Posted: 01 Oct 2017 10:11 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ [1]


ภาพจากเพจเฟสบุ๊ค มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์

การค้นพบแผนที่กรุงเทพฯ-กรุงธน จ.ศ.1249 (พ.ศ.2430) เมื่อปี 2542 โดยธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ทำให้แผนที่ดังกล่าวกลายเป็นแผนที่สมัยใหม่ที่มีรายละเอียดชัดเจนที่เก่าแก่ที่สุด ก่อนหน้าฉบับ พ.ศ.2439 ที่เรียกว่า ฉบับนายวรนายสอน และฉบับ พ.ศ.2450 หากจะถือจารีตแบบผู้ค้นพระราชพงศาวดาร แผนที่ที่ถูกค้นพบนี้ควรได้รับเกียรติว่าเป็น "แผนที่ฉบับธงชัย ลิขิตพรสวรรค์" (ต่อไปผู้เขียนจะใช้ชื่อว่า แผนที่ฉบับธงชัยฯ) ธงชัย ให้ข้อมูลว่าแผนที่ดังกล่าวมีความละเอียด 1:5000 แบ่งเป็น ฝั่งกรุงเทพฯและฝั่งกรุงธน การจัดพิมพ์นั้นแยกเป็นสองครั้ง นั่นคือ จัดพิมพ์ฝั่งกรุงเทพฯ ก่อนที่อังกฤษด้วยแม่พิมพ์ทองเหลืองจึงมีความละเอียดและคมชัด ขณะที่ฝั่งกรุงธนพิมพ์ทีหลังแต่ส่งต้นฉบับไปพิมพ์ที่กัลกัตตา อินเดีย แม่พิมพ์สังกะสีที่ให้ความคมชัดน้อยกว่า แผนที่ต้นฉบับฝั่งกรุงเทพฯมี 18 ฉบับ ส่วนฝั่งธนบุรีมีเพียง 13 ฉบับคาดว่าสูญหายไปอีก 5 ฉบับ จนถึงปี 2558 จึงได้จัดพิมพ์เป็นเล่มขนาดใหญ่โดยทุนสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติครบ 6 รอบของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ


แสดงระวางแผนที่ต่อกัน กรุงเทพฯ-กรุงธน จ.ศ.1249 ภาพจาก ชาตรี ประกิตนนทการ
ข้อเสนอของชาตรี กับการอ่านแผนที่ฉบับธงชัยฯ


ความสำคัญของแผนที่ในมุมมองชาตรี ประกิตนนทการ คือ เมื่อย้อนกลับไปแผนที่ที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ในฐานะ “ภูมิสถาน” แล้ว กรุงเทพฯ-กรุงธน มีแผนที่ย้อนไปได้เก่าสมัยพระเพทราชาราว พ.ศ.2230 ที่แสดงภาพป้อมบางกอก ถึงจะเก่าแต่ไม่มีรายละเอียด ไม่มีสเกล ไม่มีรายละเอียดทางกายภาพที่จะทำต่อได้มากนัก ส่วนแผนที่สายลับชาวพม่า แม้รายละเอียดจะมาก แต่ขนบคล้ายแผนที่อุดมคติแบบโบราณ ผสมกับแผนที่แบบไตรภูมิไปด้วย พอเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ ในจดหมายเหตุครอฟอร์ด พ.ศ.2367 ผิดมาตราส่วน เห็นภาพรวม ขณะที่ฉบับ พ.ศ.2397 แม้จะมีรายละเอียดมากขึ้นแต่ก็ผิดสัดส่วน

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ร.4 เริ่มทำแผนที่แบบเข้ามาตราส่วนจริง แต่เป็นระวางใหญ่มากและมีเป้าหมายสำคัญอย่างเช่น ตัดถนน การพัฒนาเมือง เห็นถนน คูคลอง และสถานที่ใหญ่จริงๆ

