Posted: 04 Oct 2017 09:38 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คนแคระทั้งเจ็ด

สัตว์เลี้ยง

ในนั้นเราต้องมองหาเครื่องมือรักษาจิตใจเป็นสำคัญ แน่ละว่าเพื่อนมนุษย์ (ผค.นช. ขช.) ด้วยกัน คุยกันฟังกัน เตะกันเล่นแกล้งกัน หัวเราะ ร่ำไห้ เห็นใจกัน หาเรื่องพนันนู่นนี่นั่น ฯลฯ เป็นแทคติคทั่วไปท่ามกลางเหตุการณ์เวลาที่วนเวียนซ้ำซากอย่างยิ่งของชีวิตประจำวัน ระหว่างการ การตั้งแถวเช็คยอดเช้าบ่าย นอกห้องนอน หรือ นวดเหยียบหลัง ผลัดกันสำรวจผดผื่นหิดตะมอยเม็ดสิวในจุดหลงหูหลงตา, อาบน้ำ,ดูรายการโทรทัศน์ ในเวลาสิบห้าชั่วโมงต่อวันในห้องนอนตอนบ่ายถึงเช้าที่เรียกว่ากลางคืน เพื่อนมนุษย์ด้วยกันช่วยกันรักษาจิตได้ดีเป็นเฟิสต์ไพรออริตี้ แต่ชีวิตมีหลากหลายและทางเลือกก็มีหลากหลาย สัตว์น้อยใหญ่ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลพวกเราเป็นอย่างดีเหมือนกัน ศาสตร์ชีวภาพทางเลือกก็คงจะเรียกว่า pets therapy ขอพูดถึงนกก่อน

นกไม่ใช่สัตว์เลี้ยงแต่การเห็นมันบินออกไปนอกกรอบได้ตามใจอยากทั้งที่เพิ่งมาเกาะยอดเสาธงชาติ ท่ามกลางท้องฟ้าที่เปิดกว้างสวยงามไม่เคยซ้ำในทุกเช้า ให้กำลังจิตใจได้ดีนักหนา นกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ นกกระสา นกปากห่าง บินทำให้เรารู้ว่ามีแหล่งน้ำไม่ใกล้ไม่ไกลเรา ส่วน นกเขา นกกางเขน กาเหว่า ก็ร้องอื้ออึงเป็นสัญญาณเตือนก่อนรายการโทรทัศน์สวดมนต์ยามเช้าก่อนมาปรากฏตัว แต่ก็อย่างที่ว่าเราไม่ได้จัดมันเป็นสัตว์เลี้ยง

สัตว์ที่พอจัดได้ว่าเป็น “สัตว์เลี้ยง” ในเรือนจำ มีอยู่เพียงสามชนิด ได้แก่ ปลา แมว และ แมงมุม

#ปลา

ปลาตู้เพิ่งได้แจ้งเกิดในอันดับสัตว์เลี้ยงในแดนสอง เร็วๆ นี้เอง (มิย.60) ช่างโชคดีที่อยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างที่ผมมีโอกาสได้รับรู้เป็นสักขีพยานหรือประจักษ์พยานหากต้องให้การในศาล อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่ปลาสวยงามที่นักเลี้ยงปลาไปเลือกสรรจากตลาดปลาสวยงาม พวกมันคือปลาแออัดจากบ่อเก่าแก่หน้า “ศาลาธรรม” อาคารที่ตั้งอยู่ระหว่างแดนสอง กับเขตสำนักงานกลาง เฉพาะตัวที่มี ขนาด ประเภท และโชคชะตา เหตุปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับตู้ปลามือสองขนาดสี่สิบห้านิ้วในห้องสมุดในแดนสอง ได้แก่ ปลาแรด ตัวหนึ่ง ไม่รู้จะเรียกมันว่าปลาโชคดีได้หรือไม่ เพราะมันมีเพื่อนปลาแน่ๆ ในบ่อนั่น แต่ในตู้ปลานี้มันอยู่ตัวเดียวขังเดี่ยวอยู่ในอาณาจักรส่วนตัวแคบๆ

