Posted: 10 Oct 2017 06:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วงเสวนาเล่าประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องเอกราชของกาตาลุญญา สะกิด ผลประชามติแยกตัวคือเสียงข้างมากของเสียงข้างน้อย ชำแหละทางตันทางกฎหมายของแคว้นในรัฐเดี่ยว เงื่อนไขการเมือง เศรษฐกิจว่าด้วยการแยกตัว เทรนด์ขอแยกตัวด้วยประชามติกำลังมาแรง ของกาตาลุญญายังไม่เป็นที่ยอมรับ


ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์แล้วหลังแคว้นกาตาลุญญาทำประชามติขอแยกตัวออกจากสเปน มีคนออกมาโหวตร้อยละ 42 โดยร้อยละ 90 ของคะแนนเสียงเห็นด้วยแยกตัว แม้จะถูกรัฐบาลกลางห้ามและมีการใช้กำลังตำรวจของรัฐบาลกลางบุกยับยั้ง ทำลายการลงประชามติ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้รอลงคะแนนจนมีการปะทะกัน มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 450 ราย ในขณะที่ทางการท้องถิ่นของกาตาลันระบุว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 800 คน

วันนี้ (10 ต.ค.) สำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า การ์เลส ปุกเดมอนด์ ประธานรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญาประกาศว่าพร้อมที่จะขอแยกตัวเป็นเอกราชในคืนวันอังคารนี้ตามเวลาท้องถิ่นสเปน อย่างไรก็ดี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็มีกระแสต่อต้านการแยกตัวเมื่อคนเรือนแสนมาชุมนุมในเมืองบาร์เซโลนา

ท่ามกลางการรอคอยครั้งนี้ ที่ไทยก็มีการจัดเสวนาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสเปน เมื่อ 9 ต.ค. 2560 ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานเสวนา มากกว่าการเมืองร่วมสมัย? ร่วมกันเข้าใจสถนการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา ที่ห้อง 802 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) มี รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ดาบิด กูเตียร์เรซ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ณภัทร พุ่มศิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ณ เมืองบาร์เซโลนา เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย สุกิจ พู่พวง

งานเสวนามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจนเต็มห้องประชุม ประชาไทนำเสนอเนื้อหาในวงเสวนาออกมาเป็น 5 ข้อเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ก่อนที่จะเกิดการประกาศเอกราช (ถ้ามี)
1.ปมเอกราชมีมานานนม


จากซ้ายไปขวา: สุกิจ พู่พวง ณภัทร พุ่มศิริ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ย ดาบิด กูเตียร์เรซ

สมชาย กล่าวว่า การรวมแคว้นเกิดเมื่อ ค.ศ. 1469 เมื่ออภิเษกระหว่างเฟอร์นันโดแห่งแคว้นอารากอน กับพระนางอิสซาเบลาแห่งคาสติญญา ยุคนี้ยิ่งใหญมากเพราะ ค.ศ. 1492 เป็นปีที่ไล่แขกมัวร์คนสุดท้ายที่บุกเข้ายุโรปและครองสเปนตั้งแต่ ค.ศ. 711ออกจากกรานาด้า การรวมแคว้นอยู่ในลักษณะที่ไม่ได้สนิทสนมเท่าไหร่ แต่ละแคว้นยังอยู่กันเป็นอิสระจนกระทั่ง ค.ศ. 1705 แคว้นกาตาลุญญาถูกรวบเข้ากับสเปน

แรงกดดันที่อยากเป็นอิสระมีตั้งแต่ศตวรรษ 15 และรุนแรงมากขึ้นทุกที เหตุการณ์มาแรงมากตอนก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมือง แคว้นกาตาลุญญาก็อยู่ในฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ เรียกร้องอิสระมากซึ่งรัฐบาลก็ยอมในสมัยที่เป็นสาธารณรัฐ แต่ท้ายที่สุดก็มีรัฐประหารโดยนายพลฟรังโก้ ตามมาด้วยการรวมสเปนกลายเป็นหนึ่งเดียว กลุ่มฝักใฝ่การแยกตัวหลบหนีไปอยู่ที่อื่นและถูกลดทอนบทบาทลง โดยเฉพาะในแคว้นบาสก์ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 บัญญัติว่าสเปนต้องเป็นหนึ่งเดียว แต่ยังเปิดให้แคว้นต่างๆ มีอิสระเสรีแม้ไม่ได้ปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ แคว้นกาตาลุญญามีเสรีภาพด้านการศึกษา มีการสอนภาษากาตาลัน มีรัฐบาลท้องถิ่น หัวหน้าก็เรียกว่า presidente มีอำนาจรัฐสภาท้องถิ่น

