Posted: 12 Oct 2017 03:57 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปิยบุตร แสงกนกกุล เปิดตัวหนังสือวิชาการเล่มใหม่ ‘ศาลรัฐประหาร’ วิพากษ์ถอนรากถอนโคนอำนาจตุลาการ คืออำนาจทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ย้ำตุลาการเป็น 1 เป็นหนังในผู้เล่นทางการเมือง

“ศาลไม่ใช่องค์กรที่เป็นกลางและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ศาลเป็นผู้เล่นทางการเมือง มีบทบาททางการเมือง มีบทบาททางการเมืองผ่านการตัดสินคดี การตรวจสอบถ่วงดุลกับศาลจึงต้องเริ่มจากการถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ทำให้ศาลลงมาอยู่ในระนาบ เดียวกันกับองค์กรทางการเมืองอื่นๆ การจิจารณ์ การใช้อำนาจตอบโต้ และการประท้วงศาลนั้น เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยที่แต่ละองค์ สามารถใช้อำนาจตอบโต้ถ่วงดุลกันเพื่อหาจุดดุลภาพแห่งอำนาจ” ปิยบุตร แสงกนกกุล

ข้อความข้างต้นปรากฎเด่นชัดบนปกหลังในงานวิชาการที่ชื่อว่า “ศาลรัฐประหาร ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร” ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานวิชาการเล่มดังกล่าวตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และได้มีการจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ปิยบุตร เป็นหนึ่งในวิทยากรในวงเสวนา เขาไม่ได้พูดถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มดังกล่าวมากนัก หากแต่ต้องการจะสื่อสารว่า เพราะอะไรจึงต้องเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวขึ้นมา ต้นสายปลายเหตุเกิดจากอะไร และเขามองเห็นอะไรในอำนาจตุลาการของประเทศไทย


หนังสือเล่มนี้ก่อร่างมาจากชีวิตนักศึกษาในปี 2540

ปิยบุตร เล่าที่มาของหนังสือเล่มดังกล่าวว่า เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยในช่วงหลังจากนั้นเป็นต้นมาพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ถูกจำกัดลงเรื่อยๆ และเห็นว่าในฐานะนักวิชาการควรจะทำงานทางความคิดโดยหาช่องทาง เผยแพร่ผ่านสื่อออกไป จึงได้มีโอกาสเขียนบทความเชิงวิชาการลงในมติชนสุดสัปดาห์เรื่อยมา จรกระทั่งได้นำบทความที่ตีพิมพ์ลงในมติชนมารวมเล่มภายใต้โครงเรื่องเดียวกัน โดยเล่มแรกได้ตีพิมพ์ไปเมื่อปี 2559 คือ รัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน

เขาเล่าต่อไปว่า ตอนที่เริ่มเขียนบทความในหนังสือเล่มล่าสุดเขาคิดอะไรอยู่ โดยเล่าย้อนไปถึงช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปิยบุตรเล่าว่า เข้าเรียนในช่วงปี 2540 สมัยนั้นเป็นยุคที่อยู่ในกระแสธงเขียวปฏิรูปการเมือง พร้อมกับเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนในรุ่นนั้นทุกคนจะอิน สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องการปฏิรูปการเมือง เนื่องจากจะเกิดกฎหมายใหม่ๆ ขึ้น และมีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คนเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงเวลานั้นสนใจ

ปิยบุตร อธิบายต่อไปถึง บรรยากาศการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ว่ามีความโบราณ มีลักษณะที่เป็นรูปแบบ ขบน จาจีตสูง และเป็นคณะที่มีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตนักกฎหมายเพื่อออกไปประกอบอาชีพ มากกว่าที่จะสอนให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียน

