Posted: 19 Oct 2017 12:57 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

โฆษณาของสำนักงานสลากกินแบ่งที่ผมได้เห็นทางทีวี ย้ำความซื่อสัตย์โปร่งใสในการดำเนินงาน มีภาพการออกสลากที่มีกระบวนการที่ทำให้เจ้าหน้าที่และกรรมการที่เชิญมา จะล็อกเลขไม่ได้ง่ายๆ

แต่นักเล่นจำนวนมากที่ผมได้พบต่างก็เชื่อว่า เฮ้ย หวยล็อกทั้งนั้นแหละ จะใครล็อก ล็อกอย่างไร และล็อกทำไม ต่างคนต่างกลุ่มก็มีเรื่องเล่าของตน ซ้ำกันบ้างไม่ซ้ำกันบ้าง บางเรื่องที่เล่ากันก็โลดโผนจนน่าตกใจ

กระเทือนต่ออุปสงค์ของหวยรัฐบาลหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่กระเทือนอะไรทั้งสิ้น เพราะแม้แต่คนที่เชื่อว่าหวยถูกล็อก ก็ยังซื้อทุกงวดอย่างไม่ลังเล

ผมถามเขาว่า ถ้าเชื่อว่าล็อกแล้วจะซื้อทำไม คำตอบของเขามีตรรกะกว่าคำถามของผมตั้งแยะ เขาบอกว่าล็อกก็ออกเลขหนึ่ง ไม่ล็อกก็ออกเลขหนึ่ง ทั้งสองอย่างคือเลขที่เขาต้องเสี่ยงเท่ากัน และเขาก็ประกันความเสี่ยงไว้อย่างสุดความสามารถแล้ว นับตั้งแต่ตีใบ้หวยของอาจารย์ หรือขูดต้นไม้มาหมดแล้ว

จริงของเขานั่นแหละ แต่ก่อนเมื่อเป็นหวย ก. ข. นายบ่อนเป็นคนเลือกพยัญชนะเอาเอง เขาก็ยังเล่นกันมาแล้ว การแทงหวยคือแทงใจนายบ่อน หรือแทงใจคนล็อกเลขต่างหาก ใครบอกว่าแทงตัวอักษรหรือตัวเลขกันเล่า

แต่ถ้าหวยรัฐบาลถูกล็อกจริง ย่อมหมายความว่ามีบางคนเอาเปรียบคนอื่น อย่างน้อยก็ไม่ต้องคอยขูดต้นไม้ ร้ายไปกว่านั้นก็คือเมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่กลับปล่อยให้มีการล็อคเลขรางวัลได้ เราจะปล่อยให้รัฐบาลที่ไว้ใจไม่ได้เช่นนี้ไปทำอะไรอื่นที่สำคัญกว่าออกหวยได้อย่างไร

ผมอยากเดาว่า เขาคงเห็นด้วยหมดนั่นแหละ และหากผมจะไปทำอะไรเพื่อให้เลิกล็อกหวย เขาก็คงอวยพรให้ผมโชคดี แต่เขาจะแทงหวยต่อไป ไม่ว่าจะล็อกหรือไม่ล็อก เผื่อโชควิ่งมาหาเขา ถ้าเขาไม่ได้เปิดประตูนำโชคไว้ โชคที่ไหนมันจะปีนรั้วเข้ามาล่ะครับ

น่าสังเกตจากคำตอบของเขา (ซึ่งที่จริงไม่ใช่คำตอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ประมวลมาจากคำตอบ-คำสนทนากับนักแทงหวยหลายคน) ว่าโชคเป็นเกือบเหมือนกับพลังธรรมชาติ คือมันทำงานของมันเองเหมือนฟ้าผ่า มันจะผ่าลงกระบาลใครก็ได้

แต่ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว ถ้าเรามีความรู้บ้างก็พอจะหลีกเลี่ยงหรือเหนี่ยวนำโชคได้บ้าง เหมือนฟ้าผ่าแหละครับ อย่าออกไปยืนกลางทุ่งยามฟ้าคะนองก็คือเลี่ยงถูกฟ้าผ่า หรือทำสายล่อฟ้าคือเหนี่ยวนำให้ผ่าให้ถูกที่ แต่ความรู้ที่จะกำกับควบคุมโชค หรือรู้ว่าโชคและฟ้าผ่าจะอยู่ที่ไหน เป็นความรู้เกี่ยวกับพลังอื่นๆ ที่อยู่เหนือโชคอีกทีหนึ่ง พลังนั้นอาจมาจากเทพารักษ์, ลูกวัวห้าขา, พระภิกษุที่มีวิทยาคุณ, กฎแห่งกรรม, หรือการภาวนาในรูปใดรูปหนึ่งจนเกิดพลังที่อาจกำกับโชคได้
มิน่าเล่า เขาถึงบอกว่าไสยศาสตร์คือแม่ของวิทยาศาสตร์