สถานการณ์ที่ทำให้การแยกตัวกลับมาร้อนแรงคือเมื่อปี 2006 รัฐบาลกลางสเปนภายใต้พรรคโซเชียลลิสตาต้องการคะแนนเสียงในสภา จึงต้องไปเจรจากับพรรคต่างๆ และสนับสนุนแคว้นกาตาลุญญาให้มีสิทธิ์เสียงมากขึ้น นำไปสู่การลงประชามติรับรองกฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยการปกครองตนเอง (Statute of Autonomy) ในปี 2006 ที่ให้เสรีภาพในการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญามากขึ้น แต่ก็มีพรรคปาร์ติโด ปอปูลาร์ (พีพี) สืบทอดมาจากนายพลฟรังโกที่เป็นเสียงข้างน้อยคัดค้านไม่เห็นด้วย ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบัญญัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 และใน ค.ศ. 2010 ศาลก็ตัดสินว่าขัดแย้งจริง ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ผ่าน ภาวะใกล้ได้อิสระแต่ไม่ได้ทำให้กระแสแยกตัวในกาตาลุญญายิ่งร้อนแรง นำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ในเมืองบาร์เซโลนาเมื่อปี ค.ศ. 2010 ยิ่งมีสถานการณ์ค่าเงินยูโรที่ทำให้สเปนและแคว้นต่างๆ ลำบาก ประธานแคว้นกาตาลุญญายิ่งขอความเป็นอิสระ เพราะแคว้นกาตาลุญญาจ่ายเงินให้รัฐบาลกลางมากกว่าที่รับมา รัฐบาลกลางตอนนั้นไม่คุยเพราะสภาวะแย่มาก นำไปสู่ความแค้นมากขึ้น นำไปสู่เหตุการณ์ 2014 เป็นการลงประชามติแยกตัว ร้อยละ 80 ของคนเห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นเอกราช แต่สัดส่วนผู้ไปออกเสียงมีเพียงร้อยละ 33 จากทั้งหมดเท่านั้น
2. รัฐธรรมนูญ 1978 อิสรภาพแคว้นมากแต่แบ่งแยกไม่ได้ กลายเป็นทางตันทางการเมือง

ณภัทรกล่าวว่า ถ้าจะมองว่าอะไรเป็นสิ่งที่เกิดสิ่งนี้ขึ้นคือเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญปี 1978 เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทั้งข้อจำกัดและช่องว่างให้เกิดประชามติที่ผ่านมา ข้อจำกัดคือสเปนแบ่งแยกไม่ได้ แต่การที่เขาให้อิสระแคว้นในการปกครองตัวเองก็เป็นช่องว่างหลายอย่าง ทั้งนโยบายการศึกษาที่ให้ใส่ความเป็นกาตาลันเข้าไปได้ ในห้องเรียน ใครที่เชียร์เรอัล มาดริดถือว่าเป็นแกะดำ

กาตาลุญญามีอิสระในการสร้างกองกำลังตำรวจ (มอสโซส) เป็นของตัวเองได้ สะท้อนว่าเขามีอิสระถึงขนาดไหน รวมถึงมีสถานทูตขนาดเล็กในประเทศต่างๆ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับก็ตาม มันเลยเกิดภาพความย้อนแย้งในกฎหมาย เพราะทั้งจำกัดและให้อิสระ รัฐบาลท้องถิ่นจึงตีความว่าในเมื่อฉันออกกฎหมายได้ก็แปลว่าสามารถออกกฎหมายทำประชามติได้สิ การมีสภาท้องถิ่นในรูปแบบการปกครองแบบรัฐเดี่ยวกลายเป็นปัญหา เวลามันผ่านไปแสดงให้เห็นว่ามีความย้อนแย้งในตัวเองอยู่
3. ผลประชามติเป็นเสียงข้างมากของเสียงข้างน้อย แต่การแยกตัวสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิม

สมชายกล่าวว่า คนเห็นด้วยกับการแยกตัวไม่ใช่เสียงข้างมาก เป็นเพียงร้อยละ 90 ของร้อยละ 40 จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด และไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลออกคะแนนเสียงเป็นทางการเนื่องจากการลงประชามติไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เพราะจากการหยั่งเสียงพบว่าไม่ต้องการแยกตัวมีมากกว่า แต่ฝ่ายแยกตัวเป็นเอกราชประโคมข่าวกันมากกว่า


ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

ณภัทรกล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบว่าคนกาตาลันส่วนมากอยากแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ เพราะคนที่อยากแยกตัวก็อ้างว่าผลการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2015 ก็ชี้ชัดแล้วว่าคนอยากแยกตัว แต่คนที่ไม่อยากแยกก็อ้างสถิติการลงประชามติว่าคนอยากแยกตัวเป็นส่วนน้อย แต่เมื่อประมวลประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างกาตาลุญญากับรัฐบาลกลางมาตลอดจนทุกวันนี้ ที่มีการชุมนุมใหญ่ในเมืองบาร์เซโลนาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาดูมีความรุนแรงก็จะยิ่งทำให้คนกาตาลันไม่รู้สึกสนิทใจกับคนสเปนเท่าเดิมอีกต่อไป

การรวมตัวบนความแตกต่างทางวัฒนธรรมยังมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสเปนจนถึงปัจจุบัน ดาบิดกล่าวว่า ถึงสเปนจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจาก 17 แคว้นรวมกันแต่ทั้งหมดก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ว่าเราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ แต่ละที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองและไม่ได้ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับแคว้นอื่น การมีเอกลักษณ์ตนเองอย่างเหนียวแน่นก็ทำให้เข้ากับแคว้นอื่นได้ยากเหมือนกัน เพราะแคว้นกาตาลุญญาก็มีภาษาและวัฒธนธรรมของตัวเอง

ความรู้สึกเป็นกาตาลันที่มันจัดๆ ก่อนหน้าที่จะเกิดวิฤกติเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่เป็นประเด็นหลัก มิติด้านประวัติศาสตร์เป็นเพียงแรงผลักส่วนเล็กๆ หลัง 1978 กาตาลุญญาก็แฮปปี้ที่อยู่กับสเปน ครอบครัวอุปถัมภ์ (โฮสท์) ที่เป็นลูกครึ่งอันดาลูเซีย-กาตาลัน ในบาร์เซโลนาก็เกิดการรวมกันระหว่างสเปนกับกาตาลันพอสมควร คนกาตาลันไม่เข้าใจคนสเปนจริงไหม ก็เป็นไปได้ แต่ในบาร์เซโลนาก็มีการหลอมรวมอยู่ ถ้าหากจะมองกันจัดๆ คนกาตาลันมองว่าคนสเปนเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ในทางกลับกันสเปนก็มองกาตาลันว่าเห็นแก่ตัว รวยแล้วหยิ่ง ก่อนจะเดินทางไปสเปนในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนมีนักเรียนแลกเปลี่ยนสองคนคนหนึ่งไปมาดริดอีกคนไปบาร์เซโลนาไปเยือนสถานทูตในไทย มีเจ้าหน้าที่ทูตท่านหนึ่งออกมาพูดคุย แต่พอรู้ว่ามีคนไปบาเซก็หันไปบอกเจ้าหน้าที่ AFS ว่าระวังนะ อย่าส่งเด็กไปกาตาลุญญา ก็สะท้อนถึงความไม่เข้าใจหรือทัศนคติที่เกิดขึ้นอยู่

