วงเสวนาปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม เผยข้อมูลมีผู้ถูกขังอยู่ในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีทั่วประเทศหกหมื่นกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นคนจนไม่มีเงินประกันตัว พร้อมชำแหละเงินประกันไม่ใช่สิ่งจำเป็น แนะควรใช้ระบบประเมินความเสี่ยงหลบหนี เพื่อปล่อยตัวชั่วคราว
11 ต.ค. 2560 ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานแถงข่าว และเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณาคดี” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เฮนนิ่ง กลาซเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (CPG) , บุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1 และมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ทั้งนี้งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทำแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Chang.org ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด (11 ต.ค. 2560) 10,482 รายชื่อ
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ชี้ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ศาลต้องมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
บุญรอด ระบุว่า เริ่มเป็นผู้พิพากษามาตั้งแต่ปี 2518 ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวมาพอสมควร ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นไม่ใช่เรื่องของศาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ทั้งนี้เมื่อกระบวนการต่างๆ มาถึงศาลแล้ว เรื่องการขังระหว่างพิจารณาคดี สิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายจะทำให้ดูเหมือนว่าผู้ที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีนั้นมีความแตกต่างกับผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินคดีแล้ว แต่ในสภาพความเป็นจริงการขังทั้งสองสถานะก็เป็นการจำกัดอิสรภาพไม่ได้แตกต่างกัน แม้จะมีการแยกแดนผู้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี มีการดูแลอีกแบบ ไม่เสียประวัติ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเป็นการจำกัดอิสรภาพเหมือนกัน
“ที่มันร้ายกว่านั้น คือปกติเวลาศาลตัดสินจำคุกคน มันยังเห็นกำหนดกี่ปี กี่เดือนก็ว่ากันไป แต่ถามว่าการถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมันมีกำหนดไหมว่าจะถูกขังไปถึงเมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้ว่าการพิจารณามันจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส โดยหลักแล้วถือว่าเป็นการขังที่ไม่จำเป็น” บุญรอด กล่าว
บุญรอดกล่าวต่อไปว่า ข้อเสียของการขังระหว่างพิจารณาคดีไม่ได้มีเพียงเรื่องอิสรภาพของผู้ต้องหา แต่ยังเป็นภาระให้กับรัฐในเรื่องของการดูแล โดยรัฐต้องจัดสถานที่ให้ผู้ต้องหาที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี และต้องเลี้ยงดู
เขากล่าวต่อไปถึงหน้าที่ของศาลว่า ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเฉพาะสิทธิในการต่อสู้คดี ศาลมีหน้าที่รักษาสมดุลของการเป็นคดีความ ศาลต้องดูแลให้มันได้ดุลกับความเสียหาย ทำให้เกิดการได้รับการเยียวยากับทางฝั่งผู้เสียหาย ประกอบการพิจารณาในเรื่องความมั่นคง ความสงบสุขของสังคม ฉะนั้นบทบาทของศาลจึงอยู่ที่การรักษาสมดุลด้วย จึงเป็นไปได้ที่ในเรื่องที่คล้ายๆ กันบ้างคนอาจจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และบางคนไม่ได้รับการปล่อยตัว
