Posted: 20 Oct 2017 06:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ความเห็นอีกด้านต่อร่างพ.ร.บ. คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ กับ ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อทำไม่ได้จริงหรือ? การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทขนาดใหญ่เป็นไปได้ไหม? การเข้าเป็นสมาชิก UPOV จำเป็นต่อเราหรือไม่? ทำไมการได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จึงสำคัญ? และเหตุผลที่ต้องแก้พ.ร.บ.ฉบับนี้
จากข้อโต้แย้งของ BIOTHAI ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ ซึ่งได้ตีความกฎหมายว่า การเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อจะผิดกฎหมาย รวมทั้งไม่สามารถจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์นั้นได้ รวมถึงเจตนาการร่างพ.ร.บ. ที่ต้องการให้เป็นไปตามแนวทางของ UPOV1991 อาจทำให้บรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย และทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง มีผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เมื่อประชาชนถูกยึดกุมอาหารผ่านการยึดเมล็ดพันธุ์, 18 ต.ค. 2560
ประชาไทสัมภาษณ์ ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อให้เห็นอีกด้านของความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้
ในวรรคแรก "เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง" สิ่งเหล่านี้ในทางวิชาการเมล็ดพันธุ์คือ Home save seed คือผู้ปลูกเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ซึ่งเป็นกันมานานแล้วในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว เกษตรกรซื้อพันธุ์ข้าวแล้วเก็บพันธุ์ที่ตัวเองรู้ว่าดี และเก็บไว้ใช้เอง กฎหมายก็ให้สิทธิเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์
ส่วนวรรคที่สอง “รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้” อันนี้ยิ่งเป็นประโยชน์มากกับเกษตรกร คือในภาวะเมล็ดพันธุ์ขาดแคลน แทนที่เกษตรกรจะมีสิทธิแค่เก็บเมล็ดพันธุ์ตามปกติไว้ใช้เอง ก็มีสิทธิเก็บไว้ได้มากกว่านั้นอีกเนื่องจากใช้อำนาจของคณะกรรมการคุ้มครอง
คำว่า “จำกัด” ทำให้ตีความว่า สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้
อาจจะใช้คำว่า “กำหนด” ก็ได้ ผมไม่ทราบภาษากฎหมาย แต่คิดว่าถ้าเป็นที่เรื่องคำ ในเวลานี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เขาเปิดรับฟังความเห็นอยู่ เราก็อาจจะเขียนเสนอความเห็นให้ใช้คำที่มันมีความหมายแบบนี้ คำว่า “จำกัด” มันอาจจะรู้สึกถูกข่มขู่มากเกินไปก็เป็นได้
เจตนาของกฎหมายตัวนี้ ผมมองว่ารัฐจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องจนกว่าผู้ทรงสิทธิไม่สามารถขยายจำนวนได้ตามความต้องการของตลาด เกิดภาวะเช่น ข้าวยากหมากแพง ภัยพิบัติ และคณะกรรมการเห็นว่าพืชนี้มีความสำคัญ กฎหมายฉบับนี้จะขยายสิทธิให้เกษตรกรได้ปลูกพืชที่ตลาดต้องการ หรือเช่นพันธุ์ข้าวไม่พอใช้ บ้านเราผลิตข้าวได้ 10 ล้านตัน ใช้พันธุ์ข้าว 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพันธุ์ข้าวไม่พอใช้ก็แปลว่าเราจะไม่สามารถผลิตข้าว 10 ล้านตันได้ รัฐก็จะเข้ามากำกับช่วยดูแลเรื่องพวกนี้ ถึงตอนนั้นถ้าใครได้รับการคุ้มครองสิทธิ์อยู่ พอถึงเวลาคุณก็ต้องปล่อยสิทธิตัวนี้ออกไป
ในแง่ของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ ถ้าเรารู้ว่าเมล็ดจะไม่พอ ในแง่ของการค้าเราต้องทำเพิ่มอยู่แล้ว แต่ภัยพิบัติมันมาอย่างที่เราไม่รู้ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. นี้เปิดทางให้รัฐมีอำนาจในการจัดการเรื่องพวกนี้ได้
ยกตัวอย่างเรื่องลิขสิทธิ์อย่างอื่น เช่น เพลง สมมติเป็นเพลงที่ขายดีมาก เขาผลิตออกมาล้านแผ่นแล้วขายหมด แต่เขาไม่ยอมผลิตต่อ ซึ่งในกรณีของเพลง รัฐก็ไม่มีสิทธิจะเข้าไปยุ่งเพราะไม่ได้เป็นภัยพิบัติที่ต้องบังคับว่าคุณต้องผลิตออกมา แต่ในกรณีเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นเรื่องของชีวิต อาหารที่คนต้องบริโภค ถ้าขาดแคลนเมื่อไหร่ ก็ลำบากกันหมด ข้อนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยชดเชย แน่นอนว่ากำหนดปริมาณที่จะเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลากี่ปี และจากนั้นสิทธิของเจ้าของสิทธิก็จะกลับคืนสู่เจ้าของ
จากมาตรา 74 ทำให้ตีความได้ว่า ใครนำเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปขายหรือแจกจ่ายจะผิดกฏหมาย?