“ผมก็ถูกฝึกมาให้เชื่อในตัวกฎหมาย ศรัทธาในตัวกฎหมาย เคารพกฎหมาย และการถกเถียง วิพากษ์ วิจารณ์กัน ก็มีการวิพากษ์กันในเรื่องของกฎหมาย เช่นตัดสินแบบนี้คุณมีความเห็นทางกฎหมายอย่างไร ทำไมถึงไม่ให้ความเห็นทางกฎหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความสม่ำเสมอในการให้เหตุผลไหม คำพิพากษาฎีกาต่างจากครั้งก่อนหน้าเพราะอะไร ทำไม่ศาลจึงกลับแนวคำพิพากษา เราก็จะพูดถกเถียงกันเรื่องนี้ ไปได้ไกลที่สุดเราก็อาจจะพูดกันเรื่องว่ากฎหมายนี้มีแรงบรรดาลใจมาจากอะไร สภาพสังคมเป็นอย่างไรถึงเขียนกฎหมายแบบนี้ ประเทศอื่นเขาเป็นอย่างไร เราถึงเขียนกฎหมายตามเขามา การเรียนการสอนมันเป็นแบบนี้ มันไม่ท้าทายตัวกฎหมายที่มันเกิดขึ้นอยู่ ไปได้ไกลที่สุดอาจจะเป็นไปในทางนิติปรัชญาเช่น ความยุติธรรมคืออะไร กฎหมายคืออะไร ก็แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะถือหางกฎหมายสำนักไหน เราไปได้ไกลสุดแค่นี้”
ปิยบุตรกล่าว

เขาเล่าต่อไปว่า หลังจากเขาเรียนได้ไม่นานก็ได้อ่านงานด้าน นิติปรัชญามากขึ้น แต่การเรียนการสอนนิติปรัชญาของธรรมศาสตร์ก็ให้น้ำหนักกับสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) มากกว่าสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Positive Law School) ซึ่งเขาเห็นว่ามีความจงใจ พูดถึงสำนักกฎหมายบ้านเมืองสิ้นสุดแค่ศตวรรษที่ 17-18 ทั้งๆ ที่สำนักกฎหมายบ้านเมืองในศตวรรษที่ 19 20 21 เป็นพวกที่สนับสนุนประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับนักกฎหมายสำนักธรรมชาติ ที่เชื่อในพระเจ้า เชื่อในการมีอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง นักกฎหมายที่เชื่อในสำนักธรรมชาติหลายต่อหลายคนกลับฝักใฝ่เผด็จการ โดยเขายกตัวอย่างสั้นๆ ว่ามีนักกฎหมายสำนักธรรมชาติจำนวนมากที่สนับสนุนพรรคนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

“อย่างไรก็ตามทั้งสองสำนักมันมีข้อวิจารณ์กันทั้งคู่ แต่การเรียนการสอนวิชานิติปรัชญาที่ธรรมศาสตร์มันเหมือนกับ มวยปล้ำ มีการแบ่งเป็นธรรมะ อธรรม แม้อาจารย์จะไม่ได้พูดตรงๆ แต่เรียนไปเรียนมามันรู้สึกว่าฝ่ายสำนักกฎหมายบ้านเมืองมันอยู่ฝ่ายอธรรม ขณะที่ฝ่ายสำนักกฎหมายธรรมชาติอยู่ฝ่ายธรรมะ แต่เอาเข้าจริงๆ สุดท้ายเรียนกันไปไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ผมก็เห็นว่านักกฎหมายที่เรียนจบกันออกไป หรือแม้แต่อาจารย์เองก็ด่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองกันอยู่ทุกวัน แต่พอเผด็จการมาเมือไหร่ก็ไปรับใช้อำนาจ ไม่เห็นมีใครที่ออกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายที่ทหารใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ถ้ามองในมุมของสำนักธรรมชาติมันต้องเถียงแล้วใช้ไหมว่านี่มันไม่ใช่กฎหมาย แต่นี่ไม่มีใครพูดเลย พูดกันง่ายๆ คุณพูดเรื่องสำนักกฎหมายธรรมชาติเอาไว้แค่โม้กันในห้องเรียนเท่านั้น ในปฎิบัติไม่เคยเกิดขึ้น” ปิยบุตร กล่าว

เขาเล่าต่อไปว่าได้ตั้งคำถามกับเรื่องดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งได้อ่านงานของ จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้มีการเขียนเรื่องนิติปรัชญาโดยพูดถึง นักคิดใหม่ๆ มากขึ้น ประกอบกับการอ่านงานของ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับเรื่องนิติศาสตร์แนววิพากษ์ เลยทำให้เห้ฯว่าสิ่งที่เรียนอยู่ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น แต่มีอะไรที่ลึกไปกว่าสิ่งที่ได้เรียน

