ซ้ายไปขวา: อนุสรณ์ อุณโณ ศุภวิทย์ ถาวรบุตร รังสิมันต์ โรม ณัฏฐา มหัทธนา
ชำแหละอำนาจนิยมในสถานศึกษา เสรีภาพวิชาการจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาสังคม ปชต. ไทยล้มเพราะเริ่มเวิร์ค ประยุทธ์อยู่ยาวเพราะคนไม่เห็นทางเลือก กลัวปืน การศึกษาต้องไม่สร้างสลิ่ม คนกำหนดนโยบาย ศก. สะท้อนขั้วอำนาจ อนาคตการเมืองควรไม่อิงเพื่อไทย อกหักนิรโทษกรรม 2554 เสนอจัดตั้งพรรคทางเลือก
30 ก.ย. 2560 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเวทีสาธารณะ “ประเทศไทยหันขวา : ประจันหน้าอำนาจนิยม” ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้นสามอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ศุภวิทย์ ถาวรบุตร อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา
อำนาจนิยมในสถานศึกษาผ่านหลักสูตร กิจกรรม พิธีกรรม ความจำเป็นของเสรีภาพทางวิชาการในฐานะน้ำพุทางปัญญาให้สังคม
อนุสรณ์กล่าวว่า ในทางสังคมศาสตร์มีการศึกษาวิจัยสถานะระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบอำนาจการปกครอง สามารถดูได้จากกลุ่มนักคิดเด่นๆ คือกลุ่มมาร์กซิสต์ ที่ได้ชี้ชวนให้เห็นถึงสถานะของสถาบันการศึกษาที่สำคัญของรัฐอย่างน้อยสองท่านด้วยกัน หนึ่ง หลุยส์ อัลทูแซร์ กลไกปกครองของรัฐมีสองประการ หนึ่ง กลไกรัฐเชิงอุดมการณ์ ประกอบด้วยโรงเรียน วัด สถาบันครอบครัวทั้งหลาย แง่นี้ ยิ่งมีรัฐผูกขาดเท่าไหร่อุดมการณ์ก็จะสะท้อนในสถานศึกษามากเท่านั้น สองกลไกรัฐในเชิงครอบงำประกอบด้วยศาล ทหาร ตำรวจ กระบวนการยุติธรรมทำงานควบคู่กันไป รัฐที่ประสบความสำเร็จต้องใช้กลไกสองอย่างด้วยกัน สถานศึกษาจึงเป็นเครื่องมือของรัฐโดยปริยาย ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
อีกท่านหนึ่งคืออันโตนิโอ กรัมชี่ มาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนกล่าวว่า ส่วนของรัฐประกอบด้วยสองส่วน หนึ่งสังคมการเมือง สอง สังคมประชา กรัมชี่ชี้ว่าชนชั้นปกครองสามรถครอบงำผู้คน ชนะเขาและสร้างความยินยอมพร้อมใจให้นำได้ด้วยการสร้างสภาวะนำทางการเมืองด้วยการชี้ชวนชนชั้นอื่นว่าชนชั้นปกครองสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นได้ดีที่สุด ทุกคนจึงต้องปกป้องชนชั้นปกครองด้วย เช่นการใช้สื่อมวลชน โรงเรียน วัด ในภาษากรัมชี่สถานศึกษาจึงเป็นพื้นที่ที่ชนชั้นปกครองใช้กล่อมเกลาว่าภายใต้การนำของพวกขาจะปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นได้ดีที่สุด การปกป้องผลประโยชน์ของชนขั้นปกครองจึงเสมือนว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นด้วย
มิเชล ฟูโกต์ เสนอว่าในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18-19 มีการพัฒนาเทคโนโลยีอำนาจที่ชื่อว่า ระเบียบวินัย แปลว่าเทคนิคในการปรับเปลี่ยนเรือนร่างให้ว่านอนสอนง่าย เทคโนโลยีอำนาจพวกนี้ทำงานอย่างหนาแน่นในวัดวาอาราม คุก โรงพยาบาลบ้า ค่ายทหาร โรงเรียนกินนอน ที่เป็นสถานที่ที่ใช้ระเบียบวินัยกำกับสมาชิกภายใน ถ้ามองเช่นนี้ โรงเรียนก็เป็นพื้นที่ที่อำนาจของมันทำงานไม่ต่างไปจากที่อื่น สถานศึกษาที่เราคิดว่าเป็นที่ที่ปลอดการครอบงำ แต่พอมันอยู่ใต้รัฐมันไม่ได้เป็นอย่างอื่น พอขยับประเด็นนี้ไปที่อุดมศึกษามันกลายเป็นเรื่องท้าทาย เพราะในตะวันตกจุดเริ่มต้นอุดมศึกษาคือจุดเริ่มต้นการเอาตัวเองออกจากศาสนจักร วิชาที่เปิดสอนก็คือพวกเทววิทยา ในบางมหาวิทยาลัยก็ยังมีอยู่ในทุกวันนี้ แต่ก็เป็นเทววิทยาที่พยายามปรับตัวกับการเรียนการสอนสมัยใหม่ และยังมีคนไปเรียน