มาตรา ๗๔ ผู้ใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๕๗ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ มาตรานี้ถูกตีความว่า จะทำให้เกษตรกรที่ปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน จะมีความผิด
มาตรา ๓๓ ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวใน การดําเนินการต่อส่วนขยายพันธุ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ผลิต หรือการผลิตซ้ํา (การขยายพันธุ์)
(๒) การปรับปรุงสภาพเพื่อวัตถุประสงค์ของการขยายพันธุ์
(๓) การเสนอขาย
(๔) การขายหรือการทําการตลาดอื่น ๆ
(๕) การส่งออก
(๖) การนําเข้า
(๗) การเก็บสํารองเพื่อวัตถุประสงค์ในการดําเนินการตาม (๑) ถึง (๖)
มาตรา ๕๗ เมื่อได้จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง เฉพาะถิ่นของชุมชนใดแล้วให้ชุมชนนั้นมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการ ปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอก ราชอาณาจักร หรือจําหน่ายด้วยประการใดซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่ได้รับหนังสือสําคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเป็นผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืช พื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้นแทนชุมชนดังกล่าว ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
(๑) การกระทําเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความ คุ้มครอง โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นส่วนขยายพันธุ์
(๒) การกระทําเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับ ความคุ้มครองซึ่งกระทําโดยสุจริต
(๓) การเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สําหรับพันธุ์พืช พื้นเมือง เฉพาะถิ่นที่ได้รับความคุ้มครองโดยเกษตรกรด้วยการใช้ส่วน ขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยความ เห็นชอบของคณะกรรมการประกาศให้พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น นั้นเป็นพันธุ์พืชที่ควรส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ให้เกษตรกรสามารถ เพาะปลูกหรือขยายพันธุ์ได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา (๔) การกระทําเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความ คุ้มครองโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า
มาตรา 33 คือมาตราที่เราคุยเมื่อกี้ 33 อันเดียวถูกขยายไป 6 ข้อในร่าง ฯ ฉบับใหม่ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปปลูกหรือเก็บรักษาพันธุ์ปลูกต่อได้ในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนผลผลิตนำไปขายได้ แต่อย่าขายพันธุ์อย่าขายเมล็ดพันธุ์ หรือแจกจ่ายถ้าเรายุติธรรมพอเราก็จะมองเห็นว่ามันไม่เหมาะ เหมือนกับการไปลิดรอนสิทธิของผู้ที่พึงได้ เพราะมันเท่ากับว่าคุณไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เขาใช้เวลาวิจัยกันกว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นพืชพันธุ์ใหม่ แล้วคุณก็มาปลูกต่อ แล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไปขายต่อ แบบนี้เขาจะเสียเวลาวิจัยกันทำไม
ส่วนมาตรา 57 อันนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิเกษตรกรเลย แต่จำกัดสิทธิผู้ทรงสิทธิ ซึ่งต้องขออนุญาตก่อนการนำพันธุ์พืชเมืองท้องถิ่นมาพัฒนา เพราะมาตรา 57 เป็นการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ซึ่งเจ้าของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็คือคนในท้องถิ่น ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง พูดกันง่ายๆ ก็คือ เจ้าของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็คือรัฐบาล กลุ่มบุคคลในท้องถิ่น
ตอนนี้ยังไม่มีอะไรขึ้นทะเบียนเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเลย เพราะมันถูกขยายไปโดยธรรมชาติ ไม่ได้มีเฉพาะที่นี่ที่เดียว บางคนย้ายถิ่นก็เอาไปด้วย แต่ในความหมาย “พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น” คือพืชที่ขึ้นเฉพาะถิ่นนั้นๆ และถูกดูแลรักษา ยกตัวอย่าง กล้วยไม้รองเท้านารี จะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเฉพาะในท้องที่ของมันเอง เช่น ภาคใต้ก็มีรองเท้านารีเฉพาะ ภาคเหนือก็มีรองเท้านารีอีกลักษณะหนึ่ง
กลุ่มบุคคลหรือประชาชนท้องถิ่นเมื่อได้ดูแลรักษาทำให้พืชตัวนี้อยู่ในท้องถิ่น ใครจะนำไปใช้ต้องขออนุญาต ทีนี้เวลาจะนำไปใช้ สมมติเราเห็นว่ารองเท้านารีสตูลลักษณะดี ถ้าหากไปผสมกับรองเท้านารีลำปางจะได้พันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะดียิ่งกว่า การจะเอารองเท้านารีสตูลมาใช้ก็ต้องขออนุญาต ขอจากใคร ก็ขอจากรัฐบาล ซึ่งการขออนุญาตก็จะมีการแบ่งผลประโยชน์ ถ้าเกิดผลประโยชน์ขึ้นจะมีการแบ่งปันเท่าไหร่ เงินแบ่งปันผลประโยชน์เหล่านี้ก็จะกลับคืนไปสู่ท้องถิ่นที่พืชตัวนี้อยู่ เพื่อดูแลมันต่อไป เพราะฉะนั้นในพ.ร.บ.นี้ถึงมีเงินกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช
การจะมีพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็แสดงว่าชุมชนจะต้องมองหาพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้วไปขอขึ้นทะเบียนเอาไว้ และใครจะนำออกจากท้องถิ่นไปต้องขออนุญาต ถ้ายิ่งนำไปทำประโยชน์มากเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็จะกลับคืนสู่ท้องถิ่นนั้นๆ แต่การทำประโยชน์ไม่ใช่ว่าเก็บเกี่ยวไป เป็นเพียงการเอาตัวอย่างไปใช้
ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ไม่มีการคุ้มครอง เข้าป่าไปกวาดเอารองเท้าพื้นเมืองกลับมาเป็นเข่งๆ มันก็สูญไปจากท้องถิ่นที่มีอยู่ แต่ถ้ามันเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นจะรักษาและหวงแหน ใครจะมาเก็บไปก็จะไม่ยอม เพราะมันจะเป็นประโยชน์ของท้องถิ่นที่จะได้รับ การจะขึ้นทะเบียนเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็ต้องพิสูจน์ได้ว่าที่อื่นไม่มี
แล้วอย่างพืช เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ ที่เขาว่ากันว่าต้องเมืองนนท์เท่านั้น จดเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นได้ไหม?
