Posted: 18 Oct 2017 06:03 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


ทำความรู้จักร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ผ่านวงเสวนาหลังฉายสารคดี “Seed: The Untold Story” ท่ามกลางข้อถกเถียงว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมสิทธิบัตรพันธุ์พืช ต่อยอดการวิจัย หรือจะทำให้เกิดเป็นการผูกขาดสิทธิในเมล็ดพันธุ์ เพราะเมื่อการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อจะถูกนิยามว่าเป็นความผิด เกษตรกรยิ่งต้องพึ่งพาบรรษัทเจ้าของสิทธิบัตรมากขึ้น
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. กรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่เรื่องการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ....ฉบับใหม่ ซึ่งมีหลายจุดที่เปลี่ยนแปลงจากฉบับเดิมในปี 2542 นำมาสู่การถกเถียงในวงสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมาหาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ผ่านและนำมาใช้จริง
15 ต.ค. 2560 - Doc Club Theater จัดกิจกรรมฉายสารคดี "Seed: The Untold Story" ที่ Warehouse30 บอกเล่าความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 12,000 ปีระหว่างมนุษย์กับเมล็ดพืชพันธุ์ที่มีทั้งช่วงเวลาหอมหวานและขมขื่น ความหลากหลายของพืชพันธุ์สูญหายไปไหน และคนธรรมดาๆ จะต่อสู้กับการเก็บรักษาแหล่งอาหารแห่งอนาคตนี้ได้อย่างไร จากนั้นชวนคุยเรื่อง "เก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อคืออาชญากรรม?" กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จาก FTA Watch 

ความสำคัญของเมล็ดพันธุ์

กรรณิการ์ เกริ่นว่า สหภาพยุโรปเมื่อจะไปเจราจาการค้ากับที่ไหนก็ตามเขาไม่ได้สนการซื้อขายสินค้ามากเท่าที่เขาสนใจเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แล้วก็ไม่ได้สนใจในเชิงจะซื้อเมล็ดพันธุ์ แต่สนใจในความเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ จะจดสิทธิบัตรได้ไหม จะบังคับให้เรารับจีเอ็มโอได้รึเปล่า หรือถ้าไม่ได้ ขอให้มีการขึ้นทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชก็ยังดี คุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ก็ยังดี
วิฑูรย์ อธิบายว่า เมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องใหญ่ เป็นอนาคตของโลก ปัญหาคือเมล็ดพันธุ์เหล่านี้สูญหายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงสองทศวรรษมานี้ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว มีนักวิทยาศาสตร์จากอเมริกามาช่วยไทยเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าว เขาใช้ช่วงเวลาสั้นๆ เก็บรวบรวมตัวอย่าง 35 อำเภอ ได้พันธุ์ข้าวมา 100,000 กว่าตัวอย่างพันธุ์ แต่ปัจจุบันข้าวที่เราปลูกอยู่ในพื้นที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวเพียง 5 สายพันธุ์
ศูนย์กลางพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในโลกมีอยู่ไม่กี่แห่ง ความหลากหลายของโลกนี้มีอยู่ไม่กี่ที่ ไทยก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความหลากหลายเหล่านี้ เป็นตรงกลางของความหลากหลาย 3 กลุ่มทั้งจากอินเดีย มลายู และตอนใต้ของจีน ไทยจึงมีความหลากหลายมาก ไทยจึงมีจุดแข็งที่ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย เช่น วัฒนธรรมอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชและระบบเกษตรกรรม
ระบบพันธุกรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตการเกษตร พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เป็นตัวกำหนดระบบการผลิต ในสารคดี “Seed: The Untold Story” เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) นักวิทยาศาสตร์และนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวว่า “ถ้าจะยึดกุมประเทศให้ยึดแหล่งน้ำมัน ถ้าจะยึดกุมประชาชนให้ยึดกุมอาหาร”
วันดานา ชีว่า (Vandana Shiva) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม บอกว่า “ดังนั้นถ้าจะยึดกุมอาหารให้ยึดกุมเมล็ดพันธุ์”
ปัญหาใหญ่ที่เจอคือ อยู่มาวันหนึ่งพันธุ์พืชที่เราเคยใช้ตกอยู่ภายใต้ระบบการค้าที่บริษัทใหญ่ๆ เข้าไปมีบทบาท มีการออกนโยบายและกฎหมายเรื่องสิทธิบัตร ถ้าดูจากเหตุและผลของเขาก็จะอ้างเรื่องการมีสิทธิบัตรจะสร้างแรงจูงใจให้กับนักปรับปรุงพันธุ์ เป็นหลักประกันให้เราได้อาหารที่ดี แต่เมื่อมีสิทธิบัตรเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกไม่ได้ 

อยู่ๆ การปลูกเมล็ดพันธุ์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายได้ยังไง?

