biliscreen
ปัจจุบันวงการแพทย์กำลังหาวิธีพัฒนาแอพฯ สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่สามารถนำไปใช้เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่โรคเบาหวานไปจนถึงโรคมะเร็ง
“Biliscreen” คือชื่อของแอพฯ ใหม่ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ด้วยการถ่ายรูปแบบเซลฟี่เฉพาะในส่วนที่เป็นดวงตา แล้วให้แอพฯ นี้ช่วยตรวจวัดระดับสารบิลิรูบินในดวงตานั้น ซึ่งอาจช่วยระบุถึงอาการของโรคดีซ่านหรือถุงน้ำดีอุดตัน ตลอดจนอาการป่วยที่อาจร้ายแรงกว่านั้นได้
คุณ Alex Mariakakis นักวิจัยจาก University of Washington กล่าวว่า สิ่งที่นักวิจัยให้ความสนใจ คือการพัฒนาแอพฯ นี้เพื่อการวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่ระยะเริ่มตัน เนื่องจากปัจจุบันมะเร็งชนิดนี้มักจะตรวจพบเมื่อสายเกินไป ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูง
ดร. Jim Taylor แห่ง University of Washington หนึ่งในคณะนักวิจัยชุดนี้ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนมีโอกาสรอดชีวิตสูงหากสามารถตรวจพบโรคนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นคือสาเหตุที่แอพฯ Biliscreen จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกมากในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เวลานี้แอพฯ Biliscreen ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
คุณ Alex Mariakakis กล่าวว่า นักวิจัยกำลังพยายามเขียนโปรแกรมคำสั่งให้แอพฯ นี้ทำงานได้ตามลำดับขั้นตอนที่กำหนด เพื่อที่จะสามารถแยกแยะระดับสารบิลิรูบินว่ามีความเสี่ยงต่อโรคดีซ่านหรือโรคที่เกี่ยวกับตับอ่อนหรือไม่ อย่างไร
เท่าที่ผ่านมา แอพฯ Biliscreen สามารถระบุระดับสารบิลลิรูบินของกลุ่มตัวอย่างได้อย่างแม่นยำราว 90%
โดยในขั้นต่อไป นักวิจัยจะทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้นที่มีระดับสารบิลิรูบินต่างๆ กัน และยิ่งได้ถ่ายรูปเซลฟี่ดวงตาของกลุ่มตัวอย่างมากเท่าไร ก็จะยิ่งสามารถพัฒนาแอพฯ นี้ให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
(ผู้สื่อข่าว Kevin Enochs รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)
source ;- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166097254405718076
แสดงความคิดเห็น