จากกรณีที่นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก
www.facebook.com/ekachai2.chainuvati เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 เรื่อง “ความยุติธรรมกับความรู้สึก” เนื้อหาระบุว่า “ผู้ที่เรียกตนเองว่า นักนิติศาสตร์ หรือ ภาษาง่ายๆว่า นักกฎหมาย นั้น บุคลิกลักษณะที่ต้องมี หรือต้องได้รับการฝึกฝนผ่านการศึกษา วัตถุที่เรียกว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” นั้น ต้องไร้ซึ่งความรู้สึก รัก ชอบ เกลียด หลง หรืออคติอื่นใด หมายความว่า ผู้ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จะต้องไม่สนใจองค์ประกอบภายนอกใดๆ นอกไปจาก การกระทำ และ ตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษร ผมเองทั้งชีวิตก็ถูกฝึกว่าให้ไร้ความรู้สึกเช่นนี้ แต่มาหลังๆนี้ผมเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า กฎหมายและความยุติธรรมจะดำรงอยู่ได้ด้วยการไร้ความรู้สึกเช่นนั้นหรือไม่?

กรณี นายพานทองแท้ ชินวัตร และ การปล่อยกู้คดีกรุงไทย และข้อหา เรื่องฟอกเงินนั้น ผมต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้ศึกษาหรือติดตามเรื่องนี้เลย แต่ความรู้สึกของสังคมไทยตอนนี้ก็เห็นได้ชัดว่า มีแบ่งแยกอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เมื่อมีการกล่าวหาเกิดขึ้นจาก ดีเอสไอ นายพานทองแท้ ก็ “ถือว่า” มีความผิดไปเสียแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว ความรู้สึกว่าด้วยความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด

Universal Declaration of Human Rights 1948 หรือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 “ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมสำหรับเราทุกคน” รัฐบาลไทย ยังภูมิใจใน http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf หน้าที่ 1 ว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้” ถือว่า รัฐไทยให้การยอมรับ กฎหมายระหว่างประเทศนี้ว่ามีสถานะเป็นกฎหมายที่รัฐไทยพึงต้องเคารพ

เมื่ออ่านไปข้อ 10 ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่บัญญัติ ว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน” อ่านต่อที่ ข้อ 11 (1) ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี”

เห็นกรณีที่มีคลิปเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ของ นายพานทองแท้ เข้ารับทราบข้อหาคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย แล้ว และเมื่ออ่านจาก ข้อ 10 และ 11 ของ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ถ้าตอบแบบ นักนิติศาสตร์ที่ไร้ความรู้สึกแล้วก็ต้องตอบว่า พานทองแท้ ยังต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่า จะมีการตัดสินโดยฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ และคดีสิ้นสุดกระบวนการทางตุลาการ แต่ก็อย่างที่พาดหัวไว้ “ความยุติธรรมกับความรู้สึก” ว่า แค่คลิปวีดีโอ การเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ความรู้สึกของสังคมบางส่วน ก็ตัดสินว่า “มีความผิด”เรียบร้อยแล้ว แม้แต่ระเบียบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวการเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน พ.ศ.2557 ข้อ 10 ก็มีระเบียบที่ละเอียดมากๆให้ระมัดระวังการเผยแพร่ข่าว ต่อสื่อมวลชนที่ละเมิดต่อสิทธิผู้อื่น คำว่าผู้อื่นนี่ก็คือทุกคน ไม่ว่าจะชื่อ พานทองแท้ หรือใครก็ตาม

โดยสรุปแล้ว เห็นได้ว่า ความยุติธรรม ที่เป็นเป้าหมายของกฎหมาย จึงบังคับให้ การปฎิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหา ว่า เขาคนนั้น ไม่ว่าจะนามสกุลอะไรก็ตาม จะต้องได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐ ประกัน สิทธิขั้นพื้นฐานนี้ ในกรณีคลิปนี้ หน่วยงานรัฐต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ในคดีทุกคดี และสื่อมวลชนก็ต้องพึงระมัดระวังความรู้สึกของสังคมที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานนี้ด้วย”

จากการตรวจสอบพบว่า หลังจากที่นายพานทองแท้ และคณะได้เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ตามหายเรียกที่ดีเอสไอออกมาก่อนหน้านี้แล้วนั้น ในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ดีเอสไอได้มีการจัดทำเอกสารข่าวแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน เพื่อแจ้งรายละเอียดการเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนดังกล่าว แต่ปรากฏว่า หลังจากที่มีการให้ข่าวของดีเอสไอดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว กลับมีการส่งต่อ “ภาพของนายพานทองแท้และคณะ” ขณะกำลังเดินทางไปดีเอสไอตามที่แจ้งไว้แล้วข้างต้น โดยเป็นการแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนทุกแขนง โดยลักษณะของภาพดังกล่าวนั้นคาดว่าเป็น “ภาพที่ถูกบันทึกจากกล้องวงจรปิด” ภายในอาคารสำนักงาน

