หมายเหตุประเพทไทย #158 ห้องสมุดไม่ได้มีไว้อ่านหนังสือ

Posted: 21 May 2017 09:25 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)

จากคำถามคาใจว่าทำไมหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งเปิดใหม่เอี่ยมจึงยังไม่เปิด 24 ชั่วโมง หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ สืบค้นต้นรากหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย นั่นคือการใช้ห้องสมุด ทั้งนี้ในยุคก่อนสมัยใหม่ที่มาของความรู้ในสังคมไทย โดยเฉพาะอิทธิพลจากทางศาสนาเกิดจากการท่องจำต่อๆ หรือคัดลอกต่อๆ กันมา หรือความรู้ที่เกิดจากการบำเพ็ญภาวนา มากกว่าจะเป็นการค้นคว้าหรือถกเถียงเพื่อหาความรู้

ต่อมาเมื่อความรู้สมัยใหม่จากโลกตะวันตกเดินทางมาถึงไทย ชนชั้นนำสยาม โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เข้าถึงความรู้เหล่านั้นก่อน ก็เริ่มจัดระเบียบความรู้ ทั้งการคัดเลือก-จัดหมวดหมู่ความรู้ การผลิตตำราเพื่อฝึกคน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับชุดความรู้ และจัดการความรู้ของท้องถิ่น ฯลฯ

ทั้งนี้เริ่มมีการตั้งห้องสมุดเป็นครั้งแรกในชื่อ "หอพระสมุดวชิรญาณ" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 แรกเริ่มเป็นสถานที่ค้นคว้าในหมู่เจ้านายชั้นสูง ต่อมาเริ่มให้สามัญชนเข้ามาในหอพระสมุดวชิรญาณ ไม่ใช่เพื่อการสืบค้นหนังสือแบบยุคปัจจุบัน แต่เริ่มเปิดให้เข้ามาชมนิทรรศการของแปลกที่นำจัดแสดงในหอสมุดก่อน ก่อนที่ต่อมา เริ่มมีแนวคิดที่จะทำให้หอพระสมุดวชิรญาณมีความเป็นสาธารณะด้วยการเพิ่มคำว่า "สำหรับพระนคร" เข้าไปในชื่อ เมื่อ พ.ศ. 2448 และในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเปลี่ยนเป็น "หอสมุดแห่งชาติ" อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันห้องสมุดสาธารณะในไทยส่วนใหญ่ก็ยังเปิดปิดเป็นเวลาและมีความเป็นราชการสูง ทั้งยังห่างจากการเป็นห้องสมุดสาธารณะแบบที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกอยู่ดี



ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.