Posted: 01 Oct 2017 10:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
1 ตุลาคม 2544 (วันนี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว)
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เปิดให้บริการครบ 75 จังหวัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากที่ดำเนินการนำร่องใน 6 จังหวัดคือ สมุทรสาคร ปทุมธานี ยโสธร นครสวรรค์ พะเยา และยะลา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 และขยายเพิ่มอีก 15 จังหวัดในวันที่ 15 มิถุนายน 2544
เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้รับการยกย่องจากสังคมโลกในเวลาต่อมาว่า นี่คือการปฎิรูประบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนา
เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งใช้เวลาผลักดันเพียง 7 เดือนกับอีก 2 วัน หลังจากรัฐบาลที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544
เป็นเวลา 7 เดือนกับอีก 2 วันที่ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ ทั้งคำชื่นชมและเสียงเยาะเย้ยถากถาง
เป็นเวลา 7 เดือนกับอีก 2 วันที่บางกลุ่มบอกว่า เร่งรีบทำเพื่อหาเสียง และบางคนเช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สนับสนุนให้รีบทำ เพราะรู้ดีว่า ถ้า "ไม่รีบทำก็ไม่ได้ทำ"
ถึงวันนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องราวปกติของสังคมไทย แม้ถูกโยกคลอนเป็นระยะๆ แต่ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะถูกลดระดับให้ถอยหลังเข้าคลอง เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ.2426 ซึ่งเยอรมันได้ริเริ่มเป็นแห่งแรก ทุกประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ไม่เคยถอยหลังอีกเลย แต่กลับพัฒนายกระดับเพิ่มขึ้นตลอดมา
ผมจึงจำได้ถึงมวลแห่งความสุขที่อบอวลรอบตัวในวันนี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว
และยังจำได้ด้วยว่า ก่อนหน้านั้นแค่ 2 ปี คือ พ.ศ.2542 ความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเป็นเพียงความฝันที่เป็นไปไม่ได้ของแพทย์รุ่นพี่รามาธิบดีที่ชื่อ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แต่ผมรู้ดีว่า "พี่หงวน" ก็ไม่เคยถอย กัดไม่ยอมปล่อย สู้เพื่อฝันนี้ของเขาอยู่เสมอ
.......................................
วันหนึ่งกลางฤดูร้อนปี 2542
ผมซึ่งรับหน้าที่ทำนโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยรักไทย ขอนัดหมายกับพี่หงวนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องระบบสาธารณสุขที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ เพราะพี่หงวนจัดสัมมนาที่นั่น และเพื่อให้ได้แนวนโยบายสาธารณสุขที่ "ใหญ่" และ "แตกต่าง" อย่างที่ผมต้องการ ผมจึงเอ่ยถามพี่หงวนทันทีที่พบคุยกันว่า
" พี่หงวน ชีวิตนี้พี่มีความฝันอะไรที่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ หรือยังไม่ได้ทำบ้าง?"
" ผมฝันอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก กำลังจะเสร็จแล้ว คือ กองทุน สสส. แต่อีกเรื่องคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมฝันอยากทำมาก ไปเสนอหลายพรรคแล้ว เขาไม่สนใจ ถ้าเลี้ยบจะให้ผมไปลองเสนอพรรคไทยรักไทยก็ได้ "
พี่หงวนตอบผมด้วยน้ำเสียงนุ่มเนิบที่คุ้นเคย ผมรู้สึกได้ว่า พี่หงวนไม่ได้ฝากความหวังว่า พรรคไทยรักไทยจะช่วยให้ฝันเป็นจริงได้ เพราะเวลานั้น พรรคไทยรักไทยเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่ถึง 1 ปี ยังไม่มีสัญญานใดๆให้จับต้องได้เลยว่า จะชนะการเลือกตั้งใหญ่ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อใด
..................................................
วันหนึ่งกลางฤดูร้อนปี 2542 เช่นกัน
ผมขอปรึกษาพูดคุยกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำนโยบายของคณะทำงานด้านนโยบายของพรรค ณ ห้องทำงานของหัวหน้าพรรค เมื่อได้ความกระจ่างเรื่องที่ต้องการสอบถามแล้ว ผมถือโอกาสถามเป้าหมายของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งใหญ่ว่า
" หัวหน้าครับ หัวหน้าตั้งเป้าหมายว่า พรรคจะได้ ส.ส.กี่คนในการเลือกตั้งครับ "
" ผมคิดว่า สัก 25 คนน่าจะได้นะหมอ "
ครับ ไม่ผิดครับ ห้วงเวลากลางฤดูร้อนปี 2542 พรรคไทยรักไทยตั้งเป้าว่า จะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงเพียง 25 คน!
.................................................
หากย้อนเวลากลับไปในปี 2542 ไม่มีใครเชื่อแน่ ถ้ามีคนทำนายว่า อีก 2 ปี พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยจำนวน ส.ส.เกือบครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะปฎิรูประบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนา
วันนี้ ความฝันกลางฤดูร้อนที่เคยเป็นไปไม่ได้ ได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เกิดขึ้นแล้วจริงๆ
แน่นอน ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ไม่ใช่โชคชะตากำหนด ไม่ใช่ปาฏิหารย์
แต่นี่คือเรื่องราวแห่งการทำงานหนักช่วงปี 2542-2543 ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ในการสร้างพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ให้เป็นพรรคการเมืองแบบใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ ที่ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เรื่องราวเหล่านี้ยังอยู่ในความทรงจำของผม และคงมีโอกาสได้เล่าสู่กันฟังต่อไป
ดังนั้น บางเวลา เมื่อผมรู้สึกหดหู่ ทอดถอนใจ ไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร มืดมนหรือสดใส
ผมมักย้อนคิดถึงภาพอดีตแห่งฤดูร้อนปี 2542
แล้วบอกกับตัวเองว่า อย่าสิ้นหวัง อย่าท้อถอย กัดไม่ปล่อย สู้เพื่อฝัน
อนาคตที่ใครต่อใครพร่ำบอกว่าเป็นไปไม่ได้ จักต้องมาถึง เพราะเราจะทำงานหนัก แล้วเขียนอนาคตนั้นขึ้นมาเอง
เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค Surapong Suebwonglee
แสดงความคิดเห็น