Posted: 19 Oct 2017 01:46 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

ชีวิต LGBT ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้กลางความไม่สงบ 13 ปี เพราะต่างจึงเจ็บปวด การต่อรองและแตกหักระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศและอัตลักษณ์ทางศาสนา


“...เกิดเปนอิสลามแท้ๆ แต่ไม่สามารถเข้าฟังบรรยายธรรมได้ ไม่ใช่ถูกห้ามจากผู้บรรยายหรือเจ้าของงานแต่อย่างใด แต่ถูกด่าจากชาวบ้านแค่ไม่กี่คนที่ด้อยความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง อาจจะใช่ที่เราเกิดมาแบบนี้ คือตราบาปของเรา แต่เราสามารถที่จะเป็นคนดีได้ อิสลามคือการตักเตือน ไม่ใช่การด่าทอที่รุนแรง

“...บางคนโดนกระทำด้วยการปาหินใส่หัว มีดจ่อคอ มีดจี้ท้อง (นี่เป็นประสบการโดยตรงที่ตัวเองพบเจอ) บางคนโดนปาน้ำฉี่ โดนเตะตบต่อยสารพัด บางคนโดนทำร้ายร่างกายเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพียงแต่ความสะใจของอีกฝ่ายเท่านั้น ทั้งเตะต่อยถีบเหยียบหน้า ไม่ข่มขืน ไม่เอาทรัพสินใดๆ ฟังแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องตลก แต่มันคือความจริงที่เกิดขึ้นกับน้องกะเทยบ้านเราในอำเภอเจาะไอร้อง

“...ยิ่งกว่านั้นคือ แถวบ้านเราชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพกรีดยาง ไม่อยากจะเชื่อว่า ชาวบ้านบางคนเอาอาชีพของตนมาเป็นอาวุธทำร้ายพวกเรากันเอง โดยการเอาน้ำยางพาราใส่ถุง เขวี้ยงใส่พวกเราโดยไม่ลังเล น้ำยางติดหนังหัว ติดผม ขน แขน เราต่างก็รีบโกนกันไป พวกเรากะเทยสามจังหวัดชายแดนใต้โดนกระทำอย่างที่ได้กล่าวมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกือบทุกครั้งเราต้องยอม ทำอะไรไม่ได้เลย หรือทำได้ก็แค่กะเทยส่วนหนึ่งที่คิดสู้และปกป้องตัวเอง

“...ปัญหาส่วนใหญ่ของพี่ๆ ทั้งสามภาค โดยรวมแล้วคือปัญหาขัดแย้งกับครอบครัวและสังคมเท่านั้นเอง ต่างจากเราภาคใต้ ปัญหาใหญ่นอกจากสังคม ครอบครัวแล้ว ยังมีศาสนาที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างความเป็นตัวเราและศาสนาที่นับถือ นั่นคือเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ พี่ๆ สามภาคยังพุดเลยว่า ปัญหาของพี่ที่ว่าใหญ่แล้ว เจอปัญหาน้องๆ ภาคใต้ คือใหญ่มากยิ่งกว่า...”

ข้อความที่กะเทยมุสลิมคนหนึ่งส่งถึงบุษยมาส อิศดุล หรือที่เยาวชนหลายคนในพื้นที่ยะลาเรียกเธอว่า แม่แอน บ้านบุญเต็ม ที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนที่เป็นคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่ยามเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ขมขื่นในชีวิตเพียงเพราะเพศที่แตกต่าง

กรณีข้างต้นตอกย้ำว่าการทำร้ายร่างกายคนหลากหลายทางเพศมีอยู่จริง มิติทางศาสนาและวิถีชีวิตในพื้นที่ทวีความซับซ้อนของปัญหานี้ บุษยมาสเล่าว่า ทอมบางรายถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายร่างกายแต่ไม่ยอมแจ้งความเอาผิด หวั่นเกรงอำนาจอิทธิพลนั่นส่วนหนึ่ง แต่ไม่เท่าหวั่นกลัวว่าทางบ้านจะรับรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตน

............