น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า การกำกับโชค (ดีหรือร้ายก็ตาม) เป็นภาระของแต่ละคนจะต้องช่วยตัวเอง วิ่งหาพระ, เจ้าพ่อ, หมอผี, หรือทำบุญให้ทานเอาเอง ไม่มีพลังอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากในโลกปัจจุบันมาช่วย นั่นคือพลังทางสังคมที่จะกำกับควบคุมพลังอื่นๆ ที่อยู่นอกตัวเรา

ถ้าอย่างนั้น ตลอดประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่น่าจะมีความเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมีหรือไม่มีการจัดตั้งเบื้องหลังเลยก็ตาม ใช่หรือไม่

แต่เท่าที่ความรู้ของผมมี มันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ พอมีเหมือนกัน และอาจจะหลายครั้งพอสมควรด้วย ขอพูดถึงเพียงสองสามเรื่อง

ในปลายสมัยพระนารายณ์ครั้งกรุงศรีอยุธยา บาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่งรายงานว่า ประชาชนตั้งแต่ลพบุรีลงมาถึงอยุธยา ต่างถือมีดถือไม้ออกมาแสดงความโกรธเคืองพวกเข้ารีต, นักสอนศาสนา และฟอลคอนซึ่งตามความเข้าใจของชาวบ้านคือต้นเหตุของการเผยแผ่ศาสนาเข้ารีตในเมืองไทย

บาทหลวงฝรั่งเศสคนนั้นไม่ได้เข้าใจว่าเป็นม็อบจัดตั้ง แต่เกิดขึ้นโดยความพร้อมใจของประชาชนเอง (ได้ยังไงท่านก็ไม่ได้บอกไว้)

กบฏคนเล็กคนน้อยที่เกิดขึ้นบ่อยในปลายอยุธยา คงเป็นส่วนผสมของทั้งกบฏไพร่, กบฏชาวนา กบฏพระศรีอาริย์, และกบฏขุนนางเล็กๆ ระดับท้องถิ่น ปะปนกันไปอย่างแยกไม่ออก นี่ก็น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมเหมือนกัน แม้ต้องมีการจัดตั้งอยู่เบื้องหลังบ้างเป็นปรกติของความเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหลายในโลก

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวที่เป็นกลุ่มก้อน และมีเป้าหมายที่ชัดเจน จนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคมไทย หากจะเกิดขึ้นก็เพราะมีคนใหญ่คนโตบางคนหรือบางกลุ่ม ฉวยใช้การเคลื่อนไหวของประชาชนไปเป็นประโยชน์ทางการเมืองตน

ตรงกันข้ามกับที่ไม่ค่อยเชื่อว่าพลังทางสังคมอาจเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาได้ ก็คือไม่ค่อยเห็นความสำคัญของสังคมว่าเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาได้ เราเห็นบุคคลเป็นทั้งตัวปัญหาและแก้ปัญหามากกว่า คนไม่ดีได้อำนาจจึงทำให้บ้านเมืองไม่ก้าวหน้า วิธีแก้ก็คือหาคนดีมามีอำนาจแทน และป้องกันมิให้คนไม่ดีได้อำนาจอีกเลย

นอกจากวิธีคิดแบบนี้จะทำให้คนจำนวนมากต่างอ้างตัวเองว่าเป็นคนดีเพื่อเข้าถึงอำนาจ (และทรัพย์ด้วย) แล้ว ยังเป็นเหตุที่ทำให้วิชาสังคมศาสตร์ไม่ค่อยได้รับความสำคัญ เพราะสังคมศาสตร์ตั้งอยู่บนสมมติฐานเบื้องต้นว่าปรากฏการณ์ทางสังคมที่อยู่รอบตัวเรา ไม่น้อยไปกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น มีกำเนิดมาจากปัจจัยทางสังคมหลากหลายอย่าง ที่ทำกิริยาและปฏิกิริยาต่อกันอย่างสลับซับซ้อน ถ้าไม่ยอมรับสมมติฐานนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปรู้ว่าเขานับญาติกันอย่างไร สิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของตัวเขาคืออะไร และทำไมจึงไปยึดถืออย่างนั้น ฯลฯ

นอกจากสังคมศาสตร์ไม่เจริญก้าวหน้าในเมืองไทยแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่มีวันลงรากหยั่งลึกในประเทศนี้ได้เหมือนกัน เพราะประชาธิปไตยเป็นระบบเดียวในโลกที่ปลดปล่อยพลังทางสังคมให้ออกมาปฏิบัติการอย่างเต็มที่ที่สุด ไม่ใช่เพื่อให้ประเทศปลอดโกง หรือหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือปฏิรูปอะไรทั้งนั้น แต่เพื่อทำให้เกิดการถ่วงดุลกันเองระหว่างกลุ่มต่างๆ จนกระทั่งประเทศจะไม่อาจเดินไปทางที่สุ่มเสี่ยงเกินไปได้

