Peace News

นักวิชาการซัดระบายน้ำ กทม.ห่วย
ชำรุดหมดสภาพ-ฝนตกปุบท่วมปับ


นักวิชาการถอดบทเรียนระบบระบายน้ำ "กรุงเทพฯ" ระบุปัญหาท่อหมดสภาพ-อุดกั้นน้ำทำไหลยาก-หน่วยงานใช้วิธีคิดเดิมๆ ชี้บริหารอย่างไรก็ท่วม

เมื่อ 18 ต.ค. 2560 เว็บสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในเวทีเสวนา “สถานการณ์น้ำปลายปี 60: กรุงเทพฯ น้ำรอระบายนาน หรือ?” จัดโดยสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง ของวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้จะถือว่ามากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี แต่จากเฉลี่ยกลับไม่ได้มากไปกว่าศักยภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากระบบของกทม.ระบายน้ำได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ฝนตกลงมาไม่ถึง 40 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นสาเหตุของน้ำท่วมจึงสะท้อนถึงปัญหาระบบการระบายน้ำอย่างชัดเจน

ศ.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ระบบระบายน้ำของ กทม.ปัจจุบันเก่าแก่มาก ถูกสร้างเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้พบการทรุดตัว เต็มไปด้วยตะกอนและขยะติดค้าง หรือเรียกได้ว่าหมดสภาพ ดังนั้น เมื่อมีฝนตกหนักหรือปานกลางต่อเนื่องหลายชั่วโมง จึงมีปัญหาน้ำรอการระบายจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าการทรุดตัวของท่อที่ไม่เท่ากัน ทำให้ค่าระดับการไหลของน้ำตามแรงโน้มถ่วงเปลี่ยนไป จนปัจจุบันระดับน้ำในคลองต่างๆ อยู่สูงกว่าปลายท่อระบายน้ำ

"หลังจากที่ กทม.มีระบบพื้นที่ปิดล้อมป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2526 โดยทำผนังตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีการเพิ่มความสูงมาโดยตลอด จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 2.50 เมตร (MSL) ในช่วงที่น้ำขึ้นสูงระดับน้ำในแม่น้ำจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำในคลองมาก ดังนั้น การระบายจากท่อระบายน้ำลงสู่คลอง และจากคลองไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระดับน้ำสูงกว่าจึงเป็นไปได้ยากมาก มวลน้ำทั้งหมดก็มีอาการเอ่อในคลอง และผลกระทบของผนังกั้นน้ำที่สูงขึ้นนี้ ก็ส่งผลให้คลองต่างๆ มีตะกอนสะสมมากขึ้นกว่าปีละ 2-3 เซนติเมตร" ศ.ธนวัฒน์ กล่าว

ศ.ธนวัฒน์ กล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้น้ำรอระบายนาน คือ คน กทม.ใช้น้ำวันละประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้การระบายน้ำต้องเจอกับภาระที่หนักมากขึ้นไปอีก ซึ่งบททดสอบนี้กำลังเป็นคำถามใหญ่ในอนาคตต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ว่าขนาดปริมาณฝนจากเศษพายุขนุนที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ เรายังไม่มีศักยภาพในการเผชิญเหตุ หากในอนาคตมีพายุพัดผ่านบริเวณ กทม. พร้อมนำฝนมาตกในพื้นที่ประมาณ 200-300 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แล้วเราจะตั้งรับหรือบริหารกันอย่างไร

ศ.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัญหาน้ำท่วม กทม.ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดขึ้นเหมือนในปี 2554 ซึ่งมีมวลน้ำทางภาคเหนือไหลมาท่วมในภาคกลางอาจมีความเป็นไปได้น้อย แต่ในช่วงปลายปี 2560 ในเดือน ต.ค.-พ.ย. ควรเฝ้าระวังเรื่องฝนตกหนักจากร่องมรสุม และอาจมีพายุพัดเช่นปี 2495 และปี 2526 อย่างไรก็ตามควรเตรียมการรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนบ่อยขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนเรื่องฝนตกหนักและพายุ ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมเรื่องระบบระบายน้ำเพื่อรองรับฝนตกหนัก

