ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจจะกลายเป็นสื่งที่อำนวยความสะดวกหรือทำร้ายมนุษย์ได้ทั้งจากอคติและการแย่งงาน 'รัมมาน เจาดูรี' นักตรวจสอบระบบปัญญาประดิษฐ์มองว่ามันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้พัฒนามัน ถ้าหากเราปล่อยให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อยู่ในกำมือของบรรษัทใหญ่ไม่กี่คน มันก็ย่อมกลายเป็นสิ่งที่มีอคติแบบมนุษย์และเอื้อประโยชน์แต่กลุ่มคนระดับบน เราจะทำลายอคตินี้ได้อย่างไร
เจาดูรี ยกตัวอย่างกรณีชุมชนโอเพ่นซอร์สที่เอื้อเครื่องมือการโปรแกรมมิงให้กับผู้คนทั่วไป เปิดให้พวกเขาสร้างสิ่งต่าง ๆ จากโค้ดโปรแกรมมิ่งที่มีอยู่เดิม เจาดูรีเสนอว่าเราควรสามารถนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อลดช่องว่างของผู้คนได้เช่นกัน เช่นการสร้างปัญญาประดิษฐ์ในการให้ความรู้ การสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำให้การจ้างงานมีการกีดกันทางเชื้อชาติน้อยลง เธอย้ำว่าเรื่องพวกนี้ "ขึ้นอยู่กับพวกเราเอง"
มาช่วยกันทำให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นประโยชน์ต่อพวกเราเองกันเถอะ
เจาดูรีเป็นผู้ที่ศึกษาปริญญาตรีสองแขนงในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ อีกทั้งยังมีปริญญาโทด้านสถิติจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบียและปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ปัจจุบันเธอทำงานเป็นผู้นำฝ่ายการตรวจสอบระบบปัญญาประดิษฐ์ให้มีความรับผิดชอบต่อโลกในบริษัท แอ็คเซนเจอร์ เธอมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ 2 ส่วนหลัก ๆ
ส่วนแรกคือการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนแรงงาน เป็นตัวที่ทำให้ผู้คนยังมีงานทำแทนที่จะมาแย่งงานคน ใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือฝึกทักษะหรือทำการเติมช่องว่างความสามารถของผู้คนได้
ส่วนที่สองคือการปฏิบัติการอย่างมีความรับผิดชอบ หากระบวนการที่ต่อต้านอคติจากอัลกอริทึมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมมิ่งที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอคติเอง และทำให้ผู้คนเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำงานอยู่กับข้อมูลอะไร เจาดูรีบอกว่าตรงจุดนี้พวกเขากำลังค้นหาวิธีอยู่
ในฐานะที่เป็นนักวิทยาการด้านข้อมูล เจาดูรีบอกว่าเธอพยายามเข้าใจมนุษย์ผ่านข้อมูล เธอเคยทำการศึกษาเรื่องปัญญาประดิษฐ์เนื่องจากต้องการเข้าใจว่ามนุษย์มีความลำเอียงชอบพอและความอคติมาจากอะไร และพยายามประเมินผลว่าเทคโนโลยีเช่นนี้ส่งผลอะไรกับมนุษยชาติบ้าง
ตัวเจาดูรีเองมาจากครอบครัวผู้อพยพชาวบังกลาเทศ เธอเกิดในเทศมณฑลร็อคแลนด์ รัฐนิวยอร์ก ตอนนี้อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก เธอบอกว่าเธอเติบโตมาในสถานที่ที่เชื้อชาติและเพศสภาพไม่ได้ใช้เป็นเครื่องตัดสินคน ผู้คนแค่สนใจว่าพวกเธอเป็นคนอย่างไรและพวกเธอทำงานอะไร อย่างไรก็ตามการที่เธอได้ไปศึกษาที่อื่นทำให้เธอเห็นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศสภาพที่เกิดขึ้นในซิลิคอนวัลเลย์ ทั้งเรื่องค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกัน และปัญหาวัฒนธรรมในที่ทำงาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เคยตกเป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้
แน่ใจหรือว่าผู้คนทั่วไปจะไร้อคติ?
เรื่องปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่าจะทำให้เกิดผลเสียเลวร้ายต่อมนุษยชาติหรือไม่ แม้กระทั่งในกรณีที่เจาดูรี ที่มีเป้าหมายอยากให้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้าถึงได้สำหรับทุกคนจะส่งผลเสียต่อมนุษยชาติอยู่ดีหรือไม่
ผู้ที่ตอบคำถามคืออเล็กซานดรา วิตทิงตัน ผู้อำนวยการด้านวิสัยทัศน์อนาคตจากองค์กรฟาสต์ฟิวเจอร์ เธอกังวลว่าถ้าหากไมมีการพิจารณาเรื่องปัญหาอคติในตัวมนุษย์เดินดินทั่วไปตั้งแต่แรกก่อนจะมีปฏิบัติการทำให้ผู้คนเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ได้ ก็จะกลายเป็นการแพร่กระจายปัญหาอคติที่เกิดจากมนุษย์อยู่ดี เธอยกตัวอย่างกรณีปัญญาประดิษฐ์ที่ใส่ตัวตนแบบผู้หญิงลงไปอย่าง Siri ที่เป็นแค่ผู้ช่วยไม่ได้เป็นตำแหน่งอื่นอยู่ดี วิตทิงตันจึงเชื่อว่ามนุษย์ที่มีอคติก็จะสร้างสิ่งที่มอคติออกมา จึงต้องระวังไม่ให้มองเทคโนโลยีอย่างเป็นอุดมคติสวยงามมากเกินไป
เจาดูรีเล็งเห็นในเรื่องนี้ เธอจึงเน้นลงทุนลงแรงในเรื่องจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์และวางขอบข่ายงานเกี่ยวกับการขจัดอคติต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบปัญญษประดิษฐ์ที่ใช้ได้ทั้งกับการตัดสินของศาลและการจ้างงาน เพื่อออกแบบระบบที่ไม่ต้องแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก
จอห์น ฮาเวนส์ ผู้อำนวยการบริหารของหน่วยงานริเริ่มด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE) ประทับใจในแนวคิดของเจาดูรีและมีความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในแบบเดียวกัน
เจาดูรียังพยายามส้างความเท่าเทียมด้านโอกาสในการเรียนรู้ด้วยการเปิดสถาบันเอ็กซ์ในเบย์แอเรียเพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการข้อมูลและทักษะด้านการตลาด และนำไปใช้หางานอิสระผ่านเว็บไซต์อย่าง Upwork ได้ เธอเชื่อว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์พัฒนาการศึกษานั้นจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้
เรียบเรียงจาก
THE DATA SCIENTIST PUTTING ETHICS INTO AI, Ozy, 25-09-2017
http://www.ozy.com/rising-stars/the-data-scientist-putting-ethics-into-ai/81044
แสดงความคิดเห็น