และจากกรณีการโพสต์ข้อความของ นายเอกชัย ไชยนุวัติ ที่ระบุถึง “ระเบียบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวการเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน พ.ศ.2557 ข้อ 10 ก็มีระเบียบที่ละเอียดมากๆให้ระมัดระวังการเผยแพร่ข่าว ต่อสื่อมวลชนที่ละเมิดต่อสิทธิผู้อื่น” นั้นตรวจสอบพบว่า ดีเอสไอ มีระเบียบสำคัญในการให้ข่าวแก่สื่อมวลชน ชื่อว่า “ระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2557” โดยมีเนื้อหากำกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์และการเผยแพร่เนื้อหาและภาพเกี่ยวกับเกี่ยวกับการทำงานของดีเอสไออย่างรัดกุม โดยเฉพาะการให้ข่าวเกี่ยวกับคดี อันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสร้างความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องในคดีทั้งหมด

โดย “ระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2557” มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องน่าสนใจ โดยสรุปดังนี้

ข้อ 10 แนวทางปฏิบัติในการให้ข่าวและบริการข่าว, แถลงข่าว และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง

10.1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าว แถลงข่าว และให้สัมภาษณ์ ต้องปฏิบัติภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ควรระมัดระวังถ้อยคำหรือกิริยาท่าทางอันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น

10.5 ให้ระมัดระวังการให้ข่าว แถลงข่าว โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนในเรื่องที่เป็นการละเมิดหรือจะเกิดการเสียหายทั้งชื่อเสียงหรือผลประโยชน์แก่ผู้อื่น

10.8 ห้ามนำหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าว แถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและสาธารณชน หรือได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือพยาน

10.9 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นประโยชน์ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนงและให้ประชาชนได้รับทราบข่าวที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้ข่าว ควรจัดเตรียมเอกสารที่มีรายละเอียดของข้อมูลที่เปิดเผยได้ประกอบการแถลงข่าวโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องในคดีและรูปคดี


ซึ่งจากเนื้อหาของ “ระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2557” ค่อนข้างชัดเจนว่าให้ ดีเอสไอ ระมัดระวังการให้ข่าว แถลงข่าว หรือสัมภาษณ์ รวมไปถึงการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลที่อาจทำให้เกิดการละเมิดหรือส่งผลเสียหายแก่ผู้อื่นและผู้เกี่ยวข้องในคดีเป็นอย่างยิ่ง

กรณีการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดภายในอาคารสำนักงาน ขณะนายพานทองแท้และคณะ กำลังเดินทางไปยังดีเอสไอ นั้น “ดีเอสไอ” ในฐานะเป็นหน่วยงานราชการสำคัญ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมและรักษากฎหมาย โดยมี “กฎ-ระเบียบ” เข้มงวดเคร่งครัดที่ต้องยึดถือปฏิบัติ แล้วปล่อยให้มีการ “ปล่อยภาพวงจรปิด” เช่นนั้น ออกมา เหมาะสมหรือไม่เพียงใด ?

ทั้งที่ ดีเอสไอ ก็มี “ระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2557” กำกับการทำงานอยุู่ ?


ที่สำคัญคือ การปล่อยภาพชุดดังกล่าวออกมานั้น “หวังผล” อะไรหรือไม่ ?

ซึ่งจนถึงขณะนี้แม้จะ “ยังไม่มีความชัดเจน” ใดๆ ออกมาจาก “ดีเอสไอ” แต่ “ระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2557” นั้น ชัดเจนแล้วทุกอย่าง !

ยิ่ง “ดีเอสไอ” นิ่งเฉย ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยังไม่มีออกมาชี้แจงให้เกิดความชัดเจน ถึง “การกระทำ” และ “ข้อปฏิบัติตามระเบียบฯ” ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ พนักงานในสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

“คำถาม” ต่างๆ จากผู้คนในสังคม จะย้อนกลับที่ “ดีเอสไอ” มากยิ่งขึ้น

ซึ่งอาจจะกระทบทั้งความเชื่อมั่นต่อ “ดีเอสไอ” เอง … ไปจนถึง “กระทบความเชื่อมั่น” ต่อ “กระบวนการยุติธรรม ทั้งระบบ” ?







source ;-  http://www.hereandthere.today/?p=2652


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.