Posted: 30 Sep 2017 10:38 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

ไม่นานมานี้ เหตุการณ์ที่ถือว่าได้รับความสนใจจากชาวโลกอย่างมากล้วนมีความเกี่ยวข้องกับชนไร้รัฐอย่างยิ่งไม่ว่ากรณีชาวโรฮิงญาถูกรัฐบาลพม่ากวาดล้างจนได้รับการขนานนามว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic cleansing) หรือชาวเคิร์ดจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากอิรักในวันที่ 25 กันยายน[1] เช่นเดียวกับความพยายามลงประชามติของชาวกาตาลุญญาเพื่อแยกตัวจากสเปนในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับ ชนไร้รัฐ หรือ Stateless Nation หมายถึงชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่มีรัฐเป็นของตัวเองโดยไม่ว่ารัฐที่ตัวเองอาศัยอยู่จะจัดให้เป็นพลเมืองหรือไม่ก็ตาม กล่าวอีกนัยคือถึงแม้พวกเขาจะมีแผ่นดินอาศัยอยู่ แต่ไม่สามารถอยู่ ณ ที่แห่งนั้นอย่างมีความสุขหรือเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีได้ ด้วยรัฐชาติยุคใหม่ไม่สามารถ (หรือต้องการ) ดูดกลืนพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวกับชนเผ่าอื่นๆ ได้อันเป็นผลมาจากอคติหรือความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา อันนำไปสู่การปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่ยุติธรรมหรือกดขี่ข่มเหง สิ่งเหล่านี้ยังกระตุ้นความปรารถนาในการปกครองตัวเอง (Self-determinism) ของชนไร้รัฐที่ไม่ต้องการรวมเป็นหนึ่งของคนกลุ่มใหญ่ของรัฐ อันนำไปสู่ปฏิกิริยาด้านใดทางหนึ่ง ดังเช่นการเกิดกองโจรชาวโรฮิงญา และการดิ้นรนเพื่อการเป็นเอกราชอย่างชาวเคิร์ดและชาวกาตาลุญญา

มีข้อถกเถียงกันมานานในวงการรัฐศาสตร์ที่ว่ายุคโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้ความเป็นรัฐชาติ (Nation-State) จบสิ้นลงหรือไม่ หรืออย่างน้อยได้ทำให้พรมแดนของรัฐชาติเกิดความพร่ามัวอย่างไร ในปัจจุบันเราเห็นได้ว่ารัฐชาติยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง ผ่านการตอกย้ำความเป็นรัฐแก่ประชาชนผ่านการศึกษา และพิธีกรรมต่างๆ อยู่ตลอดทั้งปีเพื่อสร้างความภักดี แม้ตัวรัฐจะสมาทานลัทธิทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ หรือยอมรับวัฒนธรรมตะวันรวมไปถึงมาตรฐานด้านต่างๆ ของตะวันตกเช่นสิทธิมนุษยชนมาใช้ก็ตาม แต่รัฐยุคใหม่ก็ยังคงเผชิญกับศัตรูตัวเก่านั่นก็คือลัทธิแบ่งแยกดินแดน (Secession) จากชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่าชนไร้รัฐนั้นเอง ไม่มีรัฐใดในโลกที่จะยินดีให้มีการแบ่งกายาดังเช่นพื้นที่ ประชาชน และอำนาจอธิปไตยออกไปจากตัวเอง[2] เพราะรัฐบาลก็ต้องสูญเสียคะแนนเสียงหรือคะแนนความนิยมไปอย่างมหาศาลจากการเสียดินแดน และที่สำคัญอาจนำไปสู่การล่มสลายของตัวรัฐในอนาคตอันเกิดจากการเลียนแบบของชนเผ่าอื่นๆ

อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังคิดว่านอกจากชนไร้รัฐจะเป็นการท้าทายรัฐชาติและลัทธิชาตินิยมแล้วยังสร้างปัญหาให้กับลัทธิประชาธิปไตยโดยเฉพาะประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) อีกด้วย องค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยเสรีนิยมประการหนึ่งคือการยอมรับของรัฐและสังคมต่อความหลากหลายดังเช่นเรื่องเชื้อชาติ เพศและศาสนา ฯลฯ อันหมายถึงการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีนี้พม่าสอบตกทันทีแม้ว่าจะเปิดประเทศและปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมาหลายปีแล้วก็ตาม ชาวพม่าซึ่งนับถือศาสนาพุทธถึงร้อยละ 90 ไม่สามารถยอมรับชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นมุสลิมในฐานะชาวพม่าได้ แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในพม่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ก็ตาม และความเกลียดชังยังเกิดจากการโหมกระพือเลือดรักชาติของชาวพุทธหัวรุนแรงซึ่งบางส่วนเป็นพระสงฆ์ กระนั้นก็สามารถมีข้อแก้ต่างให้กับนางออง ซาน ซูจีประมุขตัวจริงของพม่าจากการเพิกเฉยต่อความรุนแรงในรัฐยะไข่ว่าเพื่อเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันเปราะบางหรืออยู่ในช่วงตั้งไข่ แทนที่จะมาขัดแย้งกับกองทัพพม่าซึ่งเปี่ยมด้วยอำนาจในประเด็น “ชาวต่างชาติ” อย่างโรฮิงญา อันอาจส่งผลให้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งสั่นคลอนก็ได้ ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งภายในนิยามของลัทธิประชาธิปไตยเอง นั่นคือระหว่างประชาธิปไตยเสรีนิยมกับประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้ง (ผสมกับลัทธิชาตินิยม)

สำหรับกรณีของสเปนและอิรักถือได้ว่ามีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไป เพราะเป็นกรณีของลัทธิประชาธิปไตยอันอิงอยู่กับท้องถิ่นเป็นหลัก แม้ว่าจะการปกครองของทั้ง 2 ประเทศจะเป็นไปตามแบบสหพันธรัฐ[3] คือการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล จนถึงขั้นท้องถิ่นมีอำนาจบางอย่างที่รัฐบาลกลางไม่สามารถลิดรอนได้ แต่สเปนก็ไม่สามารถยอมรับเสรีภาพของท้องถิ่นถึงขั้นที่จะมีการแยกประเทศ แม้ว่าจะเป็นเจตจำนงของประชาชนจำนวนมากในแคว้นกาตาลุญญาก็ตาม ดังนั้นจึงมีข่าวที่ว่าสเปนได้ทำการสกัดกั้นทุกวิถีทางไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดการลงประชามติให้ได้จนดูรัฐบาลที่กรุงมาดริดเป็นเผด็จการที่สกัดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน (แม้การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลจะเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของสเปนมาตรา 2 ที่ว่าสเปนเป็นแผ่นดินของชาวสเปนทั้งปวง อันไม่สามารถแบ่งแยกได้แต่ก็มีชาวกาตาลุญญาจำนวนมากไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นชาวสเปน รัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่มีความหมายสำหรับพวกตน) ถือได้ว่าเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับสเปนในฐานะประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปว่าพวกเขาจะใช้วิธีการใดให้สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยเช่นสิทธิมนุษยชนในการยับยั้งไม่ให้ชาวกาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระ และยังมีคำถามอีกว่าหากการสกัดกั้นโดยวิธีปกติไม่สำเร็จ รัฐบาลกลางจะใช้กองทัพและความรุนแรงกับแคว้นกาตาลุญญาหรือไม่

เช่นเดียวกับอิรักซึ่งก็อยู่ในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังตั้งไข่ในยุคหลังซัดดัม ฮุสเซน มีแนวโน้มที่จะใช้กำลังทางทหารเข้าจัดการกับชาวเคิร์ด หากรุดหน้าแยกประเทศในอนาคต อันจะนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกเป็นจำนวนมาก และทำให้ลำดับประชาธิปไตยของอิรักลดลง เช่นเดียวกับการประณามจากต่างชาติ แต่ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ปกครองประเทศที่จะเมินเฉยปล่อยให้การแยกประเทศสำเร็จในที่สุด