“พื้นฐานผมเป็นคนชอบเรื่องการเมืองอยู่แล้ว จึงพยายามหาแง่มุมทางนิติศาสตร์เข้าไปมองในทางการเมืองว่าจริงๆ แล้วข้างหลังมันเป็นอย่างไรกันแน่ พยายามอ่านศึกษาค้นคว้า เพราะวิเคราะห์ทางกฎหมาย วิเคราะห์ปฎิบัติการของศาล ในแง่ของกระบวนการความคิด ในแง่ของกระบวนการเมืองที่มันอยู่เบื้องหลังของศาลว่ามันคืออะไรกันแน่ จนไปเรียนต่างประเทศก็ได้มีโอกาสค้นคว้างานทางประเทศเยอะขึ้นๆ แต่ก็นั้นแหละถ้างานที่นักนิติศาสตร์เป็นคนเขียน เขียนให้ตายวิจารณ์ให้ตายอย่างไร มันก็ยังอยู่ในกรอบอยู่ ไปได้ไกลที่สุดซึ่งพวกนิติศาสตร์เองเขาก็ยังไม่ยอมรับกันก็คือสำนัก critical legal studies ซึ่งนำโดย Roberto Unger ปรากฎว่าในแวดวงนิติศาสตร์ก็ประณามเขาว่า คุณสอนกฎหมายแบบนี้ได้อย่างไร เพราะสอนไปคุณจะบ้าเหรอ มันกลายเป็นภาวะสูญญะนิยม คุณสอนไปมันทำให้คนไม่เชื่อในกฎหมาย สอนจนคนมันตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายมันคืออะไร และมันไม่มีอะไรเลย ในแวดวงก็อัปเปหิเขาออกไป แต่เอาเข้าจริงแล้วเขาสามารถให้มองมุมในทางการเมือง ในทางวิพากษ์ วิจารณ์เข้าไปในตัวกฎหมาย ได้มากยิ่งขึ้น” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตรเห็นว่า นักกฎหมายที่ถูกฝึกมาในทางกฎหมายจะยึดติดความเป็นรูปแบบนิยมของตัวเอง เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดคือให้ดูว่ามีเพื่อนสมัยมัธยมคือใดบ้างที่เรียนต่อนิติศาสตร์ ให้สังเกตว่า 4 ปี ผ่านไปเรายังสามารถคุยกับเพื่อนคนนั้นรู้เรื่องอยู่หรือไม่

“ถ้าท่านมีเพื่อนที่เรียนกันมาตอนมัธยมและพอเขาเข้าไปเรียนกฎหมายปุ๊บ 4 ปีหลังจากนั้นท่านจะเริ่มคุยกับมันไม่รู้เรื่องแล้ว เพราะเขาจะมีวิธิการพูดมีคำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือความจงใจของแวดวงนิติศาสตร์ที่จะทำให้วิชานิติศาสตร์ถูกสงวนไว้กับพวกเขาเท่านั้น แล้วนิติศาสตร์มันมีอำนาจในการเอากฎหมายไปใช้ ไปตีความ และมีแต่คนเรียนนิติศาสตร์เท่านั้นที่พวกขาดกันอยู่ โอเคละเขาอาจจะทะเลาะกันบ้างในแวดวง เห็นต่างเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่การทะเลาะกันทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นไปเพื่อที่จะแย่งชิงว่าใครเป็นผู้ผูกขาด หรือผู้ที่จะบอกวากฎหมายคืออะไร ซึ่งคนที่อยู่นอกแวดวงจะถูกเขี่ยออกไป มากที่สุดก็บอกว่าคุณไม่ได้เรียนกฎหมายคุณไม่รู้เรื่อง หรือคุณก็พูดไปสิ เขียนไปสิ แต่คุณไม่ได้พูดในสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย นี่คือศิลปะวิทยาการของพวกนิติศาสตร์ที่จะผูกขาดความรู้ทางกฎหมายไว้กับพวกของตัวเอง” ปิยบุตร กล่าว

ผมต้องการพิสูจน์ว่า การใช้อำนาจของศาล ไม่สามารถแยกออกจากการเมือง

ปิยบุตร เล่าว่าเขาอ่านงานหลายประเภท และได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักคิดหลายคน เช่น คาร์ล ชมิทท์ โรเบิร์ตโต้ อังเกอร์ ฌาร์ค ดาริดา อันโตนีโอ เนกรี ประกอบกับการอ่านของนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่เข้ามาศึกษาบทบาทของศาล