คนในยุโรปส่วนใหญ่ไม่ได้เอาประวัติศาสตร์มาผูกใจเจ็บ ไม่มีละครแบบรากนครา คนกาตาลันหลายๆ คนก็บอกว่าเป็นส่วนที่เขามองว่าตัวเองเป็นคนยุโรปมากกว่า มองไปในอนาคตว่าสิ่งที่อยู่ตอนนี้มันไม่โอเค แล้วยิ่งมีความรุนแรงเกิดขึ้นก็รู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ออกจากสเปนดีกว่า แม้อนาคตจะดูริบหรี่ อนาคตจะดีกว่านี้ ความเป็นกาตาลันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด
4. วางถุงกาวแล้วตั้งสติ เปิดเงื่อนไขเศรษฐกิจ การเมืองใน-นอกประเทศว่าด้วยการแยกตัว

สมชายกล่าวว่า ถ้าหากกาตาลุญญาประกาศเป็นเอกราชย่อมเกิดการเผชิญหน้า ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับกันและกัน ถ้ารัฐบาลกลางใช้ไม้แข็งปลดรัฐบาลท้องถิ่นด้วยมาตรา 155 ก็จะมีปัญหา รัฐบาลกลางเองก็ไม่กล้าใช้เพราะรัฐบาลกลางประกอบด้วยสองพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับประชามติแต่ก็ไม่อยากให้รัฐบาลใช้มาตรา 155 ในการยึดอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นที่อาจจะมีความรุนแรงและก่อปัญหาคาราคาซัง และถ้าหากใช้จริง กาตาลุญญาก็คงพยายามใช้โอกาสหาความชอบธรรมเพื่อให้ประเทศต่างๆ รับรอง

สอง ถ้ากาตาลุญญาแยกตัวก็จะหลุดจากสหภาพยุโรป (อียู) กรณีนี้ถ้าหยุดออกจากสเปนแล้วจะเข้าอียูใหม่ก็ต้องสมัครใหม่


หลายพรรครัฐสภายุโรปกังวลกาตาลุญญาแยกตัว ชี้ถ้าออกจากสเปนคือออกจากอียูด้วย

สาม ในแง่เศรษฐกิจ กาตาลุญญากับสเปนมีตลาดร่วมทั้งในทางสินค้า เงินทุนและแรงงาน เมื่อแยกประเทศจะมีปัญหาในทางกฎหมายเรื่องการส่งออก กาตาลุญญากับสเปนจะสูญเสียสิทธิประโยชน์เรื่องการนำเข้า-ส่งออกแบบไม่มีภาษี ทำให้เศรษฐกิจของทั้งสเปนและกาตาลุญญาได้รับผลกระทบ

ทางออกที่สองคือการเจรจา ทางกาตาลุญญาก็ต้องการให้อียูเป็นตัวกลาง แต่อียูไม่กล้าทำเพราะมันจะกลายเป็นตัวอย่างนำร่องของโมเดลการแยกดินแดน การเจรจาก็มีสองทาง นำไปสู่การเจรจาเพื่อทำประชามติอย่าเป็นทางการเปิดกว้างยุติธรรมในอนาคต หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 แล้วค่อยเจรจา แต่ถ้าแก้ไขแบบนั้นก็จะต้องมีผลกระทบกับแคว้นอื่นที่เหลือ ทางออกที่สาม จัดตั้งเป็นสหพันธรัฐสเปนไปเลย

