Posted: 10 Oct 2017 04:42 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
วงเสวนาเพื่อมุทิตาจิต ‘นลินี ตันธุวนิตย์’ หัวข้อ “โลกส่วนตัวของผู้หญิง” ‘ธเนศ’ ชี้ เรื่องส่วนตัวต้องการการปกปิด ขณะที่ “ความเสือกคือรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ นั่นคือสถานะสำคัญของนักวิชาการ” ด้าน ‘ฉันทนา’ กล่าว ยุคสมัยใหม่แบ่งโลกส่วนตัวจากโลกสาธารณะ เป็นปัญหาแก่ชนชั้นล่าง โลกส่วนตัวหญิงชายแตกต่าง สะท้อนในงานวิชาการ
เมื่อวาน (10 ต.ค.) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาวิชาการ เนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของ ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ โดยในหัวข้อ “โลกส่วนตัวของผู้หญิง” มีวิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นคือ ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อมต จันทรังษี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปณิธี บราวน์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรทิพย์ เนติภารัตนกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อภาควิชาการและภาคสาธารณะไม่ประสาน ย่อมไม่มีพลังเคลื่อนไหว
จากซ้ายไปขวา ปณิธี บราวน์, อมต จันทรังษี, ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว
ความลับของโลกส่วนตัวที่ต้องเปิดเผย
ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
การพูดถึงชีวิตส่วนตัวทำให้ชีวิตไม่มีความเป็นส่วนตัว ความเป็นส่วนตัวพูดถึงไม่ได้ เมื่อไหร่พูดถึงก็ไม่มีความเป็นส่วนตัว การพูดถึงความเป็นส่วนตัวจึงเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว การกล่าวถึงความเป็นส่วนตัวจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพูดกับสิ่งที่เล่าต่อไปไม่ได้ การเล่าถึงความเป็นส่วนตัวเพื่อยังคงความเป็นส่วนตัวไว้อยู่นั้นก็ต้องทำตัวเป็นสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิตเท่านั้นที่เก็บความลับไว้ได้
การเก็บความลับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก อาชีพหลายอาชีพจึงจำเป็นต้องมีจริยธรรมทางอาชีพ เป็นกฎที่กำหนดว่าคนต่างๆ เหล่านี้จะไม่ละเมิดความลับ เช่น พระรับฟังคำสารภาพบาป ทนายความเก็บความลับของลูกความ วิถีการสารภาพความลับในกระบวนการศาสนาและยุติธรรมมีเป้าหมายเหมือนกันคือการแสดงให้เห็นถึงความจริง
การสารภาพความลับทั้งในศาสนาและกระบวนยุติธรรมแสดงให้เห็นถึงการจรรโลงคุณธรรม ทั้งสองให้ประโยชน์กับผู้นำเสนอความจริงที่ถูกปกปิด ทำให้ผู้ฟังมีสถานะพิเศษเพราะได้รับความรู้ถึงชั้นสุดยอด คนกุมความลับแสดงให้เห็นถึงสถานะของคนมีอำนาจ ความเป็นส่วนตัวถูกปกปิดแต่เมื่อมีใครบางคนรู้ก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงความลับสุดยอดจึงเป็นรูปแบบการกระหายอำนาจ การเข้าถึงความลับเป็นการเพิ่มอำนาจ การดักฟัง เข้าถึงข้อมูลจึงเป็นการเพิ่มอำนาจ
เมื่อความเป็นส่วนตัวหมดไป เมื่อความลับที่ดำมืดทั้งหมดถูกเปิดเผยจากการรุกรานเข้าไปในดินแดนที่ไม่มีแสงสว่างใดสาดส่องไปถึง ความเป็นส่วนตัวไม่ต้องการความโปร่งใส ความต้องการความโปร่งใสให้แสงสว่างแห่งความรู้สาดส่องเข้าไปกลับแสดงให้เห็นถึงการรุกราน การรุนรานเข้าไปในวิถีชีวิตส่วนตัวเป็นวิถีของโลกสมัยใหม่ โลกที่ใช้สื่อเป็นหัวหอกสำคัญในการทะลุทะลวงความเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง เหล่าดารา
นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา วัฒนธรรม “เสือกเรื่องส่วนตัว” เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของการดำเนินชีวิต วิถีแห่งการสื่อสารเพื่อมวลชนยิ่งมีความเป็นมวลชนมากขึ้นเท่าไหร่ วัฒนธรรมแห่งแสงสว่างที่สาดส่องให้ทุกอณูของชีวิตไร้ซึ่งความมืดก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
สภาวะที่ดำมืดของความเป็นส่วนตัวก่อให้เกิดความอึดอัดวิตกจริตเพราะแสงสว่างไม่อาจสาดไปถึงได้ ความเป็นส่วนตัวต้องการความไม่รู้ สำหรับบุคคลสาธารณะรวมไปถึงบุคลิกภาพที่ครอบคลุมวิถีชีวิตมีส่วนสำคัญในการให้เขาหรือเธอกลายเป็นคนดัง วิถีของคนดังเหล่านี้จึงต้องไร้ซึ่งความมืด ต้องมีไฟส่องตลอดเวลาไม่ว่าเขาหรือเธอจะชอบหรือไม่ มวลชนต้องการให้แสงสว่างในทุกแห่งที่มีมุมมืด
ภายใต้ยุค enlightenment คนต้องการให้ทุกที่มีแสงสว่างสาดส่อง เมื่อพื้นที่ส่วนตัวที่ดำมืดถูกแสงสว่างสาดส่องก็ทำให้ความเป็นส่วนตัวเปิดเผยออกมาและรูปแบบที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้คนเป็นอันมากก็คือเรื่องเพศ วัฒนธรรมหนังสือโป๊จึงเป็นวัฒนธรรมแห่งแสงสว่างที่สาดส่องเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุด วิถีแห่งหนังสือโป๊เปิดเผยเรื่องส่วนตัวให้ไม่เป็นความลับอีกต่อไป
สำหรับศตวรรษที่ 21 วิถีแห่งหนังสือโป๊ไม่ทรงพลังมากเท่ากับวิถีแห่งเทคโนโลยี เช่น รายการเรียลลิตี้ รวมถึงไลฟ์ในอินเทอร์เน็ต การถ่ายทอดสดชีวิตส่วนตัวในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป วิถีการโชว์ชีวิตส่วนตัว (exhibitionism) ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามอีกต่อไป วิถีการเป็นผู้แอบมองไม่จำเป็นต้องแอบมองอีกต่อไป ผู้ถูกมองก็ยินดีให้มอง ทุกคนต่างสมประโยชน์ซึ่งกันและกัน
การจ้องมองไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะค้นพบความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ทุกคนในสภาวะสมัยถูกทำให้ค้นหาความจริง ทุกๆ คนจึงเป็น Discovery Channel ไปในตัวเอง เพียงการได้เห็นในสิ่งที่คนอื่นต้องการให้เห็นก็ไม่ได้ทำให้มั่นใจว่านั่นเป็นความจริง เพราะความหวั่นวิตกว่าอะไรตกหล่นไปไม่ครบถ้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในวิถีแห่งความเป็นส่วนตัว ความหวาดวิตกว่าจะถูกจัดฉากให้ถูกจ้องมองก็เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไปได้ยาก
การเปิดเผยผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กระทำกันสดๆ กลับทำให้รู้สึกว่าเป็นภาพลวงตา การจัดฉากหรือการถูกหลอกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากไม่น้อย การวิตกจริตว่าถูกหลอกก็มีอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อ อย่างภาพยนตร์เรื่อง Truman Show ที่เล่นกับคำว่า Truman Show ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะวิตกจริตนั้น ความรู้สึกถูกปิดบังดำเนินไปพร้อมกับความต้องการจะปิดบัง สภาวะการของความต้องการจะรู้แต่ถูกกีดกันดูจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำรงชีวิต
ชีวิตที่ดำมืดที่แสงสว่างที่ถูกกีดกัน แสงสว่างที่แสดงตัวด้วย Rationality หรือจิตสำนึก เพียงแต่ว่าจิตไร้สำนึกที่ทรงพลังดังมหาสมุทรที่ซ่อนเข็มแห่งความเจ็บปวดเอาไว้ใต้ท้องทะเลลึกที่แสงสว่างไม่อาจจะสาดส่องไปถึงได้ สภาวะจิตไร้สำนึกทำให้ความเป็นส่วนตัวคงความเป็นส่วนตัวมากขึ้นไปอีก เพราะบุคคลมีสติและสำนึกผู้นั้นเองก็ไม่อาจล่วงรู้ความลับอันดำมืดของตัวเองได้ ความลับส่วนตัวนั้นดำมืดจึงเป็นอะไรที่รู้ได้ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นรู้และคนอื่นไม่รู้ ในบางทีความลับที่ดำมืดดำมืดเฉพาะบุคคล นั่นเพราะตัวเองไม่รู้ว่าตัวเองเป็นในขณะที่คนอื่นรู้ถึงสิ่งเหล่านั้น
ความลับที่ซ่อนอยู่ที่ต้องการให้เปิดเผยเป็นฐานคิดที่สำคัญมากสำหรับการแสวงหาความรู้ในโลกสมัยใหม่ สภาวะสมัยใหม่ที่ต้องการให้ทุกสิ่งสว่าง แสงสว่างแห่งปัญญาที่หามีอย่างอื่นเสมอเหมือน แสงสว่างที่เสริมสร้างความต้องการที่จะทะลุทะลวงหรือความเสือกในรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่าความรู้ นั่นคือสถานะสำคัญของนักวิชาการ
ยุคสมัยใหม่แบ่งโลกส่วนตัวจากโลกสาธารณะ ชนชั้นกลางไม่เจอปัญหาเท่าชนชั้นล่าง โลกส่วนตัวหญิงชายแตกต่าง สะท้อนออกมาในงานวิชาการ
ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
โลกส่วนตัว โลกสาธารณะ เกี่ยวข้องกับความเป็นสมัยใหม่ โลกต้องแยกชัดเจน โลกสาธารณะถ้าพูดถึงพื้นที่ก็คงเป็นเรื่องการเมือง โลกส่วนตัวคืออยู่ที่บ้าน ถ้าแยกแบบนี้เป็นปัญหากับใคร ชนชั้นกลางอาจไม่รู้สึกมากนัก เมื่อไปดูงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตเกี่ยวกับการจะเป็นผู้ว่าฯหญิงได้ ส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางขึ้นไปถึงจะมีต้นทุนที่จะทำให้โลกส่วนตัว(บ้าน)ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน
ถ้าดูพัฒนาการของการแบ่งโลกแบบนี้ ในโลกสมัยใหม่คุณค่าที่ให้คือคุณค่าทางการเมือง บทบาทที่ถูกกำหนดมาคือบทบาทของผู้ชาย แต่เอาเข้าจริงสำหรับชนชั้นกลางก็เบลอ ถ้าในโลกหญิงชาย บทบาทการเมือง เศรษฐกิจเป็นอาณาบริเวณหนึ่งที่ถูกตีค่าให้สูงขึ้น แต่ยิ่งโลกพัฒนาเท่าไหร่ บทบาทบ้านยิ่งน้อยลง
เรากำลังก้าวสู่ยุคหลังอุตสาหกรรม ในยุคอุตสาหกรรมก็คือยุควัตถุนิยมอะไรที่สัมพันธ์กับการสร้างวัตถุได้มีค่าเป็นเงินก็จะได้รับการประเมินค่ามากกว่า ส่วนใหญ่ผู้ชายมีบทบาทในขณะที่ผู้หญิงถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวหรือบ้าน แต่ยุคหลังอุตสาหกรรม เป็นผลของทุนนิยมหรือความย้อนแย้งของโลกสมัยใหม่หรือเปล่าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนคุณค่าโลกทั้งสองสลับไปมา การเกิดโลกสมัยใหม่มีอิทธิพลของทุนนิยมกำกับด้วย ทุนนิยมเป็นลัทธิสนับสนุนชายเป็นใหญ่รึเปล่า เพราะผู้ชายน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในความหมายของระบบตลาด แต่หลังยุคอุตสาหกรรมการให้คุณค่ากับเงินเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการโยกย้ายสลับบทบาทระหว่างการบ้านการเมืองกับบทบาทในครัว
นักวิชาการอาจเจอปัญหานี้ไม่มากเท่ากับชนชั้นล่างลงไป เพราะต้องทำงานสองด้าน งานภายนอกสร้างรายได้ ขณะเดียวกันต้องดูแลบ้านในโลกส่วนตัวด้วย
สิ่งที่ทำให้ชายหญิงต่างกันในโลกส่วนตัว มันต่างกันไหมระหว่างโลกส่วนตัวของชายและหญิง?