สำหรับวิชาการของเขาเองนั้น มีจุดประสงค์เพื่อต้องการพิสูจน์ว่า การเมือง และกฎหายมันเป็นคู่ขัดแย้งกัน และเราถูกทำให้เชื่อว่า ‘การเมือง’ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้าน ภาคประชาชน NGOs ส่วน ‘กฎหมาย’ เรื่องเหล่านี้ศาลจะเป็นผู้จัดการ โดยสิ่งต่างๆ มีกรอบของกฎหมายอยู่ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันจะถูกส่งมาให้ศาลและศาลจะชี้ขาดข้อพิพาทนั้นในนามของกฎหมาย

“ปกติเรามักจะมองกันว่า การเมืองมีอะไรก็ว่ากันไป หากมีข้อพิพาททางกฎหมายขึ้นมาเมื่อไหร่ศาลเป็นผู้วินิจฉัยในนามของกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเนี่ยเราแยกการเมืองกับกฎหมายออกได้ชัดเจนขนาดนั้นจริงหรือเปล่า ผมเห็นว่ามันไม่มีทาง” ปิยบุตร กล่าว

เขาอธิบายต่อไปว่า กฎหมายไม่อาจแยกออกจากระบบการปกครอง โดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงเรื่องระบบกรรมสิทธิ์ โดยกฎหมายในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นได้หากอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่นิติกรรม สัญญา เสรีภาพที่มนุษย์จะสามารถทำนิติกรรม และสัญญาได้ ก็ขึ้นอยู่กับระบอบเสรีประชาธิปไตย ฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นกฎหมายสากล มันก็เป็นไปตามระบอบการปกครองนั้นเอง ซึ่งโลกในปัจจุบันได้ยอมรับในระบอบเสรีประชาธิปไตย

ปิยบุตรชี้ให้เห็นต่อไปว่า หลักการพื้นฐานกว้างๆ ที่ได้รับการยอมรับตามระบอบเสรีประชาธิปไตย ได้ถูกแปลงสภาพมาเป็นหลักกฎหมายเช่นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลักความพอสมควรแก่เหตุ คือหลักที่ว่าด้วยการที่รัฐจะจำกัดเสรีภาพของบุคคลก็จำกัดให้พอสมควรแก่เหตุ โดยหลักการเหล่าก็ได้ถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นข้อกฎหมาย เขียนลงในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งเมื่อเขียนแล้วก็จะกลายเป็นถ้อยความที่กว้างๆ เป็นนามธรรม ซึ่งสุดท้ายแล้วองค์ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดก็ต้องนำเอาถ้อยคำเหล่านั้นมาตีความอีก

“อย่างไรเป็นการละเมิดศักดิ์ความเป็นมนุษย์ อย่างไรไม่ละเมิด อย่างไรเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอย่างไรไม่ละเมิด มันเป็นช่วงเวลาที่ผมเรียกว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจ ดังนั้นต่อให้คุณบอกว่ากฎหมายมันเป็นบรรทัดฐานไล่ลงมาเป็นลำดับชั้น สืบทอดมาจากชั้นบนๆ ลงมาเรื่อยๆ แต่วันที่คุณเอากฎหมายไปใช้ไปตีความ ความเป็นการเมืองมันก็เกิดขึ้นอยู่ดี คือคุณต้องอธิบายว่ามันคืออะไร” ปิยบุตร กล่าว

เขาอธิบายต่อไปถึง กฎหมายมหาชนว่า เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจรัฐ โดยเป็นการยอมรับว่ารัฐมีอำนาจ แต่จะทำอย่างไรให้มีการใช้อำนาจรัฐอย่างมีกรอบมีเกณฑ์ กติกา จึงเกิดความคิดเป็นกฎหมายมหาชนขึ้นมา เพื่อตีกรอบทางกฎหมายเข้าไปจำกัดการใช้อำนาจของรัฐ รัฐจะมีอำนาจทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติ แต่ก็ต้องอยู่ภายใตกรอบกติกาที่วางเอาไว้