วิฑูรย์กล่าวว่า ภายใต้พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2518 การขายเมล็ดพันธุ์ที่ถูกประกาศว่าเป็นพันธุ์พืชควบคุมคุณภาพ จะต้องไปขอใบอนุญาต (ใบ พพ.) ไม่งั้นจะผิดกฎหมาย เหตุผลที่ใช้อ้างคือเพื่อไม่ให้มีบริษัทหลอกขายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี ดังนั้นรัฐจึงต้องควบคุม
แต่สิ่งนี้เป็นปัญหาในหลายประเทศเมื่อเกษตรกรรู้สึกว่าเขาไม่ควรจะเป็นเพียงแค่คนบริโภค เพราะในอดีตที่ผ่านมาเขาเก็บรักษาพันธุ์ และขายมัน แต่วันหนึ่งเขาทำไม่ได้ ถ้าทำต้องไปขออนุญาต หลายประเทศในยุโรปคนเริ่มต้นเก็บเมล็ดพันธุ์ขายก็โดนจับ เมืองไทยการบังคับใช้กฎหมายอาจไม่เข้มงวดเท่าไหร่ ก็ยังมีคนขายเมล็ดพันธุ์อยู่ได้
แต่สิ่งเหล่านี้เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน วันที่ 5 ต.ค. 60 กรมวิชาการเกษตรประกาศว่าจะออก พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งเท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้จะไปยกเลิก พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับเก่าปี 2542 และเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นระหว่างวันที่ 5-20 ต.ค. เท่านั้น (แต่ปัจจุบันหลังจากมีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทำให้กรมวิชาการเกษตรขยายเวลารับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 20 พ.ย.)
โดยกรมวิชาการเกษตรระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการร่างกฎหมายเพื่อให้เป็นไป “ตามแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(อนุสัญญา UPOV 1991)” และรองรับ “แนวโน้มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จะผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV1991”

UPOV 1991 คือ?

