ผู้ประกันตน 51 คนรวมตัวฟ้อง รมว.แรงงาน ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีเดือดร้อนจากได้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพที่ไม่เป็นธรรม ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ
ที่มาภาพ : voicelabour.org
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)' รายงานว่า ที่ศาลปกครอง วิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรวม 51 คน เข้ายื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และให้มีการเพิกถอนกฏกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. กฏกระทรวงฉบับที่ 7(2538) 2. กฏกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 2550 และ 3. กฏกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2556
สำหรับประเด็นในการฟ้องร้องนั้น เนื่องมาจาก 1. การจ่ายประโยชน์ทดแทนชราภาพปัจจุบัน ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ผู้ที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ ได้รับเงินเพียงเดือนละประมาณ 2,000- 3,000 บาทในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงถ้าผู้ประกันตนดำรงชีวิตไปยาวนานหลังเกษียนก็จะได้รับเงินจำนวนเท่าเดิมไปตลอด
ชีวิต
2. รัฐมีการเลือกปฏิบัติ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ เช่น กบข. กองทุนการออมแห่งชาติซึ่งรัฐมีการร่วมจ่าย แต่สำหรับงินบำนาญชราภาพของประกันสังคม ลูกจ้างเป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว และ 3. ควรมีวิธีคิดคำนวณฐานของเงินบำนาญชราภาพใหม่ เนื่องจาก จากการคำนวณดังกล่าวนั้นทำให้เงินบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนได้รับต่ำกว่าอัตราค่าครองชีพหรือรายได้ขั้นต่ำของประเทศรวมถึงต่ำกว่าเส้นความยากจน
โดยการฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานครั้งนี้ ในฐานะผู้รักษาการ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และเป็นผู้ออกกฏกระทรวงตามพ.ร.บ.ดังกล่าว
ประเด็นที่ฟ้อง 1. กฏกระทรวงฉบับที่ 7(2538) ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 2. กฏกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 2550 ออกตามความใน พ.ร.บ.2533 ม.77 และ 3. กฏกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2556 ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ม.46 วรรค 1 และวรรค 2 โดยกฏหมาย 3 ฉบับนี้ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฏหมาย ไม่เกิดหลักประกันสังคมกรณีบำนาญชราภาพที่เป็นธรรมและเพียงพอแก่การยังชีพ รัฐไม่ร่วมสมทบ รัฐเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ขณะที่รัฐร่วมจ่ายในกองทุนอื่นๆ ไม่สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นการใช้ดุลพินิจออกกฏกระทรวงดังกล่าวโดยมิชอบ อันเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนกฏกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ และให้ผู้ถูกฟ้องตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน สอดคล้องกับพื้นฐานการดำรงชีพ อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม ทั้งนี้ ให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา
กรณีฟ้องเพิกถอนกฏกระทรวงครั้งนี้ เนื่องจากกฏกระทรวง 3 ฉบับไปเกี่ยวพันกับคนหมู่มาก ที่เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการสังคม ซึ่งปัจจุบันกระทบกับสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนประมาณสิบล้านเจ็ดแสนคน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1.3 ล้านคน
แสดงความคิดเห็น