Posted: 15 Oct 2017 08:03 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ประเทศไทยประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ค่าครองชีพสูง ช่วงปี พ.ศ. 2516-2517 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่หนึ่ง ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเท่าตัว เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมาก ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองผูกขาดภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ทำให้ธุรกิจรายกลางรายเล็กไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) นี้ ไทยต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2 ครั้ง ในช่วง 2 แผนพัฒนาฯที่ผ่านมาเน้นการขยายตัวและเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างของความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเติบโตและขยายตัวของชนชั้นกลาง จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาและปัญญาชนเพิ่มมากขึ้น มีการเปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นตลาดวิชาเปิดดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 2 ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่3 (พ.ศ. 2515-2519)มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญสองเหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นอกจากนี้ไทยยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่หนึ่งในปี พ.ศ. 2516-2517 จึงมีการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เกี่ยวกับการกระจายรายได้ โดยให้ความสำคัญกับปัญหาทางสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินนโยบายลดอัตราการเพิ่มของประชากร หรือ นโยบาย “คุมกำเนิด” และ ในระยะต่อมา นโยบายนี้ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลจนทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและอัตราการเกิดลดลงตามลำดับ จนกระทั่งได้สร้างปัญหาอัตราการเพิ่มขึ้นประชากรน้อยเกินไป คือ อยู่ที่ 0.5% เท่านั้น สภาวะนี้มีส่วนทำให้ปัญหาโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุอาจจะรุนแรงขึ้น

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ ระบอบเผด็จการทหารคณาธิปไตย ที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่ พลังอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมขวาจัดสุดขั้ว ได้ทำให้ให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้นและต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้น สังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น

44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางโดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงสองช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และ ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ระบอบอำนาจนิยมได้ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และได้คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปีแต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และล่าสุดได้มีการประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนโดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 หากการจัดการเลือกตั้งและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยมีความเรียบร้อยและสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยน่าจะประสบความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งภายใต้การบูรณาการทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเกิดขึ้นหากไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมทั้งต้องไม่มีรัฐประหารและความรุนแรงทางการเมืองในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้านี้ วิกฤตการณ์ทางการเมืองจะต้องแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาและยึดถือกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมในการเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะได้รับการแก้ไขภายใต้ระบอบที่ประชาชนและชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิมีเสียงและมีการส่วนร่วมในการบริหารประเทศและออกกฎหมายมากขึ้น

ตลอดระยะเวลา 44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 41 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ความเป็นจริงที่พวกเรารับทราบ ก็คือ ความรุนแรงทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 หรือ พฤษภาคม 2553 หรือ เหตุการณ์รุนแรงช่วงปี 2551-2552 การรัฐประหารและความพยายามก่อการยึดอำนาจด้วยกำลังยังคงเกิดขึ้นหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในระยะเวลาต่อมา

และเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงขึ้นมาในอนาคตอีก คสช และ รัฐบาลประยุทธ์ ต้องทำตามสัญญาที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน และ คืนระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งภายในเวลาที่ได้สัญญาเอาไว้ นอกจากนี้ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลต้องช่วยกันดูแลให้การร่างกฎหมายลูกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและสามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้น มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับทุกคนในประเทศ อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นกติกาที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ กฎหมายลูกที่ดีจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระดับหนึ่ง

ตลอดระยะเวลา 44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เกิดสายธารของพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยจาก “ทุนศักดินาสยาม” สู่ “ทุนไทยโลกาภิวัตน์” มากขึ้นตามลำดับ ระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งอุปถัมภ์กึ่งผูกขาดคลายตัวลงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มีการแข่งขันมากขึ้น โครงสร้างระบบทุนนิยมไทยจะยังมีอำนาจผูกขาดดำรงอยู่ทำให้ปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นมากนักแม้นเราจะแก้ปัญหาความยากจนได้ดีพอสมควรในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนการเมืองนั้นได้ย้อนยุคกลับไปเป็นระบอบกึ่งเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าไม่อาจดำรงอยู่ได้นานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เนื่องเพราะระบอบกึ่งเผด็จการเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ในระยะยาวแล้วระบบทุนนิยมเสรีจะเป็นของแปลกปลอมสำหรับระบอบเผด็จการ แม้นทั้งสองสิ่งนี้อาจยังดำรงอยู่ได้ร่วมกันระยะหนึ่ง เสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ระบบทุนนิยมจึงไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การอุบัติขึ้นของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์และการแพร่ขยายของลัทธิประชาธิปไตยทั่วโลก เป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างมาก การลดอำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยสามารถดำเนินการโดยเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มเสรีภาพในการประกอบการ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจรายเล็กรายน้อย เพิ่มบทบาทของกลไกตลาดและบทบาทของภาคเอกชน เพิ่มอำนาจในการรวมกลุ่มของกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ การรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

การศึกษาและสำรวจพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคมดังกล่าว โดยในการให้ความเห็นจะไม่กล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองในรายละเอียดแต่สามารถสรุปได้ว่า พัฒนาการทางการเมืองได้พัฒนาจาก ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมใหม่ๆ) สู่ ระบอบเผด็จการครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยเต็มใบ ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาให้เข้มแข็ง เมื่อเผชิญเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชันในระบบการเมืองและระบบราชการ และการบ่อนทำลายของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยหรือฝ่ายอภิชนาธิปไตย ทำให้เราคงอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองต่อไป และ สิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความอ่อนแอทางการเมืองและสภาพล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยไทยทำให้ ประเทศสูญเสียโอกาสในการก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้อยกว่าประเทศที่เคยล้าหลังกว่าไทย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2557 ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี 14 คณะ (นับคณะรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน) ผ่านการรัฐประหาร 3 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญร่างใหม่ (ไม่นับฉบับแก้ไขหรือฉบับชั่วคราว) 3 ฉบับ ( 2521, 2540 และ 2550) และขณะนี้เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2560 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญในปี พ.ศ. 2540 ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ถึงปัจจุบัน ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6 ฉบับ ตั้งแต่ ฉบับที่ 7 – 12 ช่วงเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งยุคทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย ออกเป็น 6 ยุคสำคัญ คือ ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (2535-2538) ยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (2539 – 2543) ยุคทักษิโณมิกส์ (2544 – 2549) ยุค คมช หลังรัฐประหาร 19 กันยายน (19 ก.ย. 2549-2550) ยุคหลัง คมช และวิกฤติการเมืองขัดแย้งเหลืองแดง (2551-2557) ยุค คสช

( พ.ค. 2557-ปัจจุบัน) ประชาชนทุกกลุ่มต้องช่วยกันพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเพื่อให้ ยุคหลัง คสช เป็นยุคสมัยที่ไม่เกิดวิกฤตการณ์ซ้ำรอยอดีตอีก

พัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จนถึงปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสำเร็จจากการกระจุกตัวของการพัฒนาเมือง (Urbanization) การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการ (การเงินและการขนส่ง) ในกรุงเทพมหานครและเขตเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาฯ แต่ล้มเหลวในการกระจายความเจริญสู่เมืองหลัก (Primal Cities) ต่าง ๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลในระดับประเทศเกิดขึ้นแต่เฉพาะในเขตเมืองใหญ่ แม้ว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยจะดีขึ้น แต่ความสามารถและโอกาสทางธุรกิจกลับกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ จึงเท่ากับว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนทางอุตสาหกรรมที่ต้องการเพียงแรงงานมีฝีมือราคาถูก (Labor-intensive Economy) แต่ล้มเหลวในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้น (Technology-intensive Economy) ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยคือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ระบบฐานความรู้บนพื้นฐานของความยั่งยืนและความพอเพียง (Sustainable & Sufficiency Knowledge-based Economy/Society)

44 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นั้น สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกองทัพไทยได้ยุติลงโดยมีนโยบาย 66/23 เป็นเครื่องมือสำคัญ ต่อมาประเทศไทยได้ผ่านช่วงความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2530และได้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 และกองทัพได้กลับไปเป็นทหารอาชีพและลดบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บทบาททางการเมืองของผู้นำกองทัพจะเป็นเช่นใดต่อจากนี้ไปย่อมมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งเราหวังว่าจะมีการปฏิรูปไปในทิศทางที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของประชาชน ของประชาคมโลก และ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ/ธนาคารแห่งประเทศไทย




เกี่ยวกับผู้เขียน: อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้นำนักศึกษายุครณรงค์นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ปัจจุบัน ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.