UPOV (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants) คือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นการตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์พืช โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปกป้องสิทธิ สร้างแรงจูงใจในการค้นพบพันธุ์พืชใหม่ สายพันธุ์ดี และจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรและผู้บริโภค บังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1961 และต่อมามีการปรับปรุงแก้ไขในปี 1972, 1978 จนในที่สุดความตกลง UPOV1991 ก็ใกล้เคียงกับการผูกขาดโดยระบบสิทธิบัตร เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกคือ จะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ แต่การถอนออกจากการเป็นสมาชิกทำได้ยาก และอาจมีผลทำให้ประเทศที่ต้องสูญเสียค่าชดเชยในภายหลัง
นักปรับปรุงพันธุ์
นิยามของ “นักปรับปรุงพันธุ์” ใน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ หมายถึงคนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชหรือค้นพบและพัฒนาพันธุ์พืชจนได้พันธุ์พืชใหม่ ซึ่งมาจากหลักกฎหมายสิทธิบัตรอเมริกา ถ้าพบว่ามีพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะพิเศษบางอย่างและนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรได้
ซึ่งอเมริกากำลังทบทวนเรื่องนี้ในหลายกรณี แต่ตอนนี้กฎหมายของไทยกำลังใส่เรื่องนี้เข้าไปด้วย และคำว่า “ค้นพบ” อาจตีความได้ว่า ใครก็ตามสามารถส่งคนเข้ามาดูพันธุ์พืชต่างๆ ถ้าพบพันธุ์ใหม่ๆ ก็ขอขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ได้
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ได้ผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับระบบกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืชตามระบบ UPOV1991 ทั้งที่เป็นการผลักดันโดยตรงและผ่านการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ความตกลง FTA อาเซียน-ยุโรป (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี)  เป็นต้น แต่ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จ
ในปี 2557 มีสัมมนาที่สนับสนุนโดยกรมการค้าเมล็ดพันธุ์กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องการเข้าภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV 1991 ดีอย่างไร และผู้สนับสนุนซึ่งประกาศอยู่ในเว็บไซต์ http://www.thasta.com ได้แก่บริษัทเกี่ยวกับพันธุ์พืชขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก เช่น มอนซาโต้ ไพโอเนีย แปซิฟิก อีสต์เวสต์ซีด ซินเจนทรา รวมทั้ง เจียไต๋ ศรแดง และอื่นๆ
โดยได้ชี้แจงผลดีของ UPOV 1991 ว่า
  • ทำให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของประเทศเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้
  • ทำให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาสายพันธุ์มากยิ่งขึ้น และไม่ทำให้เกิดการผูกขาด หรือทำให้ราคาแพงโดยไม่เหมาะสม
  • ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์มากยิ่งขึ้น
  • ทำให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพดีขึ้น เกษตรกรได้ผลผลิตคุณภาพดีขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้
  • ทำให้การแข่งขันเป็นไปโดยยุติธรรม มีกฎกติกาเป็นที่ยอมรับ ที่ชัดเจน
  • เป็นการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งในประเทศ และการส่งออกต่างประเทศ
  • ปกป้องชื่อเสียงของประเทศในประชาคมโลก
  • สนับสนุน และเสริมสร้างให้มีคุณธรรมและจริยธรรม ระหว่างผู้ประกอบการ
และผลเสียหากไม่เข้าเป็นสมาชิกของ UPOV 1991 ว่า
  • ต้องเพิ่มมาตรฐานในการทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ การขโมยสายพันธุ์ ทำไม่ได้ หรือ สร้างความลำบากมากขึ้น
  • เกษตรกรจะยากจนลงมากขึ้น เพราะได้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพมาเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ดี หรืออาจขาดทุน
  • ขาดความน่าเชื่อถือต่อคู่ค้าและประชาคมโลก
  • ทำให้ภาครัฐต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลเกษตรกรมากขึ้
  • เสียโอกาสในการแข่งขัน กับต่างประเทศ
  • หมดโอกาสในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม (Seed Hub)
แน่นอนว่านี่เป็นการนำเสนอเพียงแค่ข้อดีของ UPOV 1991 เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ที่ประกาศชัดเจนว่าเพื่อให้เป็นไปตาม UPOV 1991 รวมถึงการผลักดันให้ไทยเข้าร่วม UPOV 1991 นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากบริษัทขนาดใหญ่ผู้ครอบครองส่วนแบ่งหลักทางการตลาดเป็นผู้สนับสนุน

อีกด้านของ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช

วิฑูรย์ กล่าวว่า บางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในกฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์ ขยายพันธุ์ และต้องการจะพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ ด้วยตัวเกษตรกรเองจะทำได้ลำบากมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่อยู่ใน มาตรา 35 ในร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่
แม้ทุกครั้งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจะพูดถึง วรรคแรกของมาตรา 35 ว่า "เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง"
แต่ วรรค 2 ของมาตรา 35 ซึ่งดูเหมือนมีอำนาจมากกว่าวรรคแรก กล่าวว่า "เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้"
หมายความว่าในวรรคแรกคือหลักทั่วไป แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐมนตรีประกาศก็สามารถทำให้วรรคแรกนั้นหมดความหมายได้ และสามารถห้ามไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้ทันที และสิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์มาโดยตลอด กฎหมายใหม่นี้เน้นคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ และวรรค 2 ในมาตรา 35 นั้น ถึงที่สุดจะกระทบต่อเกษตรกร
นอกจากนี้ หากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน จะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การควบคุมไม่ให้เกษตรกรเอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ

1. ทำให้เป็นลูกผสม
หมายถึง มีต้นพ่อ ต้นแม่ ผสมกันได้ต้นลูก ซึ่งจะมีผลผลิตที่ดีกว่าพ่อและแม่ เป็นเทคนิคที่เลือกพันธุ์แท้สองพันธุ์มาผสม การปลูกข้าวโพดใช้เทคนิคนี้แทบทั้งสิ้น ถ้าเราไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดปัจจุบันที่ขายอยู่กิโลกรัมละ 150-180 บาท เราจะไม่สามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้เพราะเมื่อเอาไปปลูกแล้วผลผลิตที่ได้จะน้อยมากจนแทบไม่มี หรือ "เป็นหมัน" นั่นเอง
ด้านหนึ่งการใช้เทคนิคนี้ได้ผลผลิตที่ดีกว่าพ่อและแม่ แต่อีกด้านเป็นความตั้งใจของบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วยที่เมื่อเราไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกเราต้องไปซื้อทุกฤดู และเราต้องผูกติดอยู่กับการทดลองของบริษัทว่าเขาจะทำพันธุ์แบบไหนมาให้เรา
2. การทำสัญญากับบริษัท เมื่อคุณซื้อเมล็ดพันธุ์ คุณเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้
(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ๋)
3. การทำสิทธิบัตร คือการเอาแนวคิดแบบอุตสาหกรรมมาใช้ เมื่อใดก็ตามที่คุณค้นพบสิ่งใหม่และสามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ คุณสามารถจดสิทธิบัตรได้ ยกตัวอย่างสิทธิบัตรตัวหนึ่งของบริษัทมอนซาโต้ (Monsanto - บริษัทมหาชนจำกัดด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรข้ามชาติ) ซึ่งตอนนี้อเมริกามีสิ่งนี้แล้วแต่เมืองไทยยังไม่มี แต่เมืองไทยมีสิ่งที่คล้ายกับสิ่งนี้คือกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่ว่า
(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่)

