แนวแผงกั้นด้านหน้าสวนมหาพันธุละ ด้านหลังคือศาลาว่าการนครย่างกุ้ง ภาพถ่ายเดือนพฤศจิกายน 2558 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

Posted: 20 Oct 2017 08:03 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)


ขณะที่รัฐบาลพม่าเล่นบทว่าตัวเอง "ถูกรังแก" จากสื่อต่างประเทศและประชาคมโลกที่ประณาม กองทัพพม่า-กองกำลังพลเรือนที่ร่วมเผาบ้านเรือน สังหาร และข่มขืนชาวโรฮิงญา นอกจากนี้สื่อพม่าเองก็ลำบากเพราะถูกคุกคามเมื่อพวกเขาพยายามสืบค้นความจริงในกรณีนี้ ถ้าหากเรื่องที่เขานำเสนอแตกต่างจากวิธีการเล่าเรื่องแบบเข้าข้างรัฐบาล

20 ต.ค. 2560 อัลจาซีรารายงานเรื่องนักข่าวชาวพม่าซึ่งถูกรังแกและคุกคามเพียงเพราะพยายามสืบค้นความจริงและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ หนึ่งในนั้นคือมินมิน นักข่าวอายุ 28 ปี ซึ่งมีผู้ถูกลอบวางระเบิดในบ้านของเขา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่

มินมินเปิดเผยว่าเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงขณะที่พยายามสืบหาความจริงเกี่ยวกับประเด็นในรัฐยะไข่ เขาเป็นบรรณาธิการของสำนักข่าว "สืบสวนรัฐยะไข่" ซึ่งตีพิมพ์นิตยสารข่าวการเมืองเผยแพร่รายเดือนที่เน้นข่าวสอบสวนสืบสวนเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็รายงานอะไรไม่ได้มาก จำต้องเก็บเงียบในเรื่องนี้เพราะต้องระวังตัว

หลังเหตุการณ์ที่รัฐบาลพม่าใช้กำลังปราบปรามชาวโรฮิงญาผู้ไม่ได้รับสัญชาติและสิทธิพื้นฐานของรัฐบาลพม่า ก็เป็นเหตุให้มีชาวโรฮิงญามากกว่า 500,000 รายหนีออกจากประเทศ สหประชาชาติกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ในขณะที่อองซานซูจีและรัฐบาลพม่าวิจารณ์การนำเสนอของสื่อต่างประเทศและการทำงานของสหประชาชาติผู้บันทึกเหตุการณ์ต่อชาวโรฮิงญาว่าเป็นการรายงาน "ข่าวปลอม" แต่หม่อง ซานี นักวิชาการพม่าซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศก็วิจารณ์ว่ารัฐบาลปฏิเสธการบันทึกหลักฐานและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการสังหารหมู่ ทั้งยังปฏิเสธว่าไม่มีการข่มขืนผู้หญิงหลายร้อยคน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ อองซานซูจี มักกล่าวในเฟซบุ๊กเพจอย่างเป็นทางการของเธอ

อัลจาซีรายังได้พูดคุยกับนักข่าวอีกสิบกว่าคนที่เปิดเผยว่าพวกเขาก็ถูกคุกคามถึงขั้นถูกขู่ฆ่าเพราะพยายามทำข่าวประเด็นโรฮิงญาในแบบที่ทำให้รัฐบาลไม่พอใจ การคุกคามและการเซ็นเซอร์ยังส่งผลต่องานของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัด นอกจากรัฐบาลแล้วพวกเขายังกังวลเรื่องการตอบโต้จากชาวพม่าที่ไม่พอใจข่าวของพวกเขาด้วย

ยารา บาว เมลเฮม นักข่าวอัลจาซีราในนครย่างกุ้งเปิดเผยว่า รัฐบาลพม่ายังนำเสนอข่าวในลักษณะที่เป็นเรื่องเล่าแบบเข้าข้างตัวเอง เช่น อ้างว่ารัฐบาลจะสู้รบกับสิ่งที่พวกเขานิยามว่าเป็น "การก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง" ในรัฐยะไข่ต่อไป

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลระบุว่าพวกเขาปฏิบัติการเพื่อโต้ตอบการโจมตีของกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) แต่รายงานของสหประชาชาติเปิดเผยว่าทหารได้เผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาเพื่อขับไล่ไม่ให้พลเรือนชาวโรฮิงญากลับประเทศอีก แต่รัฐบาลพม่าก็ปฏิเสธในเรื่องนี้ และอ้างว่าการนำเสนอดังกล่าว "รังแก" พวกเขา

ดาวิส มาธีสัน นักวิเคราะห์เรื่องพม่ากล่าวว่าสิ่งที่น่ากลัวมากคือตัวโฆษณาชวนเชื่อที่รับใช้รัฐบาลพม่า ที่ทำให้เขานึกถึงลักษะการกลบเกลื่อนเหตุการณ์แบบโลกโหดร้ายคล้ายนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์

แม้แต่การทำงานของสื่อนิตยสารของมินมินเองก็ยากลำบาก มีทีมงานนิตยสารของเขาลาออกไปแล้ว 6 รายเพราะเขาไม่อนุญาตให้ใช้คำว่า "พวกผู้ก่อการร้ายชาวเบงกาลี" ในรายงาน ทำให้เขาเป็นห่วงอนาคตนิตยสารของตัวเองก่อนอนาคตของประเทศแล้วตอนนี้

เรียบเรียงจาก

Myanmar journalists 'harassed' for reporting on Rohingya crisis, Aljazeera, 16-10-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.