บุญรอด กล่าวต่อไปว่า 40 กว่าปีที่ทำงานมาเห็นว่าพัฒนาการในเรื่องหลักประกันได้เปลี่ยนแปลงไปพอควร โดยช่วงแรกๆ หากเกิดคดีความขึ้น และผู้ต้องหารต้องการของปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องเขียนใบคำร้องเอง ไม่มีใครมาให้คำแนะนำ แต่หลังจากนั้นไม่นานศาลยุติธรรมก็ได้ให้บุคคลากรของศาลมาช่วยให้คำแนะนำ และปัจจุบันก็ได้มีการขยายขอบเขตหลักประกันให้กว้างขวางออกไปคือสามารภให้ตำแหน่งข้าราชการเป็นหลักประกัน และมีกองทุนยุติธรรมเข้ามาช่วยดูแล แต่การเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของผู้ต้องคดียังถือว่าอยู่ในจำนวนน้อย
บุญรอด กล่าวต่อไปว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นคือ 100 เปอร์เซ็นต์ของคดีอาญามีคนที่ขอปล่อยตัวชั่วคราว มีเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่ศาลก็ไม่ประกันตัว แต่ทั้งหมดเป็นการปล่อยตัวชั่วคราวที่มีหลักประกัน แต่ปัญหาคือ 60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือทำไมจึงไม่ขอปล่อยตัวชั่วคราว คำตอบคือส่วนหนึ่งอาจจะไม่ต้องการขอประกันตัว และต้องการรับผิด แต่ถึงแม้ผู้ต้องหาจะสำนึกผิดก็ตาม การพิจารณาคดีที่ใช้ระยะเวลานานโดยที่เขายังไม่รู้แน่ชัดว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐก็ต้องเลี้ยงดูผู้ต้องหา และผู้ต้องหาก็จะถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ดี แต่ใน 60 เปอร์เซ็นต์นั้นเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูล และไม่มีใครเข้าไปให้ข้อมูลหรือดูแล ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร
บุญรอดกล่าวต่อไปว่า การปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ศาลเป็นผู้ดำเนินการในเชิงรับ คือหากไม่มีคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมา ศาลก็จะไม่พิจารณาเอง เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้อง และไม่มีการเขียนคำร้องขอประกันตัว ศาลก็ออกหมายขังระหว่างพิจารณาคดี จนกว่าคดีจะจบ แต่เมื่อมีคำร้องขอประกันตัวมาศาลจึงจะพิจารณา
“ผมเชื่อว่าไม่น้อย เวลาที่ผมพิจารณาคดี คนที่อยู่ตรงหน้าผมคือคนที่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้ บางคดีผมต้องให้เวลาเพราะยายมาตามหาหลานจนเจอในห้องพิจารณา ผมต้องให้เวลายายกอดหลานอยู่นาน เพื่อที่จะชดเชยตรงนี้ เพราะทุกคนรู้ดีว่าไม่มีใครมาจัดการเรื่องการประกันตัวให้เขา ระหว่างพิจารณาคดีจะมีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นประจำ” บุญรอด
บุญรอดกล่าวว่า บทบาทของศาลในเชิงรับดังกล่าวทำให้ผู้ต้องหาคดีอาญา ซึ่งไม่สามารถนำหลักทรัพย์มาขอประกันตัวถูกทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่ศาลจะทำบทบาทในเชิงรุกได้สิ่งที่สำคัญคือ เครื่องมือ และข้อมูล โดยปัจจุบันจากการศึกษาอย่างจริงจังสามารถสรุปได้แล้วว่า เงิน ไม่ใช่หลักประกันที่บอกว่าผู้ต้องหาที่ขอประกันตัวไปแล้ว จะไม่หลบหนี เวลาคนจะหลบหนีไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่วางไว้ว่ามาก หรือน้อย นอกจากนี้เวลาที่ศาลจะพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวข้อมูลที่ศาลเห็นได้มีเพียงแค่พฤติกรรมแห่งคดี ซึ่งเห็นได้จากคำฟ้อง และคำฟ้องต่างๆ ที่เขียนยื่นฟ้องกันเข้ามาเป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนว่าจำเลยไม่มีความผิด ทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคิดว่าเป็นความผิดก็จะถูกนำมาใส่ในคำฟ้อง หากผู้ต้องหาคิดว่าไม่ผิดก็ต้องมาสู้คดีเอง ฉะนั้นพฤติการณ์จริงๆ ศาลยังไม่เห็น เห็นแต่สิ่งที่เขียนไว้ในคำฟ้องซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงทั้งสิ้น
โครงการประเมินความเสี่ยงให้กับผู้พิพากษาศาลที่กำลังมีการทดลอง และดำเนินการกันอยู่นี่ บุญรอดเห็นว่าเป็นเครื่องมือ และเป็นข้อมูล ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา ประกอบกับเรื่องเครื่องมือในการติดตามตัว ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนได้มาก
