวียดนาม, เกาหลี ประณามว่าเป็นเหตุให้บ้านเมืองล้าหลังก็มี

แต่บางคนก็พยายามดึงเอาแก่นแกนของคำสอน ซึ่งเน้นวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และโลกวิสัย ว่าคือหัวใจของความเข้มแข็งของบ้านเมือง หากรื้อฟื้นกลับขึ้นมาได้

ผมขอสรุปความพยายามของนักปราชญ์ทางศาสนาในศตวรรษที่ 19 ของเอเชียนี้ว่า การทำศาสนาให้เป็นตะวันตก (Westernization) ผลก็คือ ศาสนากลายเป็นเพียงส่วนเดียวของวิถีชีวิตเหมือนคริสต์ศาสนาของตะวันตก คิดถึงชาวพุทธไทยแล้วกันครับ เรากินเหล้ากินยาร่วมกับฝรั่งได้ โดยไม่มีใครเอะใจว่า เฮ้ยวันนี้วันพระ ผมขอนั่งเฉยๆ ไม่ร่วมดื่ม ซึ่งอาจทำให้ทุกคนในวงรู้สึกอึดอัดไปหมด อันที่จริง แม้แต่ใครนับถือศาสนาอะไรเราก็ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำ เกือบจะไม่ต่างอะไรกับการกลัวผี-ไม่กลัวผี กลัวก็คบกันได้ ไม่กลัวก็คบกันได้ หรือแต่งงานกันได้

อย่างที่กล่าวในตอนที่แล้วน่ะครับว่า มิติทางฆราวาสวิสัยท่วมทับศาสนาทุกศาสนาไปหมด แม้ไม่ได้สมาทานวิทยาศาสตร์และลัทธิปัจเจกชนนิยมเท่าฝรั่งก็ตาม

แต่ทั้งนี้ยกเว้นมุสลิม เพราะเหตุใด ผมมีความรู้ไม่พอจะอธิบายได้ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นพัฒนาการที่ต่างกันบางอย่างระหว่างอิสลามในโลกยุคใหม่กับศาสนาอื่นๆ ของเอเชีย

ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก็เหมือนศาสนาอื่นๆ ของเอเชีย นักปราชญ์มุสลิมในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอียิปต์และซีเรีย ซึ่งต้องเผชิญกับการครอบงำของจักรวรรดินิยมตะวันตก ต่างพากันเสนอการปรับศาสนาอิสลามให้เข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ตะวันตกนำเข้ามา แต่ความคิดเช่นนี้แพร่หลายอยู่เฉพาะมุสลิมที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่หรือแผนตะวันตกจำนวนไม่มากนัก แม้จะแผ่ลงมายังสถาบันการศึกษาตามจารีตอยู่บ้าง แต่ไม่เข้มข้นนัก ตำราฝรั่งมักเรียกความเคลื่อนไหวทางสติปัญญาและวิชาความรู้ในสังคมมุสลิมช่วงนี้ว่า modernism หรือลัทธิทันสมัยนิยม

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ขยายจากตะวันออกกลางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ปอเนาะของโต๊ะครูที่เป็น modernist มีตั้งขึ้นทั้งในชวา, สุมาตรา, รัฐมลายูของอังกฤษ และบางส่วนก็เลยจากกลันตันข้ามเข้ามายังรัฐมลายูของไทยบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังมีปอเนาะประเภทนี้น้อยกว่าปอเนาะที่สอนศาสนาตามประเพณี

หากดูข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาของหะยีสุหรง ก็จะเห็นว่าได้อิทธิพลจากความเคลื่อนไหวทันสมัยนิยมอยู่บ้างเหมือนกัน ผมจำหนังของอัฟกานิสถานได้เรื่องหนึ่ง ที่พ่อมุสลิมซึ่งคงเป็นคนหัวใหม่สอนลูกชายว่า พิธีกรรมต่างๆ นั้นไม่สู้สำคัญนัก ให้ดำเนินชีวิตด้วยกฎตายตัวข้อเดียวก็พอ คืออย่าขโมย แล้วอธิบายเพิ่มว่าฆ่าคนก็คือขโมยชีวิตเขา เป็นชู้ก็คือขโมยเมียเขา โกหกคือขโมยความจริง และเมาเหล้าคือขโมยสติของตนเอง

แต่จะด้วยเหตุใด ผมก็อธิบายไม่ได้ ความเคลื่อนไหวนี้ซบเซาลงในโลกอิสลาม คล้ายกับมีปฏิกิริยาพลิกกลับของนักปราชญ์มุสลิมในสายประเพณี จนผมได้ยินนักวิชาการอิสลามในภาคใต้ท่านหนึ่งพูดในทำนองว่า นักคิดมุสลิมในสายทันสมัยนิยมเหล่านี้บิดเบือนคำสอนในศาสนา