แต่ไปเรียนในฐานะที่เป็นศาสตร์สมัยใหม่ ประเด็นก็คือ อุดมศึกษาที่ขยายตัวขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่กว้างกว่ากรอบศาสนา จึงเป็นพื้นที่หลุดรอดไปจากการครอบงำของรัฐในระดับหนึ่ง แม้โรงเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษายังอยู่ใต้การครอบงำของรัฐ แต่ในอุดมศึกษาก็เป็นพื้นที่ของการตั้งคำถาม วิพากษ์ วิจารณ์ แล้วเราย้อนกลับมาดูในสังคมไทย จะเห็นผ่านโรงเรียนไทยตั้งแต่อนุบาลยันมัธยมก็ดูจากหลักสูตร วิชาจำพวกหน้าที่พลเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ ไม่ได้ทำให้เด็กในระบบมีความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ต่างออกไป กลับเป็นการท่องจำ ปลูกฝัง เพื่อตอบโจทย์ของชนชั้นปกครองเสียมากกว่า เรามีประวัติศาตร์การเสียดินแดน แต่ถ้าพูดแบบเคร่งครัด ดินแดนนั้นก็ไม่เคยเป็นของเรามาก่อน หรือประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นบุญคุณ หรือแม้แต่ยอมเสียสิทธิ เสรีภาพที่พึงมีได้ในฐานะพลเมือง
นอกจากตำรับตำราแล้ว กิจกรรมในโรงเรียนไล่ตั้งแต่ยืนเคารพธงชาติ เสร็จแล้วก็มีกล่าวคำปฏิญาณหน้าเสาธง ครูฝ่ายปกครองมาให้โอวาทอบรม ก็เป็นพื้นที่นอกเหนือหลักสูตรการสอน กิจกรรมในโรงเรียนทั้งหลายก็มีลักษณะเช่นนั้น เราจะเห็นว่ามีรัฐพิธีทั้งหลาย กลุ่มของคนที่จะถูกเกณฑ์ไปก็คือนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนเป็นกลไกรัฐ ก็ต้องถูกเอาไปใช้เพื่อการนี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ พอมาดูอุดมศึกษา ถ้าเราไปดูการเติบโตของการเติบโตของอุดมศึกษาตะวันตกที่มีเพื่อท้าทายการครอบงำของอำนาจ แต่ในไทยดูเหมือนจะลักลั่น การเริ่มต้นของสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อสอดรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่เริ่มต้นจากการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับระบบราชการในความหมายตรงตัว คือเริ่มในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้ตั้งเพื่อปลดแอกผู้คนแต่แรก แต่เป็นการสร้างชนชั้นปกครอง พอเราวางรากแบบนี้ ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีลูกหลานชาวบ้านไปเรียน มีแต่ชนชั้นนำส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ระดับอุดมศึกษาได้ เพราะสมัยนั้นคนก็ยังทำไร่ทำนา อาจจะได้เรียนที่วัด แต่ก็อย่างที่ว่าวัดก็เป็นสถาบันกระจายอุดมการณ์ของรัฐด้วย
จุดเปลี่ยนคือหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 หนึ่งใน 6 หลักการของกฎคณะราษฎรคือการให้การศึกษากับราษฎร มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความคิดของคณะราษฎรนอกจากจะให้ผู้คนมีความรู้มากขึ้น แต่เนื่องจากคุณเปี่ยนสถานภาพคนในประเทศจากราษฎรเป็นพลเมือง มันตามมาด้วยหน้าที่การตัดสินใจอย่างอิสระด้วยความรู้ อุดมศึกษาจึงเป็นที่ๆ เอื้อให้เกิดสภาพเช่นนั้นได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มต้นครั้งแรกในฐานะมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก แล้วต่อมาจึงเป็นมหาวิทยาลัยปิด