ณภัทรกล่าวว่า ตัวของกาตาลุญญาเองก็เชื่อว่ารัฐบาลหรือคนที่สนับสนุนรัฐบาลก็ถอยหลังไม่ได้แล้ว เพราะถอยตอนนี้ก็จะเสียไปหมด เขาก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด มันมีสัญญาณบางอย่างที่ธนาคารหลายแห่งก็ย้ายตัวออกจาก กาตาลุญญาไปแล้ว เป็นสัญญาณว่าภาคเศรษฐกิจเชื่อว่าอาจมีบางอย่างเกิดขึ้นจริงๆ นอกจากนั้นธนาคารก็ต้องการความแน่นอนสูงสุดเพราะต้องรักษาลูกค้าในสเปนที่เหลือกว่า 30 ล้านคนก็ต้องถอยออกมา ถ้าประกาศเอกราชจริงๆ คนที่มองก็มองในระยะยาวว่ามันจะดีขึ้น แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ง่ายๆ โฮสท์พ่อที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการเป็นเอกราชมาตั้งแต่ 2012 ก็เชื่อว่าเสรีภาพจะไม่ได้มาในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่กาตาลุญญามีตอนนี้คือประชาชน การเกิดขึ้นตามรัฐใหม่ตามกฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติว่าต้องมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แต่ว่ากาตาลุญญาตอนนี้ยังทำไม่ได้ขนาดนั้นกาตาลุญญาซวยนิดหนึ่งตรงที่ว่าตอนนี้โลกทั้งใบนิยมขวา เขาก็ไม่อยากสนใจเพราะประเทศตัวเองยังต้องกินต้องอยู่ ก็ตีความไปเป็นเรื่องภายในประเทศ
5. เทรนด์ขอแยกตัวด้วยประชามติกำลังมาแรง ของกาตาลุญญายังไม่เป็นที่ยอมรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ประชามติถูกใช้เป็นเครื่องมือในความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของกลุ่มต่างๆ นอกจากประชามติของกาตาลุญญาแล้วเรายังเห็นประชามติขอแยกตัวของชาวเคิร์ดในอิรักเมื่อ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนในครั้งนี้ร้อยละ 72.61 ของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด มีคนลงคะแนนเห็นชอบกับการให้เขตกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดเป็นอิสระมากถึง 3.3 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 92.73 อย่างไรก็ตามนับเป็นการลงประชามติในแบบที่ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย


ผลโหวตประชามติชาวเคิร์ด ร้อยละ 92.73 เห็นชอบให้แยกตัวเป็นอิสระ

สกอตแลนด์เคยจัดทำประชามติขอแยกตัวกับสหราชอาณาจักรมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2557 ผลประชามติปรากฏว่าร้อยละ 55 ต้องการให้อยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไป แต่นิโคลา สเตอร์เจียน นายกฯ สกอตแลนด์ก็ประกาศที่จะทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังสหราชอาณาจักรทำประชามติขอแยกตัวจากสหภาพยุโรป

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2560 มีรัฐทางตอนใต้ของบราซิลสามรัฐได้แก่รัฐปารานา รัฐซานตา กาตารินา และรัฐริโอ กรานเด โด โซล ทำประชามติขอแยกตัวจากบราซิล แต่ประชามติไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย ในปีที่แล้วก็มีประชามติในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อเดือน ต.ค. มีผู้ไปออกเสียงเป็นจำนวนทั้งสิ้น 616,917 คน ร้อยละ 95 ของผู้มาออกเสียงเห็นด้วยกับการแยกตัว แต่สัดส่วนผู้มาออกเสียงนั้นเป็นเพียงร้อยละ 3 จากผู้มาออกเสียงทั้งหมด

สมชายกล่าวว่า ความชอบธรรมเมื่อแยกเป็นเอกราชสามารถมองได้สองแง่ กฎหมายระหว่างประเทศกับในประเทศ กรณีสกอตแลนด์และแคนาดา รัฐธรรมนูญแคนาดาอนุญาตให้ทำประชามติได้ กรณีอังกฤษก็เหมือนสเปน เป็นรัฐเดี่ยว แยกไม่ได้แต่อนุญาตให้แยกได้ถ้าการทำประชามติได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา สกอตแลนด์จึงถูกต้องตามกฎหมายเพราะรัฐสภานำโดยนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมรอน อนุญาต แต่ในสเปนรัฐบาลและรัฐธรรมนูญไม่ได้อนุญาตให้ทำประชามตินี้

ตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การจะเป็นประเทศจะต้องได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ มีกรณีการแยกประเทศได้แต่ไม่ได้รับการรับรอง เช่นไครเมีย การเมืองระหว่างประเทศก็มีส่วนเนื่องด้วยรัสเซียมีอิทธิพลในบริเวณนั้น นี่คือเหตุผลที่กาตาลุญญาไม่มีประเทศไหนยอมรับ เพราะถ้ายอมรับก็เท่ากับกติกาโลกเปลี่ยนไปหมด
ข้อมูลเพิ่มเติม
First Brexit, now BRAXIT? Brazil faces SPLIT as southern states want to form NEW country, Express, October 8, 2017
รัฐสภาสกอตแลนด์ลงมติแล้ว เห็นชอบทำประชามติอีกรอบ, BBC, March 29, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.