iLaw รีวิวร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้อำนาจเพิ่ม คือ ห้ามวิจารณ์คำวินิจฉัย มีโทษสูงสุดจำคุก พร้อมทั้งให้อำนาจแก้ 'เดดล็อคทางการเมือง' ในกรณีเกิดปัญหาระหว่างรัฐบาลและองค์กรอิสระ
20 ต.ค. 2560 จากเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 198 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 22 คน กำหนดกรอบการทำงาน 50 วัน แปรญัตติภายใน 7 วัน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ออกมาระบุว่าให้อาวุธและเครื่องมือสามารถปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดศาลได้ พร้อมกลไกให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น
ล่าสุดวานนี้ (19 ต.ค.60) iLaw วิเคราะห์ร่างดังกล่าว ว่ามีสาระสำคัญซึ่งถือเป็น “อำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ” อย่างน้อย 2 ประการ คือ ห้าม "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริตและใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจับทั้งปรับ ซึ่ง อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ให้ความเห็นว่า การป้องกันการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริตนั้นให้ครอบคลุมการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ และรวมถึงการปลุกระดมมวลชนที่มาล้อมกดดันศาลด้วย
และ ให้อำนาจแก้ “เดดล็อคทางการเมือง” ในกรณีเกิดปัญหาระหว่างรัฐบาลและองค์กรอิสระ กล่าวคือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินปัญหาหรือให้คำปรึกษาปัญหาข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ
โดยที่ อุดม อธิบายว่า การให้คำปรึกษาข้อสงสัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ก่อนจะเกิดข้อพิพาทนั้นมีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนบานปลายในอดีต เช่น เรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 ซึ่งมีความเห็นต่างระหว่างรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
อ่านสรุปร่างกฎหมายดังกล่าวได้ที่ เว็บไซต์ iLaw https://www.ilaw.or.th/node/4657
แสดงความคิดเห็น