ย่านตัวเมืองปัตตานียามเย็น ณ ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี เสียงอาซานหรือเสียงเรียกละหมาดดังแผ่คลุมเวิ้งน้ำทั้งสองฟาก ดังที่รู้ การละหมาดคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวมุสลิม คือการปฏิบัติศาสนกิจที่มุสลิมที่ดีไม่อาจละเลย มุสลิมที่ระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตนเป็นกะเทยเช่นเธอข้างบนนั้น ในสายตาของคนในชุมชน การเป็นกะเทยกับการเป็นมุสลิมที่ดีไม่สามารถอยู่ในตัวคนคนเดียวได้

คัมภีร์อัลกุรอานบัญญัติว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีเพียงสองเพศเท่านั้นคือชายและหญิง เพศนอกเหนือจากนี้คือบาป

ศาสนาพุทธแบบรัฐไทยเองก็ไม่ให้การยอมรับคนหลากหลายทางเพศ เพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่อิทธิพลของศาสนาพุทธกลับไม่ส่งผลต่อชีวิตคนกลุ่มนี้มากนัก ส่วนหนึ่งอาจเพราะสังคมไทยให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ศาสนาพุทธมีระยะห่างจากชีวิตประจำวันผู้คน ซึ่งแตกต่างจากอิสลามที่แทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิต

งานสำรวจ ‘การเคารพคนข้ามเพศเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ประสบการณ์ทางสังคมของคนข้ามเพศในประเทศไทย’ ที่จัดทำโดยเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 202 คน ร้อยละ 77 สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศในสถาบันศาสนาได้ตลอดเวลา ร้อยละ 8 สามารถเปิดเผยได้ในบางเวลา

ผู้ตอบแบบสอบถาม 161 คน ร้อยละ 42 เห็นว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้รับการให้คุณค่าในชุมชนและสถาบันทางศาสนา ขณะที่ร้อยละ 58 ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น งานชิ้นดังกล่าวยังระบุอีกว่า ร้อยละ 97 ไม่เคยถูกปฏิเสธห้ามไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ร้อยละ 1 เข้าร่วมได้แต่ต้องปิดบังความเป็นคนข้ามเพศ และร้อยละ 2 ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม

.............

ปืน 413 กระบอกถูกปล้นในคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือค่ายปิเหล็ง ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มันถูกตอกหมุดหมายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งใหม่ จวนเจียน 14 ปี สันติภาพยังห่างไกล

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อัตลักษณ์ความเป็นมลายู ความเป็นปัตตานี ความเป็นมุสลิม ทับซ้อน เกาะเกี่ยวกันจนยากที่คนนอกจะเข้าใจ ฝั่งนักวิชาการก็ไม่แน่ว่ามีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ทว่า สิ่งที่พอจะระบุได้ก็คือ อัตลักษณ์คืออีกแนวรบหนึ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับสยามหรือซีแย

สนทนากับผู้คนในปัตตานี คำว่า ซีแยมาจากคำว่าสยามก็จริง แต่ดูจะกินความไปถึงความเป็นคนนอกศาสนาอิสลามด้วย ผมมีข้อสันนิษฐานว่า กว่า 13 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบ อัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมถูกขับเน้นให้เข้มข้นขึ้นเพื่อบอกว่า ฉันเป็นใครและคุณไม่เหมือนฉัน วิถีปฏิบัติที่คลุกเคล้ากันอยู่ระหว่างจารีตวัฒนธรรมท้องถิ่นกับหลักการของอิสลามเปลี่ยนไป ประการหลังมีอิทธิพลมากขึ้น ชีวิตทางศาสนาเคร่งครัดและแน่นหนาขึ้น

