Posted: 11 Oct 2017 09:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุรพศ ทวีศักดิ์


“ผมอยากจะเตือนให้ทุกคนมีความกล้าหาญ อย่าสยบยอมกับเผด็จการ
ต้องมีความกล้าหาญที่จะทำและต้องกล้าพูดความจริง
แม้จะต้องสูญเสียอิสรภาพก็จำเป็น
เพราะถ้าบ้านเมืองไหนไม่มีสัจจะ ไม่มีความกล้า
บ้านเมืองนั้นก็เป็นที่อยู่สำหรับปศุสัตว์ไม่ใช่สำหรับมนุษย์"
- ส. ศิวรักษ์ -

(ทีมา Facebook iLaw)

ข้อความข้างบนเป็นคำกล่าวของ ส. ศิวรักษ์ หลังจากพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามแจ้งว่า มีความเห็นสั่งฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐาน “หมิ่นพระนเรศวร” และนำตัวเขาไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อส่งสำนวนฟ้องให้แก่อัยการศาลทหาร เมื่ออัยการตรวจสำนวนคดีเสร็จ จึงนัดหมายให้มาฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 7 ธันวาคม 2560

เหตุการณ์ที่นำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว เกิดจากกรณีที่ ส. ศิวรักษ์ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 โดยเขาได้แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร

แต่ถามว่า การวิพากษ์วิจารณ์บุรพกษัตริย์ไทยในทางวิชาการเคยมีหรือไม่ คำตอบคือดูเหมือนเรื่องเช่นนี้จะเป็นเรื่องปกติในในการศึกษาประวัติศาสตร์ ดังบทความชื่อ “ความไม่มั่นคงของกองทัพไทย” ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ได้อ้างถึงข้อความในหนังสือ “ประวัติโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” เล่ม 1 หน้า 33 ดังภาพ

(ที่มา prachatai.com/journal/2014/10/56079)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2 พรรณนาเหตุการณ์ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) หน้า 187 ความตอนหนึ่งว่า

(ที่มา www.car.chula.ac.th/rarebook/book/cl52_0132)

จะเห็นว่าในขณะที่หนังสือ “ประวัติศาสตร์แบบทางการ” วิพากษ์วิจารณ์บุรพกษัตริย์ในเชิงลบได้ แต่ ส. ศิวรักษ์กลับวิจารณ์ประวัติศาสตร์บุรพกษัตริย์ในเชิงตั้งคำถามไม่ได้ จึงเกิดปัญหาในเรื่อง “ความชัดเจน” ในทางกฎหมายว่า มาตรา 112 คุ้มครองถึงกษัตริย์ในอดีตหรือไม่ ถ้าคุ้มครองต้องคุ้มครองทุกพระองค์หรือไม่ และ “ขอบเขต” ของคำว่า “หมิ่น” กว้างแคบแค่ไหน อย่างไร เป็นต้น

หากเพียงแต่เราใช้ “วิจารณญาณ” อย่างปราศจากอคติ ย่อมจะเห็นได้ชัดเจนว่าการที่พระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวเขียนไว้เช่นนั้น ย่อมสอดรับกับหลัก “ความมีเหตุผล” (justification) ที่ว่า การที่สังคมมนุษย์จะศึกษาเรียนรู้ “บทเรียน” จากประวัติศาสตร์เพื่อนำมาปรับปรุงสังคมปัจจุบันและอนาคตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถพูดถึงทั้งด้านบวกและด้านลบของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริงเท่านั้น

ทำให้ผมนึกถึงเหตุผลของจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ใน “On Liberty” ที่เสนอหลักเสรีภาพทางความคิดเห็น โดยมิลล์ปฏิเสธการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพียงเพราะเราตัดสินจากมุมมองของตนเองและ/หรือมุมมองของคนส่วนใหญ่ว่า ความเห็นของใครก็ตามจะสร้างความเสื่อมเสียแก่สังคม

มิลล์ชี้ให้เห็นว่า การลงโทษคนอื่นเพียงเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าความคิดเห็นของเขาอาจเกิดความเสียหายแก่สังคมได้ก่อให้เกิดความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรงมามากแล้ว ดังบุคคลผู้ทรงปัญญาและคุณธรรมที่มีคุณค่าแก่โลกอย่างมหาศาล อย่างเช่นโสเครตีสถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะข้อกล่าวหาว่าไม่เคารพเทพเจ้าของรัฐ บูชาเทพเจ้าองค์ใหม่ และชักนำเยาวชนไปในทางเสื่อมเสีย พระเยซูถูกผู้นำศาสนาชาวยิวกล่าวหาว่าหมิ่นพระเจ้า แต่เพื่อให้ถูกลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายโรมันได้จึงยัดข้อหากบฏฐานประกาศตนเป็นกษัตริย์ กาลิเลโอถูกศาลศาสนาพิพากษาให้กักบริเวณตลอดชีวิต เพียงเพราะเขาพูดความจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อของศาสนจักรและคนสวนใหญ่ในยุคสมัยของเขา