รศ.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิศวกรชอบคิดว่าสู้กับธรรมชาติได้ แต่ข้อเท็จจริงคือไม่ โดยระบบโครงสร้างแบบที่ กทม.มีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะบริหารอย่างไรก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ความจริงแล้วการบริหารจัดการน้ำนั้นไม่ยาก คือแค่ให้น้ำนั้นมีที่อยู่และที่ไป แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือข้าราชการจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบการทำงาน ซึ่งขณะนี้ยังคิดใช้วิธีแก้ปัญหาแต่รูปแบบเก่าๆ

"คูคลองที่อยู่น้ำก็มักจะถมทำถนน เพราะง่ายไม่ต้องเวนคืน ก่อสร้างแบบสะพานก็เอาถูกๆ ง่ายๆ แต่ไปขวางทางน้ำ หรือท่อระบายน้ำก่อนสร้างเสร็จทรายก็เข้าไปถมเต็มหมดแล้ว นอกจากนี้การปล่อยให้ชาวบ้านรุกล้ำลำคลอง เช่นที่คลองลาดพร้าว เดิมกว้าง 60 เมตร ชาวบ้านรุกเหลือ 30 เมตร กทม.แทนที่จะเอาที่คืนกลับไปจัดสรรให้สร้างบ้านเสีย แล้วไปขุดคลองให้ลึกขึ้นแทน พอเป็นแบบนี้น้ำระบายตามแรงโน้มถ่วงไม่ได้ก็ต้องสูบ แล้วก็เกิดตะกอนอุดตันมากขึ้น" รศ.อภิชาติ กล่าว

รศ.อภิชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เคยออกแบบหลักการสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อการระบายน้ำ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น การห้ามใช้ท่อระบายน้ำแบบกลม เป็นต้น แต่สุดท้ายกลับไม่เคยมีหน่วยงานใดปฏิบัติตาม ดังนั้นตราบใดที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติยังไม่เปลี่ยนแนวคิด กทม.ก็จะยังคงต้องท่วมต่อไปแบบนี้

นายเทิดเกียรติ ศักดิ์คำดวง อดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวว่า ธรรมชาติของน้ำไหลไปตามแรงโน้มถ่วงจากสูงไปต่ำ สุดท้ายจึงมาลงที่ กทม. ซึ่งอันที่จริงนั้นดีกับเกษตรกร เช่น แถวบางนา บางปะอิน เคยถูกยกให้เป็นพื้นที่อู่ข้าวที่ดีที่สุด มีน้ำลงมาเป็นการชลประทานที่ดีมาก สามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง และดีกับการป้องกันบ้านเมืองสมัยโบราณ เราเคยรอดตัวได้เพราะน้ำ แต่ขณะนี้กำลังจะตายเพราะน้ำ

นายเทิดเกียรติ กล่าวว่า ทุกวันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาถูกบีบให้แคบลงจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ช่วงสะพานซังฮี้มีความกว้างประมาณ 160 เมตร ช่วงคลองเตย ไปถึงบางกระเจ้า และปากน้ำ มีความกว้างประมาณ 400-800 เมตร ส่วนช่วงจุดออกทะเลกว้างเป็นกิโลเมตร แต่ช่วงสะพานพุทธมีความกว้างเพียง 90 เมตร ดังนั้นน้ำทั้งหมดที่ไหลลงมาไม่ว่าจะมากเพียงใดสุดท้ายเหลือพื้นที่ออกทะเลได้เท่านี้

"เมื่อปี 2554 หลังน้ำท่วมแล้วกระสอบทรายหายไปไหน ครึ่งหนึ่งลงไปอยู่ในท่อระบายน้ำ ซึ่งถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่ปัญหาก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมากระบวนการแก้ปัญหาเราไม่จริงจัง นอกจากคำพูดเพราะๆ แล้วเราก็ลูบหน้าปะจมูกไปวันๆ ถ้าจะแก้ไขให้จริงจังเราต้องทำให้ชัดเจนว่ามันจะมีระบบท่อแบบไหน ทำไมจึงไม่ทำท่อหลักขนาดใหญ่เป็นช่วงๆ แบบก้างปลา รองรับน้ำจากท่อระบายน้ำย่อย การวางผังเมืองที่ดีจะต้องแก้ไขปัญหาของเมืองในอนาคตได้" นายเทิดเกียรติ กล่าว

PEACE NEWS

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.