ในสังคมสมัยใหม่ พลังทางสังคมแสดงออกได้ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ต่างๆ ที่สำคัญคือการสื่อสารคมนาคมที่ข้ามกลุ่มเฉพาะไปยังสังคมวงกว้าง ดังนั้น สื่อเสรีเท่าเทียม, เวทีวิชาการเสรีเท่าเทียม, การอภิปรายทางการเมืองเสรีเท่าเทียม, การหาเสียงเสรีเท่าเทียม, การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเสรีเท่าเทียม, การชุมนุมเสรีเท่าเทียม ฯลฯ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดพลังทางสังคมในสังคมสมัยใหม่ได้ พลังทางสังคมทำงานได้ ประชาธิปไตยก็เดินต่อไปได้ อะไรที่สุดโต่งสุ่มเสี่ยงเช่นการรัฐประหารก็เกิดไม่ได้

(ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า เราชอบคิดว่ารัฐประหารสุ่มเสี่ยงตรงที่เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษสูง หากพลาดก็ต้องรับโทษหนัก แต่ที่จริงความสุ่มเสี่ยงในการยึดอำนาจ แม้แต่ยึดเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย เกิดแก่สังคมโดยรวม เพราะผู้ยึดอำนาจย่อมไม่ปล่อยให้พลังทางสังคมทำงานอย่างเต็มที่ และมักดำเนินนโยบายสุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของตนไว้ แม้แต่คณะราษฎรเองก็แปรผันไปสู่แนวโน้มเผด็จการในระยะเวลาไม่นาน เพราะปฏิปักษ์ปฏิวัติมุ่งทำลายล้างคณะราษฎรด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญทุกอย่าง)

แต่ก็อย่างที่เรารู้อยู่แล้ว เครื่องมือของสังคมสมัยใหม่เหล่านี้ถูกขัดขวางไม่ให้พัฒนาไปอย่างเต็มที่ในสังคมไทยตลอดมา ตกอยู่ในสภาพพิกลพิการ จนไม่อาจรองรับความเคลื่อนไหวโดยสงบในสังคมไทยได้ สังคมไทยปัจจุบันกับสังคมไทยสมัยพระนารายณ์อาจไม่ต่างกัน หากจะมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีผลถึงขั้นเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ก็ต้องผ่านความรุนแรง เคลื่อนไหวกันด้วยอารมณ์โกรธเกลียด โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้อย่างไร

อย่างสำนวนของสื่อโซเชียลว่า “ดราม่า” นั้น ใช่เลย


ใช่ว่าการเคลื่อนไหว “ดราม่า” จะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเสียเลย อาจเกิดก็ได้ แต่เกิดในทิศทางที่ไม่มีใครคาดหวังมาก่อน เพราะการเคลื่อนไหว “ดราม่า” ไม่มีแผนการอนาคตที่ชัดเจนแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการวางแผนลำดับขั้นตอนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ จึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวนั้นจะถูกฉวยใช้ไปเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจและ/หรือกำไรของตน

การเคลื่อนไหว “นกหวีด” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้ว่ามีการวางแผนของชนชั้นนำร่วมด้วย แต่ด้วยกำลังอำนาจของ “ดราม่า” ต่างหาก ที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมอย่างล้นหลามเช่นนี้ แล้วในที่สุดก็มีผู้ฉวยใช้ประโยชน์ของความเคลื่อนไหว “ดราม่า” นี้ไปในทางการเมืองจนได้

ท่ามกลางความอยุติธรรมที่เราประสบอยู่ ความอยุติธรรมในทุกทาง-กระบวนการยุติธรรม, เศรษฐกิจ, การเมือง, สถานภาพทางสังคม, ฯลฯ – จะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ก็คงต้องมีความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างใหญ่อีกนั่นแหละ แต่หากมองจากวัฒนธรรมไทยตั้งแต่ปลายอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นการเคลื่อนไหว “ดราม่า” อีกเหมือนเคย ซึ่งก็คงมีคนบางกลุ่มฉวยใช้ความเคลื่อนไหวนั้น เพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างที่พระเพทราชาเคยทำมาแล้ว
ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ก็ไม่มีวันถึงรากถึงโคนพอที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนไปได้มากนัก “ดราม่า” ที่ไหนๆ ก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนรูปของสังคมได้จริงทั้งนั้น



ที่มา: MatichonWeekly.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.