พอมีคนเข้ามาเรียนรู้เรื่อยๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดเสรีนิยม ถึงแม้ตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองหลังรัฐประหารปี 2490 ถูกยึดครองโดยทหารเป็นอธิการอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็บ่มเพาะให้เด็กในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลุกฮือขึ้นมา ทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. ซึ่งมีใจกลางสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาจึงทำให้สถานะของมหาลัยไทยเปลี่ยนไป เส้นทางการเติบโตทำให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเป็นพื้นที่การตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่ท่ามกลางสิ่งที่เหมือนจะเป็นอิสระเสรี เรายังพบการคงอยู่ของกลไกในบางประการ เราพบการคงอยู่ของคติความเชื่อบางอย่างที่ไม่ได้ไปทางเดียวกับสิ่งที่อุดมศึกษาแท้จริงควรจะเป็น เรามีระบบรับน้อง ธรรมศาสตร์อาจจะมีรับเพื่อนใหม่ แต่ก็มีกลิ่นอายของการรับน้องไม่หนีกันเท่าไหร่ ไปจนถึงพิธีไหว้ครูที่สะท้อนการจัดลำดับสถานะของคน ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ต้องสร้างเงื่อนไขให้พวกเขารู้สึกอยากรู้อยากเห็น อยากตั้งคำถาม แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าผิดหรือถูก ไม่ใช่ให้เด็กมามอบพวงมาลัยหรือกราบไหว้
หลังรัฐประหาร สถานะของสถานศึกษาในแง่โรงเรียนก็หนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าทำกันมาก่อนอยู่แล้ว เราได้ยินข่าวคราวของอำนาจนิยมหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้เป็นเพราะเด็กสามารถแพร่ภาพได้มากขึ้นหรือเปล่า แต่เดาว่า ด้วยสภาพอำนาจนิยมในประเทศที่มากขึ้น เรามีคนที่พูดทุกวันศุกร์ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เถียงไม่ได้ พูดอยู่ฝ่ายเดียว ลักษณะนี้ไปตอกย้ำครูหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สักแต่พูด ไม่ต้องการการตอบโต้อะไรและทำให้หมู่คนที่มีหน้าที่ควบคุมคนอื่น หรือมีหน้าที่พูดให้คนอื่นฟังมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้นในห ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล
ในมหาวิทยาลัยมีสองเรื่อง หนึ่ง หลังรัฐประหารปี 2557 สิ่งที่พบคือการเคลื่อนไหวของมวลชนกึ่งจัดตั้ง ทั้งเสื้อเหลือง แดง กปปส. ต่างหายไป ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ หรืออำนาจปืน บรรดาแกนนำเองจำนวนหนึ่งก็ต้องลี้ภัย หลายรายอยู่ในคุก อย่างไรก็ดี สิ่งที่พบก็คือ ท่ามกลางพื้นที่การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่หดแคบลง ทำให้สถาบันการศึกษาเป็นพื้นที่ที่เหลือที่สามารถแลกเปลี่ยน ถกเถียง อภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงเองก็ผ่อนปรนเท่าที่มันยังอยู่ในสถานศึกษา ไม่แตะประเด็นที่หมิ่นเหม่หรือล่อแหลมมากก็ปล่อยไป เดิมที่มีคำถามที่ว่านักศึกษาหายไปไหน สถิติที่พบคือ หลังรัฐประหารใหม่ๆ ก็มีกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา เช่นกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มสภาหน้าโดม นักศึกษาที่มีชื่อขึ้นมาแถวหน้าๆ ก็จะเห็นได้ว่าความสืบทอดของพลังการต่อต้าน ครอบงำอำนาจเบ็ดเสร็จก็ยังพอเห็น แม้ในกลุ่มนักวิชาการ เติมทีก็มีการรวมกลุ่มนักวิชาการที่ห่วงใยสิทธิผู้ถูกคุมขัง ถึงเราจะยังได้โอกาสได้ใช้พื้นที่ที่เหลือน้ยอมากในการยืนยัยนสิทธิ เสรีภาพการแสดงความเห็นอย่างสุจริต แต่หลังรัฐประหารก็มีความพยายามของนน่วยงานรัฐเข้ามาควบคุมสถานศึกษา เราเห็นผ่านทางผู้บริหาร สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำคือเรียกคนที่มีบทบาททางการเมืองไปปรับทัศนคติ รวมถึงนักวิชาการหลายท่าน มีการเพิ่มวิชาบทบาททหารในการพัฒนาประเทศ ขอความร่วมมือให้เพิ่มรายวิชาดังกล่าวเข้าไปในมหาวิทยาลัยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ คสช. ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นที่มีฝ่ายความมั่นคงหรือสันติบาลไปนั่งบันทึกในห้องเรียน แต่ก็มีการเข้าไปในห้องเสวนาวิชาการ ไปจนถึงการประชุมทางวิชาการ เช่นเมื่อครั้งการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องไทยศึกษาครั้งล่าสุดที่จัดที่ จ. เชียงใหม่ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาในงานโดยไม่จ่ายเงินค่าเข้า เข้ามาบันทึกเนื้อหา ไปแย่งหูฟังแปลภาษา จนวันรุ่งขึ้นก็มีการเขียนป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ท่ามกลางการที่เรายังมีพื้นที่การศึกษาที่ทำให้เหลือพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น แต่ก็มีการรุกคืบ ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพทางวิชาการ สถานการณ์ตอนนี้ก็เหมือนยื้อยุดฉุดกระชากกันอยู่ แต่เสรีภาพนักวิชาการนั้นสำคัญเพื่อให้เราสามารถเผชิญปัญหาได้อย่างรอบด้านและรัดกุมเพื่อหาทางออกให้กับสังคมบนความสามารถในการเข้าถึงและวิพากษ์วิจารณ์ทุกข้อเท็จจริงได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อเจอปัญหา สังคมก็จะมืดมน
ปชต. ไทยล้มเพราะเริ่มเวิร์ค แจงเหตุประยุทธ์ยังอยู่ยาวเพราะคนไม่เห็นทางเลือก กลัวปืน การศึกษาต้องไม่สร้างสลิ่ม
อนุสรณ์กล่าวว่า ในยุโรปก็มีกระแสขวาหันเพราะเกิดความผิดหวังในระบอบประชาธิปไตยที่สัญญาว่าจะพาประชาชนจากความยากจนความเหลื่อมล้ำ แต่เวลาผ่านไปคำมั่นสัญญากลับไม่เป็นจริง ชชก ก็หันมาสนับสนุนกระแสขวา สอง มันเกิดกระแสความหวาดกลัวต่อคลื่นผู้อพยพ ในช่วง 3-4 ที่ผ่านมามีผู้อพยพจากแอฟริกาและตะวันออกกลางจำนวน ทำให้เกิดความหวาดกลัว จากเดิมมีจิตใจเปิดกว้างก็เริ่มมีลักษณะปิดกั้นมากขึ้น แนวคิดขวาจัด ชาตินิยมก็เข้ามาสอดรับความกลัวนี้พอดี อย่างที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะในสหรัฐฯ ก็มีนโยบายสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโก ในประเทศไทย การที่เราขวาหันเราอยู่ในเงื่่อนไขเดียวกับตะวันตกหรือไม่ ก็อาจจะตอบได้ว่าทั้งใช่และไม่ใช่ ในตะวันตกเขาได้ลิ้มรสความรุ่งโรจน์ของประชาธิปไตยก่อนจึงผิดหวัง แต่ของเราตรงกันข้าม ของเราที่ขวาหันมาจากการที่เราเริ่มลิ้มรสประชาธิปไตย การดูแลปากท้องผู้คนผ่านระบอบเลือกตั้ง มันไม่ใช่ความผิดหวังจากประชาธิปไตยไม่ทำงาน แต่เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเริ่มทำงานแล้วไปกระเทือนความสัมพันธ์เชิงอำนาจชุดใหญ่ ทำให้เกิดการตีกลับมา ช่วง 30-40 ประชาธิปไตยขยายตัว กลุ่มคนระดับล่างตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นกลไกจัดความสัมพันธ์ของเขากับชนชั้นปกครองที่เปลี่ยนเขาเป็นพลเมืองผู้ทรงสิทธิ์แทนที่จะเป็นคนอนาถาที่รอรับการสงเคราะห์ เมื่อฝ่ายขวาได้รับแรงกระเพื่อมดังกล่าว ขวาจึงขึ้นมาด้วยเหตุนี้ แต่ของเราอาศัยความโกลาหลที่มาจากประชาธิปไตย กลัวการเผาบ้านเผาเมือง กลัวการประท้วง จึงสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมเรื่องเหล่านี้ เผด็จการผู้ทรงคุณธรรม ชนชั้นปกครองเองแต่เดิมก็รู้สึกว่าประชาธิปไตยเป็นปัญหา เป็นภัยคุกคาม ต้องหาเผด็จการผู้ทรงคุณธรรม ที่มีคติทางพุทธศาสนารองรับแนวคิดนี้ เช่นมหาบุรุษ คนมีคุณธรรมคนเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลเสมอหน้าก็ได้ขอแค่เป็นคนดี กระแสฝ่ายขวาจึงขึ้นมาได้ในสังคมไทย