ผลของกฎหมายสิทธิบัตร

Vernon Hugh Bowman
วิฑูรย์ยกตัวอย่าง Vernon Hugh Bowman เกษตรกรชาวอเมริกา จากรัฐอินเดียน่า ซึ่งความผิดของเขานั้น เป็นสิ่งเดียวกับใน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ของไทยเขียนไว้
ปกติ Bowman จะปลูกข้าวสลับกับถั่วเหลือง แต่ในการซื้อเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเขาไม่ได้ไปร้านขายเมล็ดพันธุ์ แต่ไปซื้อถั่วเหลืองทั่วไปที่นำมาประกอบอาหารเพื่อนำมาเพาะปลูก ท้ายสุดเขาโดนฟ้องจากบริษัทมอนซาโต้ สู้กันหลายปี ในที่สุดเขาแพ้คดี คำตัดสินระบุความผิดของเขา 2 ข้อ คือ หนึ่ง  เขาต้องจ่ายค่าเสียหายที่เป็นค่าเมล็ดพันธุ์ และสอง เขาทำการละเมิดเมล็ดพันธุ์ โดยเมล็ดถั่วเหลืองที่เขาปลูกมีสิทธิบัตรของมอนซาโต้อยู่ เพราะฉะนั้นถั่วเหลืองที่ผลิตได้ก็ถือเป็นทรัพย์สินของมอนซาโต้ด้วย
ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ หากต้องการปลูกต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกเท่านั้น ไม่สามารถซื้อเมล็ดตามท้องตลาดทั่วไปที่เป็นไปเพื่อการประกอบอาหารได้
ทั้งนี้ ในกรณีของอเมริกาเป็นจีเอ็มโอ การรับรองจึงเป็นเรื่องของสิทธิบัตรจีเอ็มโอ ซึ่งดูกันที่ยีนและพันธุกรรม แต่ของไทยยังไม่มีสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ มีแค่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช
จีเอ็มโอ ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Genetically Modified Organisms (GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตซึ่งไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ หรือแบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ ที่ถูกดัดแปลง พันธุกรรม จากกระบวนการทาง พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)โดยจากการตัดเอายีน(gene)ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มาใส่เข้าไปในยีน (gene )ของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยตามปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรรมชาติ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ที่มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติตามที่ต้องการ