มนุษย์ไม่ได้สวมใส่อัตลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว หากอัตลักษณ์ต่างๆ ในตัวพอจะไปทางเดียวกันได้ ชีวิตคงไม่ยาก แต่ถ้าอัตลักษณ์สองอัตลักษณ์ (หรือมากกว่านั้น) ปะทะกันรุนแรง ยากประนีประนอม บางครั้งโศกนาฏกรรมก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

อันธิฌา แสงชัย จากคณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และเจ้าของร้านหนังสือบูคู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐาน

“ในตัวบทคัมภีร์ของศาสนาอิสลามมีการระบุไว้อย่างเข้มแข็งชัดเจนถึงความบาปของแอลจีบีทีหรือคนที่รักเพศเดียวกัน เมื่ออัตลักษณ์ทางศาสนาเข้มข้นมากขึ้น เรื่องเพศจึงละเอียดอ่อนและมีความสำคัญมากขึ้นมาทันที เพราะถ้าที่สิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ไม่ถูกให้ความสำคัญก็แปลว่ามันอ่อนแอ คนที่พยายามสร้างความเป็นอิสลามที่เข้มข้นในพื้นที่ จึงผลักหลายสิ่งอย่างที่ไม่ได้รับการรับรองในตัวบทออกไป”

โดยทั่วไปคัมภีร์ในทุกศาสนาจะมีการถกเถียง การตีความที่หลากหลาย ต่อสู้ ต่อรองทางความคิดในการตีความ ซึ่งอันธิฌาเห็นว่ามิตินี้ในช่วงหลังๆ ขาดหายไปจากพื้นที่ ส่วนหนึ่งเพราะความต้องการย้อนกลับไปยึดมั่นกับตัวคัมภีร์แบบแน่นหนา แต่ก็ถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่ม ไม่มีวัฒนธรรมที่เปิดกว้างให้ถกเถียงเรื่องนี้

“มันเปราะบางมากๆ เพราะเขาจะเข้าใจว่าถกเถียงแปลว่าอ่อนแอ แปลว่าไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา ซึ่งเรื่องศรัทธาในศาสนาเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้น เวลาที่เราอยากตั้งคำถามบางเรื่องจึงถูกเลี่ยงหรือไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่ทำ

“เด็กรุ่นใหม่จะบอกว่าคัมภีร์ระบุแบบนี้ คนแบบนี้ผิด เราจะเห็นได้ชัดเจนมากกับเยาวชนมุสลิมรุ่นใหม่ในสามจังหวัดซึ่งต่างจากที่อื่นที่มีการปรับตัว ตอบคำถาม หรือประนีประนอมกับวัฒนธรรมอื่นได้มากกว่า ที่นี่เรากลับไม่ค่อยเห็นเด็กที่กล้าตั้งคำถามกับจารีต กับชุมชน กับวัฒนธรรมของตนเอง หรือความผิดพลาดล้มเหลวที่เกิดในชุมชนโดยผู้นำของตนเอง แต่จะวิพากษ์วิจารณ์โลกข้างนอก คุณค่าแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่คุณค่ากระแสหลักในสามจังหวัด และมองว่าคนที่นี่ถูกกดขี่แบบมิติเดียว เขาเกิดมาในสภาพที่มีความรุนแรงและยาวนานมา 13 ปี ถูกหล่อหลอม มองเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่มากมาย แต่คำตอบที่เกิดขึ้นคือการทำให้เป็นอิสลาม (Islamization) การปฏิเสธความเป็นสมัยใหม่ ปฏิเสธสิ่งอื่นที่เขาคิดว่าเข้ามาคุกคาม เข้ามาทำให้สังคมเขาอ่อนแอ” เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของอันธิฌา

.............