3 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราบอกว่าเขาเสนอตัวมาแทนระบอบประชาธิปไตยที่วุ่นวาย โกลาหล เคลื่อนไหวกันไม่สิ้นสุด ปราศจากคุณธรรมและเขาอ้างความเป็นคุณธรรม ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารปัจจุบันแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ ก็ยังพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันทั้งงบประมาณและการโยกย้ายตำแหน่ง แม้เขาจะใช้เหตุผลของความวุ่นวายว่าเป็นผลพวงที่มาจากประชาธิปไตยมากเกินไป แต่ตัวเขาเองก็ไม่สามารถอวดอ้างการเป็นคนที่มีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนที่เขาไล่ไป สอง การที่เขาเข้ามาด้วยเหตุผลว่าจะขจัดความขัดแย้ง แง่หนึ่งเหมือนว่าการเคลื่อนไหวบนท้องถนนจะหายไป ทุกคนใช้ชีวิตปรกติสุข แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความขัดแย้งไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกกดปราบไม่ให้สามารถแสดงความเห็นอะไรได้ ด้วยเครื่องมือที่มีตอนนี้เผด็จการผุ้ทรงคุณธรรมก็ไม่ได้สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้แต่ประการใด
ทำไมประยุทธ์ถึงยังอยู่ได้ ผมว่ามันมีสามข้อด้วยกันที่เป็นเหตุผล หนึ่ง ความกลัว บรรยากาศการสร้างความหวาดกลัวผ่านกฎหมายและปืนไม่ให้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือท้าทายเขา ซึ่งครอบคลุมไปถึงคนที่เห็นต่างของเขา รวมถึงคนที่เคยหลงเชื่อคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้และพบว่าปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นไม่สามารถปริปากขึ้นมาได้ สอง มนต์สะกดเรื่องความกลัวการโกลาหล เพราะไม่รู้ว่าถ้าย้อนกลับไปเป็นเหมือนในอดีตจะไม่มีหลักประกันว่าจะกลับไปมีมวลชนกึ่งจัดตั้งมาชุมนุมอีกหรือไม่ หลายคนยังไม่สามารถสลัดภาพนี้ได้ สาม คนที่ยังไม่หลุดจากภวังค์ มีค่อนข้างเยอะ ไม่ยอมตื่นเสียที หลายคนยังยินดีที่จะให้โอกาสรัฐบาลชุดนี้ หลายคนยังเชื่อในลุงคนนี้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้กับประเทศได้เมื่อเทียบกับนักการเมืองเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เราเรียกว่าซอมบี้บ้าง สลิ่มบ้าง
แล้วเราจะหลุดจากสภาวการณ์เช่นนี้อย่างไร ข้อแรกเป็นปัญหาระยะยาวที่อาจจะเกินกว่าอะไรที่เราทำได้ ในข้อที่สองก็ใกล้เข้ามาหน่อย จะต้องมีโรดแมปทางเลือก อาจจะต้องกลับไปหานักการเมือง เพราะประเทศนี้ต้องถูกปกครองโดยตัวแทนของประชาชน ให้นำประเทศสู่สภาวะปรกติโดยเร็วที่สุด ส่วนข้อที่สาม ก็คงหนี้ไม่พ้นคนที่ทำงานด้านข้อเท็จจริงและความรู้ให้สังคม สถาบันการศึกษา นักศึกษา นักวิชาการ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ผมว่าเรายังพอมีความหวัง อย่างน้อยที่สุดสถาบันการศึกษาได้เป็นพื้นที่สู้รบ นักศึกษาเกิดขึ้นมาจากความโกลาหลทางการเมือง ไม่เหมือนนักศึกษายุคก่อนหน้าที่รู้สึกว่าประเทศนี้สงบ เป็นปรกติ แต่ในทศวรรษที่ผ่านมาเขาเติบโตมาผ่านความขัดแย้งแม้ว่าเขาจะพยายามไม่สนใจอย่างไรก็ตามแต่ แต่เขารู้แน่ว่าประเทศเขาไม่ปรกติ ภาระใหญ่ของนักวิชาการและสถานศึกษาคือจะทำอย่างไรไม่ให้เขากลายเป็นสลิ่มหรือซอมบี้ในทศวรรษหน้าได้ สิ่งที่เคยถูกวางรากฐานเอาไว้ถูกท้าทายและสั่นคลอน พื้นที่ทางวิชาการจึงเป็นสมรภูมิสำคัญที่สุดแล้วในช่วงใกล้ๆ นี้
มองคนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสะท้อนขั้วอำนาจ ประชาธิปไตยไม่ใช่กติกาเดียวของเทคโนแครต