“หากเรามองในมิตินี้ ฝ่ายบริหารเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คือผู้ใช้อำนาจในการกระทำการอะไรบางอย่าง ส่วนศาลก็ใช้อำนาจในอีกประเภทหนึ่งคือการตรวจสอบการใช้อำนาจว่า อำนาจที่ฝ่ายบริหารได้ใช้อยู่ในกรอบของกฎหมายหรือเปล่า ทีนี้มันเป็นไปได้อย่างไรทำไมเราถึงบอกว่า พวกรัฐบาล รัฐสภา พวกเจ้าหน้าที่ พวกนี้ใช้อำนาจ คุณว่าว่ามันเป็นเรื่องการเมือง แต่พอศาลใช้อำนาจตัวเองเหมือนกัน ไปตรวจสอบไอ้คนเหล่านี้คุณบอกศาลใช้อำนาจตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่เราต้องอิงกับมัน มันคืออำนาจทั้งนั้นแหละ และในขณะที่ศาลไปตรวจสอบคนอื่น คำถามที่ตามมาคือแล้วใครตรวจสอบศาล ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ รากเหง้าของอำนาจทั้งหมดมันมาจากก้อนเดียวกันคือ สิ่งที่เราเรียกมันว่าอำนาจอธิปไตย เพียงแต่แบ่งฟังก์ชั่นภาระกิจกันไปทำ แต่ทำไมศามันถึงดันขึ้นมาสูงเด่นกว่าคนอื่น” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้คนเรียนนิติศาสตร์ ถูกสอนให้จำมาตลอดว่า Judicial Review คือศาลต้องมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอื่นๆ เช่นรัฐสภาตรากฎหมายมา ก็มีศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เจ้าหน้าที่ต่างๆใช้อำนาจ ศาลก็สามารถตรวจสอบได้ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไอเดียเรื่อง Judicial Review ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองแต่มีเส้นทางการเดินทางการต่อสู้ในทางการเมืองมา กว่าจะได้มาเป็นที่ยอมรับว่าในรัฐที่เป็นนิตรัฐจะต้องมี

เขากล่าวต่อไปว่า Judicial Review เป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้น โดยย้อนกลับไปเพียงสองร้อยถึงสามร้อยปีก็จะพบที่มา เขาระบุว่าในสมัยของการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้มีแนวคิดว่าจะให้อำนาจแก่ศาลมาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง เนื่องจากศาลในเวลาถูกมองเป็นอภิสิทธิ์ชน และคนฝรั่งเศสให้คุณค่ากับกฎหมายมากกว่า ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการถกเถียงกันมาตลอดว่าหากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วใครจะเป็นคนมาตัดสินว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นมาขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการเถียงกันมาตลอดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นอำนาจศาล อีกฝ่ายเห็นว่าไม่ควรเป็นอำนาจศาล จนท้ายที่สุดเกิดคดี Marbury v. Madison ซึ่งเป็นการยืนยันว่าสุดท้ายศาลจะเป็นผู้ตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นมานั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

เขาเล่าต่อไปถึงเบื้องหลังของคดี Marbury v. Madison ว่า เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ มันคือการแย่งชิงการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีการะหว่างพรรคเดโมเครต กับพรรครีพับลิกัน ซึ่งพรรครีพับลิกันเป็นพรรคที่รัฐบาลกลาง ไม่อยากให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมา ขณะที่เดโมเครตต้องการให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมาก พวกนี้มันเห็นต่างกันมาโดยตลอดตั้งแต่วันก่อตั้งประเทศ เขาก็มองว่าศาลฎีกานี่แหละที่จะพิทักษ์หลักการพวกนี้ไว้ เขาก็ชิงกันตั้งศาลฎีกากันจนนาทีสุดท้าย ระหว่างช่วงส่งต่ออำนาจของประธานาธิบดีจากคนที่สองสู่คนที่สาม ได้มีการชิงตั้งประธานศาลฎีกากันในช่วงเวลาเที่ยงคืน จนที่สุดเกิดเป็นคดีความขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของแนวคิดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเยอรมัน ถูกนำเข้าไปในหลายประเทศแต่ล้มเหลวบิดเบี้ยว