ในระยะแรกเจ้าแรดน้อยตัวยาวสิบนิ้วนี้จัดเป็นปลาที่มีปัญหาสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด ครีบของมันขาด เกล็ดหลุด มีตัวริ้นไรพยาธิเกาะอยู่ตามเนื้อตัว ตามสภาพของปลาที่ถูกวิดน้ำจับมาจากบ่อ แต่จะว่าไปแม้จะดูมอมแมมก้าวร้าว แต่ก็ดูกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศผู้คนสถานที่ใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน

แต่การเปลี่ยนแปลงนั่นแหละที่คงเป็นกฎที่แทบไม่เปลี่ยนแปลง สภาพของตู้กระจกที่ทำให้เราจ้องมองมันได้ละเอียดละออในเวลาไม่จำกัด เราพบว่าเจ้าแรดดูมีสุขภาพกายดีขึ้นเรื่อยๆ แผลนู่นนี่เริ่มสมาน มันเริ่มขยับครีบส่ายหางอย่างสง่างาม เปล่งประกายออร่าสีเหลือบรุ้งแถวใบหน้าใต้แววตากลมโตที่ไม่กระพริบ เนื้อตัวก็สวยเป็นตารางลายกริดของแผงเกล็ดที่เป็นระเบียบดูราวกับลายตะแกรงเหล็กฉีก (Steel mesh tear/Checker Plate/Expanded Metal ) ซึ่งเป็นวัสดุที่ผมเคยชอบใช้สมัยเป็นสถาปนิกและ เราจะเห็นตะแกรงนี้ในรูปไผ่ในรถที่ศาลทหารขอนแก่นในเพจของสิงห์สนามหลวง ส่วนพยาธิไรตัวเบียนที่เคยแทรกตามแง่เกล็ดไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

อาจด้วยความรู้สึกว่าตัวที่มาจ้องน่าจะเป็นปลาด้วยกัน ทำให้มันพร้อมจะต่อสู้เพื่อถิ่นฐาน กับทุกๆ ใบหน้ามนุษย์ที่มาจับจ้องใกล้ๆ น้องๆ หลายคนรวมถึงผมด้วย จึงชอบมาจ้องดูใกล้ๆ แล้วส่ายหัวไปมา เป็นปลาอีกตัวที่หลอกล่อให้มันว่ายโชว์กายส่ายตัว อ้าปากสู้ การทำอย่างนี้วันละครั้งสองครั้งทำให้สบายใจขึ้นเหมือนกันครับ ชีวิตหนึ่งได้สบตาสื่อความหมายกับชีวิตใกล้ตัวอีกชีวิตหนึ่งที่กระพริบตาไม่ได้ ไม่ว่าสุขภาพจิตของเจ้าแรดน้อยจะดีขึ้นเหมือนร่างกายหรือไม่ก็ตามแต่มันทำให้สุขภาพจิตของคนหลายคนดีขึ้นแน่นอน


นอกจากอาหารเม็ดมาตรฐานแล้ว เด็กๆ พบว่ามันชอบกินแมลงสาบมากเป็นพิเศษ แมลงสาบเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่ายในเรือนจำ โดยเฉพาะในเวลาฝนตกหนักหรือระดับน้ำใต้ดินขึ้นสูง กองพันแมลงสาบในระบบบำบัดน้ำเสียปฏิกูลซึ่งมีกระจายอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะดาหน้าออกตั้งกองเกียรติยศสวนสนาม และด้วยความอนุเคราะห์ของเด็กๆ บางตัวก็จะได้ลงไปพบปะกับปลาแรด สำหรับตัวผมพบว่ามันชอบกินกล้วยสุกมากกว่าข้าวสุก ผมต้องแอบๆ ให้เพราะเกรงใจน้องประจำห้องสมุดแดนที่มีหน้าที่เปลี่ยนน้ำให้กับมัน

(ทัศนคติเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในที่คุมขังของผู้คุมคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปเลย ทดไว้ว่าเราจะพูดเรื่องนี้อีกทีใน #แมงมุม)

#แมว

คืนแรกใน เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทุกคนจะต้องไปเข้าไปที่แดน 1 แดนแรกรับ วันแรกผมนอนในห้อง 13 มีรับน้องที่วันหลังจะเล่าให้ฟังโดยเฉพาะ ในวันที่สองผมย้ายมาห้องหมายเลขที่ 3 อยู่ชั้นบน ตกกลางดึกมีเสียงแมวตัวผู้ประกาศสงครามซึ่งกันและกัน ก่อนลงไม้ลงมือกัน เสียงขู่ตะคอกแบบแมวแมวและเสียงเหมือนยกพลถล่มกัน ดังเหมือนที่เคยได้ยินสมัยเป็นเด็กๆ ที่แมวกัดกันบนหลังคาเหล็กเคลือบสังกะสี..........นอนเงียบๆ ฟังเสียงเหล่านี้ทำให้คิดถึงความทรงจำของบ้านวัยเยาว์อย่างขื่นขมแปลกปร่า

ในแดนแรกรับ เป็นแดนของผู้ใหญ่ มีผู้ใหญ่ใจดีคลุกข้าวเรียกแมวทั้งฝูงมากินจนอิ่มหมีพีมันกันทุกเช้า พวกมันแต่ละตัวมีลักษณะท่าทางบุคลิกไม่เหมือนกัน แต่พวกมันทุกตัวมีอิสระมากกว่าผู้คนที่นั่น

แมว ในแดน 2 แดนวัยหนุ่ม มีจำนวนน้อยกว่ามาก โดยรวมแล้วพวกมันต้องดำรงชีวิตหาอาหารพึ่งพาตัวเองมากกว่า แต่ที่เหมือนกันคือท่าทีสบายๆ และอิสรภาพ

อย่างไรก็ดีมีแมวบางตัวที่เป็น “สัตว์เลี้ยง” ของเด็กๆ พวกเขาช่วยแม่แมวเลี้ยงดูลูกแมวและผูกพันกับมัน สำหรับเจ้าฟีฟ่า น้องคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า พวกเขาทำความสะอาดเนื้อตัวให้มันเป็นพิเศษ ตอนที่เราได้พบกัน นายฟีฟ่าแมวลายเสือกำลังอยู่ในวัยรุ่นใกล้หย่านม มันเป็นแมวลายเสือหางยาวตัวอ้วนกลมขนนิ่มมีปลอกคอเล็กๆ ที่แยกมันออกจากแมวอิสระอื่นๆ ครั้งหนึ่งผมได้เห็นแม่มันไล่ตบไม่ให้มันมาตอแยขอกินนม โดยทั่วไปมันเป็นแมวของทุกคนที่เดินไปมาอย่างอิสระในเรือนจำบริเวณห้องสมุด และพร้อมให้ใครก็ได้อุ้มไปกอดแบ่งปันความอบอุ่นกันและกันสักพักก็ปล่อยออกมาและใครก็อาจขออุ้มต่อ

บางครั้งเวลาที่ผมโดนพูดคุยมา มีความไม่สบายใจหรือหงุดหงิด น้องๆ ที่ดูออร่าอารมณ์ผมออก ก็จะงดกิจกรรมชวนคุยชั่วครั้งชั่วคราว (สำคัญในคุกเพราะเราคุยกันเราจึงมีอยู่) ถ้ามันอยู่แถวนั้นพวกเขาก็จะอุ้มมาให้ผม วางมันนอนบนตักผมเงียบๆ ผมก็จะลูบพุงมันไปเงียบเงียบ จริงทีเดียวที่การทำอย่างนั้นทำให้เราค่อยๆ สงบลงได้