ประโยคแรกในคัมภีร์อัลกุรอานบัญญัติไว้ว่า ‘ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ’ เป็นประโยคที่กระจายอยู่ตลอดทั้งเล่ม


“ในตัวบทคัมภีร์ของศาสนาอิสลามมีการระบุไว้อย่างเข้มแข็งชัดเจนถึงความบาปของแอลจีบีทีหรือคนที่รักเพศเดียวกัน เมื่ออัตลักษณ์ทางศาสนาเข้มข้นมากขึ้น เรื่องเพศจึงละเอียดอ่อนและมีความสำคัญมากขึ้นมาทันที เพราะถ้าที่สิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ไม่ถูกให้ความสำคัญก็แปลว่ามันอ่อนแอ คนที่พยายามสร้างความเป็นอิสลามที่เข้มข้นในพื้นที่ จึงผลักหลายสิ่งอย่างที่ไม่ได้รับการรับรองในตัวบทออกไป”

อันธิฌาพูดกับผมว่า ในคัมภีร์พูดถึงความหลากหลายทางเพศน้อยมากก็จริง ถึงกระนั้น คำว่าความเมตตา ความรัก ภราดรภาพกลับมีอยู่มากมาย แต่กลายเป็นว่าคำเหล่านี้ถูกละเลย ส่วนตัวเธอไม่ได้คิดว่าศาสนาคือสาเหตุหลักของปรากฏการณ์ความรุนแรง การกีดกัน การเลือกปฏิบัติ หรือความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มแอลจีบีที แต่เป็นเพราะจารีตทางสังคมมากกว่า เนื่องจากเธอเองก็ประสบพบเจอสังคมมุสลิมที่ก้าวหน้าในการนำหลักศาสนาไปแก้ปัญหาทางเพศในสังคมสมัยใหม่และเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ

“เราคิดว่าเวลาพูดว่าจารีต คงเป็นความเข้าใจเรื่องจารีตผ่านคนบางกลุ่มมากกว่า ถ้าระดับชาวบ้านจริงๆ ที่อยู่ในชุมชน เราพบน้องบางคนที่มาเตะบอล เป็นทอม ไม่ใส่ฮิญาบ เตะในหมู่บ้าน เติบโตที่นั่น มีแฟนเป็นผู้หญิง เขาก็อยู่ได้ในชุมชน มันก็มีพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและต่อรองกัน ของแบบนี้มีมานานมากก่อนความเข้มข้นของจารีต ของศาสนาที่อ้างกันทุกวันนี้ พอเข้มข้นมากๆ ของแบบนี้ถูกบอกว่ามีไม่ได้ นี่ต่างหากคือสิ่งที่เกิดขึ้น”

...............

“แอลจีบีทีเป็นคำที่เกิดมาใหม่ ถ้าดูสภาพของมนุษย์ อิสลามยอมรับสภาพของแต่ละคน พระเจ้าได้สร้างให้เป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่เป็นไร ยอมรับได้ แต่ถ้ากระทำสิ่งที่ผิดต่อประเวณี สิ่งที่ผิดต่อกฎของมนุษย์ ผู้ชายปฏิบัติตนเป็นผู้หญิง ผู้หญิงปฏิบัติตนเป็นผู้ชาย อันนี้ต่างหากที่อิสลามรับไม่ได้ เพราะในอิสลามมีมนุษย์ประเภทหนึ่งที่พระเจ้าสร้างให้มีสองอวัยวะเพศในคนเดียวกัน ถ้าเกิดปัญหานี้ก็ต้องยอมรับในสภาพของคนนั้น แต่ต้องดูความต้องการของเขาว่าต้องการเป็นสภาพไหน ถ้าเขาเอนไปทางฝ่ายชายก็ต้องทำพิธีกับเขาเหมือนผู้ชาย แต่ถ้าเขาต้องการเป็นผู้หญิง ก็ต้องทำกับเขาเป็นผู้หญิง” อาฮามัดกาแม แวมูซอ รองประธานคณะกรรมอิสลาม ประจำจังหวัดปัตตานี ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ กล่าว