จนถึงแผนที่ 2439 ที่ใช้แต่ก็หยาบมาก แผนที่ 2430 เจอในกรมดำรงฯ มีรายละเอียด เส้นละเอียด แต่สภาพแผนที่ และในแผนที่ไม่ได้ระบุข้อความ legend แล้วข้ามมาเลย 2450 หลังจากนั้นคือ 2475

ในมุมมองของชาตรี แผนที่ฉบับธงชัยฯ สำคัญตรงที่มันเป็นแผนที่ก่อน ปี 2435 อันเป็นหมุดหมายที่สยามเริ่มปฏิรูปการปกครอง ทั้งยังมีลักษณะเป็น realistic/informative map ต่างจากแผนที่โบราณและแผนที่ตะวันตกที่เป็น ideal map ที่ยังไม่ได้เข้ามาตราส่วนตามจริง ดังนั้นแผนที่นี้จึงมีคุณค่าเสมือนการตีพิมพ์ฐานะหลักฐานชั้นต้น สำคัญมากสำหรับศึกษากรุงเทพฯ ยุคต้นในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

แผนภาพแสดงถึงสถานภาพของแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับต่างๆ ภาพจาก ชาตรี ประกิตนนทการ

ข้อเสนอของชาตรีคือ ที่ผ่านมาคนมักอ่านแผนที่สมัยใหม่ในฐานะยุคต้นของความศิวิไลซ์ แต่เขาเชื่อว่าแผนที่ฉบับนี้มันเก็บภูมิสถานที่เก่าแก่จนอาจย้อนไปถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ เชื่อว่ากระบวนการสำรวจและจัดทำแผนที่นั้นใช้เวลาก่อนปี 2430 ไม่ต่ำกว่า 5 ปี สังเกตได้จากหลักฐานที่ว่าแมคคาร์ธีพานักเรียนโรงเรียนแผนที่ไปทำแผนที่ในกรุงเทพฯ ที่จำเป็นต้องขออนุญาตเข้าไปในเขตบ้านอันเป็นที่ส่วนตัว นั่นหมายถึง การสำรวจลงละเอียดไปในระดับพื้นที่ส่วนตัว การดำเนินการด้วยบุคลากรที่มีไม่มากในยุคนั้นจึงเป็นภาระงานที่ใหญ่หลวงและไม่คงไม่สำเร็จง่ายๆ ภายในปีสองปี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า แผนที่ทั้งหมด 36 ระวางทั้งฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนจะทำเสร็จพร้อมๆกัน เห็นตัวอย่างได้จากแผนที่ทศวรรษ 2470ที่บางระวางก็จัดทำปี 2468 บางระวางก็ปี 2470

4 ประเด็นที่เขาให้ความสนใจกับแผนที่ฉบับธงชัยฯ ก็คือ

1. เป็นแผนที่ที่ให้ภาพเมืองยุคจารีต ก่อนการเชื่อมกับเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่

2. สามารถใช้เป็นหลักฐานสันนิษฐานแผนผังและรูปแบบวัดยุครัตนโกสินทร์

3. สะท้อนโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านพื้นที่เมืองยุครัตนโกสินทร์

4. เป็นเครื่องมือสอบทานตำนานหรือเรื่องเล่าตำนานท้องถิ่น อาจใช้แผนที่ช่วยตรวจสอบเรื่องเล่าว่ามีมูลหรือเปล่า