ชนไร้รัฐไม่ได้มีเพียงดังที่กล่าวมา หากยังรวมถึงประชาชนแห่งแคว้นบาสก์ของสเปนอีกเช่นกันที่ก่อให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนมานาน หรือ กรณีชาวทิเบตซึ่งแสดงความปรารถนาเป็นอิสระจากการปกครองของจีนมาหลายสิบปี เช่นเดียวกับชาวสกอตแลนด์ซึ่งประสบความล้มเหลวในการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรผ่านการลงประชามติ[4] หรือแม้แต่ชาวไทใหญ่ที่ต้องต่อสู้กับกองทัพพม่ามาอย่างยาวนาน ฯลฯ อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอเสนอว่านิยามของชนไร้รัฐน่าจะครอบคลุมไปถึงชาวซีเรียด้วย แต่ในนาม “ชนเหมือนไร้รัฐ”หรือ Almost Stateless Nation เพราะถึงแม้ประเทศซีเรียจะยังดำรงอยู่แต่ก็เป็นรัฐล้มเหลว เพราะสงครามกลางเมืองดำเนินอย่างยาวนานจนไม่มีใครอยากจะอยู่อาศัยภายนอกพื้นที่ซึ่งรัฐบาลรักษาอย่างหนาแน่น (ซึ่งก็เป็นเสี้ยวๆ หนึ่ง) ชาวซีเรียค่อนประเทศซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะบริเวณประเทศเพื่อนบ้านและยุโรปต่างใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและไร้ศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับชาวโรฮิงญา ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้ดิ้นรนขอแยกดินแดนเหมือนชาวเคิร์ดหรือชาวกาตาลุญญา แต่ก็ได้ส่งผลต่อการเมืองภายในประเทศที่พำนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างได้แก่ การเลือกตั้งในเยอรมันเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา พรรคคริสเตียนเดโมเครติกยูเนียนของนางอังเกลา แมร์เคิลซึ่งมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพเข้าประเทศต้องสูญเสียเก้าอี้ไปเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับการผงาดของพรรคการเมืองขวาตกขอบที่ต่อต้านผู้อพยพและผู้นับถืออิสลาม เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปที่หันมาปฏิเสธผู้อพยพอย่างเช่นกรีซ อิตาลี และฮังการี ฯลฯ โดยพรรคการเมืองขวาจัดในประเทศเหล่านั้นก็ได้อาศัยกระแสความไม่พอใจของคนในประเทศต่อผู้อพยพเพื่อกอบโกยคะแนนเสียง

จากข้างบนแสดงว่าชนไร้รัฐได้นำไปสู่ปัญหาของประชาธิปไตยเสรีนิยมอันซับซ้อนและแก้ไขได้ยากยิ่ง



เชิงอรรถ

[1] ชาวเคิร์ดมีจำนวนประมาณ 25 ถึง 35 ล้านคนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อันเต็มไปด้วยภูเขาซึ่งค่อมระหว่างชายแดนของประเทศตุรกี อิรัก ซีเรีย อิหร่านและอาร์เมเนีย ชาวเคิร์ดถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในตะวันออกกลาง แต่พวกเขาไม่เคยได้รับสถานะการเป็นรัฐชาติ สำหรับประชามติในครั้งนี้แม้ทางเคิร์ดฝั่งอิรัก (จำนวนประชากรประมาณ 5 ล้านกว่าคน) จะอ้างว่าไม่ถึงขั้นแบ่งแยกดินแดนในทันที แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากรัฐบาลที่กรุงแบกแดด

[2] สำหรับกรณีสกอตแลนด์ อังกฤษเองแม้จะยินยอมให้มีการจัดประชามติเพื่อแยกประเทศในปี 2014 แต่รัฐบาลทางกรุงลอนดอนก็ลุ้นอย่างหนักหน่วงเพื่อไม่ให้ผลการประกาศเอกราชสำเร็จ เพราะส่งผลให้สถานะการเป็นมหาอำนาจของอังกฤษลดลงทันที

[3] สเปนเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary state) เพียงแค่ในนามเพราะได้กระจายอำนาจให้กับแคว้นต่างๆ อย่างเต็มที่ ตามรัฐธรรมนูญของสเปนได้กำหนดให้มีเขตปกครองตัวเอง (Autonomous Communities) ถึง 17 แห่งซึ่งรัฐบาลกระจายอำนาจให้ในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับกาตาลุญญาถือได้ว่ารับอำนาจจากรัฐบาลกลางสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของเขตปกครองตัวเอง

[4] รัฐบาลสก็อตแลนด์ได้ให้การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของชาวกาตาลุญญาอย่างมาก อันสะท้อนให้เห็นว่ากระแสชาตินิยมของสกอตแลนด์ ภายหลังการลงประชามติเมื่อปี 2014 ยังคงมีสูงอยู่ จึงเป็นไปได้อย่างมากว่าหากแคว้น กาตาลุญญาได้รับเอกราช ก็อาจทำให้สกอตแลนด์พยายามจัดประชามติเพื่อประกาศเอกราชอีกครั้ง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.