ผมสอบถามถึงหลักการอิสลามว่าด้วยความหลากหลายทางเพศจากอาฮามัดกาแมในห้องทำงานของเขาที่โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ ผมถามตรงๆ ว่า ในศาสนาอิสลามการเป็นกะเทยยอมรับได้หรือไม่ เขาตอบว่า

“ยอมรับได้ เพราะในอิสลามมีข้อปฏิบัติทางศาสนาอยู่แล้ว คุณเป็นผู้ชาย คุณปฏิบัติทางศาสนาอย่างการละหมาดหรือการกระทำต่างๆ คุณจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้ต้องชัดเจน ถ้าเขาเป็นกะเทย แต่ความเป็นจริงเขาเป็นผู้ชาย ก็ต้องปฏิบัติกับเขาแบบผู้ชาย ทำพิธีเหมือนผู้ชาย แต่อย่าไปกระทำในสิ่งที่ผิด เช่น ร่วมเพศกับเพศเดียวกันจะมีโทษ แต่บุคคลไม่มีปัญหา ยอมรับได้”

การเป็นกะเทยเป็นเรื่องตัวบุคคลที่อาฮามัดกาแมบอกกับผมว่า ยอมรับได้ แต่เมื่อใดที่ล่วงเลยไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันย่อมถือเป็นบาป เป็นข้อห้าม

“การแปลงเพศก็เป็นบาป แต่นั่นเป็นความผิดส่วนตัวที่ไปปรับเปลี่ยน ข้อเท็จจริงคือเขายังเป็นผู้ชาย ก็ต้องละหมาดแบบผู้ชาย”

หลักการอิสลามยังมีพื้นที่ให้กับคนหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นกะเทย แต่กับทอมดูเหมือนจะมีแนวคิดที่ต่างออกไป อาฮามัดกาแมบอกกับผมว่า กะเทยคือ ‘สภาพ’ ดั้งเดิมของคนคนนั้น ขณะที่ทอมเป็น ‘พฤติกรรม’ ที่เกิดจากอิทธิพลของสื่อ จากสิ่งแวดล้อม จากครอบครัวที่ไม่มั่นคง

“พอเราจับได้ (หมายถึงนักเรียนในโรงเรียน) ก็เรียกมาคุย คุยไปคุยมาก็อยู่ในความดูแลผมตลอด สักปีกว่าพฤติกรรมแบบนี้ก็หมดไป ไม่มีปัญหา ทอมไม่เหมือนกะเทย ไม่ใช่สภาพ เพียงแต่เกิดจากพฤติกรรมที่จะโชว์หรือประชดอะไรสักอย่างในสังคมหรือครอบครัวจึงเป็นแบบนี้ ที่เยอะคือไบเซ็กช่วล บางวันเป็นผู้หญิง บางวันเป็นผู้ชาย ไม่ได้เกิดจากสภาพดั้งเดิม แต่เป็นการกระทำชั่วคราว เกิดจากความรู้สึก ถ้าเป็นนักเรียนก็มาปรับนิสัยกัน เราก็มีวิธี

“ปีนี้มีคู่หนึ่ง เพิ่งได้รับข้อมูล กำลังจะเรียกตัวมา เป็นเด็ก ม.2 ม.3 เป็นผู้หญิงกับผู้หญิงกอดจูบกัน เราเรียกตัวมา เชิญผู้ปกครองมาคุยด้วย ก็ให้เวลาปรับตัว แยกกัน ก็ไม่มีปัญหา เพราะการเป็นทอมไม่ใช่สภาพ เป็นพฤติกรรมชั่วคราว”

................