“คิดดูสิว่า ปีหนึ่งเรามีคดีมากถึงครึ่งล้านคดี 60 เปอร์เซ็นต์เป็นจำนวนคนเท่าไหร่ ฉะนั้นเครื่องมือพวกนี้อย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้หยิบยกขึ้นมาระหว่างการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว คือศักดิ์ความเป็นมนุษย์ เราควรหยิบขึ้นมาทำให้เป็นรูปธรรมสักที ในแง่ของการศึกษาบุคคลที่ใช้วิถีชีวิตเป็นกิจวัตรประจำวัน มีภาระหน้าที่การงานประจำ คือคนที่มีความเสี่ยงในเรื่องการหลบหนีน้อยที่สุด มีลูกที่ต้องดูแล เช้าต้องทำกับข้าวให้ลูกกิน พาไปส่งโรงเรียน ส่งเสร็จไปขายของ เป็นแม่ค้าขายผัก ตอนเย็นไปรับลูก คนพวกนี้แหละครับเป็นคนที่มีศักดิ์ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบที่สุด แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมามอง และก็ไม่มีกระบวนการไหนที่จะลงไปดูแลคนเหล่านี้” บุญรอดกล่าว
หัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา แนะใช้การประเมินความเสี่ยงแทนเงินประกันตัว
มุขเมธิน เริ่มต้นด้วยการระบุว่า ได้ทำหน้าที่วิจัยให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่วิจัยเพื่อการพัฒนาของศาล โดยได้โจทย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับการเข้าถึงการปล่อยตัวชั่วคราว จึงได้หาแนวทางแก้ไขจากโมเดลในหลายๆ ประเทศ ที่สุดพบว่าประเทศที่มีปัญหาคล้ายกันกับประเทศไทยคือ สหรัฐอเมริกาในอดีต ซึ่งมีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินเป็นหลักสำคัญ แต่เรื่องดังกล่าวได้มีการปฏิรูปไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว โดยใช้แบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชัวคราวเป็นตัวชี้วัดว่าจะมีการปล่อยหรือไม่ แทนการใช้หลักทรัพย์ประกันตัว ทั้งยังมีมาตรการติดตามหลังการปล่อยตัวอีกทีหนึ่ง
มุขเมธิน ระบุบว่า หลักการคิดของสหรัฐอเมริกา ในเวลานั้นคือการนำเอาสำนวนคดีทั้งหมดที่มีการปล่อยชั่วคราวมาดูว่า คดีไหนที่มีการหลบหนีบ้าง และนำเอาสำนวนที่มีการหลบหนีมาค้นหาว่ามีอะไรที่เหมือนกันบ้างในบรรดาผู้ที่หลบหนี ปรากฎว่า เขาสามารถหาปัจจัยที่เหมือนกันได้ 10 ปัจจัย และเห็นว่าทั้ง 10 ปัจจัยนี้เป็นตัวทำนายผลว่าพฤติกรรมของคนที่มีแนวโน้มว่าจะหลบหนีเป็นอย่างไร และก็มีการนำโครงการดังกล่าวทดลองใช้ซึ่งได้สำเร็จ เพราะทำให้คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำนวนมากได้ออกไป ทำให้รัฐประหยัดต้นทุนมากกว่าเดิม และหลังจากที่มีการปล่อยออกมาแล้วอัตราการหลบหนีที่เกิดขึ้นมีเพียง 7-8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และก็ได้มีการติดตามจับกุมกลับมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่สามารถจับกุมตัวได้
มุขเมธิน กล่าวต่อไปว่า จึงมีแนวคิดที่จะนำระบบดังกล่าวมาใช้ในประเทศ แต่ทราบดีว่าบริบททางสังคมระหว่างสหรัฐอเมริกา กับไทยแตกต่างกัน ดังนั้นจึงได้ให้สถาบันวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของมนุษย์มาช่วยพัฒนางานวิจัย โดยมีการค้นคว้าข้อมูลคดีในศาลอาญา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งหมด 3 ศาล จำนวน 1 พันกว่าสำนวนเพื่อศึกษาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เหมือนกันในบรรดาคนที่หลบหนีคดี และปัจจัยอะไรบ้างสำหรับคนที่ไม่หลบหนีคดี
“ปรากฎว่า เราได้ปัจจัย 14 ปัจจัยที่สามารถทำนายผลได้ และสิ่งที่น่าสนใจซึ่งสามารถพูดได้บางอย่างคือ ปัจจัยที่เป็นจำนวนเงิน ที่เราเคยคิดว่าจะเป็นทำนายว่า จะมีการหลบหนีหรือไม่หลบหนี แต่จริงแล้วข้อมูลในทางสถิติบอกว่าไม่ใช่ ประกันด้วยเงินน้อยก็มีอัตราการหนีจำนวนหนึ่ง ประกันด้วยเงินจำนวนมากก็มีอัตราการหนีเหมือนกัน ข้อมูลเรื่องการหลบหนีไม่สามารถสะท้อนได้จากจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทำนองเดียวกันกับอัตราโทษ ซึ่งไม่สัมพันธ์กันกับการหลบหนี แต่สิ่งที่เราค้นพบคือบางอย่างสามารถทำนายได้ เช่นคนที่เคยหนีมีความเสี่ยงที่จะหนีอีกมากกว่าคนที่ไม่เคย 17 เท่า ปัจจัยความผูกพันกับท้องถิ่น เกิดและเติบโตในท้องถิ่น มีอายุพอสมควร ทำงานในท้องถิ่น คนเหล่านี้ไม่หนีง่ายๆ ซึ่งวแบบพยานกรณ์เรากำลังพัฒนา และเห็นว่ามันเป็นเรื่องน่าสนใจ“มุขเมธิน กล่าว