ฟีฟ่ามีโอกาสสร้างความสงบสบายใจให้น้องๆ หลายๆ คนด้วยกันราวกับว่าการมาจุติเป็นแมวเกิดอยู่ในชาติที่มีภารกิจที่จะสะสมทานบารมีในการคืนสติและความสดชืนให้กับผู้คนของโพธิ์สัตว์

ฟีฟ่าดูคล้ายๆ เจ้าตัวซ้ายมือมากครับ ผมถ่ายรูปจากร้านสเต็กลุงหนวดใกล้บ้านบางเขน เว้นแต่ว่ามีปลอกคอ

นี่นึกขึ้นได้ว่า คงไม่มีโอกาสได้อุ้ม ฟีฟ่า อีกแล้ว แต่มันยังคงอยู่ในนั้นที่นั้นและในแมวลายๆ ทุกตัวสำหรับผม


#แมงมุม

สวนสัตว์แนวสวนเปิด เช่น สวนผีเสื้อ, สวนนก มักเลือกสถานที่ ที่เป็นหรือเหมาะจะเป็นระบบนิเวศ (Habitat) ของสัตว์นั้นๆแล้วคลุมมันด้วยตาข่ายที่พยุงด้วยโครงสร้างเบาบาง ให้มนุษย์ได้เข้าไปสังเกตการณ์กับพวกมันได้ตามสบาย

ส่วนโครงการอะควาเรียม การจำลองระบบนิเวศที่มีน้ำในระบบปิดในแบบที่เราส่องเห็นสัตว์ได้ ย่อมมีข้อจำกัดทางขนาดเนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่มากมหาศาลตามปริมาตรที่เพิ่มขึ้น

การมีสัตว์เลี้ยงย่อมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตอันเปลี่ยวเหงาง่ายของสังคมเมือง แต่ในเรือนจำที่มีข้อจำกัดมากมายทั้งเวลาสถานที่และระเบียบวินัย แต่ไม่น่าเชื่อว่านักโทษยังอาจมีสัตว์เลี้ยงได้ชนิดหนึ่ง นั่นคือ แมงมุม นักโทษทุกคนจะได้สิทธิมีตู้เก็บของส่วนตัวเล็กๆ สำหรับปัจจัยชีวิตทุกๆ อย่าง อาหาร เสื้อผ้า สำหรับอาหาร อนุญาตให้เก็บนมกล่องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ไม่มากนัก หากถูกสุ่ม “จู่โจม” ก็จะถูกยึดส่วนที่เกินระเบียบ จำนวนมากมากจะต้องขอเก็บในห้องเก็บของประจำแดน แต่มันก็ยังใหญ่พอสำหรับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ แมงมุม

ทั้งนี้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น แมงมุมแล้วระบบนิเวศของขวดซุปสกัดใสใสใบเล็กๆ อาจรองรับประโยชน์ใช้สอยและวัตถุประสงค์ของสวนสัตว์เปิดในข้อที่ให้เห็นสภาวะจำลองธรรมชาติเฉพาะตัวของสัตว์เครียดยากให้ดำรงชีวิตให้เห็นอย่างต่อเนื่องได้ดีเหมือนกัน