ไม่จัดว่าเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น แต่สามารถจดเป็น GI (Geographical Indications - การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ) ได้ ตัวนี้เป็นเรื่องของการตลาด เช่น ทุเรียกหลงลับแล เราคงไม่สามารถหาซื้อได้จากระยอง มันช่วยส่งเสริมการตลาดแก่ชุมชนนั้นๆ และการจะรับจดทะเบียนพืชพื้นเมืองท้องถิ่นรัฐก็ต้องดูแลและตรวจสอบ
ทำไมต้องเข้าเป็นสมาชิก UPOV?
UPOV เป็นองค์กรนานาชาติระหว่างประเทศ ซึ่งดูแลเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เน้นว่าเป็นพันธุ์พืชใหม่ ปัจจุบันมี 74 ประเทศ ถ้าเป็นสมาชิก UPOV พันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองในประเทศจะได้รับการคุ้มครองในประเทศที่เป็นสมาชิก UPOV ทุกประเทศ ถ้าหากเราไม่มีการพัฒนาพันธุ์ใหม่เราก็ไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิกเขาก็ได้
ใน 74 ประเทศก็คือประเทศที่มีการพัฒนาพันธุ์พืช ก็จะได้รับการคุ้มครอง การคุ้มครองไม่ใช่เฉพาะพันธุ์พืชแต่ขยายตัวไปถึงการขาย เป็นเรื่องของการตลาด ถ้าพันธุ์พืชที่เราพัฒนาถูกขายออกไปในประเทศอื่นและไม่ได้รับการคุ้มครองก็จะถูก- - ใช้คำง่ายๆ ก็คือ ถูกก็อปปี้ได้ง่าย
พ.ร.บ. ฉบับนี้เราส่งเสริมให้มีนักปรับปรุงพันธุ์ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาพันธุ์ ส่งเสริมให้มีการสร้างพันธุ์ใหม่ เมื่อสร้างพันธุ์ใหม่แล้วส่งไปขาย ถ้าไม่ได้รับการคุ้มครอง พันธุ์ของเราก็จะถูกนำไปใช้ โดยเฉพาะในช่วง 20 ปี บ้านเราพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมาก แล้วก็ถูกนำไปใช้ในอาเซียน ในประเทศเขตร้อนเกือบทั้งหมด เราเป็นผู้ส่งออกพันธุ์พืชรายใหญ่ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน
ณ ปัจจุบัน เราส่งออกข้าวโพดเกือบทุกประเทศในเอเชีย ถ้าพันธุ์เราไม่ได้รับการคุ้มครอง ก็จะถูกผลิตขึ้นในประเทศนั้นๆ แล้วก็ขายโดยที่จะไม่ซื้อจากเราอีกต่อไป
แล้วเราจะไปขอความคุ้มครองจากประเทศนั้นๆโดยตรงได้ไหม?
เราก็ต้องไปจดทะเบียนขอการคุ้มครองในประเทศเขาทีละประเทศ แต่ถ้าเราเป็นสมาชิก UPOV เราแค่จดทะเบียนในประเทศเรา การคุ้มครองจะเกิดขึ้นทุกประเทศสมาชิก
ความสำคัญของการได้รับการคุ้มครอง
บริษัท (ส่วนตัว) ผมอายุ 30 กว่าปี เริ่มทำงานพัฒนาพันธุ์มา 25 ปี เพิ่งจะขายพันธุ์ที่เป็นของบริษัทได้จริงๆ เมื่อประมาณสัก 10 ปีนี้เอง มันใช้เวลานานมาก ถ้าไม่ใช่ความฟลุ๊ค แต่ละปีมีพันธุ์ออกมาเป็นร้อย แต่เอามาสกรีนจะเข้าตลาดจริงๆ เหลือสัก 3-4 พันธุ์ก็ถือว่าเก่งแล้ว
เพราะอะไร?
