Posted: 30 Sep 2017 03:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

โสภณ พรโชคชัย

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่ารัฐบาลจะเข็น พ.ร.บ.น้ำ ถ้าออกมาได้ ก็จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง หนักกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าฉบับใหม่[1] ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มีหลักการที่ดีก็คือ ใครที่ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมต้องจ่ายภาษี ไม่ใช่นำไปใช้ฟรี ๆ เช่น ในกรณีโรงงาน "กระทิงแดง" หากมีการใช้น้ำจำนวนมหาศาลจากเขื่อนอุบลรัตน์ (น้ำพอง) ก็ควรที่จะเสียภาษี หรืออีกนัยหนึ่งควรที่ซื้อน้ำไปใช้จึงจะสมควร

แต่สำหรับชาวนาที่ต้องเสียค่าน้ำอัตราลูกบาศก์เมตรละ 0.5 บาทนั้น เป็นวิธีคิดที่ "ชั่วช้า" มาก เพราะคิดบนฐานว่าประชาชนชาวนาใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ จากข้อมูลการเกษตรพบว่า การใช้น้ำทำนานั้น มีปริมาณประมาณ 600 - 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่[2] สมมติหากใช้น้ำ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ก็ต้องเสียภาษีไร่ละ 450 บาท ถ้าทำนาได้ 2 ครั้งก็เสีย 900 บาท ถ้าทำนาปีละ 3 ครั้ง ก็จะเสียเป็นเงิน 1,350 บาท ถ้าสมมติให้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสียปีละ 1,000 บาท และที่ดินเพื่อการเกษตร มีมูลค่าไร่ละ 100,000 บาท ก็เท่ากับเสียภาษี 1% ในขณะที่ที่ดินเกษตรกรรมตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เกษตรกรที่มีที่ดินที่มีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี และหากต้องเสียก็จะเสียภาษีในอัตราเพดานเพียง 0.2%[3]

ตามข้อมูลของทางกรมชลประทานในประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำรวมของทั้งประเทศ ในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ประมาณปีละ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นความต้องการน้ำเพื่อการเกษตร สูงถึง 113,960 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75 ของความต้องการน้ำทั้งหมด[4] ถ้ามีการเก็บภาษีที่ 0.5 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ก็เท่ากับจะได้ภาษีถึง 56,980 ล้านบาท ถ้ามีการเก็บภาษีจำนวนนี้ ก็คงทำให้สินค้าต่างๆ พาเหรดกันขึ้นราคากันยกใหญ่

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ รายได้จากการจัดเก็บภาษีนี้อาจไปสู่ "25 ลุ่มน้ำ" ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า ใครจะเป็นคนได้รับภาษีนี้ไปใช้ แตกต่างจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บในท้องถิ่นและใช้ในท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นใดเสียภาษีน้ำแล้ว แต่เงินไม่ได้เข้าท้องถิ่น แต่ไปเข้าที่อื่น ก็คงจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นอีก และหากเงินเข้าท้องถิ่น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ชัดเจนกว่าที่จะเข้าสู่ส่วนกลางหรือผ่าน "25 ลุ่มน้ำ"

สิ่งที่รัฐควรดำเนินการก็คือการขายน้ำให้กับกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น บริษัทกระทิงแดงแถวเขื่อนอุบลรัตน์ บริษัทเบียร์ เช่น เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง บริษัทของนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่นำน้ำดิบมาใช้ เป็นต้น แต่คงไม่ใช่ ณ อัตรา 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินจริง การจัดเก็บภาษีนี้ และโดยเฉพาะค่าสัมปทานน้ำบาดาล ยิ่งต้องมีการจัดเก็บที่สมเหตุสมผล หาไม่ก็จะเป็นการเพิ่มความไม่เท่าเทียมในสังคม



เชิงอรรถ

[1] Nation TV: เก็บภาษีน้ำใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ

[2] ปริมาณน้ำต่อความต้องการในการทำนา 1 ไร่ เพื่อคำนวณขนาดสระที่จะขุดต่อพื้นที่ทั้งหมด
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=67434.0
[3] อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้ปี 2560
https://www.mof.go.th/home/eco/200659.pdf
[4] รายงานประจำปี 2559 กรมชลประทานhttp://www.rid.go.th/2009/_data/docs/59/RID-Annual%20Report(2559)(24M).pdf

ที่มาภาพ: http://resource.nationtv.tv/photo_news/2017/09/13/640_ea9h9ijahbfkkf5aff8kg.jpg

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.