ถามต่อว่าเคยได้ยินเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่หรือไม่

“รู้ว่ามีการทำร้ายร่างกาย ในสังคมโรงเรียนก็ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ไม่มาก มีการรังแก ทำร้ายความรู้สึก เราก็พยายามดูแล และพยายามไม่ให้สภาพของเขาเลยเถิดไปสู่การกระทำ ก็ต้องสกัดไว้ อยู่ได้ เรารับได้ จะแสดงออกก็ได้ เวลามีงานแสดงโรงเรียนก็มีกลุ่มของเขาที่ออกมากรี๊ดกร๊าด เราก็ให้โอกาส เพียงแต่ว่าอย่าเกินเลยจากสภาพที่มีอยู่ เช่น แต่งตัวเป็นผู้หญิงไม่ได้ อิสลามตั้งกฎไว้อย่างนั้น เพราะสภาพของคนเราไปบังคับไม่ได้ แต่การกระทำต่างหากที่เราต้องดู”

อาฮามัดกาแมบอกว่าเหตุการณ์ทำนองนี้มีไม่มาก อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศเวลาเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมักไม่ค่อยเปิดเผย ปิดตัวกันอยู่ในกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่ามีการทำร้ายร่างกายมากน้องเพียงใด

“แต่ถ้าอยู่ในสังคมโรงเรียนหรือหมู่บ้าน เราพยายามที่จะดูแล ถ้ามีกลุ่มนี้ขึ้นมา เราก็ต้องดูแล อย่าให้เลยเถิดเป็นการกระทำที่ไม่ดี ก็อยู่ได้ และพยายามให้เข้ากับสังคม ตัวอย่างเช่นในโรงเรียน บางคนมีพฤติกรรมแรงขึ้นเรื่อยๆ เราก็พยายามให้ความรู้ ส่วนมากช่วง ม.5 ม.6 จะกลับตัวเป็นผู้ชาย”

การทำร้ายร่างกายไม่ว่าจะกะเทยหรือทอม ในหลักการอิสลาม อาฮามัดกาแมยืนยันว่าเป็นการกระทำที่เป็นบาป

“เราสามารถห้ามได้ แต่ไม่ใช่การทุบตี ห้ามโดยการเผยแพร่ ใช้กฎระเบียบ กฎหมาย เพราะมุสลิมต้องรับผิดชอบ หากเห็นสิ่งที่ชั่วร้าย แล้วจะเฉยเมยไม่ได้ ต้องรับผิดชอบ ต้องห้าม แต่การห้ามไม่ใช่การไปทำร้าย มี 3 ระดับคือการพูดคุย การเข้าไปหา และการใช้กฎระเบียบ เพราะเขาก็เป็นมุสลิมคนหนึ่ง เราต้องพูดคุย เพราะการทำบาปของคนหนึ่งคือการหลงผิดทาง เราต้องดึงเขากลับมาโดยทิศทางที่ท่านศาสดาได้ชี้แนะ ถ้ามุสลิมทำร้ายกะเทยมุสลิมก็ใช้กฎหมายบ้านเมือง ยิ่งไปข่มขืนทอมเพราะเชื่อว่าจะกลับเป็นผู้หญิง นี่ก็ห้ามเด็ดขาด เป็นการผิดประเวณี ร่วมประเวณีโดยไม่ได้แต่งงาน บาปใหญ่เหมือนกัน”

อาฮามัดกาแมยกคำพูดว่า เราไม่สามารถนำน้ำสกปรกไปล้างสิ่งสกปรกได้

ดังนั้น มุสลิมไม่สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ แม้คนคนนั้นจะเป็นคนหลากหลายทางเพศที่หลักศาสนาระบุว่าบาป แต่นั่นก็เป็นบาปส่วนบุคคล พวกเขายังสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามสภาพเพศเดิม

“แต่ห้ามแต่งงานกับเพศเดียวกัน” นี่คือกฎเหล็ก

(ตอนต่อไป พบกับวิธีที่คนหลากหลายทางเพศจัดการกับการปะทะขัดแย้ง เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศและมิติทางศาสนาขัดแย้งกัน พวกเขาหาทางออกจากจุดนี้อย่างไร)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.