ประเด็นแรก แผนที่ฉบับธงชัยฯ ปี 2430 สามารถใช้เทียบเคียงกับ 2450 ในระยะ 20 ปีพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาลอันเนื่องมาจากการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจทุนนิยม ด้วยความละเอียดของแผนที่ฉบับธงชัยฯ ทำให้ยังเห็นสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ในฐานะที่ลุ่มต่ำ ลักษณะที่หลงเหลือของทะเลตม แผนที่ได้แสดงให้เห็นถึงวัดเกาะ วัดสัมพันธวงศ์ และวัดปทุมคงคา ที่ยังมีน้ำล้อมรอบ ขณะที่แผนที่ฉบับ2450 ไม่เห็นร่องรอยนั้นอีกต่อไปแล้ว นอกจากนั้นความสัมพันธ์ของวัด ระบบอุปถัมภ์และระบบทุนนิยมยังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของวัดด้วย พบว่าช่วงหลังราวทศวรรษ 2420 รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกระบบไพร่ เลิกพระราชทานไพร่ให้เจ้านาย แล้วแทนที่ด้วยเงินเดือน ส่งผลต่อการยกเลิกเลกวัด ข้าพระ อันเป็นระบบแรงงานเกณฑ์ที่ติดอยู่กับวัด ทรัพยากรมหาศาลที่ดูแลวัดจึงหายไปด้วย รัฐเปลี่ยนมาให้เงินบำรุงแทน การมีไพร่ติดที่เป็นความมั่งคั่งเดิมที่สูญหายไปจึงส่งปัญหาการดูแลรักษาและความมั่งคั่งของวัดไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งใหญ่จนกระทั่ง กรมหมื่นมหิศรราชฤทัย ร.ศ.118 มีจดหมายว่า วัดควรจะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น “คัมปานี” แบบหนึ่ง นั่นหมายถึงว่า รัฐผลักวัดเป็นบริษัทที่ควรแสวงหากำไร และหาเลี้ยงตัวเองแทนที่จะพึ่งพิงระบบไพร่และรัฐแบบเดิม แผนที่ฉบับธงชัยฯ แสดงให้เห็นถึงวัดรังษีและวัดบวรนิเวศก่อนที่จะถูกยุบรวมกัน แสดงให้เห็นถึงผังวัดก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในกระแสทุนนิยม เนื่องจากแผนที่ยุคต่อมา เขตวัดรังษีได้กลายเป็นพื้นที่ของโรงเรียนวัดบวรนิเวศและตึกแถวที่วัดสร้างเพื่อหาประโยชน์ทางการค้าแล้ว

ประเด็นที่สอง อาจศึกษาผังของวัดผ่านแผนที่ดังกล่าวได้ เช่น ผังของวัดอรุณราชวราราม ได้แสดงองค์ประกอบแบบวัดแบบ รัชกาลที่ 3 และมีศาลาเล็กรอบพระปรางค์ออก 7 หลัง ที่ในเวลาต่อมาถูกรื้อออกแล้วสร้างเป็นกำแพงลูกกรงเหล็กในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่า ผังของวัดพระยาไกรที่หายไปเป็นเช่นไร วัดและผังที่มีลักษณะคล้ายกับผังรูปตัวทีในรัชกาลที่ 3 แบบเดียวกับวัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดราชโอรสารามวัดพระยาไกรหายไปเนื่องจากว่า ในยุคหนึ่งรัฐได้อนุญาตให้บริษัทอีสต์เอเชียติกเช่าบริเวณวัดเพื่อดำเนินธุรกิจ ยังมีภาพการใช้ภายในวิหารเป็นออฟฟิศปรากฏอยู่ และพระพุทธรูปในวัดพระยาไกรนี้ก็คือ พระพุทธรูปที่ยกไปวัดไตรมิตรปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็คือ เอเชียทีคแหล่งบันเทิงริมน้ำชื่อดังในปัจจุบันนั่นเอง