ยกตัวอย่างความสนใจเรื่องแมวของอาจารย์นลินีก็แสดงออกถึงความอ่อนโยน ละเมียดละไม เป็นโลกส่วนตัวของผู้หญิง งานด้านวิชาการก็สะท้อนออกมาจากการดูแล (caring) ไม่ได้จำกัดว่าผู้ชายไม่สามารถทำได้ แต่บทบาทนี้สะท้อนออกมาจากกายภาพ งานวิชาการออกมาในลักษณะที่มีความอ่อนไหวต่อคนที่มีอำนาจน้อย อันนี้จะเรียกว่ามีความเชื่อมโยงได้รึเปล่า?
งานอ.นลินี approach เป็นการเล่าเรื่อง (narrative) ทำให้เห็นแง่มุมของผู้คนอีกด้านที่ถูกมองข้ามไปในกระบวนการพัฒนา อันนี้เป็นส่วนที่แตกต่างในงานวิชาการ และไม่ได้หมายความว่าการเล่าเรื่องไม่มีพลัง สำหรับสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง อาจสนใจการเล่าเรื่องน้อยหน่อย แต่ต้องการการชี้ประเด็นไปเลยว่าผิดถูกอย่างไร นำไปสู่การถกเถียงว่าสไตล์นี้จะนำไปสู่การคัดง้างงานวิชาการกระแสหลักอย่างไร แต่คิดว่าคุณค่ามันคือการได้เห็นแง่มุมลึกซึ้งของชีวิตผู้คน
ประเด็นวิชาการยังให้คุณค่าของความสำคัญของโลกส่วนตัวน้อยอยู่ ในฐานะผู้หญิง มีภาระส่วนตัวอาจจะกินเวลาไม่น้อยไปกว่างานที่เราทำในโลกวิชาการ แต่มันไม่ถูกนับ เวลาที่บอกว่าสังคมเราลงทุนในทางเวลา พลังงาน ในการดูแลสังคม ดูแลพลเมืองต่อไปมากน้อยเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ เพราะไม่เคยถูกตีค่า ดังนั้นคนที่เป็นผู้ว่าฯผู้หญิง ถ้าไม่มีทุน เครือข่าย ฐานะครอบครัวที่ดี หรอืถ้ามีบุตรก็ต้องมีพี่เลี้ยง ถ้าไม่เจอเงื่อนไขแบบนี้ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องแบกรับภาระของทั้งสองโลก
อาจพูดได้ว่าผู้หญิงทำงานวิชาการอาจมีข้อจำกัด แต่โลกกำลังจะเปลี่ยน การแบ่งระหว่างคุณค่าการเมือง เศรษฐกิจอาจลดลง แล้วเพิ่มคุณค่าให้โลก caring มากขึ้น
มองงานวิชาการผ่านโลกสาธารณะและโลกส่วนตัวของอาจารย์นลินี
อมต จันทรังษี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แบ่งหัวข้อออกเป็นโลกสาธารณะ และ โลกกึ่งสาธารณะและโลกส่วนตัวของอาจารย์นลินี ตันธุวนิตย์
โลกสาธารณะ
สังคมมองงานวิชาการเป็นสองขั้วแบบเหมารวม ขั้วหนึ่งคือ masculine (เพศชาย) มีลักษณะพับบลิก เป็นมุมมองที่หนัก เกี่ยวข้องกับอำนาจการปะทะกัน ส่วนอีกขั้วคือ feminine (เพศหญิง) เป็นด้านความสัมพันธ์ ประณีประนอม สมานฉันท์ การพัฒนาผู้หญิงและเด็ก สิ่งแวดล้อม แต่เราจะทำไงให้สองขั้วมาเจอกันและสลายขั้วสองขั้วนี้
งานวิชาการของอ.นลินีเห็นชัดว่าไม่จำเป็นต้องจับประเด็นผู้หญิง สิ่งแวดล้อม แต่เป็นประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคม คนที่ถูกกดทับ การปะทะของอำนาจรัฐ อาจารย์ได้เปิดมุมมองใหม่สำหรับการเป็นนักวิชาการผู้หญิง ไม่จำเป็นต้องอยู่ขั้วตรงข้ามกับความเป็นชาย