การขยายอำนาจผูกขาด ในร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่

พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชในปี 2542 ก็ให้สิทธิในการคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ ถ้าวิจัยมาแล้วพบว่าเป็นพันธุ์ใหม่ สามารถได้สิทธิผูกขาดการขาย แต่ไม่สามารถห้ามเกษตรกรเอาพันธุ์ไปปลูกต่อ แต่ ณ ปัจจุบัน ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ได้ขยายอำนาจการผูกขาดของนักปรับปรุงพันธุ์ออกไปอีก 4 เรื่อง ได้แก่
1. ขยายเพดานการผูกขาดพันธุ์พืช จาก 12-17 ปี เป็น 20-25 ปี
2. ขยายการคุ้มครองลักษณะพิเศษไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากเมล็ดพันธุ์ไปถึงตัวผลิตผลและผลิตภัณฑ์
ยกตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิมีความหอมเป็นลักษณะสำคัญ แต่นักปรับปรุงพันธุ์พัฒนาจนเป็นข้าวหอมมะลิสีม่วง ปรากฎว่ามีคนเอาข้าวหอมมะลินี้ไปปลูกแล้วกลายพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์จนข้าวหอมมะลินี้มีวิตามินอีสูงมาก จนนำไปใช้เป็นยาเป็นเครื่องสำอางได้ แต่ยังมีสีม่วงอยู่ กฎหมายนี้บอกว่า ถ้ามีลักษณะพิเศษนี้ของบริษัทอยู่ ให้ถือว่าสายพันธุ์นั้นเป็นสายพันธุ์ย่อยของบริษัท
คล้ายๆ กฎหมายของอเมริกา เกษตรกรเอาไปปลูกต่อไม่ได้ แต่ที่แย่กว่าคือ สิทธิบัตรพันธุ์พืชดูกันที่ยีน ซึ่งต้องดูกันในห้องแล็บ ฟ้องร้องกันถึง 4-5 ปี แต่อันนี้ดูแค่ลักษณะคือดูด้วยตาเท่านั้นเอง
3. คุ้มครองสิทธิในการขยายพันธุ์จนไปถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ แต่เดิมถ้าได้รับการคุ้มครองจะมีสิทธิเฉพาะการขยายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ หน่อ กิ่งตอน แต่ร่างกฎหมายใหม่เลยไปถึง ผลิตผล เช่น ถั่วเหลืองที่นำไปทำกับข้าว และผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำเต้าหู้
4. ทำลายหลักการแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรหรือเจ้าของพันธุ์นั้น
แต่เดิมบริษัทเมล็ดพันธุ์ นักวิจัยยาจากต่างชาติ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ นำไปทำยา หรือปรับปรุงเป็นพันธุ์ใหม่ ต่างชาติจะได้สิทธิผูกขาดแต่ไม่เคยทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์จากประเทศเจ้าของทรัพยากร แต่ภายหลังมี ข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ขึ้นมา ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือสิทธิทรัพยากรชีวภาพ หมายความว่าต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม และให้การรับรองบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งหลายประเทศเปลี่ยนกฎหมายจนปัจจุบันกลายเป็นกฎหมายทั่วไปแล้ว
ไทย อินเดีย คอสตาริกา ฯลฯ เป็นแม่แบบของการผลักดันกฎหมายนี้ ใน .ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 จึงเขียนว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ใช้พืชท้องถิ่น ต้องขออนุญาตและแสดงแหล่งที่มา
แต่ปรากฎว่าสิ่งที่เห็นในกฎหมายปัจจุบันได้แก้ไข 2 เรื่อง คือ
 (1.) ตัดข้อความของกฎหมายเดิมที่บอกว่า ถ้าขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มา ว่าใช้สารพันธุกรรมอะไร เปลี่ยนเป็น “ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด” (ร่างพ.ร.บ.มาตรา 18 วรรค 3) หมายความว่าถ้ากฎหมายผ่าน การขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ก็ไม่ต้องบอกที่มา ถ้าต่อมาเราพบว่าเขาใช้สารพันธุกรรมจากที่ใด เราต้องไปพิสูจน์เอาเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
การแก้ไขดังกล่าวมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์
และเมื่อเรามองดูทั่วโลกจะพบว่า การแสดงที่มาเป็นพื้นฐานของกฎหมายทั่วโลก เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งแทบไม่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชเลย หรือ นอร์เวย์ และจีน ล้วนแต่มีข้อความนี้ปรากฎอยู่ในกฎหมายสิทธิบัตรและคุ้มครองพันธุ์พืช
(2.) เขียนข้อยกเว้น มีการเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า "พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป" หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือ พันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ (ร่างพ.ร.บ.มาตรา4) การแก้คำนิยามดังกล่าวเป็นช่องโหว่มหาศาล ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้โดยเพียงแต่เอาพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือ พันธุ์พืชป่า มา “ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์” เสียก่อน เท่านี้ก็ไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว
ตัวอย่างเช่น โดยปกติแล้วการปรับปรุงพันธุ์พืชทั่วไปจะต้องใช้หลายสายพันธุ์ สมมติว่าเจตนาจะใช้ยีนความหอมของข้าวหอมมะลิ เอายีนนั้นมาใช้ในพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่อยากแบ่งผลประโยชน์ เขาสามารถเอาข้าวหอมมะลิไปผสมกับข้าวอื่นแล้วค่อยดึงลักษณะที่ต้องการจากพันธุ์ข้าวใหม่นั้นมาใช้ แค่นี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ได้
ถ้ารวม 2 ข้อนี้ เท่ากับว่า กลไกที่เราเคยสร้างมาเพื่อคุ้มครองทรัพยากรของชาติก็จะถูกทำให้ไม่มีความหมายนั่นเอง

ใครจะได้ประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้?