พวกเขาจะใส่กิ่งไม้เล็กๆ ลงในขวด ให้เป็นที่เกาะที่ชักใย ถ้าเมื่อไรชักใยเป็นตาข่ายก็จะเป็นสัญญาณว่าแมงมุมหิวแล้ว การให้อาหารก็ทำได้ง่ายสะดวก กล่าวคือหลังจากเปิดฝาขวดออกก็ค่อยๆ คว่ำขวดช้าๆ ไปที่อาหารซึ่งก็คือ แมลงวันตัวหนึ่ง แล้วครอบ เมื่อแมลงวันบินขึ้นเข้าไปในขวดก็ปิดฝา เมื่อแมงมุมได้กินแมลงวันแล้วก็จะอิ่มไปหลายวัน อย่างไรเสียผลที่ได้รับทางทัศนธาตุก็น่าประทับใจ คล้ายกับการสบตากับปลาแรด คือ เราจะได้เห็นแง่มุมรายละเอียดของแมลงวันและแมงมุมพร้อมกันไป เช่น รู้เห็นได้ว่าแมลงวันบางตัวมีจุดสีส้มจัดสองแถวที่หน้าท้อง และ แมงมุมมีตาเรียงเป็นแถวหลายดวง มีใยสองแบบแบบอิ่มกับแบบหิว เป็นต้น ในยามกลางวันพวกเขาอาจนำขวดน้อยพกติดตัวได้ หรือตั้งวางให้แสงแดดส่องสัตว์เลี้ยงของเขา แล้วผู้ใหญ่อย่างผมมาพบชวนคุย พอกลางคืน (ที่นี่ 15.30 น.ก็เป็นกลางคืนแล้ว “Good night Ajarn”) ก็จะนำกลับคืนเก็บใส่ล็อคเกอร์ส่วนตัว ภายหลังผมได้มาอ่านพบว่า เรือนจำอื่นๆ พวกเขานิยมเลี้ยงกันมากและอาจนำแมงมุมมาต่อสู้กัน น้องที่นอนใกล้กันในห้องหมายเลข11 ที่สักลายสวยที่หน้าขาเป็นรูปแมงมุมถักใย ได้เล่าให้ฟังประหนึ่งเป็นการยืนยันว่าสักมาตั้งแต่อยู่ในสถานพินิจเด็กและเยาวชน และเคยเลี้ยงแมงมุมมาก่อนเหมือนกัน

ที่นี่เด็กๆ เล่าว่า ผู้คุมที่ นักโทษเรียกว่า “พี่” คนหนึ่งไม่ชอบให้เลี้ยงแมงมุม และอาจลงโทษหากพบว่ามีการเลี้ยง จึงอาจเป็นการทำให้จำนวนเด็กๆ ที่เลี้ยงแมงมุมน้อยกว่าที่อื่น ผมเดาใจว่าคงเป็นเพราะแกอาจมองว่าเป็นการกักขังสัตว์และนำสู่การพนันก็เป็นได้

วันหนึ่งระหว่างที่ผมเล่นลอยหน้าลอยตากับปลาแรดโดยไม่รู้ตัวว่าแกมองผมอยู่ หน้าตาผมคงดูสบายใจจนวัยลด หันไปสบตาแกโดยบังเอิญ ผมเขินแต่ก็สามารถรู้สึกได้ว่าทัศนะคติที่ว่านี้ถ้ายังมี มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว

คราวหน้าถ้าคุณพบเจ้าตัวขายาวที่ทำบ้านคุณรกเลอะไปด้วยหยากไย่ คุณอาจเลือกเก็บมันไว้ในขวดแก้วใบน้อยๆ เลี้ยงมันด้วยวิธีการอย่างที่น้องๆ ข้างในทำกัน แล้วสนุกกับการสังเกตรับรู้ชีวิตตัวน้อย ถ้าคุณลองมองเข้าไปในดวงตาทั้งสี่ถึงแปดดวงนั้นให้นานพอ คุณก็อาจถูกสะกดจิตให้หลงรักเจ้าตัวขนๆ นี่ก็ได้

ทั้งมนุษย์ แมงมุม แมว และ ปลาแรด ต่างเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมครอบครองพื้นที่ (Place base) ต้องมีพื้นที่บริเวณหนึ่งเป็นถิ่นฐานอาศัยในการทำมาหากิน (Territory) นั่นทำให้มันอาจพอใจได้ในการมีความส่วนตัวในพื้นที่แบบปิด สำหรับมนุษย์พฤติกรรมนี้ร่วมด้วยระบบสัญลักษณ์ถ่ายทอดตัวแทน (dyadic symbolism) จะทำให้ทั้งพื้นที่และเวลากลายเป็นบุคคลาทิฏฐาน (Personification) ของตัวตน และแล้วกลับมาสร้างความยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นอุปาทานสำคัญของระบบสังคมตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.