ตลาดมีข้อจำกัด พันธุ์พืชใหม่จะได้รับการยอมรับเมื่อไหร่ หนึ่ง เกษตรกรต้องยอมรับ จะยอมรับก็เพราะพันธุ์แข็งแรง ปลูกง่าย ตายยาก สอง ฝ่ายขนส่ง แม้พันธุ์นี้ผลผลิตดีแต่ขนส่งบอกว่าไม่เอา ขนถึงปลายทางหายไปครึ่งหนึ่ง เสียหาย ช้ำ ไม่อยากได้ สาม ตลาด พอขนส่งไปที่ตลาด ตลาดบอกว่า พันธุ์นี้ไม่เอา วางสองวันเหลืองแล้ว เหี่ยวเร็ว สี่ ผู้บริโภค รสชาติไม่อร่อย ก็ไม่ได้
ดังนั้นในการที่พันธุ์จะเข้าตลาดได้ จะต้องมีคนอย่างน้อย 4 กลุ่มบอกว่า Yes ไม่ใช่ว่าเราทำพันธุ์ออกมาดีแล้วทุกคนจะโอเค พอไปถึงตลาดจริงๆ แล้วข้อจำกัดจะตามมา พื้นที่นี้ปลูกได้ พื้นที่นี้ปลูกไม่ได้ ฤดูนี้ปลูกได้ ฤดูนี้ปลูกไม่ได้ เพราะงั้นพันธุ์จะมีความหลากหลายมาก
บ้านเรามีสามฤดู ร้อน ฝน หนาว สามฤดูนี้พันธุ์พืชก็จะแตกต่างกัน ถามว่าพันธุ์เดียวได้ไหม ก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่ามันดีที่สุดในฤดูหนาวนะ ฤดูฝนมันก็ได้แค่นี้ พื้นที่ราบได้แบบนี้นะ ที่ดอนได้แบบนี้ ที่ภูเขาได้แบบนี้ มันเป็นผลกระทบที่เราต้องหาพันธุ์ที่เหมาะ เช่น เราจะผลิตของไปขายที่ภาคเหนือก็ต้องทนเย็น เพราะที่นั่นเย็น ถ้าไม่ทนเย็นที่นั่นก็ไม่ยอมรับ เพราะมันเติบโตไม่ได้ เชื่อไหมว่าผมทำพัฒนาพันธุ์มา เวลานี้ผมยังไม่มีพันธุ์ขายภาคเหนือเลย เพราะว่าเขตพัฒนาผมอยู่สุพรรณบุรี อยู่ในเขตร้อน ก็ต้องยอมรับว่าข้อจำกัดของเรามี
จากปัจจัยเหล่านี้เป็นไปได้ไหมว่าบริษัทใหญ่จะผูกขาด เพราะเป็นผู้มีกำลังและทุนมากกว่า?
บริษัทใหญ่ กำลังเยอะ อย่าลืมว่าต้นทุนก็สูง ดังนั้นเขาจะไม่พัฒนาพันธุ์ที่ใช้เฉพาะถิ่น เช่น ตอนนี้ประเทศไทยผลิตข้าวโพด 17,000 ตันต่อปี เฉลี่ยกิโลละ 70-100 บาท ก็มีมูลค่าเมล็ดเพียง 1,700 ร้อยล้านบาทเป็นมูลค่าขาย ผมว่าไม่มีบริษัทไหนจะลงมาเล่น ที่เขาจะมองคือเขามองว่าทั้งภูมิภาคเท่าไหร่ บริษัทใหญ่เขาจะไม่มองเฉพาะประเทศ
โดยเฉลี่ยแล้วพันธุ์พืชแต่ละชนิด แต่ละบริษัทดูแลไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครคุม Majority ทั้งหมด ถ้าใครคุม Market share ของพืชตัวหนึ่งได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์นี่ยอมนับถือ
แต่อย่างตลาดข้าวโพด เป็นของซีพีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และเป็นของมอนซาโต้อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ของซีพีก็ได้สิทธิบัตรมาจากมอนซาโต้ ดังนั้นจึงกลายเป็นการถือครองตลาดครึ่งหนึ่งของทั้งสองบริษัทใหญ่ที่ผนวกรวมกัน
เรื่องนี้เราก็ต้องยอมรับ ในเรื่องพัฒนาการใครเก่งก็ต้องยอมรับ
แล้วเรื่องความหลากหลายล่ะ?
ถามว่าเราไม่ซื้อพันธุ์เขาได้ไหม ได้ เวลานี้ทุกบริษัทพัฒนาพันธุ์ออกมาไม่ใช่ว่าพันธุ์เดียวแล้วขายได้ ปริมาณพันธุ์ที่ว่ารวมๆ 50 เปอร์เซ็นต์คือหลายพันธุ์ อาจจะเป็นข้าวโพดชนิดเดียวแต่พันธุ์มีเป็นสิบๆ ชนิด อย่างเวลานี้แตงกวาในบ้านเรามีขายอยู่ 300 กว่าพันธุ์ เพราะฉะนั้นคนใช้จะเลือกใช้อะไรก็ได้ เวลาคนใช้เมล็ดพันธุ์อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ก็จะมองว่าพันธุ์นี้เหมาะกับฉัน ต้องใช้พันธุ์นี้ แต่ในที่สุดการตัดสินใจจะอยู่ที่คน 4 กลุ่มเสมอ
ผมอยู่ในวงการนี้ผมมองว่าเมล็ดพันธุ์ ถ้าคุณขายแพง ปลูกแล้วไม่คุ้มทุน ผมไม่ซื้อ ผมไปซื้ออีกพันธุ์ที่ราคาถูกกว่า ในฤดูที่สินค้าแพงอย่างฤดูฝน ถ้าฝนตกหนักๆ ผักหลายชนิดจะโตลำบากเพราะน้ำเยอะเกินไป จะมีพันธุ์บางพันธุ์ที่โตได้ เขาก็จะไปซื้อพันธุ์นั้นมาใช้ แต่พันธุ์นั้นราคาแพงเกินไปขายแล้วไม่คุ้ม อันนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดในบ้านเรา เพราะบ้านเราต้นทุนเมล็ดพันธุ์คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดทางการเกษตร ถือว่าถูกมาก
ต้นทุนการผลิตทั้งหมด ถ้าเราเริ่มจากการไถที่เตรียมแปลง เมล็ดพันธุ์ วัสดุการเกษตร ปุ๋ย ยาเคมี แรงงาน น้ำมัน ค่าเครื่องสูบน้ำ เมล็ดพันธุ์ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่า เซ้นซิทีฟที่สุด ถึงแม้จะมีมูลค่าต่ำ ทำอะไรล้มเหลวโทษเมล็ดพันธุ์ไว้ก่อน
เมล็ดพันธุ์ มีคุณภาพสองอย่างคือ อันที่หนึ่งคือคุณภาพพันธุ์ อันที่สองคือคุณภาพเมล็ด พันธุ์จะดีไม่ดี จะไปรู้เอาตอนสุดท้ายที่เรากินแล้วอร่อย ส่วนคุณภาพเมล็ดพันธุ์ จริงๆ แล้วรับผิดชอบแค่หยอดลงไปแล้วงอก ถ้างอกได้ก็จบหมดภาระของเมล็ดพันธุ์แล้ว ส่วนที่เหลือคือการบำรุงรักษา ใส่ปุ๋ยใส่น้ำ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การผลิตล้มเหลว คุณจะได้ยินเสียงเลยว่า เมล็ดพันธุ์ไม่ดี โทษเมล็ดพันธุ์ไว้ก่อน ทั้งที่เมล็ดพันธุ์ควรจะรับผิดชอบแค่ปลูกแล้วงอกดี ปลูกแล้วโอเค จบ
มีงานวิจัยที่อิงจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อเข้า UPOV เมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้นเป็น 3 เท่า เป็นไปได้ไหม?
อะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยการผลิต ถ้าไม่คุ้มจะถูกเปลี่ยนทันที ในการผลิต ธรรมชาติมีไดนามิกในตัวมันเอง เราไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรแบบนี้เท่านั้น มันจะถูกปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เมล็ดพันธุ์ถ้าแพงเกินไปก็จะเลือกซื้อของที่ถูกกว่า ที่คุณภาพใกล้เคียง เมื่อไหร่ก็ตามที่เค้กชิ้นนี้ใหญ่ ในระบบการค้าเสรีจะมีคนเข้ามาแบ่ง เพราะฉะนั้นมันไม่มีทาง
ที่กังวลกันเรื่องข้าวกับข้าวโพดว่าจะเกิดการผูกขาดจากบรรษัทใหญ่
ข้าวไม่มีใครอยากลงไปเล่นหรอก เพราะรัฐดูแลอยู่ ณ ปัจจุบันนี้มีบริษัทไหนขายเมล็ดพันธุ์ข้าว แม้กฎหมายฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ให้นักปรับปรุงพันธุ์ แต่ยังมีกฎหมายฉบับอื่นคุ้มครองอยู่ เรามีกฎหมายหลายฉบับ คุณจะพัฒนาพันธุ์ข้าวไม่ได้หรอกถ้ากฎหมายตัวนี้ยังไม่ได้เปลี่ยน
ประเทศเราห้ามนำพันธุ์ข้าวเปลือกเข้ามาในประเทศเพื่อการค้า ข้าวไฮบริด (ข้าวลูกผสม) เขาขายกันมา 30 ปีแล้ว บ้านเรายังไม่ได้ใช้เลยเพราะนำเข้าไม่ได้ แม้กระทั่งจะขอพันธุ์ข้าวมาทดสอบก็ต้องผ่านกระบวนการควบคุมคุ้มครอง ณ ปัจจุบันบริษัทเอกชนที่พัฒนาพันธุ์ข้าว ก็ใช้พันธุ์ข้าวในเมืองไทย นำเข้าไม่ได้ กฎหมายมันมี linkage (การเชื่อมโยง) ที่ถ่วงดุลกันอยู่หลายอัน
ผมไม่อยากใช้คำว่าไม่มีเอกชนผลิตพันธุ์ข้าว แต่บริษัทที่เป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ผลิตพันธุ์ข้าวเนี่ย เป็นคนไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ คือ อยู่ในท้องถิ่น ผลิตพันธุ์ข้าว แล้วก็ขายให้เกษตรกรในท้องถิ่น
ต่างประเทศไม่มีใครลงทุน เพราะราคายังไม่จูงใจ เนื่องจากรัฐบาลช่วยซับพอร์ท ควบคุมราคา รัฐบาลถึงจะผลิตพันธุ์ข้าวได้น้อย ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณการใช้ทั้งหมด แต่ว่าราคาต่ำ มันดึงราคาพันธุ์ข้าวไว้ไม่ให้สูง เมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถดูแลได้เอง เพราะฉะนั้นเกษตรกรเก็บไว้ใช้เองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
พันธุ์ข้าวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันบริษัทท้องถิ่นเป็นคนทำ ซึ่งแต่ก่อนก็คือโรงสี เมื่อมีพันธุ์ข้าวดีโรงสีก็จะเก็บไว้เพื่อขายแก่เกษตรกรในฤดูหน้า คล้ายๆ ทำหน้าที่เป็นยุ้ง แต่มาระยะหลังมีกฎหมายเรื่องการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โรงสีก็ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องควบคุมคุณภาพ เก็บรักษาให้ดี จนกระทั่งมาระยะหนึ่งในท้องถิ่นที่ทำได้ก็จะมีคนกลาง ในการไปดูแปลงข้าว แปลงนี้ข้าวสวยคุณภาพดี ก็เก็บพันธุ์มาขาย มันเป็นเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นทั้งนั้น เพราะราคาไม่สูง ดังนั้นใครก็ตามคิดจะลงไปทำพันธุ์ข้าว ราคานี้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย บริษัทผมก็ไม่ทำ
ถ้าพันธุ์จะทะลักเข้ามาก็เพราะ หนึ่งมีคุณสมบัติที่ดี เด่นกว่า ถ้าแตกต่างกันไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ คนปลูกไม่เปลี่ยนพันธุ์ เข้าคุ้นกับพันธุ์เก่า เขาจะใช้วิธีการเดิม อะไรเดิมในการปลูก ถึงแม้บอกว่านี่พันธุ์ใหม่นะ ผลผลิตสูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เชียวนะ แต่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มนะ ต้องทำยังงั้นเพิ่ม ยังงี้เพิ่มนะ ยังขายยากเลย