ต้องดูว่าใครถือครองตลาดพวกนี้ไว้ ในระดับโลก 8 บริษัทครอบครองตลาดไว้ 75 เปอร์เซ็นต์ 
จากรูป ตลาดเมล็ดพันธุ์โลก มี 8 บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะสนใจการจดทะเบียนพืชไร่ ซึ่งเกษตรกรต้องซื้อปลูกอยู่แล้วทุกฤดูกาล
ในไทย ข้าวโพดซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 3,000 ล้านบาท ซีพีมีส่วนแบ่ง 31.7 เปอร์เซ็นต์ ใช้สายพันธุ์ที่ได้สิทธิบัตรจากมอนซาโต้ มอนซาโต้มีส่วนแบ่ง 22.8 เปอร์เซ็นต์ ซินเจนด้า 12.8 เปอร์เซ็นต์ ดูปองด์เพเนีย 13.9 นั่นแปลว่ากว่าครึ่งหนึ่งของตลาดอยู่ในมือของซีพีและมอนซาโต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรกัน ถ้านักเศรษฐศาสตร์จะใช้คำว่า “กึ่งผูกขาด”
ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักในไทย ส่วนแบ่งตลาด 2,100 ล้านบาท ปัจจุบันมอนซาโต้และอีสเวสต์เป็นพันธมิตร ทำตลาดด้วยกัน  ถือครอง 38 เปอร์เซ็นต์ ส่วนซีพีถือครอง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นอื่นๆ
ตัวเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและผักส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ผสม หมายความว่าเราเก็บพันธุ์ได้ยากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแรงจูงใจสำคัญของกฎหมายในมาตรา 34 วรรค 2 ที่ว่าถ้ามีประกาศเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกต่อไม่ได้ มันจะถูกนำมาใช้กับตลาดที่ใหญ่ที่สุดก็คือตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 20,000 ล้านบาท เขาสามารถห้ามชาวบ้านไม่ให้เก็บเมล็ดข้าวมาปลูกต่อได้เลย
และทันทีที่ใช้กฎหมายแบบนี้ ราคาเมล็ดพันธุ์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราคาสินค้าจะแพงขึ้น?

(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่)
วิฑูรย์กล่าวว่า มีงานวิจัยเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบกับอเมริกาซึ่งเพิ่งมาเข้าร่วม UPOV 1991 ในปี 1999 พบว่าปี 1999-2007 เมล็ดพันธุ์ราคาสูงขึ้นอย่างชัดเจน แพงขึ้นประมาณ 2.5-3 เท่า ข้อมูลของ UFTA เปรียบเทียบชัดเจนระหว่างต้นทุนของเมล็ดพันธุ์กับต้นทุนของฟาร์มโดยรวม ซึ่งส่วนของเมล็ดพันธุ์นั้นพุ่งสูงขึ้นเหนือกว่าต้นทุนของฟาร์มโดยรวมอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกัน
ดังนั้นชัดเจนว่าการมีกฎหมายนี้ในที่สุดเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้น
ตอนมีการเจรจา FTA (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี) ไทยกับสหภาพยุโรป ระหว่างเจรจากันอยู่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการบอกว่า จะเจรจาแบบไม่มีความรู้ไม่ได้ อย่างน้อยต้องดูผลกระทบ มีผลดี ผลเสียอย่างไร จึงมีการผลักดันให้เกิดงานวิจัย ซึ่งช่วงนั้นมีงานวิจัยใหญ่ๆ ประมาณ 6-7 ชิ้น มีเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องยา เรื่องอุตสาหกรรมทั้งระบบที่จะได้รับผลกระทบ
ซึ่งการวิจัยคือการเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา มีการศึกษาในเมืองไทยว่าถ้าใช้กฎหมายที่ห้ามชาวบ้านเอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อจะเกิดอะไรขึ้น และเทียบว่าในกรณีที่เป็นพันธุ์พืชทั่วไปถ้าห้ามไปปลูกต่อแบบเดียวกับพันธุ์ลูกผสม ราคาจะเป็นยังไง
โดยงานวิจัยของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่า ตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเดิมอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท จะกลายเป็น 60,000-100,000 ล้านบาท ถ้ากฎหมายนี้เป็นไปแบบที่เขาต้องการ จะสามารถควบคุมชาวบ้านเมื่อไปซื้อพันธุ์จะซื้อแล้วปลูกได้หนเดียว จึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้งที่ปลูก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นการผลักภาระให้เกษตรกร
วิฑูรย์ยกตัวอย่าง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีบริษัทขนาดใหญ่ผลักดันการปลูกข้าวลูกผสม ในตอนนั้นเมล็ดพันธุ์ข้าวปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท แต่ทันทีที่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมที่จะเก็บไปปลูกต่อไม่ได้ ราคาจะขึ้นทันทีเป็น 150 บาทต่อกิโลกรัม โดยเขาอ้างว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิม จากปกติในพื้นที่ชลประทานจะปลูกได้ประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่ จะเพิ่มขึ้นถึง 1,500 กิโลกรัมต่อไร่
แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายของรัฐ ไบโอไทยส่งนักวิจัยไปติดตามเมล็ดพันธุ์ที่บริษัทส่งเสริมให้เพาะปลูก เอาสมุดบันทึกของเกษตรกรแต่ละรายมาดูว่าผลิตได้เท่าไหร่ ปรากฏว่าได้เพียง 800 กว่ากิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น