ศุภวิทย์กล่าวว่า ตัวบ่งชี้อันหนึ่งคือถ้าอำนาจอยู่ที่ใครแปลว่าคนนั้นเป็นคนกำหนดวาระ เป็นสิ่งซึ่งบอกว่าอำนาจอยู่ที่ใครมองอำนาจนิยมจากเส้นทางการพัฒนา ในเชิงหมุดหมายทางประวัติศาสตร์คือปี 2504 เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 จะเห็นว่ามีบริบททางประวัติศาสตร์อยู่ว่าจริงๆ แล้วการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมีผลกระทบกับคนในวงกว้างในแง่ผลการดำเนินการและประสบการณ์ที่สังคมพบเจอ ถ้าย้อนดูจากประวัติศาสตร์เมื่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมาก็พบว่าสิ่งที่เกิดกับสังคมไทยมาโดยตลอด คือช่วงที่กำหนดวาระการพัฒนาอยู่ในอำนาจของระบบราชการ อยู๋ในขอบข่ายอำนาจของระบราชการ งานศึกศาของนัก ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจช่วงที่เริ่มสมัยแผนพัฒนาฯ คนที่เข้าไปร่วมทำงานตรงนั้นคือพวกเทคโนแครต เช่น กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ เราก็พบว่าความเคยชินอันหนึ่งของเทคโนแครตมันถูกออกแบบมาด้วยอุดมการณ์สร้างคนสู่ระบบราชการ เทคโนแครตไทยถูกทำงานร่วมกับเผด็จการทหารมาเยอะ เราจะเห็นร่องรอยบางอบ่าง งานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมากทำให้เห็นว่าเทคโนแครตสายราชการในด้านเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มของการเป็นนักปฏิบัตินิยม คือแมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้ก็พอ จะเป็นแมวเผด็จการก็ได้ ตราบเท่าที่บรรลุเป้าหมาย ความเคยชินนี้มันฝังตัวอยู่ค่อนข้างเยอะ งานเขียนของ อ.อภิชาติ เขียนว่า ในฐานะคนให้คำปรึกษาด้านนโยบาย ความสำเร็จคือคุณยึดกุมหูผู้มีอำนาจได้หรือเปล่า สิ่งที่เขาไม่เคยชินคือความวุ่นวายของระบบประชาธิปไตยที่มีการต่อรองมากขึ้น
อีกอันหนึ่งที่เป็นอคติที่ฝังมาในสังคมไทยคือความไม่ค่อยโอเคกับนักการเมือง จะมีถามตลอดว่านักการเมืองจะกำหนดนโยบายเอื้อต่อฐานเสียงหรือจะเห็นประเทศชาติเป็นสำคัญ แทคโนแครตก็วางตัวในเชิงคุณธรรมว่าตัวเองไม่มีฐานเสียง การตัดสินใจอะไรก็จะเห็นแก่ประเทศชาติ คำกล่าวอ้างนี้ก็ลุกลามจากเทคโนแครตและไปใช้กับนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งหมดถูกเรียกว่า พลังอำมาตยาธิปไตย กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจถูกยึดกุมโดยพลังอำมาตยาธิปไตยในยุคที่พลังประชาธิปไตยในของระบบการเมืองยังอ่อนแอ แม้ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประเด็นทางเศรษฐกิจมีฐานจากระบบราชการสูงมากทั้งจากตัวเปรมและเครือข่ายระบบราชการ พอเริ่มมีฝ่ายการเมืองเข้ามาตั้งแต่ทศวรรษ 20 ก็มีโครงการเสนอจากฝ่ายการเมืองมากขึ้น แต่สภาพัฒน์ที่เป็นกลุ่มอำนาจเดิมในด้านนโยบายเศรษฐกิจก็ปัดตกไปตลอด มันจึงมีปฏิปักษ์ในลักษณะนี้อยู่ หลังรัฐบาลเปรม รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวันก็เข้ามาในจังหวะดีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยบูมมาก การขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายการเมืองก็ทำให้มีปัญหา ชาติชายตั้งระบบที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก คือเอาคนหนุ่มในรุ่นนั้นที่เขาไว้วางใจไปเป็นที่ปรึกษาโดยตรงของนายกฯ เป็นการดำเนินนโยบายนอกระบบราชการทั้งหมด อำนาจเดิมในระบบราชการไม่ค่อยแฮปปี้แน่นอนเพราะคนกำหนดวาระกลายเป็นคนอีกส่วนหนึ่ง จุดจบของรัฐบาลชาติชายต่อมาจึงถูกรัฐประหารโดย รสช. ด้วยข้อหาคอร์รัปชัน หลังพฤษภาทมิฬเรื่อยมารัฐบาลชวน หลีกภัย รัฐบาลเชาวลิต ยงใจยุทธ ก็เห็นปัญหาว่าระบบเลือกตั้งก่อนยุคไทยรักไทยจะเห็นข้อสรุปว่าอำนาจนอกระบบราชการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดวาระทางเศรษฐกิจ ถ้าเราสรุปภาพรวมช่วงก่อนทักษิณ ชินวัตรจะถูกตั้งคำถามเรื่องความสุจริตของการเสนอนโยบาย การที่ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจจะมีปัญหาคือ นโยบายดังกล่าวไม่ถูกเชื่อมไปถึงตัวประชาชน ยิ่งมีแรงต้านจากฝ่ายราชการยิ่งทำให้แรงต้านสูงขึ้น ถ้ามองอย่างนี้ ประสบการณ์ระบบราชการเท่าที่เรามองมันสะท้อนอำนาจนิยมที่ระบบราชการอยากเป็นคนตัดสินใจเอง