การขายพันธุ์ยากที่สุดคือเปลี่ยนวิธีการจัดการของเกษตรกร อย่าลืมว่าแม้กระทั่งข้าวโพด กว่าเกษตรกรจะยอมรับไฮบริดใช้เวลาเป็น 10 ปี เพราะปกติปลูกข้าวโพดสิบไร่ แบกปุ๋ยลงไปสองกระสอบ เดี๋ยวนี้ต้องแบกปุ๋ยไปไร่ละกระสอบถึงจะได้ผลผลิตขนาดนี้ เมื่อก่อนไร่หนึ่งสีข้าวโพดมาได้อย่างเก่งก็ 200-300 ร้อยกิโล เดี๋ยวนี้ปลูกข้าวโพดใส่ปุ๋ยมาได้ 800-900 กิโล ถึง 1,200 กิโลต่อไร่ ก็เพราะหนึ่งพันธุ์ดีขึ้น สองเทคโนโลยีการผลิตก็ดีขึ้น แต่ผมยังไม่พูดว่าต้นทุนที่ได้กับข้าวโพดที่ได้มันคุ้มกันไหม ซึ่งมันต้องคุ้ม ไม่งั้นเขาคงไม่ทำ เกษตรกรเขาฉลาดนะ
การฟ้องร้องเรื่องการหยิบพันธุ์ไปใช้?
เช่น ตำลึง เป็นตัวที่น่าสนใจเนื่องจากคุณค่าทางอาหารสูง ผมเคยเอามาพัฒนา แต่ปรากฏว่าในเชิงการตลาดมันไปไม่ได้ คนกิน แต่ตำลึงจะให้ผลผลิตสูงต้องไปหาตำลึงตัวผู้ ไม่ติดลูก ใบก็จะเยอะ แต่ถ้าคุณทำตำลึงตัวผู้คุณจะเอาเมล็ดที่ไหน ก็ต้องไปหาตำลึงตัวเมีย
แต่ปรากฏว่าตำลึงขยายพันธุ์ง่ายโดยใช้เถา เพราะฉะนั้นถ้าผมพัฒนาตำลึงมาผมคงไม่ได้ขาย เขาซื้อผมครั้งเดียวแล้วเขาก็ใช้เถามันปลูกต่อ เพราะฉะนั้นในแง่ธุรกิจมันจึงทำไม่ได้ ดังนั้นก็ไม่มีใครพัฒนา พัฒนามาแล้วคนก็ซื้อพันธุ์เราไปปลูก แล้วเก็บพันธุ์ขายต่อ ลักษณะแบบนี้มันชุบมือเปิบกันเกินไป แต่ถ้ามีการคุ้มครอง อันนี้ทำได้ แต่ต้องหา marker ให้เจอ เช่น แทนที่จะเป็นใบห้าเหลี่ยม ตำลึงผมจะเป็นใบหกเหลี่ยม คุณจะไปขยายพันธุ์ของผม ผมต้องไปขอค่าลิขสิทธิ์
ในไทยกฎหมายเรื่องการฟ้องร้องการหยิบพันธุ์ไปใช้มักจะไม่สำเร็จ ในที่สุดจะถูกยกฟ้อง เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ คล้ายกับความผิดไม่ซึ่งหน้า ผมพิสูจน์ได้ว่านี้เป็นพันธุ์ของผม คุณมีได้ไง เขาบอกเขาซื้อมาปลูก แสดงว่าก็ต้องมีคนขโมยพันธุ์ผมไปขาย ก็ต้องไปหาคนขโมย ใครล่ะ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการขโมย ก็ยกฟ้อง
ต่างจากมอนซาโต้ที่เกษตรกรโดนฟ้องเพราะเก็บเมล็ดพันธุ์ของบริษัทไปปลูกต่อ สุดท้ายบริษัทชนะ
เขาชนะเขาไม่ได้ชนะจากพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เขาชนะจากกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา เพราะอเมริกาเขายอมให้จดลิขสิทธิ์ยีน ซึ่ง UPOV ไม่รับเรื่องนี้
เกษตรกรในต่างประเทศมีพื้นที่กันเป็นพันเอเคอร์ เอาแค่ซื้อไปแล้วเก็บพันธุ์ไว้ใช้ได้เอง คนพัฒนาพันธุ์ก็ตายแล้ว ไม่ต้องขาย เขาถึงต้องมีกฎหมายอื่นขึ้นมาควบคุมกำกับรองรับ
ประเทศอเมริกาตอนนี้อยู่ได้ด้วยค่าลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้นใครคิดค้นอะไรขึ้นมาได้เขาก็มีลิขสิทธิ์ เคสนี้ต่างกัน อเมริกายอมให้ใช้จีเอ็มโอในประเทศ เพราะฉะนั้นยีนจีเอ็มโอที่ของเขา คุณจะเอาไปใช้ต่อไม่ได้ มันเป็นลิขสิทธิ์ของเขา
บ้านเรายอมให้เกษตรกรเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง เพราะเกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ที่มีพื้นที่จำกัด แต่ถ้าหากเราไม่นิยามคำว่าเกษตรกรให้ดี คำว่าเกษตรกร คุณลองช่วยนิยามให้หน่อย ใครที่จะถูกนิยามว่าจะเป็นเกษตรกร?