ดังนั้น ตามทัศนะของมิลล์เพื่อให้หลักประกันเสรีภาพทางความคิดเห็นเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ จึงไม่ควรมีกฎหมายหมิ่นศาสนา หมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ในความหมายใดๆ เพราะการมีกฎหมายเช่นนั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความผิดพลาดดังที่เกิดกับโสเครตีส พระเยซู กาลิเลโอ และบุคคลอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมหาศาลที่ถูกล่าแม่มดในยุคกลาง และถูกตัดสินให้เป็น “นักโทษทางความคิด” ในยุคสมัยของเรา

ยิ่งกว่านั้นมิลล์ยังเห็นว่า การที่เราจะยืนยัน (หรือพิสูจน์) ได้ว่าความเชื่อหรือความเห็นใดๆ ของเราจริงหรือถูกต้อง เราจำเป็นต้องยอมรับเสรีภาพที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งจากคนอื่นๆ ที่คิดต่าง มีข้อมูลแตกต่าง หรือตรงกันข้ามกับเรา

นอกจากนี้มิลล์ยังโต้แย้งตรรกะที่ว่า “ความจริงไม่อาจถูกทำลายได้ การที่คนพูดความจริงถูกลงโทษอย่างอยุติธรรม ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ความจริงจำต้องผ่านการทดสอบ” เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า สังคมมนุษย์อยู่ภายใต้อำนาจกดขี่คนที่พูดความจริงมายาวนานมากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากความจริงที่เขาพูด เช่นกว่าที่สังคมเราจะได้ประโยชน์จากความจริงที่โสเครตีสพูดก็หลังจากที่โสเครตีสถูกประหารชีวิตไปแล้วยาวนาน มันจึงไร้เหตุผลที่จะต้องให้คนพูดความจริงต้องถูกลงโทษเพื่อทดสอบความจริงที่เขาพูดอยู่ตลอดไป แต่มันมีเหตุผลอย่างยิ่งว่าสังคมจำเป็นต้องสร้างหลักประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อที่จะให้คนพูดความจริงไม่ต้องตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการถูกลงโทษ และสังคมส่วนรวมก็ได้ประโยชน์จากความจริงที่เขาพูดตามที่ควรจะเป็น แม้ว่าเมื่อมีเสรีภาพแล้วคนอาจแสดงความเห็นจริงบ้าง เท็จบ้าง หรือแสดงความเห็นใดๆ ที่เราชิงชัง ไม่อยากฟัง แต่สุดท้ายแล้วการมีเสรีภาพจะทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อบกพร่องด้านต่างๆ และพัฒนาก้าวหน้าได้ดีกว่าการปิดกั้นเสรีภาพ

คดีหมิ่นพระนเรศวร (และคดี 112 อื่นๆ เช่นกรณี “ไผ่ ดาวดิน” เป็นต้น) คือสิ่งที่บ่งบอกว่าสังคมเรายังห่างไกลจากการมีเสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยมดังที่มิลล์เสนอ หรือห่างไกลจากการมีเสรีภาพตามหลักเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะสะท้อนว่าสังคมเราย้อนยุคไปไกลสู่ระบบการลงโทษต่อความคิดเห็นที่อำนาจรัฐสามารถกำหนดความผิดได้อย่างไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนและแน่นอนแบบยุคกลางย้อนไปจนถึงยุคโสเครตีสเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว

พูดอีกอย่างคือ แม้สังคมเราจะอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางสังคมโลกที่มีเสรีภาพแบบที่มิลล์เสนอมากว่าร้อยปีแล้ว แต่สังคมเรายังมีระบบการลงโทษเกี่ยวกับแสดงความคิดเห็นแบบยุคก่อนสมัยใหม่ ข้อเรียกร้องของ ส. ศิวรักษ์ที่ว่า “...ต้องมีความกล้าหาญที่จะทำและต้องกล้าพูดความจริง แม้จะต้องสูญเสียอิสรภาพก็จำเป็น...” ก็คือข้อเรียกร้องแบบที่โสเครตีสเคยเรียกร้อง ทั้งๆ ที่ในยุคนี้สังคมเราควรจะเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ และทุกคนควรใช้เสรีภาพทางความคิดเห็นได้อย่างไร้ความหวาดกลัวใดๆ แล้ว

แต่ในเมื่อความเป็นจริงสังคมเรายังไม่มีเสรีภาพ ความกล้าหาญที่จะต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันที่มั่นคงแก่การมีเสรีภาพ เพื่อให้เรามีความเป็นมนุษย์ที่ต่างจากปศุสัตว์ ย่อมเป็นเรื่องจำเป็น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.