ปกติในงานวิชาการมักถูกมองเหมารวมว่างานวิชาที่เป็นเพศชายมักอัดแน่นเรื่องการอธิบายแบบเหตุผล มีลักษณะเป็น objective (ภาวะวิสัย) ในตัวงาน อาจทำให้เห็นว่าตัวงานมีความน่าเชื่อถือมากกว่า อีกขั้วหนึ่งมักถูกมองเป็นลบมองว่างานวิชาการผู้หญิง ผูกโยงกับการใช้อารมณ์ในการเข้าถึงข้อมูล โกรธ ดีใจ ยินดีเวลาเข้าไปอยู่ใน field (สนาม) การวิจัย มักถูกมองว่าเป็นsubjective (อัตวิสัย) มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ในงานอาจารย์นลินีมี emotional แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแง่ลบ งานหลายอันของอาจารย์ การใช้ emotion ทำให้เราเห็นอารมณ์ที่อยากรู้อยากเห็นอยากสะท้อนเกี่ยวกับคนที่เราไปศึกษาอย่างไรบ้าง ทำให้เห็นว่านี่คือความเป็นพลังของความเป็นผู้หญิงในงานวิชาการ
โลกกึ่งสาธารณะและโลกส่วนตัว
โลกที่อาจารย์ใช้สร้างนักวิชาการไม่ใช่ในห้องเรียนหรือโลกสาธารณะอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น รถตู้ รถบขส. รวมถึงโลกส่วนตัวคือบ้านของอ.
เวลาอาจารย์สร้างนักวิชาการ อาจารย์สร้างได้ในพื้นที่หลากหลาย ระหว่างนั่งรถตู้ไปบ่อนอก เราฟังแกนนำพูดแล้วขึ้นรถตู้ คำถามหนึ่งที่อาจารย์ถามขึ้นมาคือ คิดว่าสามารถนำกลยุทธ์การต่อสู้ไปตีพิมพ์ได้รึเปล่า เกิดการถกเถียงกันในรถตู้ สิ่งที่อาจารย์สรุปคือ ถ้าประสบการณ์แบบนี้ถูกบอกเล่าแล้วขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นหยิบไปเป็นกลยุทธ์การเคลื่อนไหวก็อาจเป็นประโยชน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดในห้องเรียน
บางครั้งอาจารย์เปิดบ้านซึ่งเป็นโลกส่วนตัวที่สุดให้เราเข้าไปนั่งทำงาน ทำให้เห็นว่าบางครั้งเราจำเป็นต้องใช้โลกส่วนตัวในการทำงานวิชาการด้วย
การผสมกันระหว่างโลกส่วนตัวและโลกสาธารณะทำให้อาจารย์มีสไตล์บางอย่างที่สร้างนักวิชาการ บางครั้งการยกตัวอย่างก็สำคัญกว่าทฤษฎี หรือการคำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ของอาจารย์จะไม่ติเพียงอย่างเดียว แต่อาจารย์มักมีทางออกเสมอในการคอมเมนต์ ไม่ใช่การบอกตรงๆ แต่เป็นการไกด์ให้เราไปค้นเพิ่มเติมจนเห็นทางออกด้วยตัวเอง วิธีการทำงานแบบนี้ทำให้พวกเราไม่เคว้งคว้างจนเกินไป
อาจารย์ทำให้เห็นว่าสนามในการวิจัยไหนเหมาะกับผู้หญิง ชุมชนแออัดก็สามารถเป็น field work ของผู้หญิงได้ สไตล์อาจารย์มีผลต่อวิธีคิดของดิฉันเอง การที่เป็นนักสังคมวิทยาสิ่งที่เราต้องสนใจด้วยคือเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นโลกส่วนตัวและโลกสาธารณะของอาจารย์สามารถมีอิทธิพลต่อโลกส่วนตัวและโลกสาธารณะของลูกศิษย์ได้