ประเด็นที่สาม ที่ตั้งของวังและตำหนักต่างๆ ย่อมสะท้อนถึงความสำคัญ ความใกล้-ไกลศูนย์กลางอย่างวังหลวงในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากขึ้น ก่อนรัชกาลที่ 5 จะทรงเลิกวังหน้า การปกครองแบ่งเป็นครึ่งหนึ่งของวังหน้าและวังหลวง เครือข่ายของวังจะสามารถวัดความสัมพันธ์หรือนำไปสู่การรู้ถึงราชนิยมความพอพระทัยของเจ้านายตามตำแหน่งวังที่ได้ที่ไป ไม่เพียงเท่านั้นตำแหน่งบ้านเรือนของขุนนางตระกูลบุนนาคฝั่งธน ก็เป็นบริเวณที่มีอาณาบริเวณใหญ่โตมาก อาจกล่าวได้ว่าใหญ่เกือบเท่าครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มอำนาจต่างๆไปด้วย ส่วนวัดบดีนายก หรือวัดปรินายก ที่เป็นวัดของทหารคู่พระทัย รัชกาลที่ 3 คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็เคยเป็นวัดที่มีอาณาเขตใหญ่โตมาก่อนดังเห็นได้จากสัณฐานของอาคารและพระปรางค์ขนาดใหญ่ที่ทุกวันนี้ถูกรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่แล้ว เนื่องจากถูกถนนราชดำเนินผ่าน ไม่เพียงเท่านั้นตำแหน่งวังและตำหนักที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์จะมีการถ่ายโอนไปยังเจ้านายรุ่นหลังๆหากตามประวัติวังย้อนไปแล้วไปทำการ map เท่ากับว่า เราจะสามารถวางตำแหน่งวังเจ้านายต้นรัตนโกสินทร์อันจะทำให้เห็นความสำคัญของกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่โคจรอยู่รอบศูนย์กลาง

ประเด็นที่สี่ ในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ยกตัวอย่างวัดบางกะปิ หรือวัดอุทัยธารามขึ้นมา จากตำนานวัดระบุว่า มีความเก่าแก่ถึงช่วงอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่กลางทุ่ง เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีพระสงฆ์มาจำพรรษามาก ทั้งยังพื้นที่ที่เรียกว่า เขตปริวาสกรรมที่ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองบางกะปิ หากมองจากภาพถ่ายหรือ google map ปัจจุบันจะไม่เห็นลักษณะดังกล่าวแล้ว แต่แผนที่ฉบับธงชัยฯ แสดงให้เห็นผังแบบอยุธยาปลาย คือ มีวิหารและอุโบสถวางขนานกันแล้วมีกำแพงแก้วล้อมรอบ แล้วยังมีผังของอาคารขนาดใหญ่ที่น่าจะช่วยยืนยันถึงเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการที่มีพระภิกษุมาจำพรรษาอยู่มาก เช่นเดียวกับการแสดงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อีกฝั่งของวัดที่น่าจะเป็นเขตปริวาสกรรม ตัวอย่างนี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงการใช้แผนที่เพื่อช่วยอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เคยเป็นเพียงประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ให้มีความหนักแน่นมากขึ้น

ประเทศราชและหัวเมืองในแผนที่กรุงเทพฯ

แผนที่ยังเก็บร่องรอยของหัวเมืองต่างๆที่เป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองประเทศราชและหัวเมืองต่างๆ ที่ตามจารีตเดิมนั้นต้องเดินทางเข้ามาถวายบรรณาการ ธงชัยผู้ค้นพบแผนที่ชี้ว่ามีเขตพักอาศัยของชนชั้นนำจากหัวเมืองไม่ว่าจะเป็นของพระเจ้าเชียงใหม่, เจ้าเมืองปัตตานี และเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ไม่ไกลไปจากวังหลวง

วังพระเจ้าเชียงใหม่ ปรากฏอยู่ในเล่มแผนที่ธนบุรี หน้าแรก ตำแหน่งคือบริเวณโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน อยู่นอกเขตกำแพงวังหลังติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ธงชัยชี้ว่า ส่วนไพร่ที่ติดตามมาด้วยอาจจะอยู่บริเวณแพในคลองบางกอกน้อยนั่นเอง หากจะดูตัวบทจาก พื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ระบุการเดินทางของเจ้านายเชียงใหม่ล่องจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ เมื่อปี จ.ศ.1183 หรือ พ.ศ.2364 ดังความดังนี้[2]