ดังนั้น ผมจึงคิดว่ากระบวนการปรับศาสนาให้สอดคล้องกับตะวันตกของศาสนาอื่นๆ นั้น เอาตะวันตกเป็นเกณฑ์ (หรือพูดให้ชัดคือเอาวิทยาศาสตร์ตะวันตกและลัทธิปัจเจกชนนิยมของตะวันตกเป็นเกณฑ์) แล้วปรับคำสอนทางศาสนาให้สอดรับกับค่านิยมใหม่ที่เป็นของตะวันตก ในขณะที่กระบวนการเดียวกันนี้ของศาสนาอิสลามเป็นตรงกันข้าม คือเอาคำสอนของอิสลาม (หรือที่ถือกันมาว่าเป็นคำสอนของอิสลาม) เป็นเกณฑ์ ส่วนใดของตะวันตกที่เข้ากันได้ ก็รับเข้ามา แต่ที่เข้าไม่ได้ก็ไม่รับ เช่นผู้หญิงเล่นกีฬาก็ได้ เพราะพระคัมภีร์ไม่ได้ห้าม แต่ก็ยังต้องแต่งกายรัดกุมตามคำสั่งทางศาสนาอยู่นั่นเอง

ในชีวิตของมุสลิมตามอุดมคติ มิติทางฆราวาสวิสัยต้องเป็นรองมิติทางศาสนาอยู่เสมอ

และด้วยเหตุดังนั้น วิถีชีวิตของชาวมุสลิมที่ดีจึงไม่แยกออกจากศาสนา ต่างจากศาสนิกของศาสนาอื่น มุสลิมจึงเป็น “คนแปลกหน้า” ของศาสนิกอื่นๆ จะกิน, จะนอน, จะแต่งงาน, จะเล่นกีฬา, จะแต่งกาย, จะนับพวก, จะพูดภาษาอะไร, จะแสดงความเคารพอย่างไร ฯลฯ จะทำอะไรก็ตามต้องทำให้ถูกตามหลักศาสนา

ศาสนาของศาสนิกอื่นๆ เหลือแต่เพียงความเชื่อ (หรือไม่เหลืออะไรเลย) ในขณะที่มีวิถีชีวิตที่อาจปรับเปลี่ยนไปในทางเดียวกันได้ แต่ไม่ใช่มุสลิม อิสลามเป็นมากกว่าความเชื่อ ยังรวมแทบจะทุกด้านของวิถีชีวิตอยู่ด้วย ความเป็น “คนแปลกหน้า” ของมุสลิมเช่นนี้ต่างหาก ที่ผมอยากสรุปว่าทำให้เกิดอคติในทางร้ายแก่ชาวมุสลิม ชาวพุทธ, ชาวฮินดู หรือแม้แต่ชาวคริสต์ในสมัยหนึ่ง อาจไม่มีอคติเช่นนี้กับมุสลิมเลย เพราะพวกเขาเองก็ไม่อาจแยกศาสนาออกจากวิถีชีวิตได้เหมือนมุสลิมเช่นกัน จึงเป็นเพียงคนที่ถือประเพณีต่างกันเท่านั้น

ผมควรกล่าวด้วยว่า หากศาสนามีความสำคัญแก่ผู้คนในสังคมมากอย่างเช่นสังคมอิสลาม จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้นำทุกฝ่ายย่อมอ้างศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งนั้น ทั้งฝ่ายที่ครองอำนาจและฝ่ายที่อยากจะแย่งอำนาจ อันที่จริงศาสนิกอื่นก็ทำอย่างเดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่อ้างไม่เกี่ยวกับ “ศาสนา” เท่านั้น เช่น อ้างคอมมิวนิสต์, อ้างชาตินิยม, อ้างเสรีภาพและประชาธิปไตย, อ้างทุนนิยม, อ้างความเป็นไทยหรือความเป็นอเมริกัน, อ้างเสาหลัก ฯลฯ แล้วก็จับอาวุธฆ่ากันอยู่เสมอ
เพียงแต่มุสลิมย่อมอ้างอิสลาม จึงฟังดูแปลกกว่าที่คนอื่นเขาอ้างกันเท่านั้น


เผยแพร่ครั้งแรกใน:

มติชนสุดสัปดาห์: ความแปลกหน้าของมุสลิม (1)
มติชนสุดสัปดาห์: ความแปลกหน้าของมุสลิม (จบ)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.