โลกส่วนตัวและโลกสาธารณะของผู้หญิงชนชั้นล่าง และโลกส่วนตัวของผู้หญิงข้ามวัฒนธรรม
ปณิธี บราวน์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
บทบาทผู้หญิงในโลกส่วนตัว เราสนใจชีวิตแม่ค้าหาบเร่แผงลอยตอนทำวิทยานิพนธ์ ได้ลงชุมชนเรียนรู้เรื่องคนในชุมชน คนที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักกับเราหนีหนี้เงินกู้หายตัวไป เราเขียนลงในงานกังวลว่างานจะเป็นอย่างไรต่อ อาจารย์นลินีคอมเมนต์ว่าเราไม่ห่วงเรื่องสวัสดิภาพของเขาเลยเหรอ ห่วงแต่ธีสิสจะทำยังไง อาจารย์ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่ใช่แค่ object แต่เราต้องสัมพันธ์กับเขาในฐานะมนุษย์ด้วย
ระหว่างโลกส่วนตัวกับสาธารณะแยกได้จริงหรอ?
มันอาจจะซ้อนทับกันก็ได้ เช่น เมื่อผู้หญิงต้องทำงาน สะท้อนจากประสบการณ์ที่เราทำวิจัยในสนาม ผู้หญิงออกไปทำงานหารายได้ โดยเฉพาะผู้หญิงชนชั้นล่างมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ และเมื่อกลับบ้านก็ถูกเรียกร้องภาระของการทำงานบ้าน เวลามองการทำงานบ้านของผู้หญิง เราลงสนามในการรับรู้ของงานบ้านแบบผู้หญิงชนชั้นกลาง ที่มีห้องนอน ห้องครัว ห้องรับแขก ได้ไปถามว่าพี่ในชุมชนว่าเขาจัดการงานบ้านอย่างไร และพบว่าบ้านเช่าของเขาเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ซึ่งกิจกรรมทุกอย่างอยู่ในนั้น งานบ้านจึงไม่เยอะ ไม่มีห้องหลายห้อง
เมื่อผู้หญิงออกมาทำงาน งานก็เลี่ยงไม่ได้เกี่ยวกับงานผู้หญิง เช่น แม่บ้านทำความสะอาด ทั้งที่ความจริงการที่ผู้หญิงออกมาทำงานก็ไม่จำเป็นต้องทำงานแบบผู้หญิงเสมอไป
โลกส่วนตัวของผู้หญิงในงานศึกษาข้ามวัฒนธรรม เราเคยศึกษาการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของหญิงไทยกับชาวต่างชาติ (ชาวดัชต์) เขาเปิดเผยเรื่องส่วนตัว ชีวิตรัก และมิติทางเพศ การนิยามความเป็นส่วนตัวก็มีลักษณะข้ามวัฒนธรรม บางทีเขามองว่ามันเป็นเรื่องที่แชร์กับคนแปลกหน้า(นักวิจัย)ได้ แต่เขาไม่แชร์กับคนรู้จัก เพราะอาจเกิดการนินทา
ส่วนการเข้าถึงข้อมูลของผู้หญิงต่างวัฒนธรรมนั้นยาก การสัมภาษณ์ชาวตะวันตก เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัว การจัดการความขัดแย้ง เขามองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว ครัวบ้านเป็นเรื่องส่วนตัว คุณต้องนั่งรอในห้องรับแขก ดังนั้นจึงยากเข้าถึง
แสดงความคิดเห็น