อยู่ได้เดือน 1 เถิงเดือน 7 ขึ้น 3 ค่ำ องค์พระเปนเจ้ามีปริวารอันมาก เสด็จยาทราล่องลงไพ เฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระมหากระสัตรเจ้า ณ กรุงสรีอยุทธิยา พระมหากระสัตรเจ้าค็ประทาน เครื่องท้าว 5 ประการ พระมงกุฏ ส้อยสังวาล สิ่งของ เงินฅำผ้าผ่อนเปนอนมาก กับทังปืนละบูใหย่ 2 บอก แล้วทูลลาขึ้นมาเถิงเมือง เถิงตำหนักริมพิง วันเดือนเจียง ออก 14 ค่ำ ยั้งตำหนักหั้น 3 คืน

ตัวบทแสดงให้เห็นถึงการเดินทางของเจ้านายเชียงใหม่ที่ลงมาเข้าเฝ้ากษัตริย์กรุงเทพฯ ด้วยการเดินทางรวมเวลาไปและกลับกว่า 7 เดือน จึงไม่น่าสงสัยว่าจะพำนักอยู่บริเวณใด วังพระเจ้าเชียงใหม่ในแผนที่ได้ช่วยเติมเต็มจินตนาการและข้อสันนิษฐานเหล่านั้น ลักษณะของผังจะอยู่ชิดกับกำแพงวังหลัง แสดงให้เห็นได้ชัดถึงฐานานุศักดิ์ของการวางผังที่ต่ำกว่าพระราชวังบวรสถานพิมุข



ตำแหน่งวังพระเจ้าเชียงใหม่ที่อยู่นอกกำแพง พระราชวังบวรสถานพิมุข และติดแม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเทียบระหว่าง
แผนที่ปี 2430 และภาพจาก Google map น่าจะตั้งอยู่บริเวณท่าเรือที่ชื่อ ท่ารถไฟในเขตโรงพยาบาลศิริราชนั่นเอง



ตำแหน่งวังพระเจ้าเชียงใหม่ ไม่แน่ชัดว่าอาณาบริเวณครอบคลุมเพียงใด

ตำแหน่งวังพระเจ้าเชียงใหม่ อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือข้ามที่ชื่อ "ท่ารถไฟ"

สำหรับเจ้าปัตตานีก็เช่นกัน หากมีพันธะที่ต้องส่งเครื่องบรรณาการ ก็ต้องมีที่พักหลักฐานระบุการเดินทางมาถวายบรรณาการเมื่อ จ.ศ.1250 หรือพ.ศ.2431 หลังการจัดทำแผนที่ฉบับธงชัยฯ 1 ปี[3]

ในปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช 1250 นั้น เปนปีถึงกำหนดของเมืองแขกเจ็ดเมืองทำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แลเปนธรรมเนียมมาพร้อมกันลงเรือที่เมืองสงขลาทั้งเจ็ดเมือง เมืองสงขลาต้องแต่งผู้ช่วยกรมการล่ามคุมพาเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ในปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช 1250 เมืองปัตตานี พระศรีบุรีรัฐพินิต (ตวนกูบอสู) ผู้ช่วยราชการ ผู้รักษาราชการหนึ่ง พระพิพิธภักดี (ตวนกูเด) ผู้ช่วยราชการหนึ่ง ตวนกูม่าหมะบุตรพระยาปัตตานี (ตวนกูปุเต้) หนึ่ง ตวนกูเงาะบุตรพระศรีบุรีรัฐพินิตหนึ่ง เมืองหนองจิกนายทัดมหาดเล็กน้องชายพระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม) หนึ่ง ซึ่งเปนผู้รักษาราชการ เปนผู้นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่เมืองสายบุรี เมืองยิริง เมืองรามันห์ เมืองยะลานั้น ผู้ว่าราชการเมืองแต่งให้ผู้ช่วยศรีตวันกรมการคุมพาเข้ามา พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา แต่งให้หลวงอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการ หลวงศรีโยธากรมการ เปนผู้นำต้นไม้ทองต้นไม้เงินเครื่องราชบรรณาการแขกทั้งเจ็ดเมืองเข้ามากรุงเทพ ฯ

