Posted: 29 Sep 2017 10:32 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3 แสนชีวิต ลุ้นระทึก เหตุอีกไม่เกิน 2 เดือนยาต้านไวรัสจะหมดประเทศ แต่รัฐยังไม่ได้สั่งซื้อเพิ่ม ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ตั้งคำถาม สตง.เขี่ย สปสช.ทิ้ง แล้วให้เปลี่ยนกลไกจัดซื้อที่ยุ่งยากกว่าเดิมทำไม
30 ก.ย. 2560 นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่าวันนี้เรากำลังอยู่ในภาวะที่ระบบสุขภาพกำลังสับสน คนไข้ที่กำลังอยู่ในระบบกำลังวังเวง โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อฯ เคยมีปัญหาการเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสและยาราคาแพง จากนั้นจึงมีการต่อสู้เรื่อยมาจนสามารถผลักดันให้ยาต้านไวรัสเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อยา โดยมอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถีทำหน้าที่แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คำถามก็คือจะเป็นการถอยหลังกับไปที่เดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้วใช่หรือไม่
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่าขณะนี้เป็นศึกแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือ สปสช.ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะในเชิงยุทธศาสตร์แล้วควรจะร่วมกันทำงานเคียงบ่าเคียงใหล่กัน เพื่อช่วยกันสร้างระบบสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว การเข้าถึงยาของผู้ป่วยกำลังมีปัญหา โดยที่ผ่านมาหน่วยบริการจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ผู้ติดเชื้อฯ ครั้งละ 3-4 เดือน แต่ขณะนี้พบสัญญาณว่ายาต้านไวรัสกำลังจะขาดแคลนเนื่องจากยังไม่มีการสั่งซื้อ พบว่าหน่วยบริการเริ่มจ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อฯ ครั้งละเพียง 1 เดือน หรือในบางแห่งถึงกับจ่ายเป็นรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ยังพบว่าจากเดิมที่ผู้ติดเชื้อจะได้รับยาสูตรรวมเม็ด ปัจจุบันยาดังกล่าวเริ่มขาดแคลนจนโรงพยาบาลต้องจ่ายให้เป็นยาสูตรแยกเม็ดแทน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อผู้ติดเชื้อฯ ขาดยาก็ไม่ได้เสียชีวิตทันที แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือจะเริ่มเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา นำมาซึ่งภาระงบประมาณของประเทศมากยิ่งขึ้น
“ทุกวันนี้เราใช้ยาที่ สปสช.จัดซื้อมาของปี 2560 อยู่ ซึ่งทราบมาว่ายาเหล่านั้นจะใช้ได้นานที่สุดก็ไม่เกินเดือน พ.ย.2560 จากนั้นยาต้านไวรัสก็จะหมดลง ขณะที่ผู้ป่วยก็ได้รับยาเป็นรายเดือนแล้ว ตรงนี้สะท้อนว่าระบบกำลังปั่นป่วน โรงพยาบาลก็ไม่สามารถเบิกยาได้” นายอภิวัฒน์ กล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ป่วยรู้สึกวังเวงใจและเป็นกังวลอย่างมาก เนื่องจากจนถึงขณะนี้ซึ่งกำลังสิ้นสุดปีงบประมาณ 2560 กลับยังไม่มีการจัดซื้อยาเพิ่มเติม นั่นหมายความว่าหลังจากเดือน พ.ย.2560 ผู้ติดเชื้อฯ จะต้องหยุดยาใช่หรือไม่
“พวกเราหยุดยาไม่ได้ พวกเราขาดยาไม่ได้ ตรงนี้สะท้อนว่าผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะที่เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน แต่เรายังมองไม่เห็นอนาคต เพราะยาหลายรายการได้หมดไปแล้ว ขณะที่ยาที่ต้องจัดซื้อในปี 2561 นั้นก็ยังไม่มีการจัดซื้อ ซึ่งดูเหมือนว่าเราตกขบวนไปแล้ว โอกาสขาดยาเป็นไปได้สูงมาก” นายอภิวัฒน์ กล่าว
ประธานเครือข่ายฯ รายนี้ กล่าวอีกว่า การที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่า สปสช.ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ในการต่อรองราคายาและจัดซื้อยารวมมาตลอดระยะเวลา 10 ปี อย่างไม่เคยมีปัญหานั้น ไม่มีอำนาจในดำเนินการ ก็ขอถามว่าเมื่อ สปสช.ไม่มีอำนาจ เหตุใดจึงไม่เพิ่มอำนาจให้ แต่กลับเลือกใช้กลไกใหม่ที่เพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยากกว่าเดิมหรือไม่
“ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสอยู่ประมาณ 3 แสนคน ลองคิดดูว่าถ้าผู้ป่วย 3 แสนคนต้องเดินไปโรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลไม่มียาให้เบิก นั่นก็หมายความว่าคนเหล่านั้นก็จะมีโอกาสมีเชื้อดื้อยา ระบบหลักประกันสุขภาพก็ต้องเพิ่มเม็ดเงินยิ่งขึ้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าเรื่องกฎหมาย” นายอภิวัฒน์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น