ที่ไม่ใช่นิติบุคคล?
เพราะฉะนั้นนิติบุคคลจะเก็บเมล็ดพันธุ์มาใช้เองไม่ได้ ถูกไหม? เวลาที่คุยกันเรามักไปสะดุดอยู่ที่คำนี้ ลองนิยามคำว่าเกษตรกร บางทีเขาก็จะบอกว่า ผู้มีรายได้ต่ำ ถ้าเป็นเกษตรกรแล้วมีรายได้ต่ำผมไม่เป็น (หัวเราะ) แล้วคุณจะหาเกษตรกรที่เข้มแข็งได้ยังไงในเมื่อคุณบังคับให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำ แล้วเกษตรกรคืออะไร?
อย่างฟาร์มที่ทำอยู่ เป็นเกษตรกรไหม? ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันนะ
ถ้าเกษตรกรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วน จะพ้นจากความเป็นเกษตรกรไหม?
คนในประเทศ 65 ล้านคนใครเป็นเกษตรกรบ้าง ถ้าเกษตรกรคือคนมีอาชีพเกษตรกรรม ผมก็เป็นเกษตรกรนะ บริษัทผมก็เป็นเกษตรกรเหมือนกัน แล้วเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนไหม คนไม่เสียภาษีคือเกษตรกรไหม เกษตรกรรายใหญ่มีพื้นที่เป็นพันไร่ จ้างคนงานทีร้อยคน คุณยังนับว่าเขาเป็นเกษตรกรอยู่รึเปล่า บริษัทซีพีก็ถือเป็นเกษตรกรไหม ถ้าเขาแค่เอาพันธุ์ผมไปผลิตใช้เองผมก็จนแล้วล่ะ ไม่ต้องขายใครแล้ว
ต้องช่วยกันนิยาม ผมว่ารัฐเองก็ตอบไม่ได้หรอกว่าใครคือเกษตรกร มันต้องหาให้เจอก่อน ไม่งั้นเราก็มานั่งเถียงกันแล้วก็ไม่รู้ว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อใคร เพื่อคนกลุ่มไหน
การขยายการคุ้มครองลักษณะพิเศษไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากเมล็ดพันธุ์ไปถึงตัวผลิตผลและผลิตภัณฑ์ จริงไหมที่ผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพันธุ์พืชใหม่ก็ถูกคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ผิดกฎหมายถ้าเรานำไปทำเป็นผลิตผลและผลิตภัณฑ์?
“มาตรา ๓๙ สิทธิของผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรา ๓๓ ย่อมไม่ขยายไปถึงการกระทําใดๆ ต่อส่วนขยายพันธุ์หรือผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งถูกนําออกจําหน่ายโดยผู้ทรงสิทธิหรือด้วยความยินยอมของผู้ทรงสิทธิ เว้นแต่การนําไปทําเป็นส่วนขยายพันธุ์ต่อไปของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครอง”
ดังนั้นจึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิจึงไม่รวมถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการนำไปทำเป็นส่วนขยายพันธุ์ต่อไป คือการนำพันธุ์ของเขามาใช้ขยายพันธุ์ผสมจนออกมาเป็นพันธุ์ใหม่ อเมริกามีกฎหมายคล้ายๆ แบบนี้อยู่อันหนึ่งที่คุ้มครองไปถึงผลผลิต น่าจะเป็นเรื่องของสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งคนละอันกับบ้านเรา และ UPOV ก็ไม่มีเรื่องนี้
จริงๆ บ้านเรามีหน่วยงานที่จดสิทธิบัตรซึ่งแยกออกมาจากการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งคุ้มครองพันธุ์พืชก็ไม่เหมือนกับสิทธิบัตร บ้านเรามีอยู่ตัวเดียวคือ EVD ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์เบื้องต้น เช่น คุณทำพันธุ์ข้าวหอมมะลิใหม่ขึ้นมาได้ แล้วมีคนใส่สีม่วงเข้าไปในข้าวหอมมะลิคุณแล้วบอกว่าเป็นพันธุ์ใหม่ EVD จะไม่ยอมให้ทำแบบนั้น
คำว่า “ซึ่งถูกนําออกจําหน่ายโดยผู้ทรงสิทธิหรือด้วยความยินยอมของผู้ทรงสิทธิ” เหมือนประโยคนี้กลายเป็นว่าต้องได้รับการยอมรับจากผู้ทรงสิทธิก่อน?
ตามที่ผมเข้าใจคือมันน่าจะเป็นส่วนขยายของประโยคแรก คือ “ย่อมไม่ขยายไปถึงการกระทำใดๆ” ก็หมายความว่าสามารถจะนำไปใช้งานได้ ทั้งผลิตผลและผลิตภัณฑ์ เขาเคยมีความพยายามที่จะไปควบคุมผลิตผล ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ และมาตรานี้ก็เขียนว่าผู้ทรงสิทธิย่อมไม่สามารถไปเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ แต่อย่างที่ผมบอกว่านี่คือร่างแรก เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรไม่เคลียร์เราก็สามารถนำเสนอความเห็น ทำประชาพิจารณ์ได้
กฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์?
กฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ เพราะประเทศที่พัฒนา มันมีตัวเลขแสดงให้เห็นชัดว่า ประเทศนั้นใช้เมล็ดพันธุ์ในประเทศมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับประชากร เขาคำนวณออกมาเป็นประชากรต่อหัวต่อเมล็ดพันธุ์ ยิ่งใช้เมล็ดพันธุ์มูลค่าสูงก็ยิ่งเป็นประเทศที่พัฒนา ญี่ปุ่นก็ดี อเมริกาก็ดี ไต้หวันก็ดี ใช้เมล็ดพันธุ์มูลค่ามากกว่าเมืองจีน เมล็ดพันธุ์เขาแพง เป็นของมีคุณภาพ อินโดนิเซียมีคน 200 ล้าน แต่มูลค่าการใช้เมล็ดพันธุ์เท่ากับบ้านเราที่มีคน 65 ล้านคน
เหตุผลที่ต้องแก้พ.ร.บ. ฉบับนี้
พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้เมื่อปี 42 แต่ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากติดประเด็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เดิมเขียนแค่พื้นที่มีกำเนิดในประเทศไทย ไม่ใช่ ถิ่นกำเนิด และพอเป็นกำเนิดมันเลยเป็นพืชตั้งแต่หญ้าแพรกขึ้นไปหมด แล้วการปรับปรุงพันธุ์จะเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มันถูกปลูกในไทยมันก็มีเป็นพืชพื้นเมืองทั่วไปแล้ว แปลว่าพืชทุกตัวที่ปลูกเป็นของรัฐบาล อย่างพันธุ์ข้าวโพดที่เรานำเข้า ก็ถือเป็นของไทย ไม่ให้สิทธิ์เจ้าของเดิมที่นำเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ที่เขาพัฒนามาแล้วเพื่อเอามาต่อยอด พันธุ์พืชจะมีประสิทธิภาพต้องพัฒนาในพื้นที่ใช้งาน ต้องถูกเอามาพัฒนาในเมืองไทย แต่กลายเป็นว่าพอลงเครื่องบินมา พอเมล็ดตกถึงพื้นแผ่นดินไทยก็เป็นของไทยเลยใช่ไหม คำตอบคือใช่ อย่างนี้ใครก็รับไม่ได้ มันเลยไม่เกิดอะไรขึ้น ทุกคนหยุด ไม่ทำอะไรต่อ
ด่านที่สอง พ.ร.บ. เก่า มาตรา 52 ผู้ใดจัดเก็บต้องได้รับการอนุญาต พร้อมทั้งทำข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ ผมเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะเก็บอะไรบ้าง แต่เขาจะบังคับให้เราขึ้นทะเบียนว่าจะเก็บอะไร เก็บจำนวนเท่าไหร่ เก็บที่ไหน ตอบไม่ได้ ถ้าตอบก็โกหก เพราะจริงๆ คือไม่รู้ การรวบรวมพันธุ์พืชมันเป็นลมเพลมพัด บางทีเราเดินเข้าตลาด น่าสนใจเก็บมาก่อน เขาบอกพันธุ์นี้อร่อย เก็บมาก่อน มันมีการเดินทาง ระหว่างนั้นไปเจอเมล็ดก็ขอซื้อเขาไว้ ออกมาเป็นรูปนั้นซะเยอะ แต่ระเบียบให้ลงทะเบียน ต้องกรอกหมด แบ่งปันผลประโยชน์ ผมยังไม่รู้เลย ยังไม่เห็นมูลค่าเลย จะกรอกยังไง เลยไม่มีใครยอมกรอก
ดังนั้นออกมาแล้วมันใช้ไม่ได้ ถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ปี 60 ไม่คลอดก็รอต่อไป
ส่วนประเด็นอีกอย่างก็คือแก้ไขตาม UPOV เหมือนถ้าเราจะเข้าไปในสมาคมเข้าเราก็ต้องตั้งกฎเกณฑ์ที่ไม่ขัดกับระเบียบของเขา
พูดถึง พ.ร.บ. สำหรับคนทำธุรกิจไม่มีใครเสีย เพราะคนทำธุรกิจถ้าทางนี้ไปไม่ได้เขาก็ไปทางอื่น เพียงแต่ประเทศจะเสียโอกาสเหล่านี้ไปจากการที่ไม่อัพเดตตัวเอง ไม่สามารถที่จะออกกฎหมายกำกับดูแลได้ เราเสียแล็บใหญ่ๆ ไปตั้งหลายแล็บ มูลค่าหลายร้อยล้าน เขาไปที่อื่นดีกว่าเพราะอยู่ที่นี่มาคุยกันหลายปีแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเสียแล็บพวกนี้ซึ่งเป็นวิทยาการที่ค่อนข้างจะสูง เราเสียความรู้ด้วยนะ ถ้าเขามาตั้ง คนของเราเข้าไปทำงาน ความรู้ก็จะถูกถ่ายทอดออกมา ความรู้เราก็จะอัพเดต มูลค่าทางเศรษฐกิจก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่แน่ๆ คือความรู้ถดถอย
แสดงความคิดเห็น