ตั้งพนักงานของบริษัทเพื่อล่าการละเมิดสิทธิบัตร

ในสารคดี “Seed: The Untold Story” กล่าวว่าด้วยกระบวนการเหล่านี้สิ่งที่เราจะเห็นจะมีการส่งพนักงานของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อล่ารางวัลจากการละเมิดสิทธิบัตร ในอเมริกามีข้อมูลการฟ้องร้องคดีดังนี้

ผลกระทบต่อเราผู้บริโภค

(คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่)
วิฑูรย์กล่าวว่า ท้ายสุดวงจรเรื่องนี้จะมาถึงพวกเราทุกคน เมล็ดพันธุ์แพงขึ้น ต้นทุนอาหารก็แพงขึ้น ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ที่บอกว่าจะสร้างแรงจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์ งานวิจัยในยุโรปบอกว่าหลังการใช้กฎหมาย UPOV พันธุ์พืชหลากหลายน้อยลง บริษัทเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เจ๊งไป และแทนที่จะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการแต่กลับไป กระตุ้นให้เกิดการวิจัยพันธุ์พืชบางอย่างที่ให้ผลตอบแทนทางกำไรมากกว่า เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ
หรือข้อดีอีกอย่างที่บอกว่าถ้าใช้กฎหมายนี้เราจะได้พันธุ์ดีจากต่างประเทศเข้ามา แต่อเมริกาวิจัยเรื่องนี้ สำรวจประเทศที่เข้า UPOV ตั้งแต่ UPOV 1978 UPOV 1991 ปรากฏว่าไม่เป็นความจริง หนึ่ง ไม่มีพันธุ์พืชใหม่เข้ามาอย่างที่อ้าง บางประเทศเพิ่ม บางประเทศลด โดยรวมไม่ปรากฏชัดเจน สอง เปลี่ยนจาก UPOV 1978 ซึ่งชาวบ้านยังเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ เป็น UPOV 1991 ไม่อนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งให้การผูกขาดมากขึ้น
โดยสรุปคือผู้บริโภคจะเจอเมล็ดพันธุ์ซ้ำๆ ที่บริษัทผลิตขึ้นมาสร้างผลกำไรให้เขา แต่เราอย่าหวังว่าจะได้พันธุ์พืชที่ดีที่หลากหลาย อาหารก็จะแพงเนื่องจากต้นทุนแพงขึ้น ปกติราคาเมล็ดพันธุ์ถ้าเทียบทั้งต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารับระบบนี้ต้นทุนเมล็ดพันธุ์จะมีสัดส่วนประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดทางการเกษตร และสิ่งนี้จะถูกผลักภาระไปให้ผู้บริโภคทั้งหมด

กฎหมายนี้จะกระตุ้นนักปรับปรุงพันธุ์ให้พัฒนา?

กรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่เคยติดตามเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการคุ้มครองพันธุ์พืช กล่าวคือ การให้สิทธิเจ้าของสิทธิบัตรอย่างเข้มข้นมากๆ โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อให้มียามากขึ้น คนจะได้มีกำลังใจในการผลิตยามากขึ้น แต่กลายเป็นว่า ยิ่งผูกขาดมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งจะผูกขาดสิ่งที่เขามีจนไม่คิดค้นยาอื่นๆ ยาที่เป็นโมเลกุลใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นน้อยมากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา
ผู้ฟังเสวนาร่วมเสนอประเด็นว่า ถ้ามันจะนำไปสู่การคุ้มครองพันธุ์พืชจริงๆ ทำไมเราถึงสนใจสิทธิในการครอบครองมากนัก ถ้าพวกเราคิดว่าเรามีสิทธิที่จะใช้พันธุ์พืชร่วมกัน จะทำยังไงไม่ให้สิทธิมันเบียดเบียนกัน สิทธิของเกษตรกร สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ สิทธิของชุมชนที่มีทรัพยากรนั้นๆ ควรเท่าเทียมกัน ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมถกเถียงกันจริงจัง และมาตรา 35วรรค 2 เหมือนเอาสิทธิของเกษตรกรมาทีหลัง แต่พิจารณาสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์และผู้ว่าจ้างมาก่อน