พอมายุคทักษิณ มีสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการญี่ปุ่นพูดไว้ก็คือ เป็นเวลาที่ฝ่ายการเมืองสามารถกำหนดวาระระดับประเทศได้ และกำหนดได้ในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม อย่างที่เราทราบคือการขานรับของนโยบายต่อพรรคไทยรักไทยมันสูงมาก นโยบายต่างๆ ก็มีการสืบเสาะ ไปถามประชาชน ผู้นำชุมชนมาก่อน แล้วมาเป็นนโยบายชุดนี้ขึ้นมา สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนคือ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษิณก็มีลักษณะอำนาจนิยมแบบที่เขาเป็น รัฐบาลเลือกตั้งก่อนหน้านั้นไม่มีคือการกำหนดวาระ โดยเฉพาะวาระทางเศรษฐกิจระดับชาติที่มีฐานจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านั้นไม่มี พออำนาจฝ่ายการเมืองบวกอำนาจสนับสนุนจากประชาชนทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยน ทำให้ฝ่ายราชการไม่พอใจการทำงานใต้รัฐบาลทักษิณ ตอนแรกที่มีการเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็ถูกสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คัดค้านอย่างหนักว่าทำไม่สำเร็จ ส่วนสภาพัฒน์ก็ถูกลดบทบาทการเป็นผู้กำหนดวาระ ถ้าเราตั้งเสา 3 เสา คือฝ่ายการเมือง ประชาชนและระบบราชการ ในอดีต เสาราชการอำนาจสูงมาตลอด ฝ่ายการเมืองยังเป็นวุ้นอยู่ ประชาชนไม่ต้องพูดถึง ไม่มีสถานะเป็นระนาบเดียวกัน แต่เวลาผ่านไปบทบาทและดุลอำนาจเปลี่ยน ที่ คสช. บอกว่าคุณทักษิณเป็นอำนาจนิยมสูงเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ออกแบบว่าจะต้องมีนายกฯ ที่เข้มแข็ง มีผู้นำทางการเมืองที่กำหนดวาระได้ เรื่องที่น่าสนใจในทางปรวัติศาสตร์คือรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้หมายความว่ามีนายกฯ ที่เข้มแข็ง แต่ยังมีเรื่ององค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญ 2540 สร้างจุดนี้ขึ้นและพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาได้โยนหลักการเรื่องการมีนายกที่แข็งแรงออกไป แต่เหลือหลักการเรื่ององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตลอด
ยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยมีลักษณะอคติเข้าข้างฝ่ายเมือง ทำให้สังคมชนบทล่มสลาย ราคาสินค้าเกษตรถูกกดให้ต่ำ เพราะทำให้ราคาของกินถูก ค่าแรงต่ำ ทำให้อุตสาหกรรมโต ในยุคหนึ่งทำได้เพราะเป็นการสั่งการ ถ้ามาถามกันอย่างนี้ในตอนนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ยุคนี้ทุกฝ่ายมีอำนาจต่อรอง ถ้าเราเอามาโยงกันก็จะเห็นว่า อำนาจนิยมมันตรงข้ามกับการเจรจา ยิ่งคุณมีอำนาจมากเท่าไหร่คุณก็ไม่ต้องเจรจา แต่ถ้าทุกฝ่ายในสังคมมมีอำนาจเท่าๆ กัน การเจรจาก็จะเกิดขึ้นเป็นปรกติ ระบบการเมืองเลือกตั้งก็คือการต่อรองอย่างหนึ่งที่เขาจะเลือกเมื่อคุณเสนอสิ่งที่ตรงใจเขา แต่สำหรับคนที่ใฝ่เรื่องอำนาจมากกว่าก็จะมองกระบวนการเจรจาเป็นเรื่องน่ารำคาญ คนที่โตในระบบราชการตั้งแต่ 2510-2520 มันอยุ่กับอำนาจแบบหนึ่งมา พอสังคมเปลี่ยนให้มีพื้นที่เจรจามากขึ้นและเรียนรู้ให้มีกระบวนการเจรจา แต่อีกฝ่ายก็เรียนรู้ในการที่จะไม่เจรจา อย่างที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญปี 2549 ที่ไม่มีมาตรา 44 แต่รัฐธรรมนูญ 57 มี มันส่งสัญญาณว่ากูไม่เจรจา ถ้ากูจะเอาอะไรกูสั่งเลย และมันพ้นภาวะรับผิดเพราะได้เขียนเอาไว้หมดแล้ว เป็นการสถาปนาอำนาจพิเศษขึ้นมา แน่นอนว่าคนที่ทำเรื่องนี้ทราบว่าวันหนึ่งมันต้องกลับไปสู่ระบบที่สากลโลกยอมรับ ก็คือการเลือกตั้ง