ปิยบุตร อธิบายต่อไปว่าหลังจากเกิดกรณี Marbury v. Madison ที่สหรัฐอเมริกา ทางประเทศฝั่งยุโรปก็ได้มีการคิดถึงเรื่องดักกล่าวขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการปกครองโดยผู้พิพากษา (Government by judge) จึงเกิดเป็นสองสำนักคิดขึ้นมา แนวคิดแรกเห็นว่า ควรมีศาลรัฐธรรมนูญ โดยออกแบบให้ศาลมีที่มาจากการเมืองคือการที่ให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกตุลาการขึ้นมา แล้วแยกออกมาเป็นศาลใหม่ ไม่ให้อยู่กับระบบศาลเดิม ให้ทำหน้าที่เพียงแค่การพิจารณากฎหมายว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะอีกแนวคิดหนึ่งเห็นว่า แนวคิดแบบแรกเป็นเรื่องเฟ้อฝัน ไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เล่นการเมือง โดย คาร์ล ชมิชท์ เจ้าของแนวคิดเห็นว่า ควรให้เป็นอำนาจของประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่จะชี้ขาดว่าอะไรขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายแล้วปรากฏว่าแนวคิดแรกกลายเป็นสิ่งยอมรับกัน และกระจายและใช้กันทั่วโลกตอนนี้ ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าแนวคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มีการสู้กันมาตลอด และไม่ได้ต้องเป็นแบบนี้เสมอไป ขณะที่ประเทศไทยเวลาจะนำโครงสร้างเหล่านี้มาใช้ก็จะนำเข้าเพียงอย่างเดียว ไม่มีการอธิบายถึงบริบทและที่มาที่ไปของแนวคิดนั้นๆ

เขากล่าวต่อไปว่า หากจะพูดถึงศาลรัฐธรรมนูญ เยอรมันก็เป็นประเทศต้นแบบที่สำคัญ ซึ่งไทยไปลอกเยอรมันมาเยอะพอสมควรในเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ คำถามคือทำไมจึงไม่ชใชแนวทางแบบประเทศฝรั่งเศส อาจจะเพราะว่าวิธีคิดของเยอรมันไม่เหมือนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสบ้าปฏิวัติ เปลี่ยนระบอบไปมาตลอด ขณะที่ยอรมันเรียบสงบ สาเหตุหนึ่งเพราะพระมหากษัตริย์เห็นเพื่อนบ้านมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้ จึงค่อยๆ ปรับตัวและลดอำนาจตัวเองลงมาเรื่อยๆ เยอรมันจึงมีพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด จนมาจบเมื่อปี 1917 แล้วก็เข้าสงครามโลก

“วิธีคิดที่ต้องการลดทอนอำนาจตัวเองของรัฐ ได้ใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ จึงเกิดแนวคิดเรื่องนิติรัฐ ในรูปแบบของเยอรมันว่า รัฐยอมเอาตัวเองลงไปอยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วจึงต้องมีศาลมาใช้ตรวจสอบว่าอำนาจขัดกับกฎหมายหรือไม่ สร้างไอเดียสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อที่จะประกันสิทธิให้ทุกคน” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร เล่าต่อไปว่า ประเทศเยอรมันมาสะดุดนิดเดียว ในช่วงที่ ฮิตเลอร์ ขึ้นมาครองอำนาจ หลังจากฮิตเลอร์หมดอำนาจ เยอรมันได้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ เกิดความคิดเรื่อง Milatant Democracy โดยมีต้นกำเนิดจาก Karl Loewenstein ซึ่งเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยให้สิทธิเสรีภาพกับทุกคน แต่ต้องมีระบบป้องกันตัวเองด้วย เพราะเสรีภาพเกิดขึ้นได้เพราะประชาธิปไตย แต่จะนำเอาสิทธิเสรีภาพไปทำลายระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ จึงออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีระบบป้องกันตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศเยอรมันมีการยึดถือคุณค่าบางอย่างรวมกัน

“ด้วยเหตุนี้หลายคนก็พูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตย ไม่มีไม่ได้ แต่กรณีของเยอรมันพูดกันตรงไปตรงมามันเป็นกรณียกเว้น พวกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็ไปหยิบเอาโมเดลของเยอรมันมา ผมลองเช็คดูมีร้อยกว่าประเทศที่จะทำรัฐธรรมนูญก็จะเอาศาลรัฐธรรมนูญเอามาด้วย แต่ถามว่ามันมีศาลรัฐธรรมนูญที่ประสบผลสำเร็จจริงๆ กี่ประเทศ น้อยมาก ตรงกันข้ามคือคุณ import ศาลรัฐธรรมนูญไปใช้ มันเพี้ยนเต็มไปหมด และศาลรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นการเครื่องมือทางการเมือง” ปิยบุตร กล่าว

เขายกตัวอย่างประเทศที่มัศาลรัฐธรรมนูญ และกำลังประสบปัญหาต่อไปโดยระบุถึง ประเทศโปแลนด์ ซึ่งกำลังทะเลาะกันเรื่องตั้งศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองสองพรรคชิงกันตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปาเลสไตน์ เริ่มทดลองเอาศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ก็ประสบปัญหาเหมือนกัน ฝ่ายที่สนับสนุนยัสเซอร์ อาราฟัต ก็ตั้งเอาพวกตนเองเป็นศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ตุรกี เมื่อก่อนศาลรัฐธรรมนูญเป็นพวกรัฐฆราวาส แต่พอการเมืองเปลี่ยนเปลงไปมีการตั้งพวกตนเองมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญหมด ประเทศไทยก็อยู่ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