ที่มาของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช

วิฑูรย์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 16 มี.ค. 59 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เชิญหลายฝ่ายไปให้ความคิดเห็น เปิดแค่ครึ่งวัน ไม่แจกเอกสารแม้แต่ชิ้นเดียว มีแค่การฉายสไลด์ บางคนได้รับจดหมายในตอนเช้าวันนั้น แล้วก็ต้องมาประชุมเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ไบโอไทยได้รับจดหมายหนึ่งวันก่อนการประชุม ซึ่งรวบรัดมาก เราต่อรองว่าขอส่งจดหมายเพื่อบอกว่ามีปัญหาอะไรบ้างในสไลด์ที่เขาฉาย ปรากฏว่าสิ่งที่เสนอไปไม่ปรากฏเลยในร่างกฎหมายที่เขาประกาศอยู่ปัจจุบัน
จึงเห็นว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้เป็นแค่เพียงพิธีกรรม โดยเจตนาของการร่างกฎหมายเขาเขียนไว้แล้วว่าเขาต้องการร่างกฎหมายให้เป็นไปตาม UPOV 1991 และสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมดอยู่ใน UPOV 1991 เพราะฉะนั้นถ้าเขายืนหลักนี้อยู่ การไปเสนอความเห็นก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย แล้วเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคนให้ความเห็นกี่หมื่นราย เขาจะพูดตามความเป็นจริงไหม
“ถ้าผมจะเสนอตอนนี้ ทำจดหมายถึงรมว.กระทรวงเกษตรฯ และ cc กรมวิชาการเกษตร และโพสต์จดหมายนั้นในเฟสบุ๊กของพวกเรา ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง เราจะรวบรวมเรื่องนี้มาผลักดันต่อทางนโยบาย ถ้าสู้ไม่ได้เพราะอยู่ในเวลาเร่งรัด เราต้องสู้ในเวทีใหญ่กว่านั้น คนที่มีอำนาจตัดสินใจมากกว่านั้น ตอนนี้เราก็ทำจดหมายกลางไว้แล้ว” วิฑูรย์กล่าว

จีเอ็มโอจะได้รับการคุ้มครองง่ายขึ้นด้วยไหม?

วิฑูรย์ให้ความเห็นว่า ในกฎหมายเดิมเขียนไว้ว่าถ้าคุณประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ คุณต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน แต่กฎหมายนี้ตัดข้อความนี้ออกไป หมายความว่าถ้าเขาจะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ก็ไม่ต้องทำแบบนั้นแล้ว
แต่ ณ ปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเรื่องจีเอ็มโอ การที่เขาจะขอรับการคุ้มครองอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าวันใดก็ตามรัฐบาลผ่านเรื่องจีเอ็มโอ เขาก็สามารถเข้ามาขอรับการคุ้มครองได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการทดลอง เช่นเดียวกับเรื่องการแสดงที่มาของสารพันธุกรรม
กรรณิการ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้าที่มีจีเอ็มโอ แต่ให้แสดงแค่ 2 ผลิตภัณฑ์เท่านั้นคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากข้าวโพดและถั่วเหลือง และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ 1 ใน 3 อันดับแรก มีเกิน 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และไม่บังคับว่าตัวจะเล็กขนาดไหน พบว่ามีซีเรียลที่มีผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ แต่เขียนฉลากด้วยตัวหนังสือที่เล็กมาก มูลนิธิผู้บริโภคพยายามผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่รัฐบาลบอกว่าจะคุ้มครองผู้บริโภค รัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่าไม่มีปัญหา จะแสดงทุกผลิตภัณฑ์ที่มีจีเอ็มโอ มีปริมาณเท่าไหร่ตามที่สามารถตรวจค้นได้ก็ต้องใส่ตามนั้น 3 เดือนเสร็จ แต่จนป่านนี้ 2 ปีมาแล้วก็ยังไม่เสร็จ

อ้างอิง:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.