ทั้งนี้ มุขเมธิน ระบุว่า แบบประเมินความเสี่ยงการหลบหนีที่มีการใช้กันในต่างประเทศนั้นจะมีการพัฒนาทุก 2 ปี เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน โดยระบบการทำแบบประเมินหากมีชาวบ้านถูกจับมาวันแรก ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบถาม และสังเกตดูตามปัจจัยที่มีการศึกษาว่า และนำปัจจัยดังกล่าวมาคำนวน และเสนอเป็นคะแนนความเสี่ยงให้กับศาล ซึ่งจะประกอบไปด้วยความเสี่ยงมากที่สุด ควรจะขัง ระดับความเสี่ยงมากก็อาจจะมีการควบคุมโดยให้มีการใส่กำไรอิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงปานกลางก็จะให้มีการปล่อย และมารายงานตัวต่อศาลเป็นระยะ และเสี่ยงน้อยกับน้อยมาก ก็จะให้มีการสาบานตัวต่อศาล และปล่อยเลย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาเป็นหลักประกัน
“เราค่อยๆ ทดลองใช้นำร่องใน 5 ศาล คือศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธ์ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จนเวลานี้เนื่องจาการทดลองจริงเรามีข้อจำกัดอันหนึ่งคือ เนื่องจากการสอบถามมันต้องใช้คน และเราไม่สามารถเพิ่มคนไปทำหน้าที่สอบถามในศาลได้ เพราะโครงการนำร่อง ซึ่งบุคลากรของศาลไม่เพียงพออยู่แล้ว ปัญหาก็คือเราต้องคัดเลือกเฉพาะคดีที่ชาวบ้านสมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนที่ไม่มีเงินหลักทรัพย์มาประกันตัวทั้งนั้น โดยวิธีนี้เราได้ปล่อยไปได้ 700 คน และมีอัตราการไม่มาศาลเพียง 5 เปอร์เซ็นต์แต่ส่วนใหญ่ 600 กว่าคนมาศาลจนจบคดี และทั้งหมดเป็นคนที่ไม่มีเงิน ซึ่งตามปกติพวกเขาจะต้องถูกขังไว้หากไม่มีเงินประกันตัว” มุขเมธิน กล่าว
เยอรมันจะสั่งขังระหว่างพิจารณาคดีก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขให้ขัง ส่วนเรื่องเงินประกันคิดตามฐานะของจำเลย
กลาซเซอร์ กล่าวด้วยว่า ระบบกฎหมายของประเทศเยอรมันมีความแตกต่างจากกฎหมายในระบบ common Law คือต่างจากระบบของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ในแง่ที่ว่าการขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นข้อยกเว้น เพราะโดยหลักปฏิบัติจริงๆ แล้วจะปล่อยผู้ถูกกล่าวหาทุกคน โดยจะขังผู้ถูกกล่าวหาก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือมีข้อสงสัยอย่างหนักแน่นว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดจริงๆ และต้องมีลักษณะที่จะเข้าไปยุ่งเหยินกับพยาน และหลักฐาน และเป็นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมเข้าตามเงือนไขดังกล่าวก็จะสั่งขังระหว่างพิจารณาคดี และไม่ปล่อยแม้จะร้องขอประกันตัวก็ตาม นอกจากเงือนไขดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องของหลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นการพิจารณาดูว่า การจะสั่งขังใครสักคนหนึ่งระหว่างพิจารณาคดีนั้นได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ และการคุ้มครองสิทธิของประชาชนคนอื่นๆ หรือไม่
กลาซเซอร์ กล่าวด้วยว่าในกรณีตัวอย่างที่มีการเรียกเงินหลักประกัน ศาลของประเทศเยอรมันก็จะมีการเรียกหลักประกันเป็นคดีไป ไม่มีการวางธงเงินประกันตัวไว้ล่วงหน้า โดยศาลจะพิจารณาถึงสถานะภาพทางเศรษฐกิจของผู้ถูกกล่าวหาด้วย และกำหนดหลักประกันให้เหมาะสมกับฐานะของจำเลย
สุรศักดิ์ ย้ำกฎหมายแม้จะดี แต่ถ้าทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมแย่ ก็ก่อให้เกิดปัญหา
สุรศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการระบุถึง สภาพปัญหาในกระบวนการประกันตัว หรือการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามียี่ต๊อก (เกณฑ์ที่ยึดเป็นมาตราฐานของศาลและปฎิบัติตามๆ กัน) อยู่ในทุกระดับทั้งในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และศาล และสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือการขังคนไว้โดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาจำนวนมาก ปัจจุบันทักเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องหาที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีประมาณ 6 หมื่นคน ด้วยความที่ว่าเราจะลงโทษเขาได้ โดยที่เขาเหล่านั้นจะไม่หลบหนี
สุรศักดิ์ ชี้ว่า ประเด็นปัญหาคือ เมือเรามีหลักสันนิษฐานว่า ทุกคนคือผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา แต่ตัวเลขในเรือนจำกลับไม่ได้สะท้อนหลักการที่เราเชื่อว่าเรามี ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาทีละเรื่อง ทีเรื่อง แต่ไม่มีการแก้ปัญหาในเชิงระบบ อย่างกรณีปัญหาที่มีผู้ต้องหาล้นเรือนจำ วิธีการแก้ปัญที่มักใช้กันบ่อยๆ คือการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเพื่อปล่อยผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งออกจากเรือนจำ
“เช็คเอาท์ (อภัยโทษ) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม (2559) เหลือผู้ต้องขังอยู่ในเรื่อนจำประมาณ 1 แสนกว่า ตอนนี้มีผู้ต้องขัง ผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำทั้ง 3 แสนกว่า เช็คอินเข้าไปใหม่หมดเลย เดี๋ยวก็คงรอเช็คเอาท์กันอีกที มันก็จะเป็นโยโย่กันไปอย่างนี้ เราไม่เคยมองปัญหากันจริงจังว่าเราจะแก้มันอย่างไร” สุรศักดิ์ กล่าว
สุรศักดิ์ ชี้ให้เห็นปัญหาอีกข้อหนึ่งว่า กฎหมายของประเทศไทย กับวิธีการปฎิบัตินั้นไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งเรื่องลักษณะนี้เป็นปัญหาจากทัศนะของคนในกระบวนการยุติธรรม โดยจะมีความเชื่อผิดๆ ว่า หากมีการปล่อยตัวโดยไม่มีเงินประกัน แล้วคนที่ได้ปล่อยตัวชั่วคราวหนีไป คนที่พิจารณาปล่อยจะถูกเพ่งเล็ง ซึ่งในความเป็นจริงมีน้อยมาก
“ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการเปลี่ยนกฎหมายเท่าไหร่ แต่คิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมซึ่งยากกว่ามาก ในหลายปีที่ผ่านมาผมไปฟังเรื่องการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เรามักจะทำกับแค่เรื่องของการแก้กฎหมาย ซึ่งมันทำให้ดูดีหมดเลย แต่ทำไมปัญหามันยังเยอะอยู่ อย่างเรื่องยาเสพติด อาจารย์สังศิต (พิริยะรังสรรค์) ทำวิจัยตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2559 งบประมาณเป็นแสนล้าน แต่ทำไมยาเสพติดกลับไม่ลดลง” สุรศักดิ์ กล่าว
ปริญาญา ขอหกหมื่นรายชื่อ เตรียมเสนอคกก.ปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมนำไปปฎิบัติ
ปริญญา กล่าวถึงที่มาของ เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนว่า เครือข่ายฯ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในประเทศไทยจากเดิมที่ใช้เงินเป็นตัวตัดสิน ไปสู่ระบบใหม่ที่ทำการวิจัยมาแล้วว่ามีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ด้วย "ระบบประเมินความเสี่ยง" ที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนก็ต้องใช้แบบตรวจวัดเดียวกัน โดยเครือข่ายฯ ต้องการผลักดันประเด็นนี้ยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อบรรจุเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ
"จากเดิมที่ระบบการประกันตัวของไทยในปัจจุบันนั้นใช้เงินเป็นตัวติดสินว่าใครจะต้องรอในคุก ระหว่างที่รอการพิจารณาคดี ซึ่งเฉลี่ยเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ทำให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยไม่มีโอกาสในการซื้ออิสรภาพ ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ผิดเลย นี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เห็นได้ชัดเจน ทำให้มีวลีติดปากที่คนนำมาใช้กันบ่อยๆ ว่า คุกมีไว้ขังคนจน จากการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่าที่ผ่านมาระบบการใช้เงินเพื่อประกันตัวนี้ทำลายชีวิตและโอกาสของคนจนกว่า 60,000 คนต่อปีคิดเป็นตัวเลขความเสียหายราว 8,500 ล้านต่อปี เนื่องจากเรือนจำจะมีค่าใช้จ่าย เช่น ผู้คุม อาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ กว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี รวมถึงคนที่ต้องเสียโอกาสในการทำงานสร้างรายได้ คำนวณแล้วมากถึง 6,000 ล้านบาทต่อปีและที่สำคัญการเรียกหลักประกันเป็นเงินไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงในการหลบหนี หรือกระทำผิดซ้ำได้อีก" ปริญญากล่าว
จากการศึกษาและวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรมในเรื่อง “วิธีประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว" โดยนำแนวคิดมาจากหน่วยงานศาลในต่างประเทศ ได้แก่ การศึกษาจากศาลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้แบบตรวจวัดความเสี่ยงดังกล่าวในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวตัวนี้ ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้เงินเพื่อประกันตัวเป็นการใช้ความเสี่ยงในการหลบหนี โดยจะมีขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแล ดังนี้ 1.สอบถามข้อมูลตามแบบฟอร์ม ในการสอบประวัตินั้นทำโดยกรอกข้อมูลลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งจะปรินท์ออกมาเป็นกระดาษอีกทีเพื่อให้ผู้ต้องหา/จำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่บันทึกถูกต้อง จากการทดลองใช้ระบบมาระยะหนึ่ง การสอบประวัติต่อคนใช้เวลาคนละไม่เกิน 20 นาที 2.ตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูล เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติยาเสพติด คดีค้างพิจารณา มาวัดความเสี่ยงในหารหลบหนี ซึ่งด้วยวัตถุประสงค์ของการประเมินความเสี่ยง คือ พิจารณาว่ามีความเสี่ยงจะหนีหรือกระทำความผิดซ้ำ มิใช่การแก้ไขบำบัดฟื้นฟู หรือกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม การตรวจสอบจึงไม่จำเป็นต้องละเอียดถึงขนาดลงพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างคุมประพฤติ และด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของศาลที่ต้องสั่งปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว และ 3.ประเมินความเสี่ยงและทำรายงานเสนอศาล ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กรอกลงในโปรแกรมจะถูกนำมาคำนวณคะแนนความเสี่ยงที่สังเคราะห์จากงานวิจัยเชิงสถิติและพฤติกรรมศาสตร์ โดยมีมาตรการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง ถ้ามีความเสี่ยงต่ำให้สาบานตัวแล้วปล่อย เสี่ยงปานกลางรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือผ่านแอปพลิเคชัน เสี่ยงสูงจำกัดบริเวณผ่านกำไลข้อมือ/ข้อเท้า ติดตามตัว หรือถ้าหากมีความเสี่ยงสูงมากจะขังทันทีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ปริญญายังได้กล่าวเสริมว่า "เพื่อให้เกิดการใช้แบบประเมินความเสี่ยงดังกล่าวในทุกศาลทั่วประเทศ เครือข่ายฯ ได้จัดทำแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ผ่านช่องทาง Change.org/BailReform โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่เห็นด้วยในการนำแบบประเมินความเสี่ยงไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จำนวนกว่า 10,000 รายชื่อ แต่การผลักดันครั้งนี้ยังต้องการผู้สนับสนุนอีกมาก ทางเครือข่ายฯ ตั้งเป้าจะไปให้ถึง 66,000 รายชื่อเท่ากับจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีต่อปีของประเทศไทย โดยจะนำเอาผลสำเร็จที่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ไปยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป
แสดงความคิดเห็น