ปิยบุตร อธิบายต่อไปว่า หากในสมัยของฮิตเลอร์มีศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่แน่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับไม่รับใช้ระบอบเผด็จการ เนื่องจากศาลที่มีอยู่ในเวลานั้น แม้ฮิตเลอร์ยังไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงตัวผู้พิพากษามาก ก็พร้อมที่จะรับใช้ฮิตเอลร์ทั้งสิน จนกลายเป็นกรณีที่ใช้ศึกษากับมาถึงปัจจุบันกับการตัดสินให้คนยิวต้องติดคุก หากมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในเวลานั้นจริง ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะสามารถต้านทานอำนาจของฮิตเลอร์ได้ หากต่อต้านฮิตเลอร์ไม่นานก็จะถูกจัดการ เขาย้ำอีกครั้งว่าองค์กรที่เรียกว่าศาลนั้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดคือการเมือง เพียงแต่หน้าฉากพยายามทำตัวเป็นเหมือนผู้พิทักษ์หลักกฎหมาย

“เราลองดูรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ซึ่รัฐบาลเผด็จการมันสามารถครอบงำศาลได้ และศาลก็กลายเป็นมีหน้าที่ช่วยรัฐบาลเผด็จการ เช่นใครซ่าต่อต้านเผด็จการ ศาลก็ตัดสินเอาไปเข้าคุก เผด็จการออกอะไรมาศาลก็จะบอกว่าถูกเสมอ ตัวอย่างที่พบเห็นในปัจจุบันเพื่อนบ้านเรานี่เอง นี่เอง กัมพูชา ศาลใช้อำนาจตัดสินฝั่งตรงข้ามกับรัฐแบบจัดเต็มด้วยคดีหมิ่นประมาท คดีก่อการร้าย คดีหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเป็นกบฏ จนต้องถูกยุบพรรค แล้วถ้าพรรคถูกยุบกรรมการถูกตัดสิทธิ์ ถามว่าฮุนเซนต้องยุบเองไหม ไม่ต้องเพราะว่าศาลช่วยตัดสินให้เรียบร้อย ไม่รู้ลอกประเทศเรามาหรือเปล่า สิงคโปรที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เสรี เลือกตั้งกี่ครั้งก็เป็นพรรคเดียวชนะ เวลาที่ฝ่ายค้านซ่ามากๆ ผู้นำรัฐบาลเขาไม่ต้องไปจัดการกันเอง เขาไปฟ้องคดีหมิ่นประมาท เสร็จแล้วศาลก็จัดเต็มเลยลงโทษให้จ่ายค่าเสียหายจนล้มละลาย จากนั้นก็หมดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร ยกตัวอย่างต่อไปถึงกรณีของมาเลเซีย ซึ่งมีการใช้กฎหมาย หรือใช้คดีแปลกๆ เช่นกฎหมายที่ห้ามร่วมเพศกันทางทวารหนัก แล้วก็ใช้เรื่องนี้จัดการ อันวาร์ อิบราฮิม ทั้งหมดนี้ตัวอย่างของรัฐเผด็จการ หรืออำนาจนิยมที่กำลังครอบงำ แต่กรณีที่รัฐบาลไม่ได้ครอบงำตัวศาล จะเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เพราะศาลจะเข้ามาตรวจสอบรัฐบาล ถ้ารัฐบาลมีอุดมการณ์ความคิดชุดหนึ่ง ศาลมีอีกชุดหนึ่ง ก็จะเกิดการปะทะกัน

เขากล่าวต่อไปว่า บางประเทศศาลอาจจะ Anti-Populist(ประชานิยม) หรือบางทีอาจจะ Populist เอง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีการคุ้มครองสิทธิคนพิการ ที่ระบุว่าบุคคลที่สมัครเป็นผู้พิพากษาหากมีร่างการไม่สมประกอบ จะไม่รับ ศาลวินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังวินิจฉัยเรื่องผู้หญิงที่จดทะเบียนสมรสจะถูกบังคับให้ใช้นามสกุลของสามี อันนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูก้าวหน้ามาก