อนาคตการเมืองควรไม่อิงเพื่อไทย อกหักนิรโทษกรรม อัดตุลาการ-คณะรัฐประหารเข้ากันเป็นปี่ขลุ่ย เสนอจัดตั้งพรรคทางเลือก
โรมกล่าวว่า อนาคตอำนาจนิยมในสังคมไทย ตอบสั้นๆ ว่าอำนาจนิยมคงอยู่กับเราอีกนาน ไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการกับอะไรได้ง่ายๆ มีตัวละครใหม่ คสช. เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง มีตัวแทนอีกเยอะ การจะสู้กับอำนาจนิยมจะต้องใช้เวลายาวนานเกิน 5-10 ปี สถาบันการเมืองต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลต่างๆ จะเป็นผู้ใช้อำนาจนิยมหลังเลือกตั้ง ศาลเองก็มีปัญหาเพราะว่าให้ความชอบธรรมของอำนาจคณะรัฐประหาร อำนาจเหล่านี้จะถูกให้ความชอบธรรมต่อไปเรื่อยๆ ศาลเหล่านี้ดูเข้ากันได้กับคณะรัฐประหารจนไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าถ้าต้องปฏิรูปประเทศจะเลือกปฏิรูปกองทัพหรือสถาบันตุลาการก่อน รู้สึกว่าองค์กรตุลาการไทยกับคณะรัฐประหารเข้ากันได้อย่างไม่มีรอยต่อ เข้ากันได้ตลอดเวลา ในส่วนขององค์กรอิสระ ตอนนี้ทุกคนไม่รู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์อะไร เป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการกับผู้เห็นต่างระบอบที่เป็นซากเดนเผด็จการของ คสช. องค์กรที่จะเป็นปฏิปักษ์กับองค์กรอิสระจะต้องเป็นองค์กรแบบพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ความสองมาตรฐานต่างๆ จะปรากฏให้เห็นในสังคมไทยแน่ๆ อนาคตข้างหน้าอีก 5-10 ปี จะเป็นอย่างนี้ แต่ตอนนี้ประชาธิปไตยในไทยค่อยๆ อ่อนลง ยังไม่มีคนสถาปนาให้สังคมไทยยอมรับ จึงยังมีพื้นที่ให้คนอื่นๆ สถาปนาได้ ต้องยอมรับว่ากรณีปี 2554 มีโอกาสมากๆ แต่เพื่อไทยไม่ได้ทำ มีคนจำนวนมากตายเพื่อให้คุณขึ้นสู่อำนาจ แต่สิ่งทีเพื่อไทยทำเป็นแบบนี้ คนจำนวนมากติดคุก แต่คุณกลับพยายามพาพี่ชายคุณกลับบ้านทั้งที่คนจำนวนมากติดคุกอยู่ ถ้าเราไม่ข้ามตรงนี้ให้ได้ ต่อให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งก็จะเจอแบบนี้ ผมไม่สามารถเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะทำให้เกิดสภาวะเช่นนั้นได้
การเมืองในอนาคตเป็นการเมืองที่ไม่อิงกับเพื่อไทยอีกต่อไป ถ้าอิงการเมืองกับเพื่อไทยก็จะได้รับการเมืองแบบนี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการที่สุดคือคนที่จะเป็นผู้แทนของประชาชนไปสู้กับซากเดนเผด็จการ ซึ่งถ้าเพื่อไทยไม่ใช่ ประชาธิปัตย์ไม่ใช่ เราก็คงจะอยู่กับสังคมไทยแบบนี้ไปอีกนานแสนนาน จึงเป็นวาระของภาคประชาชนี่จะทำให้มีตัวแทนที่ไม่เกี้ยเซี้ยกับระบอบเผด็จการ สถาปนาระบอบประชาธิปไตยและเยียวยาคนถูกกระทำจากความไม่เป็นธรรมทั้งหมดคือสิ่ิ่งที่ภาคการเมืองจะต้องทำให้สำเร็จ ข้อเสนอพรรคการเมืองทางเลือกรับว่ามีจุดอ่อนหลายอย่างและยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีพรรคการเมืองทางเลือกได้จริง ประชาชนพร้อมหรือเปล่าที่จะเลือกพรรคดังกล่าวแทนที่จะเป็นพรรคเพื่อไทย การจะเปลี่ยนผ่านการเมืองอาจจะต้องใช้เวลา 20 ปี ล้อไปกับยุทธศาสตร์ชาติที่เขาจะทำ
แสดงความคิดเห็น