Posted: 04 Oct 2017 09:30 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'สมชัย' ยัน กกต.พร้อมจัดเลือกตั้งปี 61 ชี้โจทก์ใหญ่ตีความ 150 วันหมายถึงจัดเลือกตั้งหรือรวมประกาศผล ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีเซตซีโร ใน พ.ร.ป.กกต.ขัด รธน.หรือไม่ ชี้ขัดหลักนิติธรรม นิติประเพณี เจตนารมณ์ และสิทธิเสรีภาพบุคคล


ภาพจากเว็บไซต์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

4 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 ว่า ในส่วนของ กกต. ไม่มีปัญหาในเรื่องการจัดการเลือกตั้ง แต่คิว่าโจทก์ใหญ่ของการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ กรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน แปลความหมายอย่างไร เพราะในขณะนี้ยังมีความเห็นเป็นสองแนวทาง ระหว่างความเห็นที่ว่า 150 วัน หมายถึงแค่วันเลือกตั้ง อีกแนวทางหนึ่งเห็นว่าหมายรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ซึ่งยังไม่มีองค์กรใดชี้ขาด

สมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เนื่องจากเหตุยังไม่เกิด และคนที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเป็น กกต.ชุดไหน หาก กกต.ชุดใหม่ยังไม่มาก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบัน ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากหากแปลความว่า หมายถึงวันเลือกตั้งอย่างเดียว หากจัดการเลือกตั้งไปแล้วมีปัญหาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้การเลือกตั้งเสียไปก็จะถูกฟ้องทั้งแพ่งและอาญา โดยส่วนตัวมีคำตอบอยู่แล้วแต่ไม่ขอพูดในรายละเอียด เพราะจะกลายเป็นการชี้นำและพูดเกินหน้าที่

ยื่นตีความเซ็ตซีโร่ กกต.

วันเดียวกัน เมื่อเวลา เวลา 13.30 น. สมชัย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน รักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยและเสนอเรื่องพร้อมความเห็น ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 230 วรรค 1 (2) ประกอบมาตรา 231 วรรค 1 ว่ามาตรา 70 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดให้ประธาน กกต.และกกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.กกต.ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่ พ.ร.ป.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 273 หรือไม่

เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.ป.กกต.ที่มีผลบังคับใช้เป็นกฏหมาย มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขัดกับหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญทั้ง 3 มาตรา ในเรื่องความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง การบังคับใช้ทั่วไป ความเป็นเหตุผล ความเป็นธรรม ซึ่งตามหลักกฎหมายปกติกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้าย อีกทั้งยังมีปัญหาความโปร่งใสในกระบวนการทางกฎหมาย หลักความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 27 และขัดกับหลักนิติประเพณีในการออกกฎหมายเพราะการลงมติในวาระสาม ขัดกับหลักการที่ลงมติในวาระแรก ซึ่งไม่ปรากฏถ้อยคำตามมาตรา 70 และยังขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มีการบันทึกในขณะร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้กรรมการที่มีคุณสมบัติครบสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปจนครบวาระด้วย โดยได้นำเอกสารกว่า 200 หน้า มอบให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาประกอบการวินิจฉัยด้วย

สมชัย กล่าวว่า การขอให้วินิจฉัยในกรณีนี้ไม่ได้ทำเพราะยึดถือประโยชน์ส่วนตน หรือต้องการยับยั้งกระบวนการสรรหา กกต.ตาม พ.ร.ป.กกต. ที่กำลังดำเนินอยู่ให้ต้องหยุดชะงัก หรือใช้สิทธิคุ้มครองให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการสรรหา โดยต้องการให้การสรรหาดำเนินการต่อไป ส่วนผลจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่ยื่นคำร้องก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตและเพื่อไม่ให้เกิดมาตรฐานในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ เพราะขณะนี้ยังมีร่าง พ.ร.ป.ของผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระบางองค์กรอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระควรเป็นลักษณะเดียวกัน

“ที่ผ่านมามีความแตกต่างสองประเภท คือ มีการเซตซีโร กสม.และ กกต.แต่คุ้มครองให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ และอาจมีความแตกต่างในร่างกฎหมายอื่นอีก ทำให้มีมาตรฐานต่างกันขาดความเป็นเหตุผล ขัดหลักนิติธรรม จึงต้องยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะแม้ว่า สนช.จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจออกกฎหมาย แต่ต้องออกกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม และยึดหลักเสมอภาคด้วย ทั้งนี้หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของ สนช.แล้ว ก็จะมีอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถยื่นคำร้องโดยตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้” สมชัย กล่าว

ขณะที่ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จะนำเรื่องรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันอังคารที่ 10 ตุลาคม เพื่อพิจารณาว่าคำร้องอยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ จากนั้นจึงพิจารณาว่าร่าง พ.ร.ป.กกต.มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่นายสมชัย ยื่นคำร้องหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาวินิจฉัย หากมีความเห็นต่างก็ต้องแจ้งให้นายสมชัยรับทราบ และไม่คิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีแรงกดดันในการพิจารณาเรื่องนี้ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินที่คุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินให้อยู่ครบวาระไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาคำร้องจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์ผู้ตรวจการแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.