“ความก้าวหน้าของศาลรัฐธรรมนูญไทยไปได้ไกลสุด ถ้าหากไม่เจอกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องการแสดงความคิดเห็น พอกฎหมายมาตรา 112 คุณสมยศสู้คดีนี้มาจนถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ 9-0 ตัดสินว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แสดงว่าสิทธิที่คุณบอกจะพิทักษ์รักษาสิทธิต่างๆ มันมีเพดาน พอคุณไปเจอกับอะไรบางอย่าง สวิซต์ไฟของสิทธิเสรีภาพก็จะดับทันที” ปิยบุตร กล่าว

เข้าใจเสียใหม่ว่า ตุลาการ เป็น 1 ในผู้เล่นทางการเมือง

ทั้งหมดที่ปิยบุตรได้กล่าวไปนั้น เป็นที่มาของหนังสือ ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือ ต้องการถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของศาล เพราะโดยธรรมชาติศาลจะมีลักษณะศักดิ์สิทธิ์กว่าองค์กรอื่นๆ อยู่แล้ว ซึ่งหนังสือเล่มนี้ต้องการทำลายความเชื่อและมายาคติที่ว่าศาลเป็นกลาง และเป็นอิสระ ศาลเป็นองค์วินิจฉัยชี้ขาดไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งถูกปลูกฝังไว้อย่างยาวนาน เพื่อที่จะนำไปสู่การจัดการดุลยภาพของอำนาจในการเมืองไทยเสียใหม่ ลด ละ เลิก ไอ้สิ่งที่เราเรียกกันว่าตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งจะนำไปสู่ศาลซึ่งอนาคตจะกลายไปเป็นเครื่องมือ หรือกลไก เป็นองค์กรที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ศาลที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้

ในช่วงท้าย ปิยบุตรยังกล่าวต่ออีกว่า ศาลที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศาลเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่ไหนแต่ไร แต่เพิ่งถูกสร้าง เป็นกลไกที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ เพราะสติปัญญาของมนุษย์ยังออกแบบไม่ได้ มันไม่รู้จะเอาองค์กรอะไรมาตรวจสอบ ก็เลยคิดขึ้นมา แต่ในการศึกษาเชิงประจักษ์ Empirical study ก็จะพบว่าศาลนั้นมีบทบาททางการเมือง ศาลมีผลประโยชน์ มีอุดมการณ์กำกับอยู่ บางทีศาลก็ไปช่วยนักการเมือง เมื่อนักการเมืองจะชี้ขาดเรื่องสำคัญๆ แต่ในทางกลับกันอาจทะเลาะกับการเมืองก็ได้ ถ้าศาลเป็นกลไกของรัฐอีกรัฐหนึ่งที่ซ้อนตัวอยู่ด้านหลัง รัฐบาลจะออกนอกแถว ศาลก็เอาไม้มาหวดๆ ให้เข้าที่

“ผมคิดว่าเราต้องวิจารณ์ ตรวจสอบ ถ่วงดุลและตอบโต้ศาลทั้งในทางนิติศาสตร์ และวิชาอื่น ในทางนิติศาสตร์คุณต้องเอานิติวิธีตอบโต้ออกไป เพราะขนาดเราเอาวิชานิติศาสตร์มาใช้แบบที่คุณใช้ยังพบว่าคำพิพากษาของคุณมีปัญหา มีความไม่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกันมันต้องใช้วิชาอื่นด้วย เช่น ในทางรัฐศาสตร์เพื่อศึกษาบทบาททางการเมืองของศาล สังคมวิทยาหรือศาสตร์เชิงสังคมวิทยาไปศึกษา initial behavior ว่าพฤติกรรมของศาลคืออะไร อย่างในงานที่อาจารย์สมชายกำลังทำอยู่ ไปขุดโคตรเง้าศักราชของตุลาการแต่ละคน คุณมาจากไหน เป็นใคร เรียนจบที่ไหน หรืออีกอย่างหนึ่งคืองาน ethnography คือเข้าไปฝังตัวอยู่กับเขาแล้วดูว่าเขาทำอะไรกัน ทำไมถึงตัดสินเช่นนี้ ทำไมมีทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยม หรือทำไมเวลาเข้าไปในศาลถึงตัวสั่น รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง เขามีวิธีการทำงานอะไรของเขาบางอย่างอยู่” ปิยบุตร กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.