กรณีนี้ต่างจากวังพระเจ้าเชียงใหม่ที่มีการเขียนระบุตำแหน่งอย่างชัดเจน แต่ธงชัยชี้ว่าที่ตั้งของวังเจ้าปัตตานีนั้นสัมพันธ์กับเรื่องเล่าของคนในปัจจุบัน ประการแรกคือ การกล่าวถึงมัสยิดท่าพระจันทร์ว่าเป็นผู้บริจาคเงินในหนังสือเมาลิดกลางในทศวรรษ 2490 เขายังได้สัมภาษณ์เหล่าเซียนพระบริเวณท่าพระจันทร์ว่า แถวนั้นเคยเป็นที่ตั้งมัสยิด และการจัดพิธีถวายเจ้าแขก แถมยังมีเรื่องเล่าอีกว่า "ผีแขกดุจะตาย" ปัจจุบันย่านดังกล่าวกลายเป็นตึกแถวสนามพระไปแล้ว ซึ่งตึกดังกล่าวสร้างในช่วงปี 2514-2515 เป็นแปลงที่ติดกับ "ตรอกนคร" ดังจะกล่าวต่อไป แน่นอนว่า ปัจจุบันย่านดังกล่าวไม่เหลือร่องรอยของที่พักของเจ้าปัตตานีอีกแล้ว

ตรงข้ามกับวัดมหาธาตุยังมีตรอกชื่อว่า ตรอกนคร สันนิษฐานกันว่าเป็นบ้านของเจ้าพระยานคร (น้อย) ใช้เป็นที่พักระหว่างเดินทางมาถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง กล่าวกันว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีพันธะจะต้องส่งมา 2 ครั้งต่อปี ทุกวันนี้ บริเวณปากตรอกนคร เป็น "ร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟเกี๊ยวฟรี" ที่คนย่านนั้นรู้จักกันดีนั่นเอง หากวังพระเจ้าเชียงใหม่อยู่ใกล้ชิดกับวังหลัง ที่พักของเจ้าปัตตานีและเจ้าเมืองนคร ก็อยู่ไม่ไกลจากพระบวรสถานมงคล (วังหน้า) กรรมสิทธิ์ของบ้านเจ้าพระยานครในเวลาต่อมาก็ได้มอบให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ตำแหน่งสันนิษฐานของบ้านเจ้าพระยานคร (น้อย) (แปลงบน) และที่อยู่ของเจ้าปัตตานี (แปลงล่าง) ที่ตั้งอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับวัดมหาธาตุฯ และติดแม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบเทียบระหว่างแผนที่ปี 2430 และภาพจาก Google map


นี่เป็นเพียงหนังตัวอย่างเท่านั้น ดังนั้นแผนที่ฉบับธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ที่จัดทำขึ้นในปี 2430 จึงเป็นหลักฐานชั้นต้นที่มีคุณค่าอีกชิ้นหนึ่งที่รอการตีความได้อีกมาก แต่จะช่วยให้สาวไปถึงภูมิสถานยุคต้นรัตนโกสินทร์อย่างที่ ชาตรี ประกิตนนทการเสนอไว้จริงหรือไม่นั้น ก็คงต้องลงมือค้นคว้าวิจัยกันต่อไป.



เชิงอรรถ



[1]สรุปและตีความจากการบรรยายส่วนแผนที่โดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, ศรัณย์ ทองปานและชาตรี ประกิตนนทการ ในงานเสวนา “รัตนโกสินทร์ที่ไม่เคยเห็น ข้อมูลใหม่จากแผนที่และจิตรกรรมฝาผนัง” จัดโดย มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ณ สยามสมาคม วันที่ 30 กันยายน 2560 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน ชาตรี ประกิตนนทการและพิชญา สุ่มจินดา, รัตนโกสินทร์ที่ไม่เคยเห็น ข้อมูลใหม่จากแผนที่และจิตรกรรมฝาผนัง (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, 2560)


[2] คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี (เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538), หน้า 160


[3] "พงษาวดารเมืองปัตตานี", ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 3 หนังสืออนุสรณ์งานศพหม่อมเจ้าอรชร พ.ศ. 2457 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, 2457), หน้า 27-28

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.